xs
xsm
sm
md
lg

นภนิศ อิศรางกูร ณ อยุธยา ออกแบบชีวิตด้วยความพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


>>ไม่ยากหากจะมองหาคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีจุดยืนในการใช้ชีวิต และการทำงานชัดเจนเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ฝัน แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยหากจะมองหาคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ไม่เพียงยึดเอาหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแกนหลักในการใช้ชีวิต แต่ยังนำมาผสมผสานกับความรู้ความสามารถที่มีเพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับสังคม หนึ่งในหนุ่มหล่อโปรไฟล์ดีที่เรียกว่าเป็น Rare Item คนนั้นคือ วิป-นภนิศ อิศรางกูร ณ อยุธยา ลูกชายคนเดียวของคุณพ่อนิพิฐ กับคุณแม่พรนภา อิศรางกูร ณ อยุธยา ปัจจุบันเขานั่งตำแหน่งผู้จัดการส่วนอาวุโส บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด

“ผมฝันไว้ตั้งแต่เด็กว่าอยากเป็นสถาปนิก อยากทำแลนด์สเคป ผมเลือกเดินตามความฝันมาตลอด จนจบปริญญาตรีและปริญญาโทด้านสถาปนิก ที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น พอเรียนจบกลับมาเมืองไทยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสมาร่วมงานกับสยามพิวรรธน์ มาเป็น “Architect-Business Development” พัฒนาโปรเจกต์ใหม่ๆ ทั้ง สยามดิสคัฟเวอรี่ และไอคอนสยาม”

วิปยอมรับว่า สายงานที่เลือกแม้จะไม่ตรงกับความฝันและสาขาที่เรียนมาโดยตรง แต่เหมือนเป็นโลกใบใหม่ที่น่าเรียนรู้และท้าทาย

“เนื้องานหลักของผมคือ การมองหาศักยภาพในพื้นที่ต่างๆ เพื่อดูความเหมาะสมว่าจะนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นที่อยู่อาศัย ออฟฟิศ หรือห้างสรรพสินค้าดี เปรียบเทียบง่ายๆ งานของผมก็เหมือนช่างที่ขุดเจอกรวดแล้วต้องมาเจียระไนให้เป็นเพชรน้ำงาม 5 ปีที่ผ่ามมา ผมค่อนข้างสนุกกับงานและได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง”

อย่างไรก็ตาม แม้โชคชะตาจะนำพาชีวิตไปจากจุดที่ฝัน แต่วิปเองก็ไม่ได้ทิ้งฝันที่มี “เมื่อ 2 ปีก่อนมีพี่ที่ผมสนิทเขาทำงานกับโครงการหลวงที่ม่อนแจ่ม กำลังหาสถาปนิกมาทำแลนด์สเคปเพื่อพัฒนาพื้นที่โครงหลวงตีนตก ผาน้ำลอด เลยมาชวนผมไปช่วย ตอนนั้นตื่นเต้นมากที่จะได้ทำในสิ่งที่ฝันมานาน ผมลงพื้นที่ไปสำรวจเลยว่าจุดแข็งของพื้นที่นี้คืออะไร จากนั้นก็มาออกแบบเพื่อพัฒนาพื้นที่ จัดภูมิทัศน์ใหม่จากสวนที่มีแต่กล้วยไม้และก้อนหินให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้คนมาถ่ายรูป มีร้านกาแฟที่ให้บรรยากาศแบบแนบชิดกับธรรมชาติเป็นกิมมิค เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนไปด้วย” วิปเล่าอย่างออกรส พร้อมเผยว่า “โครงการนี้ใช้เวลาดำเนินการพักใหญ่ ระหว่างที่รอผมก็ได้เข้าไปช่วยพัฒนาโครงการหลวงทุ่งผักไผ่ (สวนกุหลาบหลวง) ซึ่งเป็นสวนที่ครั้งหนึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จมาแล้วทรงโปรด ผมได้รับมอบหมายให้พัฒนาโครงการนี้จากศูนย์พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งทั้งสองโครงการนี้แล้วเสร็จไล่เลี่ยกันไปเมื่อปีที่แล้ว”

การได้มีโอกาสทำงานที่รัก เหมือนได้เติมเต็มความฝันให้สมบูรณ์ แต่วิปกลับไม่ได้คิดว่า จะหยิบเอางานในฝันนี้มาเป็นอาชีพ เขาเลือกที่เก็บไว้เป็นงานอดิเรก “ผมมีความสุขที่ได้ทำงานในฝันด้วยใจ ไม่มีผลตอบแทนแต่ก็มีความสุข ผมตั้งใจไว้แล้วว่าจะไม่ทำงานเป็นแลนด์สเคปแบบฟูลไทม์แน่นอน เพราะเมื่อไหร่ที่ผมทำเป็นงานนั่นหมายความว่า ต้องถูกจำกัดกรอบความคิดด้วยปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งผมไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น”

ด้วยความมุ่งมั่นนี้เอง กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้วิปตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสถาปนิกนักออกแบบความสุขในโครงการทำตามพ่อ ปลูกเพ(ร)าะสุขของกลุ่มมิตรผล ที่มุ่งต่อยอดความสุขผ่าน “ศูนย์ปลูกเพ(ร)าะสุข” เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและจุดประกายการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขแบบยั่งยืนให้กับเกษตรกร ชุมชม และคนไทยทั้งประเทศสามารถยืนหยัดและพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืน ผ่านแนวคิดการทำเกษตรทฤษฎีใหม่

“ผมได้รับการทาบทามให้มาเป็นที่ปรึกษาของโครงการนี้ โจทย์ของผมคือ จะใช้ความรู้ด้านสถาปนิกมาพัฒนาศูนย์การเรียนรู้นี้อย่างไร ให้มีความแตกต่างและน่าสนใจทั้งสำหรับเกษตรและคนเมือง พูดง่ายๆ คือ จะนำดีไซน์มาผนวกกับการใช้สอยพื้นที่อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้คอนเซ็ปต์เกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งผมอยู่ระหว่างเก็บข้อมูลและใส่ไอเดียที่มีลงไปเต็มที่ จากนั้นพอได้ลงพื้นที่จริงค่อยกลับมาวิเคราะห์ดูอีกทีว่า ไอเดียไหนใช้ได้จริงไอเดียไหนต้องปรับ”

แม้หลักการเกษตรทฤษฎีใหม่ จะเป็นหนึ่งในศาสตร์ที่คนไทยคุ้นหู เพราะเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แต่เมื่อต้องนำมาต่อยอดให้เป็นรูปธรรมนั้น กลับไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่สำหรับวิปนี่คืออีกหนึ่งภารกิจที่ท้าทาย และเขาพร้อมจะเป็นอีกหนึ่งจิกซอว์ที่ทำให้โปรเจกต์นี้สมบูรณ์แบบ เพราะตัวเขาเองก็เป็นคนหนึ่งที่มีความสนใจ และน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตอยู่แล้ว

“ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านพระราชทานแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้คนไทยแล้ว เรามีหน้าที่ไปดีไซน์หรือพัฒนาให้เหมาะกับแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นชาวเมืองหรือชาวไร่ เพราะหลักการดำเนินชีวิตของแนวคิดนี้คือ การใช้ชีวิตบนพื้นฐานของความพอมี พอกิน พอใช้ และใช้ชีวิตบนความพอประมาณ ไม่น้อยหรือมากเกินไป และไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น รู้จักออมเพื่ออนาคต และรู้จักลงทุนกับความรู้และประสบการณ์ชีวิต ซึ่งจะเป็นสิ่งที่อยู่กับตัวเราตลอดไป เช่นเดียวกับแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งว่าด้วยเรื่องการจัดพื้นที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและมีชีวิตอย่างยั่งยืน ก็สามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกคน”

สำหรับทฤษฎีนี้วิปขยายความให้เห็นภาพว่า “สำหรับคนเมือง การเลือกออมในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยง ก็เหมือนกับเกษตรกรที่มีแปลงปลูกพืชผักหลายๆ ชนิด เผื่อถ้าวันใดพืชบางตัวราคาตก พืชผลตัวอื่นก็ยังสามารถประคองให้มีรายได้ที่ใกล้เคียงเดิมได้ ขณะที่เมื่อมีรายได้เหลือก็ควรนำมาลงทุนกับความรู้ อย่างเกษตรกรอาจเลือกนำรายได้ส่วนที่เหลือไปลงทุนนำความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาผลผลิตให้ดีขึ้น ขณะที่ คนเมืองอาจนำเงินส่วนที่เหลือไปต่อยอดความรู้เพื่อพัฒนาทักษะ อย่างตัวผมเองเลือกจะเดินทางเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ชีวิต”

นอกจากนี้ วิปยังเล่าต่อถึงมุมมองชีวิตอันล้ำค่าที่ได้รับจากการเดินทางว่า “ผมชอบเดินทาง โดยเฉพาะ สถานที่แปลกๆ ไปยาก หนึ่งในทริปประทับใจคือ ตอนที่ผมไปเทรคกิ้งที่ลาว แล้วมีโอกาสพบกับชาวเขาที่นั่น สิ่งที่ผมเห็นคือสภาพความเป็นอยู่ของชาวเขาที่นั่นไม่ดีเท่าชาวเขาบ้านเรา ซึ่งพอได้เห็นภาพเปรียบเทียบแบบนี้ ยิ่งทำให้ซาบซึ้งในน้ำพระทัยในหลวง ร.9 ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยเหลือเกิน”

ส่วนอีกหนึ่งกิจกรรมโปรดคือ การอ่านหนังสือ โดยหนังสือที่ชอบเป็นพิเศษคือหนังสือที่ระลึกงานศพ “ผมว่าการอ่านหนังสืองานศพไม่เพียงแต่ทำให้เราได้รู้จักคนๆ นั้นดีขึ้น แต่ยังช่วยให้เราได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ ในอดีตด้วย ผมชอบอ่านหนังสือแนวประวัติศาสตร์อยู่แล้ว แต่ทั้งหมดเป็นการเรียนรู้ผ่านมุมมองของนักประวัติศาสตร์ ฉะนั้น ผมถึงมองว่าการได้อ่านหนังสือที่ระลึกงานศพ เท่ากับว่าผมได้เปิดมุมมองทางประวัติศาสตร์จากคนในสมัยนั้นจริงๆ ทำให้รู้ว่ายุคนั้นมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง แล้วผู้คนมีความคิดอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”

สถาปนิกหนุ่มยอมรับว่า เห็นลุคชิลๆ แบบนี้แต่ก่อนเขาเป็นหนุ่มเพอร์เฟกชันนิสต์ ใช้ชีวิตแบบห้อมล้อมไปด้วยความเครียด

“งานสถาปนิกไม่เหมือนการบวกลบเลข ที่ 1+1 ต้องเท่ากับสอง แต่งานของเราตราบที่มีเวลาเราสามารถแก้ไขได้จนนาทีสุดท้าย จนวันหนึ่งคุญแม่เตือนสติผมว่า ในเมื่อคิดว่าดีแล้วก็ไม่จำเป็นต้องลังเล สู้เอาเวลาที่มีไปต่อยอดทำอย่างอื่นดีกว่า ซึ่งผมก็คิดว่าจริงและเริ่มไม่กดดันตัวเอง พยายามแยกระหว่างงานกับเวลาส่วนตัว ไม่ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความเครียด ไม่กดดันตัวเอง ไม่เฉพาะเรื่องงานแต่เรื่องส่วนตัวก็เหมือนกัน แต่ก่อนผมเคยวางแผนว่าอายุเท่าไหร่จะต้องแต่งงาน แต่ตอนนี้ผมอายุ 28 ปี ความคิดของผมเปลี่ยนไป ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องกดดันว่าอีกกี่ปีต้องแต่งงาน เพราะถ้าทำแบบนั้นสุดท้ายเราอาจจะเจอคนที่ไม่ใช่ แต่ก็ต้องแต่ง” วิปแย้มถึงมุมมองความรักที่ขอเลือกออกแบบเอง งานนี้ เลยถือโอกาสถามถึงสเปกผู้หญิงที่จะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ซึ่งวิปไม่เสียเวลาคิดนาน เพราะคอนเซ็ปต์ง่ายๆ ของเขาคือ ชอบผู้หญิงฉลาด

“ผมไม่เน้นรูปลักษณณ์ภายนอก ไม่ได้มีสเปก แต่ผมชอบผู้หญิงฉลาด คุยกันรู้เรื่อง ถูกคอ แค่นี้ก็โอเคแล้วครับ” วิปกล่าวทิ้งท้ายพร้อมคลี่ยิ้ม
กำลังโหลดความคิดเห็น