xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัวและหัวใจ ทายาท ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ “ร.ต.ท.พงศกร ขวัญเมือง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


>>หนุ่มผิวขาวรูปร่างล่ำสัน สูงใหญ่ หากไม่สวมเครื่องแบบใครเห็นอาจนึกว่าเป็นนักกีฬา แต่แท้จริงแล้วเขาเป็นข้าราชการตำรวจ ที่กำลังเป็นที่กล่าวขานถึงในโลกออนไลน์ กับแฮชแท็ก #ตำรวจหล่อบอกด้วย

‘หมวดเอิร์ธ’ ร้อยตำรวจโท พงศกร ขวัญเมือง เป็นบุตรชายคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 3 คนของ พล.ต.อ. อัศวิน และคุณวาสนา ขวัญเมือง สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ก่อนเข้ารับราชการเมื่อปีที่แล้ว ปัจจุบันเป็นรองสารวัตรสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ

“นอกเหนือจากงานประจำแล้ว ผมยังมาช่วยงานท่านผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครด้วยครับ” เขาบอกพร้อมรอยยิ้ม “ผมช่วยเกี่ยวกับเรื่องการทำนโยบายของ กทม.”

หมวดเอิร์ธยกตัวอย่างนโยบาย ‘Now! ผลักดันทันใจ แก้ไขทันที’ ที่เขามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น “ท่านผู้ว่าฯ เคยประกาศนโยบายนี้ไปเมื่อตอนได้รับตำแหน่ง สะท้อนได้ว่าปัจจุบันการทำงานระบบราชการต้องทันประชาชน ต้องทำให้เร็ว แต่ด้วยระบบราชการบางครั้งติดปัญหา ต้องรอคนเซ็นหรือแทงเรื่องคืน เราเลยกำหนดนโยบายนี้ขึ้นมาใหม่เพื่อแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด ไม่ต้องรอหลายขั้นตอนและทำทันทีเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน”

เหตุผลที่เขาต้องการเข้ามาช่วยเสนอแนวคิดต่างๆ เนื่องจาก “บางครั้งผู้ใหญ่อาจจะเก่งในหลายๆ เรื่อง แต่บางเรื่องคนรุ่นใหม่อาจจะมองในมุมที่ต่างออกไป อย่างเรื่องโซเซียลมีเดียซึ่งถ้าเราใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เป็นประโยชน์ ก็จะทำให้การพัฒนาบ้านเมืองรุดหน้า และเกิดประโยชน์มากขึ้น แทนที่จะเดินตรงๆ แบบเก่า ตอนนี้เรามาใช้สื่อออนไลน์ เป็นยุคที่ทุกอย่างเชื่อมต่อกันหมด”

งานด้านเทคโนโลยีที่หมวดเอิร์ธรับอาสาเป็นตัวช่วยผู้ว่าฯ กทม. นั่นคือ การมอนิเตอร์สังคมผ่านโซเซียลมีเดีย ทั้งทวิตเตอร์ ไลน์ และเฟซบุ๊ก “เวลามีปัญหาอะไรสามารถแก้ไขได้เลย จึงเป็นที่มาของแอดไลน์ ‘อัศวินคลายทุกข์’” เขาบอก “ตอนแรกเป็นเพจเฟซบุ๊กก่อนแต่เราเปลี่ยนมาลงเป็นแอดไลน์ ซึ่งปัจจุบันชาวกรุงเทพฯ 4-5 พันคนตอบรับดีมากครับ ประชาชนสามารถแจ้งปัญหาทุกข์ร้อนได้เลย แล้วระบบจะแจ้งไปยังแต่ละเขตที่รับผิดชอบ เพื่อแก้ปัญหาทันที แล้วไลน์กลับมายังผู้ว่าฯ โดยตรง มันเป็นระบบที่สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ เสียงทุกเสียงของประชาชนเราต้องรับฟัง”

หมวดเอิร์ธยอมรับว่า ต้องทำงานทุกวัน เสาร์-อาทิตย์ใช้เวลาอยู่กับการศึกษานโยบาย จันทร์ถึงศุกร์ก็ไปๆ มาๆ ระหว่างงานตำรวจกับงานของ กทม.

“งานตำรวจตอนนี้ผมมาช่วยกลุ่มสอบสวน ซึ่งงานไม่ค่อยแน่นมาก อีกอย่างผู้บัญชาการตำรวจนครบาลก็เห็นว่างานนโยบายก็สำคัญ เพราะส่งผลถึงสังคมโดยรวมของ กทม. ถ้าไม่มีภารกิจด่วนที่ บก.สืบสวน จันทร์ถึงศุกร์ผมก็จะทำงานกับท่านผู้ว่าฯ ช่วยศึกษางานและดูแลนั่นนี่ งานนโยบายต้องมีออกมาตลอด ดูว่าประเทศไหนมีอะไรดีๆ สิ่งที่ประชาชนสนใจ”

นโยบายหลักๆ ที่หมวดเอิร์ธคิด เขียน และนำเสนอนั้น เกี่ยวข้องกับการศึกษาของโรงเรียนในสังกัด กทม. ถนนหนทางรวมไปถึงเรื่องสุขภาพ เขายกตัวอย่างอีกนโยบายที่กำลังผลักดันคือ เรื่องเกี่ยวกับ Family Medicine หรือเวชศาสตร์ครอบครัว “ทุกคนในกรุงเทพฯ จะมีหมอประจำครัวเรือน ก่อนจะไปโรงพยาบาล สมมติคุณป่วย คุณสามารถโทร.ถามหมอได้ก่อนว่า ป่วยเป็นอย่างนี้ๆ หมอจะให้คำตอบ ถ้ามีอาการน่าสงสัยก็จะให้ไปพบที่ศูนย์อนามัย” และอัตราส่วนของหมอที่จะคอยดูแลคือ หมอ 1 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน

ด้านการศึกษา หมวดเอิร์ธเล่าว่า พยายามคิดนโยบายเพื่อให้เด็กๆ มีอนาคตที่ดีขึ้น “สิ่งที่จะทำให้เด็กมีความตั้งใจและเป็นเด็กดีของสังคมได้ คือการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความฝัน อย่างเช่นคุณพ่อของผมเป็นเด็กจากโรงเรียนวัดนางบวช ผลักดันตัวเองจนมาเป็นตำรวจขึ้นถึงพลตำรวจเอก และเป็นผู้ว่าฯ กทม. สิ่งที่ผลักดันพ่อได้คือความฝัน ถ้าเราไปดูประวัติศาสตร์ผู้นำต่างๆ ที่ผลักดันตัวเองไปถึงจุดสูงสุดของชีวิตได้ก็คือความฝัน”

ส่วนความฝันของเขาเองนั้น เขาเฉลยว่าคือการทำอะไรก็ได้ที่ทำให้เกิดประโยชน์สำหรับคนส่วนใหญ่ ต่อสังคมประเทศชาติ ในวัยเด็ก หมวดเอิร์ธชอบทำกิจกรรมควบคู่ไปกับการเรียน เขาเคยเป็นประธานรุ่น เป็นนักกีฬารักบี้ เขาอยากใช้ชีวิตให้คุ้มค่าและมองว่าคนเราควรมีโอกาสทำอะไรหลายๆ ด้าน

“ตอนเด็กๆ ผมเคยรู้สึกกดดันเหมือนกันครับ เคยคุยเรื่องนี้กับพ่อ ท่านก็สอนว่า ความกดดันเกิดจากอะไรล่ะ ถ้าเกิดจากความคาดหวังของคนอื่นว่าเราจะต้องเป็นคนดี แล้วเราจะทำให้เขาผิดหวังไหม ถ้าเราเปลี่ยนความกดดันเป็นแรงบันดาลใจที่จะทำให้เขาสมหวังดีกว่าไหม ตอนนี้ผมไม่รู้สึกกดดันอะไรแล้ว อยากทำอะไรให้ดีขึ้น มากขึ้น ผมทำอย่างที่พ่อสอน”

สิ่งที่หมวดเอิร์ธซึมซับจากผู้เป็นพ่อ คือการทำงานเพื่อประชาชน เขาบอก “พ่อไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นคนเข้าใจคนตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงคนระดับสูง เป็นตำรวจมาตั้งแต่ระดับล่าง เป็นพลตำรวจยศต่ำที่สุดในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนได้มาเป็นพลเอก และผู้ว่าฯ กทม. ทำให้พ่อเข้าใจสภาพสังคมว่า แท้จริงแล้วคนคิดอย่างไร”

เมื่อถามว่าเขาคิดจะเล่นการเมืองในอนาคตบ้างไหม หมวดเอิร์ธหัวเราะก่อนตอบว่า “ผมอยากจะทำงานให้ดีที่สุด จะอย่างไรก็ได้ ถ้าผมจะเล่นการเมืองเพราะเป็นอาชีพที่โก้ สวยหรู มีเกียรติมีศักดิ์มีศรี ผมคงไม่อยากทำครับ แต่ถ้าเป็นนักการเมืองที่ทำอะไรเพื่อประโยชน์ของประชาชน อย่างนั้นผมอยากเป็น”

ในโมงยามที่ว่างหมวดเอิร์ธมักใช้เวลาหมดไปกับการอ่านหนังสือ แต่ก็สารภาพกลายๆ ว่า “เวลาว่างผมน้อยมากครับ ถ้ามีเวลาจริงๆ ส่วนมากผมจะอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ ชีวประวัติบุคคล นโยบาย-การเมืองต่างประเทศ อะไรแนวนี้”

นอกจากนั้น เขายังชอบที่จะออกกำลังกาย เล่นเวท วิ่ง หรือกีฬา extreme แทบทุกชนิด “ช่วงนี้ผมพยายามวิ่งให้ได้อาทิตย์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที และวิ่ง 10 กิโลเมตรขึ้นไปให้ได้สัก 1 ครั้ง ส่วนเวท อยากเล่นให้ได้อาทิตย์ละ 3 ครั้ง ถ้ามีเวลาว่างมากกว่านั้นก็จะไปยิงปืน ยิงธนู ผมชอบครับ สนุกดี”

แล้วเรื่องของความรักล่ะ เขาพอจะมีเวลาเสาะหาบ้างหรือเปล่า หมวดหนุ่มวัย 24 ได้ยินคำถามแล้วหัวเราะเบาๆ “ก็มีที่คุยๆ กันบ้าง ผมยังเรื่อยๆ อยู่ครับ” หมวดเอิร์ธให้คำตอบ “แต่ก็ซีเรียสนะครับ”

เขาอธิบายต่อว่า เรื่องคู่ครอง พ่อกับแม่จะไม่มายุ่ง “ท่านบอกว่าเรื่องความรักเป็นเรื่องของคนสองคน รักใครชอบใครไม่ควรจะบังคับ ท่านอยากให้ตัดสินใจเอง เลือกคู่ครองเอง แต่ผมมุ่งเรื่องงานมากกว่าครับ” เขาว่า “ก็คิดก็คุยนั่นละครับ ผมคุยจริงๆ แต่ยังไม่รู้ว่าจะยังไง เพราะเราก็ไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นคนสุดท้ายของชีวิต ได้แต่คาดหวังว่าเขาคงจะเป็นคนนั้น แต่ก็ไม่รู้ว่าจะสมหวังหรือไม่”

หมวดเอิร์ธเสริมอีกว่า ไม่ได้กะเกณฑ์ไว้ว่าจะแต่งงานตอนอายุเท่าไหร่ อยู่ที่ช่วงเวลาและความเหมาะสม

อีกคำถามทิ้งท้าย ที่หมวดเอิร์ธฟังแล้วบอกว่าตอบง่ายกว่าเรื่องความรัก นั่นคือเรื่องการปฏิรูปตำรวจที่เป็นประเด็นในกระแสข่าวมาอย่างยาวนาน เขาบอกถึงความรู้สึกนึกคิดของตนเอง

“เรื่องนี้มีการพูดถึงมานานมากแล้ว แต่เราปฏิรูปครั้งใหญ่จริงๆ ครั้งเดียวคือตอนเปลี่ยนจากกรมตำรวจมาเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ย้ายจากสังกัดกระทรวงมหาดไทย มาขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี นั่นคือการปฏิรูปจริงๆ ครั้งเดียว ซึ่งมันก็ไม่ได้ทำให้ดีขึ้น

“การปฏิรูปตำรวจมันขึ้นอยู่กับกฎหมายในหลายๆ เรื่อง และถ้าไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จแบบรัฐบาลชุดนี้ ผมว่าปฏิรูปยาก ตอนรัฐประหารครั้งล่าสุดปี 49 มีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาบริหารแค่แป๊บเดียว ยังไม่ทันได้ทำอะไร แต่ตอนนี้ รัฐประหารปี 57 เรามีรัฐบาลใหม่ ที่ทำอะไรได้หลายอย่าง ผมเชื่อว่าครั้งนี้น่าจะปฏิรูปได้สำเร็จ

“ผมหวังว่าหลังการปฏิรูปตำรวจแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น ตำรวจอย่างผมคงไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเดือน เรื่องที่พัก เรื่องสวัสดิการ เรื่องปืน เรื่องเครื่องแบบ จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจแล้วสามารถเอาความรู้เข้ามาทำงานเพื่อประชาชนได้เลย ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่บรรจุเข้ามาแล้ว ปืนยังไม่มี ชุดเครื่องแบบยังไม่มี รถสายตรวจยังไม่มี ต่อไปคงไม่ใช่ ตำรวจรุ่นถัดไปจะทำงานได้ง่ายขึ้น ดีขึ้น”

แน่นอนว่า สิ่งที่พูดถึงคงไม่สำเร็จเสร็จสมบูรณ์ภายในเวลาอันรวดเร็ว และหมวดเอิร์ธคงไม่นั่งรอนับคืบก้าวของการปฏิรูป เพราะในเดือนกันยายนที่จะถึง เขากำลังจะไปศึกษาต่อที่อังกฤษ และคราวนี้เขาเลือกที่จะเรียนด้าน Public Policy and Administration - การบริหารงาน การเขียนนโยบาย และการทำนโยบายสาธารณะ

“ผมอยากจะต่อยอดความรู้ในงานที่ผมกำลังทำอยู่ครับ ซึ่งผมชอบมากเลย”
กำลังโหลดความคิดเห็น