xs
xsm
sm
md
lg

“ศิลปะ...แบบนี้ก็ได้เหรอ” เสวนากะเทาะความเชื่อ “ศิลปะเป็นเรื่องสูง-เข้าถึงยาก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จากซ้าย : ชล เจนประภาพันธ์,ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ และทรงวุฒิ แก้ววิศิษฏ์
ART EYE VIEW---เมื่อเร็วๆ นี้ ศุภโชค ดิ อาร์ต เซ็นเตอร์ (S.A.C.) สุขุมวิท 39 ร่วมกับ สำนักพิมพ์แซลมอน จัดเสวนา “ศิลปะ...แบบนี้ก็ได้เหรอ” โดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ กราฟิกดีไซเนอร์ นักประวัติศาสตร์ศิลป์ และนักเขียนเจ้าของผลงานหนังสือศิลปะย่อยง่ายอย่าง “Art is Art, Art is Not Art : อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ” ร่วมด้วย ทรงวุฒิ แก้ววิศิษฏ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นและศิลปิน ที่ทำงานเชิงวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาไทยได้อย่างถึงแก่น และ ชล เจนประภาพันธ์ ภัณฑารักษ์ประจำ S.A.C.

“ศิลปะ...แบบนี้ก็ได้เหรอ” เป็นการสนทนา เพื่อหวังกะเทาะความคุ้นชินของการมองศิลปะเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่จริงศิลปะเป็นเรื่องใกล้ตัว และไม่ใช่เรื่องยากจนต้องปีนบันไดดู นอกจากนี้ในงานมีจัดแสดงนิทรรศการ Live a Life โดย ทรงวุฒิ แก้ววิศิษฏ์ ที่เล่าถึงจินตนาการมหัศจรรย์ของเด็กๆ ที่ถูกยับยั้งหรือทำลายลงด้วยระบบการศึกษา

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ เริ่มเสวนาด้วยการเล่าถึงสิ่งใกล้ตัวที่เป็นจุดพลิกวงการศิลปะอย่าง มาร์แซล ดูชองป์ ศิลปินผู้นำเอาวัตถุในชีวิตประจำวันมาทำให้กลายเป็นศิลปะ เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า อะไรที่ศิลปินเห็นว่ามีคุณค่าพอสิ่งนั้นสามารถนำมาทำเป็นงานศิลปะได้ ซึ่งหมายความว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับการเป็นศิลปะไม่ใช่ตัววัตถุ แต่เป็นความคิดของศิลปิน

ดูชองป์ได้ส่ง “โถปัสสาวะ” เข้าไปร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปะที่นิวยอร์ก จนได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีนักประวัติศาสตร์ศิลปะตีความกันเป็นที่สนุกสนาน ทั้งที่เขาเพียงแค่ต้องการกระตุ้นเร้าให้คนเลิกเทิดทูนบูชาศิลปะ แต่หันมาครุ่นคิดหาความหมายของมันแทน

“ถ้ามองอย่างผิวเผิน ศิลปะอาจไม่เกี่ยวกับชีวิตเราโดยตรง แต่มันแฝงอยู่ในสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา ในวิถีชีวิตประจำวันของเรา ในอาหาร เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย เครื่องมือเครื่องใช้ สินค้าที่เราซื้อหา โทรศัพท์ที่เราถือ คอมพิวเตอร์ที่เราใช้ ล้วนแล้วแต่ได้แรงบันดาลใจจากงานศิลปะไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การได้รู้ที่มาที่ไปเบื้องลึกเบื้องหลังของสิ่งต่างๆ รอบตัวมันทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีสีสัน สนุกสนาน และมีสุนทรียะมากขึ้น อีกอย่างคือศิลปะเป็นผลพวงของความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ซึ่งส่งผลให้ผู้ที่ได้ดูชมเกิดความคิดสร้างสรรค์ และเกิดแรงบันดาลใจนำไปต่อยอดในการใช้ชีวิต ทำงาน หรือทำมาหาเลี้ยงชีพได้ โดยไม่จำเป็นว่าคนคนนั้นจะต้องทำงานในสายศิลปะเลยด้วยซ้ำ”

ภาณุ ย้ำอีกว่า ศิลปะเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา บางครั้งศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเพลิดเพลิน เป็นเครื่องมือในการเพิ่มเสน่ห์ให้กับการดำรงชีวิต เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการดึงดูดเพศตรงข้าม บางครั้งศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดภายในของมนุษย์ให้คนอื่นได้รับรู้โดยไม่ต้องใช้คำพูด เป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึงทัศนคติ อุดมการณ์ เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคม รวมถึงเป็นเครื่องมือทางการเมืองด้วย

อีกหนึ่งประเด็นน่าสนใจคือเรื่องของการเรียนการสอนในแวดวงการศึกษาศิลปะ โดยเฉพาะเรื่องของวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่หลายคนบอกว่าชวนหลับทั้งที่เป็นวิชาพื้นฐานที่ส่งเสริมแนวความคิดและนำไปต่อยอดในงานของตนเองได้ หากวิชานี้ถูกถ่ายทอดออกมาให้สนุก


ชล เจนประภาพันธ์ ภัณฑารักษ์ประจำ S.A.C. แสดงความคิดเห็นว่าสถาบันสอนศิลปะถือเป็นส่วนสำคัญ และเป็นต้นตอที่ทำให้ศิลปะในไทยไม่กล้าพอที่จะหาแนวทางใหม่ๆ ตำราประวัติศาสตร์ศิลป์ส่วนใหญ่ในไทยจะไล่เรียงตามไทมไลน์ เหมือนเป็นวิชาเพื่อท่องจำ ไม่ได้ถูกนำเสนอให้สนุกและน่าสนใจพอที่นักศึกษาจะสนใจ เพื่อนำไปตั้งข้อสันนิษฐานใหม่ นำไปพัฒนา และต่อยอดคิดหาแนวทางการสร้างผลงานศิลปะรูปแบบใหม่

“อีกอย่างคือเรื่องของเนื้อหาที่ยังไม่เป็นปัจจุบันมากนัก บางครั้งเรายังไม่รู้ว่าศิลปินปัจจุบันของประเทศเพื่อนบ้านที่โด่งดังตอนนี้มีใครบ้าง หรือแม้แต่ของไทยมีใครบ้างทั้งที่บางคนมีผลงานโดดเด่นน่านำมาศึกษา รวมถึงการเรียนการสอนควรแนะ หรือเสริมเรื่องของชีวิตจริงเข้าไปด้วยว่าการเรียนศิลปะจบมาแล้วทำมาหากินอะไร สร้างอาชีพอย่างไรได้บ้าง”

ด้าน ทรงวุฒิ แก้ววิศิษฏ์ ศิลปินร่วมสมัยและอาจารย์สอนศิลปะจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เสริมในเรื่องการเรียนการสอนศิลปะว่า โจทย์คือทำอย่างไรให้เด็กนักเรียนทั่วๆ ไปได้เข้าใจและไม่รู้สึกเบื่อหน่ายการเรียนรู้ศิลปะ อาจารย์ผู้สอนอาจจะต้องหากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศิลปะที่ทำให้เด็กๆ เข้าใจคุณค่าและความสำคัญของงานสร้างสรรค์และเข้าใจว่าศิลปะคือสิ่งที่อยู่รอบตัวและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของทุกคน

ขณะที่ภาณุ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมคิดว่าต้องหาสื่อที่ดึงดูดความสนใจเด็ก สื่อที่สามารถดึงดูดความสนใจในการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะได้ดีคือภาพยนตร์ชีวประวัติของศิลปินต่างๆ หนังสือของผมเองก็เป็นพยายามพูดถึงสิ่งที่ดูไม่เหมือนศิลปะแต่เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะร่วมสมัยด้วยเนื้อหาที่อ่านง่าย และสำนวนที่สนุกสนาน ไปจนถึงยียวนตามประสาวัยรุ่น ดังนั้นเนื้อหาในหนังสือจึงไม่ใช่การสั่งสอน แต่เป็นเหมือนเราเล่าเรื่องศิลปะให้เพื่อนฟังมากกว่า” 

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews


กำลังโหลดความคิดเห็น