>>ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้โรคหลายชนิดแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกที่สร้างภาระและปัญหาในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เฉพาะต้นปี 2560 นี้พบผู้ป่วยแล้วรวม 4,465 รายจากจำนวนประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มว่าอัตราการเจ็บป่วยด้วยไข้เลือดออกจะสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเอื้อต่อการแพร่พันธุ์ของยุงลายพาหะของโรค สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชียแนะนำ 9 ข้อควรทำเพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกที่มาพร้อมฤดูฝน ดังนี้
1. จัดการทิ้งขยะหรือสิ่งของที่น้ำฝนสามารถขังได้ โดยเฉพาะยางรถยนต์เก่า ถังน้ำ สายยาง แจกันดอกไม้ หิ้งพระ หรือภาชนะต่างๆ เพราะยุงลายที่มีเชื้อสามารถมีชีวิตและแพร่พันธุ์ที่ใดก็ได้ที่มีน้ำขัง
2. ใช้ยาทากันยุงที่มีสาร DEET และ ICARIDIN สำหรับผิวหนังหรือเสื้อผ้า หรือยาจุดกันยุง สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ที่ต้องนอนกลางวัน ควรนอนกางมุ้งหรือเปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อช่วยไล่ยุงและป้องกันยุงลายกัด โดยเฉพาะช่วงเช้าและใกล้ค่ำซึ่งเป็นเวลาที่ยุงลายออกหากิน ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ไม่ใช่ช่วงเวลากลางคืนอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจผิด
3. ใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด โดยเฉพาะบริเวณขา เข่า คอ หู ยุงลายมักชอบบินมากัดทางด้านหลังข้อเท้าและข้อศอก โดยที่เราไม่รู้ตัว
4. อย่าประมาทและคิดว่าตนเองสุขภาพแข็งแรงแล้วจะไม่เสี่ยง เพราะไข้เลือดออกสามารถเกิดได้ในทุกวัย ทุกสถานะ ทุกสภาพร่างกาย ทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นไข้เลือดออกได้โดยเฉพาะในฤดูฝนที่มีการเพาะพันธุ์และระบาดของยุงลาย
5. หมั่นสังเกตอาการต่อไปนี้ซึ่งเป็นอาการไข้เลือดออก ได้แก่ ไข้สูงปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง อาจพบจุดเลือดที่ผิวหนัง หรือเจ็บที่ชายโครงด้านขวา มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากไข้เป็นหวัดที่จะมีน้ำมูกร่วมด้วย เว้นแต่จะเป็นไข้ทั้งสองชนิดในเวลาเดียวกันอาจจะมีอาการทั้งไอและมีน้ำมูกด้วย
6. หากรู้สึกไม่สบาย หรือสงสัยว่ามีอาการไข้เลือดออก ควรดื่มน้ำเยอะๆ ดูแลไม่ให้ร่างกายขาดน้ำไว้ก่อน เพื่อเป็นการป้องกันภาวะขาดน้ำไว้ตั้งแต่ในระยะแรกๆ ของการติดเชื้อไข้เลือดออกในกรณีที่ติดเชื้อจริงๆ โดยไม่ต้องรอให้โรคเข้าสู่ระยะวิกฤต ที่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด หรือช็อกแล้วจึงค่อยมาแก้ไขกันทีหลัง จากการศึกษาพบว่าหากได้รับปริมาณสารน้ำปริมาณที่พอเพียงก่อนมาพบแพทย์ 24 ชั่วโมง จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลลงได้
7. หลีกเลี่ยงการรักษาหรือบรรเทาอาการด้วยตนเอง หรือ รับประทานยาเพื่อลดอาการด้วยตนเองโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะยาจำพวกแอสไพริน หรือยาไอบูโพเฟ่น รวมถึงห้ามทานยาฆ่าเชื้อ เพราะไข้เลือดออกเป็นเชื้อไวรัส ไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย
8. รีบปรึกษาหรือพบแพทย์ทันทีหากสงสัยว่าเริ่มมีอาการ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง
9. ปรึกษาแพทย์หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก สำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 9-45 ปี