xs
xsm
sm
md
lg

ทายาท “หวั่งหลี” ฟื้นมรดกกว่าร้อยปี “ฮวย จุ่ง ล้ง” เป็นท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


>>ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านคลองสาน อันเป็นพื้นที่เก่าแก่ของตระกูล “หวั่งหลี” ที่หลับใหลมาเป็นเวลานาน แต่ใครจะรู้ว่าพื้นที่แห่งนี้มีความสำคัญมากในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งมี ท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” เป็นจุดเชื่อมความสัมพันธ์ในยุคการค้าระหว่างไทย-จีน แต่เมื่อการค้าทางเรือถูกเข้ามาแทนที่ด้วยการคมนาคมที่ทันสมัยอื่นๆ ท่าเรือแห่งนี้จึงถูกลดบทบาทลง จนถึงวันนี้ ตระกูลหวั่งหลีในฐานะเจ้าของ ต้องการพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมไทย-จีน ปลุกชีวิตมรดกของบรรพบุรุษที่หลับใหลให้ฟื้นคืนมาอีกครั้ง ในนาม “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมี รุจิราภรณ์ หวั่งหลี ผู้ก่อตั้งโครงการ รับหน้าที่ในการสร้างสรรค์พื้นที่

รุจิราภรณ์ หวั่งหลี กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นมากกว่าการพัฒนามรดกของครอบครัว คือเป็นการรักษามรดกเชิงศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ศิลป์อันเป็นมรดกของชาติและมรดกของโลกสืบไป ซึ่งคนในบ้านหวั่งหลีเห็นควรแก่การปลุก “ฮวย จุ่ง ล้ง” ให้ตื่นขึ้นมามีชีวิตอีกครั้ง โดยยังคงรักษารูปร่างหน้าตาแบบดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งแรกสร้าง

หลังบูรณะก็จะเปิดให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ให้นักเรียนนักศึกษา นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เข้าเยี่ยมชม เพื่อศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ ผ่านศิลปะและวัฒนธรรมของชาวจีนโพ้นทะเล ตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งโครงการนี้เป็นการบูรณะเชิงอนุรักษ์ ที่ยึดหลักการรักษาโบราณสถานให้คงสภาพเดิมให้ได้มากที่สุด ด้วยวิธีการบูรณะและวัสดุแบบโบราณ เช่น ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังบริเวณรอบวงกบประตูและหน้าต่าง บูรณะด้วยการใช้สีที่ตรงกับของเดิม ค่อยๆ แต้มเติมรอยจางให้ชัดขึ้น โดยไม่ได้ใช้สีสมัยใหม่ระบายทับหรือวาดเพิ่มเติม หรืออย่างเช่น การบูรณะผนังอิฐที่แตกร่อนก็คงสภาพไว้ตามนั้น บูรณะโดยการใช้ปูนจากธรรมชาติแบบโบราณ มาบูรณะช่วงรอยต่อที่แตก เพื่อไม่ให้ปูนหลุดร่อนไปมากกว่าเก่า สำหรับโครงสร้างไม้สักนั้น ส่วนไหนที่ชำรุดก็นำไม้จากส่วนอื่นๆ ของอาคารมาต่อเติม โดยไม่ทิ้งไม้เก่า เพื่อให้ “ล้ง 1919” กลายเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมไทยจีน”

รุจิราภรณ์ เล่าย้อนเพิ่มเติมว่า “หลังจากมีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง เปิดฉากการค้าเสรีกับต่างประเทศในสยามประเทศ พ่อค้าต่างประเทศก็เข้ามาติดต่อค้าขายในประเทศไทยอย่างอิสระ เมื่อมีการเปิดเมืองท่า พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ริเริ่มสร้างเรือกลไฟ จึงได้สร้างสถานที่แห่งนี้ขึ้น ประมาณปี พ.ศ.2393 (ค.ศ.1850) เป็นท่าเรือชื่อ “ฮวย จุ่ง ล้ง” หมายถึง “ท่าเรือกลไฟ” สำหรับให้ชาวจีนที่เดินทางทางเรือมาค้าขายหรือย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่ประเทศไทยมาเทียบเรือ พร้อมลงทะเบียนชาวต่างชาติที่เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่โดยเฉพาะที่ท่าแห่งนี้ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งการค้าธุรกิจ โดยตัวอาคารท่าเรือเป็นร้านค้าและโกดังเก็บสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ฯลฯ โดยจอดเรือที่ท่าเรือด้านหน้า และนำสินค้ามาโชว์ในร้านในอาคาร เหมือนเป็นโชว์รูม ซึ่งนับเป็นท่าเรือกลไฟที่ใหญ่ที่สุดของไทย

จนในปี พ.ศ.2462 (ค.ศ.1919) ตระกูลหวั่งหลี โดย ตัน ลิบ บ๊วย ได้เข้ามาเป็นเจ้าของอาคารท่าเรือฮวย จุ่ง ล้ง คนใหม่ต่อจาก พระยาพิศาลศุภผล จึงได้ปรับท่าเรือดังกล่าวให้กลายเป็นอาคารสำนักงานและโกดังเก็บสินค้าของตระกูลหวั่งหลี ต่อมาได้ปรับโกดังสำหรับเก็บสินค้าการเกษตรที่ขนส่งมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่อยู่อาศัยให้เช่าราคากันเองสำหรับพนักงานในพื้นที่เรื่อยมา”

ไม่เพียงเท่านั้น ที่นี่ยังมี “ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว” คลองสาน เป็นศูนย์รวมใจประดิษฐานอยู่คู่ฮวย จุ่ง ล้ง มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเจ้าแม่หม่าโจ้วโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ทำจากไม้ มี 3 ปาง ปางแรกคือปางเด็กสาว ให้พรด้านการขอบุตร ปางที่สองคือปางผู้ใหญ่ ให้พรด้านการค้าขายเงินทอง และปางที่สามคือปางผู้สูงอายุ ซึ่งเชื่อว่าท่านประทับอยู่บนสวรรค์และมีเมตตาจิตสูง ซึ่งทั้ง 3 ปางนี้ เป็นองค์ที่ชาวจีนนำขึ้นเรือเดินทางมาจากเมืองจีน เมื่อมาถึงเมืองไทยจึงอัญเชิญประดิษฐานที่ศาลแห่งนี้ อายุเก่าแก่มากกว่า 167 ปี เวลาคนจีนเดินทางโพ้นทะเลมาถึงฝั่งไทย ก็จะมากราบสักการะท่านที่ช่วยให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ และเมื่อจะเดินทางกลับประเทศจีนก็จะมากราบลาด้วยเช่นกัน

“ฮวย จุ่ง ล้ง” ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีนซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน พื้นและเครื่องหลังคาสร้างจากไม้ เสาสร้างลักษณะป่องกลางที่คนจีนนิยม ลักษณะเป็นหมู่อาคารแบบ “ซาน เหอ หยวน” ซึ่งเป็นการออกแบบวางผังอาคารในแบบจีนโบราณ ลักษณะอาคาร 3 หลัง เชื่อมต่อกัน 3 ด้าน เป็นผังรูปตัว U มีพื้นที่ว่างตรงกลาง ระหว่างอาคารทั้งสามหลังเป็นลานอเนกประสงค์ อาคารประธาน ด้านในเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว ส่วนอาคารอีก 2 หลัง ด้านข้างใช้สำหรับเป็นอาคารสำนักงานและโกดังสินค้า

ไฮไลต์ที่สำคัญของอาคารเก่านี้ คือการค้นพบภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณ ที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้สีที่ฉาบทับไว้ซ้ำไปมาหลายชั้นเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นการเขียนสีด้วยพู่กันลงบนผนังปูน จึงทำให้ภาพเหล่านั้นยังคงผนึกไว้และไม่เลือนหายไป กอปรกับลักษณะการออกแบบและขนาดของแต่ละห้องที่แตกต่างกัน สะท้อนให้เห็นว่าเป็นแหล่งศูนย์ช่างฝีมือของชาวจีนในอดีต

ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2560 ลูกหลานไทยจีนจะได้สัมผัสท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับจัดกิจกรรม นิทรรศการ งานเลี้ยงสังสรรค์ ร้านอาหาร-คาเฟ่ ร้านจำหน่ายสินค้าศิลปะและงานฝีมือของเหล่าศิลปินรุ่นใหม่ สถานที่พักผ่อน และพิพิธภัณฑ์ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยจีนในอดีตบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา



กำลังโหลดความคิดเห็น