>>สมัยก่อนสังคมอาจให้ความสำคัญกับคนเก่ง มีความสามารถรอบตัว แต่ในยุคดิจิตัลที่โลกใบเดิมถูกย่อให้แคบลง แถมหมุนเร็วขึ้นกว่าเดิม ดูเหมือนความเก่งและสามารถจะมีแรงไม่พอที่จะส่งเสริมให้คนๆ หนึ่งไปถึงจุดหมายที่หวังได้ เพราะสมัยนี้นอกจากจะเก่งแล้ว ยังต้องมาพร้อมคอนเนกชั่นที่แน่นปึกด้วย ถึงจะเรียกได้ว่า “ครบสูตร”
หนึ่งในแหล่งผลิต “คอนเนกชั่น” ยอดนิยม ที่คนในสังคมยุคนี้ โดยเฉพาะเหล่าเอ-ลิสต์ทั้งหลายปลื้มสุดๆ คงหนีไม่พ้นบรรดาหลักสูตรอบรมระยะสั้น ซึ่งจัดขึ้นโดยหน่วยของภาครัฐ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ความน่าสนใจของห้องเรียนเฉพาะกิจนี้ คือ เหมือนเป็นการสร้างคอมมูนิตี้แห่งใหม่ที่รวบรวมบุคคลที่คัดสรรมาแล้วในหลากหลายสาขาอาชีพเข้าไว้ด้วยกัน นอกจากผู้เรียนจะได้มาเพิ่มพูนความรู้กลับไป ยังมีผลพลอยได้ที่ไม่อาจปฏิเสธอย่าง สายสัมพันธ์ มิตรภาพใหม่ที่เกิดขึ้นในห้องเรียน จนกลายเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ดึงดูดให้หลักสูตรเหล่านี้ยิ่งเป็นที่สนใจ
เมื่อลองสำรวจตลาดหลักสูตรสร้างคอนเนกชั่นในบ้านเราตอนนี้ ต้องบอกว่ามีมากมายเหลือเกิน ตั้งแต่ หลักสูตรยอดนิยมที่หลายคนคุ้นหู และรู้จักกันเป็นอย่างดี อย่างหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) ของวิทยาลัยการยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม, หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) ของสถาบันพระปกเกล้า และหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง "
จากผลการศึกษาของ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์" อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงหลักสูตรยอดนิยมของผู้บริหารระดับสูงที่มีบทบาททางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และระบบราชการ อธิบายว่า หลักสูตร วปอ., บ.ย.ส., ปปร. และ พตส. ซึ่งดำเนินการโดยภาครัฐนั้น มีเป้าหมายของหลักสูตรที่แตกต่างกัน อย่าง วปอ.เน้นเรื่องความมั่นคงในแนวกว้าง รวมถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ขณะที่ บ.ย.ส. จะมุ่งไปที่การพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วน ปปร. และ พตส. จะเป็นเรื่องของการเสริมสร้างประชาธิปไตย
ความน่าสนใจคือ ทั้งหมดเป็นหลักสูตรระยะยาวในเวลาเรียน 8-13 เดือน ซึ่ง วปอ. บ.ย.ส. และ พตส. ให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ทหาร ผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม และฝ่ายการเมือง สวนทางกับ ปปร. ที่สัดส่วนผู้เรียนมาจากภาคธุรกิจมากกว่าฝ่ายการเมือง
นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) ของสถาบันวิทยาการตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TEPCoT) ของหอการค้าไทย โดยวตท. เน้นส่งเสริมความรู้ความเข้าใจภาคการเงิน โดยเฉพาะในตลาดทุน ส่วน TEPCoT เน้นในภาคการค้าและพาณิชย์ เป้าหมายของ 2 หลักสูตรนี้คือส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายผู้นำระหว่างภาคธุรกิจและภาคราชการที่กำกับดูแลและภาคการเมืองรวมถึงฝ่ายกระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ และสื่อมวลชน
อย่างไรก็ตาม นอกจากหลักสูตรยอดนิยมที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น ปัจจุบันยังมีหลักสูตรน้องใหม่มากมายที่เกิดขึ้นเพื่อตอบรับกับความต้องการของผู้เรียน นำทีมโดยหลักสูตรที่นาทีนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก อย่าง หลักสูตร ABC (Academy of Business Creativity) ซึ่งผสมผสานระหว่างองค์ความรู้ทางธุรกิจกับความคิดสร้างสรรค์, หลักสูตรพัฒนาการใช้สื่อดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์ ควงคู่มากับหลักสูตรพัฒนาการใช้สื่อดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์ DEF (Digital Edge Fusion) ทั้งสองหลักสูตรเป็นผลผลิตจากมหาวิทยาลัยศรีปทุม
หรือหลักสูตรการบริหารการลงทุนเพื่อนักธุรกิจระดับท๊อป (Ultra Wealth) ที่เหล่าเซเลบริตีพากันลงเรียนกันแน่นทุกรุ่น อย่างเช่น อรรครัฐ วรรณรัตน์, ณ ชนก รัตนทารส, กรณ์ ณรงค์เดช, ชาญ ศรีวิกรม์, ณรัล ธรรมาวรานุคุปต์, ณัฐปรี พิชัยรณรงค์สงคราม, ธราภุช คูหาเปรมกิจ, ณภพ ชินวัตร, รอฟ วอน บูเรน, ศรัณฐ์ หวั่งหลี, วรวุฒิ อัจฉริยศรีพงศ์, สิตามนินทร์ สุสมาวัฒนะกุล ฯลฯ
ว่ากันว่า หลักสูตรเหล่านี้ นอกจากวิชาการจะแน่น เพราะพร้อมสรรพทั้งความรู้เชิงทฤษฎี และภาคปฎิบัติให้ลองของจริง มีการแท็กทีมไปดูงานทั้งในและต่างประเทศ ยังจุดประกายให้เกิดคอนเนกชั่นใหม่ๆ บางคนคุยกันถูกคอก็รวมตัวกลายเป็นก๊วนเพื่อนใหม่ หรือ บางคนธุรกิจเอื้อกัน สามารถใช้คอนเนกชั่นที่มีช่วยกันต่อยอดไอเดียไม่รู้จบ ขณะที่บางคู่เรียนไปช่วยเหลือกันไป จนกลายเป็นคู่รักกันไปเลยก็มี
สำหรับ “ยูกิ-อุณาวรรณ ตั้งคารวคุณ” นักธุรกิจสาวสวยผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์แฟชั่น "ยูนา" (YUNA) หนึ่งในสาวสังคมคนดังที่มีโอกาสไปเทกคอร์สในหลักสูตรยอดนิยมมาแล้วหลายคลาส และกำลังมีแผนจะสมัครเรียนในหลักสูตรที่เน้นด้านการทำการตลาดออนไลน์ต่อ เล่าว่า จุดเริ่มต้นในการเรียนหลักสูตรเหล่านี้มาจากการชักชวนของญาติ โดยคอร์สแรกที่ไปลองเรียนคือ RE-CU หลังจากนั้นก็เรียนมาเรื่อยๆ ตามหัวข้อที่สนใจ ทั้ง MAPS, โครงการนักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่หรือ Young F.T.I. Elite ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหลักสูตร ABC, และหลักสูตรผู้ประกอบการแห่งอนาคต Future Entrepreneurs Forum (FEF)ของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
“ทุกคลาสที่ไปเรียน ส่วนใหญ่จะได้เจอเพื่อนเก่าๆ ที่รู้จักกันอยู่แล้ว ประมาณ 30% ทำให้บรรยากาศการเรียนไม่เกร็ง แถมนอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยังเหมือนได้กลับมารียูเนียน พร้อมทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ ส่วนตัวเวลาจะเลือกเรียนหลักสูตรไหน จะเน้นดูเน้นหาของหลักสูตรเป็นหลักก่อนว่ามีความน่าสนใจหรือเปล่า ส่วนเรียนแล้วจะได้เจอเพื่อนใหม่ๆ ได้คอนเนกชั่นหรือเปล่า เป็นผลพลอยได้มากกว่า“
ยูกิ ยังแสดงความเห็นถึงหลักสูตรต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายว่า เป็นทางเลือกใหม่ให้กับคนรุ่นใหม่ที่อยากต่อยอดความรู้แบบเร่งด่วน เพราะถ้าพูดเรียนการเรียนต่อปริญญาโทเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมก็เป็นหนทางหนึ่ง แต่การเรียนหลักสูตรลักษณะนี้ ทำให้มีทางเลือกที่หลากหลาย ตรงกับความสนใจในช่วงเวลานั้นๆ ใช้เวลาเรียนไม่นาน
“อย่างตอนนี้เทรนด์ออนไลน์มาอยู่ในทุกมิติการใช้ชีวิต เพื่อเข้าใจการใช้โซเชียลมีเดียในธุรกิจมากขึ้น เราก็ไปหาหลักสูตรที่อบรมด้านนี้โดยตรง ที่สำคัญคือ ระยะเวลาในการเรียนไม่นานเพียง 3-4 เดือน”
ขณะที่ “บุ๋ม-บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์” นักสร้างแบรนด์ชื่อดังที่นำพาบาร์บีคิวพลาซ่าก้าวสู่ร้านอาหารปิ้งย่างเบอร์หนึ่งของเมืองไทย เผยมุมมองที่น่าสนใจว่า หลักสูตรเอบีซี ได้เปิดมุมมองความคิดหลายอย่างให้กับเธอ
“นอกจากประโยชน์ที่ได้รับจาการอบรม หลักสูตรนี้ยังทำให้เราเห็นช่องว่างในสังคมที่ชัดมาก และเรารู้สึกว่าอยากปิดช่องว่างตรงนี้ อยากให้คนระดับล่างมีความสุขด้วยการเห็นคุณค่าของตัวเอง เราคงไม่สามารถเอาเงินไปโปรย ช่วยเหลือให้ชีวิตเขาดีขึ้น แต่เราอยากใช้โอกาสที่เราได้เจอคนระดับบนของสังคมนี้ ถ่ายทอดเรื่องราวของคนอีกกลุ่มให้เขารับรู้ โดยนำสิ่งที่บริษัทเราทำให้กับพนักงานไปเล่า อย่างน้อยแค่พวกเขาเอากลับไปคิด หรือใช้กับคนในบริษัทเขา มันก็พอแล้ว”
ไม่เพียงการเรียนเอบีซีจะจุดประกายให้บุ๋มอยากสวมบทผู้ให้แล้ว ยังเป็นแรงขับดันให้เธอเปลี่ยนสถานะจากนักเรียนไปสู่ผู้จัดทำหลักสูตรด้วย บุ๋มเล่าถึงที่มาของการเป็นผู้อยู่เบื้องหลังพัฒนาหลักสูตร DEF หรือ Digital Edge Fusion ของมหาวิทยาลัยศรีปทุมว่า แรกเริ่มเธอมีความฝันว่าอยากจะพัฒนาหลักสูตรที่เป็นประโยชน์อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาได้แต่เก็บความตั้งใจนี้ไว้ จนวันหนึ่งโอกาสก็มาถึง เมื่อเธอได้รับการทาบทามให้มาร่วมทำงานที่ฝัน
“งานนี้ถือเป็นอีกหนึ่งมิติของชีวิตนะ เราผ่านมาหมดแล้วทั้งงานโฆษณา การตลาด มาถึงวันนี้เราคือผู้ให้และผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราตั้งใจไว้อยู่แล้วถ้าเราต้องจากโลกนี้ไปจริงๆ เราก็อยากให้คนที่อยู่ได้พูดถึงสิ่งที่เราทำอะไรเพื่อทิ้งไว้ให้สังคมค่ะ”