xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอยเส้นทางต้นไม้ทรงปลูก จากหนังสือ “ใต้ร่มพฤกษาพระบารมี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


>>พระราชดำรัสตอนหนึ่งของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ หน่วยงานพัฒนาต้นน้ำทุ่งจ๊อ ในปี พ.ศ. 2519 ความว่า “...ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง....” นับเป็นแนวพระราชดำริบริหารจัดการและฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ให้กลับคืนมา ที่สร้างคุณเอนกอนันต์ให้กับประเทศชาติ โดยทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ใดก็ตาม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะทรงปลูกต้นไม้ไว้ทุกครั้ง ซึ่งรู้จักกันในนาม “ต้นไม้ทรงปลูก” ถือเป็นสัญลักษณ์ทางใจให้ประชาชนได้รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ทรงมีต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าทั่วทุกพื้นที่บนผืนแผ่นดินไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย สถาบันไทยคดีศึกษา จึงได้รวบรวมภาพถ่ายต้นไม้ทรงปลูกของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในช่วงตลอดระยะเวลา 70 ปี แห่งการครองราชย์ มาจัดทำเป็นหนังสือภาพสี่สี “ใต้ร่มพฤกษาพระบารมี” จำนวน 2,000 เล่ม สำหรับแจกหน่วยงาน และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อเป็นเสมือนพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งการทรงงาน ตลอดจนเป็นแบบอย่างให้คนไทยได้ตระหนักและรับรู้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นต้นธารแห่งความอุดมสมบูรณ์ทั้งปวง


ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการทรัพยากรป่าไม้ อันมีความเกี่ยวโยงไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดังเดิมไว้ให้มากที่สุด จากแนวพระราชดำริของพระองค์ ได้ก่อเกิดโครงการพัฒนาและบำรุงป่าไม้ทั่วประเทศตามมาเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นตัวช่วยป้องกันอุทกภัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมฉับพลัน และการพังทลายของดินอย่างรุนแรง ขณะเดียวกันยังเป็นการถนอมน้ำไว้ใช้บริโภค อุปโภค และหล่อเลี้ยงความชุ่มชื้นในธรรมชาติ

ไม่ใช่แค่ความมุ่งมั่นที่จะรักษาผืนป่า และทำนุบำรุงป่าต้นน้ำ ทว่าเมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ห่างไกลคราใด ทั้ง 2 พระองค์ ทรงลงพระหัตถ์ปลูกพรรณไม้ที่เหมาะสมต่อการเติบโตในพื้นที่นั้น ๆ เสมอมา ดังนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย สถาบันไทยคดีศึกษา จึงใช้เวลาร่วม 1 ปี ในการตามรอยเส้นทางต้นไม้ที่ทรงปลูกทั่วประเทศไทย ทั้งหมดกว่า 350 ต้น ตามที่ได้บันทึกไว้ในหนังสือพระราชกรณียกิจ และตามรายงานข้อมูลต้นไม้ทรงปลูก ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อถ่ายภาพต้นไม้ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกตลอดระยะเวลา 7 ทศวรรษแห่งการครองราชย์ จากสถานที่จริงในปัจจุบัน รวบรวมและผลิตเป็นหนังสือภาพสี่สี “ใต้ร่มพฤกษาพระบารมี” จำนวนกว่า 400 หน้า พร้อมคำบรรยายชื่อ เรื่องราวการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงาน ณ สถานที่นั้นๆ เพื่อให้ชาวไทยได้ตามรอยไปสัมผัสกับต้นไม้ของพ่อ

“กว่า 1 ปี ที่ทางคณะจัดทำหนังสือได้เดินทางลงไปถ่ายรูปและเก็บข้อมูลต้นไม้ทรงปลูกตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทางทีมงานรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและตระหนักถึงพระวิริยอุตสาหะของทั้ง 2 พระองค์ ที่ทรงตรากตรำพระวรกาย ทรงงานหนักเพื่อประชาชน ในการเยี่ยมเยือนบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ราษฎร ซึ่งเราพบว่าหลายพื้นที่เป็นพื้นที่ที่ยากลำบากในการเข้าถึงมาก บางพื้นที่รถไม่สามารถเข้าได้ ต้องเดินเท้าเข้าไปเป็นระยะทางหลายกิโล แต่พระองค์ยังทรงไปถึง “ต้นไม้ทรงปลูก” จึงเป็นเครื่องเตือนใจให้ชาวไทยทุกคนได้รับรู้ถึงพระราชกรณียกิจต่างๆ และเพื่อเจริญรอยตามพระองค์ท่าน”

ภาพและเรื่องราวของต้นไม้ทรงปลูก ที่ได้รวบรวมมาไว้ในหนังสือเล่มนี้ ถือว่าครบถ้วนสมบูรณ์ และมีหลายๆต้น ที่เชื่อว่าหลายคนไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็น และปัจจุบันหลายต้นเติบใหญ่ ให้ชาวไทยได้รักและหวงแหนไว้เป็นวัตถุทางใจ ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินีนาถ และประชาชนของพระองค์ อาทิ ต้นไม้ทรงปลูกลำดับแรกๆ เช่น “ต้นสัก” ที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จฯ ประพาส ถ้ำจอมพล จังหวัดราชบุรี และทรงปลูกไว้เป็นที่ระลึก เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2499


ขณะที่ ภาคเหนือ เสด็จฯ ไปทรงปลูก “ต้นปีบ” ที่สวนป่าทุ่งเกวียน จังหวัดลำปางในคราวเสด็จฯ มาพักผ่อนพระอิริยาบถเป็นการส่วนพระองค์เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2514

ภาคตะวันออก เมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโครงการสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อนในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา ก็ทรงปลูก “ศรีมหาโพธิ์” ในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2523
ในภาคอีสาน ขณะที่เสด็จฯ ไปทรงเปิดศาลารวมใจเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพกุดนาขาม ตำบลเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2535 ทั้งสองพระองค์ก็ได้ทรงปลูก “ต้นพิกุล” ไว้เป็นที่ระลึก


เช่นเดียวกับสุดเขตชายแดนใต้ของประเทศ พระองค์ท่านก็ทรงปลูก “ต้นพิกุล” ไว้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2527 เมื่อเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมศูนย์การศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ตามพระราชดำริ ตำบลกะลุวอเหนือ จังหวัดนราธิวาส เพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการกิจกรรมของศูนย์ดังกล่าว

นอกจากนี้ สถานศึกษาที่สำคัญของประเทศอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีต้นไม้ที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานและทรงปลูกไว้เป็นที่ระลึก นั่นคือ “ต้นหางนกยูงฝรั่ง” หรือ “ยูงทอง” ต้นไม้สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่พระองค์ทรงปลูกไว้เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2506 บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ ซึ่งสีเหลืองแดงของดอกยูงทอง ถูกใช้เป็นสีประจำมหาวิทยาลัยอีกด้วย


เมื่อเวลาผ่านพ้นตามกาล ต้นไม้ที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปลูก ได้เติบใหญ่ แผ่กิ่งก้านให้ร่มเงา หยั่งรากลึกลงดินอย่างมั่นคง ทั้งยังให้ดอกผลแพร่พันธุ์ออกไป เปรียบเสมือนพระมหากรุณาธิคุณที่แผ่ไพศาลให้พสกนิกรชาวไทยได้ระลึกถึงและดำเนินตามพระราชปณิธาน ในการดูแลผืนแผ่นดินไทยให้คงอยู่สืบต่อไป

หนังสือภาพสี่สี “ใต้ร่มพฤกษาพระบารมี” มีกำหนดเผยแพร่กลางเดือนมกราคม 2560 หน่วยงาน และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร 0-2613-3205 ต่อ 32








กำลังโหลดความคิดเห็น