xs
xsm
sm
md
lg

งานศิลป์ทรงคุณค่า “พระที่นั่งอนันตสมาคม” กับประวัติศาสตร์สาธารณสุขไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


>>งาน Exclusive Day Tour with BDMS ครั้งที่ 1 ศิลปะกับสุขภาพ พบกับศิลปะอันทรงคุณค่าเพื่อเพิ่มพลังสุขภาพ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ที่แสดงผลงานชิ้นสำคัญของแผ่นดิน โดยสถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

งานนี้ทางบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ได้เชื้อเชิญเหล่าพันธมิตรทางธุรกิจ ลูกค้าและแขกวีไอพี รวมทั้งเซเลบริตีสาวสวย “จุ๋ย-จรสพรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา” ที่วันนี้ใช้เวลาวันหยุดสุดสัปดาห์มาร่วมทริปนี้ด้วย นับได้ว่าเป็นกิจกรรมดีๆ ที่ทาง BDMS จัดขึ้นอย่างแสนพิเศษ เพราะนอกจากได้ชมความงดงามของงานศิลป์แห่งแผ่นดินแล้ว ยังได้ชมความวิจิตรบรรจงของพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งจะเปิดให้สาธารณชนได้ชมไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายนนี้เท่านั้น

ครั้งนี้ยังพิเศษยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากได้ผู้นำชมสถานที่คนสำคัญอย่าง “อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ” ผู้รอบรู้ด้านประวัติศาสตร์ มาบอกเล่าเรื่องราวของนิทรรศการ และตัวสถานที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งนับได้ว่าเป็นผลงานประวัติศาสตร์ศิลป์ชิ้นสำคัญแล้ว ยังเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งด้านสาธารณสุขของไทย ที่ใครๆ หลายคนอาจจะไม่ได้ตระหนักรู้มาก่อน

อาจารย์เผ่าทองกล่าวให้ฟังว่า “พระที่นั่งอนันตสมาคม สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2450 ใช้เวลาสร้างนานถึง 8 ปี มาเสร็จสิ้นและเปิดใช้งานในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 นับเป็นอาคารที่มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปีที่ยังคงความโดดเด่นและสง่างามมาจนถึงปัจจุบัน พระที่นั่งอนันตสมาคมนับเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่แปลกใหม่ในสมัยนั้น เพราะสร้างในสไตล์ตะวันตกโดยใช้หินอ่อนทั้งหลัง ได้ “มาริโอ ตามัญโญ” (Mario Tamagno) สถาปนิกหนุ่มไฟแรงฝีมือดีชาวอิตาลี มาออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง

เขาคิดเทคนิคพิเศษในการหาวิธีช่วยรับน้ำหนักอาคาร ซึ่งเป็นหินอ่อนทั้งหลังที่มีน้ำหนักมากและปลูกสร้างบนดินเลนที่มีความอ่อนตัวสูง ให้ไม่ทรุดจมลงหรือเอนเอียงอย่างหอเอนเมืองปิซา ด้วยการใช้ระบบ Floating ที่ได้แรงบันดาลใจจากภูมิปัญญาแบบเรือเอี้ยมจุ๊น หรือเรือขนข้าวที่เขาพบเห็นล่องขึ้นลงอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา นำมาปรับใช้ด้วยการขุดใต้ดินพระที่นั่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ใช้น้ำช่วยพยุงน้ำหนักของอาคาร จึงทำให้พระที่นั่งอนันตสมาคมสามารถตั้งตระหง่านอย่างงดงามมาได้ถึงทุกวันนี้”

ที่แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ดั่งท้องพระโรงต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง แสดงถึงความมีอารยธรรมให้กับชาติตะวันตกที่กำลังเข้ามาหาอาณานิคมได้ประจักษ์ แล้วยังมีอีกหนึ่งสาเหตุของการสร้างพระราชวังดุสิตนั่นคือ เรื่องของการสาธารณสุขที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญ

“เนื่องจากในยุคนั้น ภายในพระบรมมหาราชวังเดิมตรงวัดพระแก้ว เริ่มมีความเป็นอยู่อย่างแออัด มีเชื้อพระวงศ์และข้าราชบริพารมากถึงกว่า 30,000 คน อาศัยอยู่ในพื้นที่เพียง 30 ไร่ มีการปลูกสร้างอาคารภายในเป็นจำนวนมาก ด้วยความคับแคบทำให้มีเพียงช่องทางเดินเล็กๆ ระหว่างแต่ละตำหนัก และส่งผลถึงระบบสาธารณสุข ทั้งเรื่องน้ำทิ้ง สุขา และสิ่งปฏิกูลต่างๆ ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ จนทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งโรคระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร อย่างวัณโรค บิด ไทฟอยด์ อยู่บ่อยครั้ง จนทำให้อายุขัยเฉลี่ยในพระบรมมหาราชวังอยู่ที่ราว 35 ปีเท่านั้น

พระองค์จึงมีพระราชดำริสร้างพระราชวังแห่งใหม่ โดยได้เลือกพื้นที่นาทางด้านชายขอบพระนครในสมัยนั้น มาสร้างเป็นพระราชวังสวนดุสิต ที่มีพื้นที่กว้างขวาง และทำการจัดวางแผนผังเมืองก่อสร้างพระที่นั่งและพระตำหนักต่างๆ พร้อมกับวางระบบสาธารณสุขต่างๆ อย่างทันสมัย เพื่อสร้างสุขอนามัยให้ดีขึ้น ที่นี่จึงนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นสาธารณสุขของเมืองไทยก็ว่าได้”

อาจารย์เผ่าทองกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของที่แห่งนี้ให้ฟัง ก่อนพาเดินชมยังห้องต่างๆ ภายในพระที่นั่งที่ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน จัดแสดงผลงานฝีมือช่างอันสวยสดงดงามของสถาบันสิริกิติ์ จะเป็นงานไม้ แกะสลัก ช่างเครื่องเงิน เครื่องทอง งานปัก ไปจนถึงหัตถกรรมต่างๆ พร้อมเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของงานแต่ละชิ้น ไปพร้อมกับการบรรยายถึงการตกแต่งภายในของพระที่นั่งให้เราฟังอย่างน่าตื่นตาตื่นใจตลอดการเดินชมกว่า 2 ชั่วโมง

จรสพรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา กล่าวถึงความประทับใจในการได้เข้าร่วมกับกิจกรรมพิเศษนี้ของทาง BDMS ว่า “โดยปกติแล้วเราคงจะไม่ได้เข้ามาเดินชมพิพิธภัณฑ์อย่างสนุกสนานแบบนี้ ครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาแสนพิเศษ เพราะได้รับชมผลงานศิลป์ของไทยที่สวยงามและอลังการแบบนี้ พร้อมมีอาจารย์เผ่าทองมาบอกเล่าเรื่องราวน่ารู้ต่างๆ นับเป็นโอกาสที่หาได้ยาก และทำให้เรารู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นไทยมากๆ เลยค่ะ ก็ต้องขอบคุณทาง BDMS ที่จัดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ขึ้นค่ะ”
กำลังโหลดความคิดเห็น