>>ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลานี้ “โพเอม” (POEM) แบรนด์ไทยที่ขึ้นชื่อเรื่องความพิถีพิถันในทุกอณูของการตัดเย็บ คือแบรนด์เสื้อผ้าที่เหล่าเซเลบริตี้ทั่วฟ้าเมืองไทย รวมทั้งผู้หญิงยุคใหม่ที่มองหาเสื้อผ้าที่จะมาช่วยเสริมทัพความสวยสง่างาม มั่นใจ และเป็นตัวของตัวเอง นึกถึงและเทใจให้เป็นอันดับต้นๆ ส่วนหนึ่งของความสำเร็จนี้ต้องยกให้ “ฌอน- ชวนล ไคสิริ” ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ฝีมือเฉียบ ผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์โพเอม
ใครจะคิดว่า จากเด็กหนุ่มที่ฝันและมุ่งมั่นจะเป็นสถาปนิก ไม่เคยคิดจะเดินตามรอยคุณแม่เจ้าของห้องเสื้อ แต่แล้ววันหนึ่งโชคชะตาก็ค่อยๆ นำเขาก้าวสู่โลกแฟชั่น จนค้นพบว่านี่แหละคือโลกที่ใช่สำหรับเขา
“ผมเคยไปออฟฟิศของญาติที่เป็นสถาปนิก และประทับใจสภาพแวดล้อมการทำงานมากเลยอยากทำอาชีพนี้บ้าง จึงเลือกสอบเข้าคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ แต่ระหว่างเรียน ด้วยความที่บ้านผมเป็นห้องเสื้อ เวลาทำละครของคณะ ผมมักได้รับหน้าที่ให้ช่วยดูแลเสื้อผ้าของนักแสดงทุกปี”
บทบาทที่ได้มาแบบจับพลัดจับผลูนี้เอง ได้เปิดมุมมองที่ฌอนมีต่อแฟชั่น ได้ศึกษาลงลึกถึงข้อมูลของแฟชั่นในยุคต่างๆ เพราะละครเวทีของคณะส่วนใหญ่เป็นละครพีเรียด ทำให้เขาต้องขอคำแนะนำจากคุณแม่และเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาค่อยๆ หลงใหลในแฟชั่น แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะทำให้ฌอนเบนเข็มไปจากสถาปนิก
“จุดพลิกผันของผมคือเมื่อรู้ว่าอาชีพสถาปนิกนั้น กว่าจะได้ออกแบบหรือทำผลงานของตัวเองจริงๆ อย่างน้อยต้องอายุ 40 ปี ถ้าอายุยังน้อย การทำงานส่วนใหญ่จะเป็นเพียงการช่วยเหลือสถาปนิกผู้มีประสบการณ์เท่านั้น ผมเลยคิดว่าสถาปนิกคงไม่ใช่คำตอบ แถมผมมีโอกาสลองทำเสื้อผ้าไปฝากขายที่สยาม ปรากฏว่าขายได้ สามารถทำรายได้ระหว่างเรียนให้ผมเป็นอย่างดี ยังจำได้เลยว่าลูกค้าคนแรกที่ซื้อเสื้อตัวแรกที่ผมทำ คือ ลูกเกด-จิรดา โยฮารา (ยิ้ม)”
เส้นทางชีวิตสายใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้เมื่อเรียนจบฌอนตัดสินใจขอทุนตั้งต้นกับคุณแม่เพื่อเปิดแบรนด์ของตัวเอง โดยลงทุนจ่ายค่าเช่าหลักแสนเพื่อเช่าพื้นที่ร้านในสยามสแควร์ แน่นอนว่าพอเริ่มต้นมีร้าน มีรายจ่ายประจำทุกเดือน การบริหารธุรกิจจึงไม่ใช่เรื่องแค่ซื้อมาขายไป เหมือนสมัยนำเสื้อไปฝากขายแล้วโดนแบ่งเปอร์เซ็นต์อีกต่อไป
“ช่วงแรกๆ ปรึกษาคุณแม่เยอะมาก ผมเริ่มต้นธุรกิจด้วยเงินทุนไม่มาก อาศัยค่อยๆ โต ใส่หัวใจลงไปในการทำธุรกิจ ตั้งแต่เลือกโลเกชั่น การบริหารแบรนด์ อย่างที่บอกว่าพอมี Fixed Cost ที่ไม่ใช่แค่ค่าเช่า แต่ยังมีค่าผ้า ค่าตกแต่งร้าน ค่าใช้จ่ายจิปาถะ ผมเลยยิ่งต้องมีวินัยทางการเงินมากขึ้น ไม่ว่าจะตัดสินใจทำอะไรต้องใช้เหตุและผล มีข้อมูลรองรับ”
ช่วงสองปีแรกของการทำแบรนด์เป็นช่วงเรียนรู้ อยู่ในช่วงการหาส่วนผสมที่ลงตัวของแบรนด์ให้เจอ และไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ต้องผ่านปีที่ 4 ไปให้ได้ก่อนถึงจะรู้ว่าธุรกิจที่เราทำไปรอดมั้ย
“ปีที่ 4 ของโพเอมเป็นช่วงวิกฤตการเมืองไทยพอดี เราได้รับผลกระทบเยอะ เปิดร้านมาไม่มีรายรับเลย ช่วงนั้นก็เกือบแย่ แต่คุณแม่แนะนำว่า ไม่มีรายรับไม่เป็นไรแต่ห้ามมีรายจ่าย เราก็ช่วยกันประคับประคอง ปีต่อมาเกิดน้ำท่วมใหญ่ จนมาปี 2012 แบรนด์เข้าสู่ปีที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงที่ลงตัวสุด ดีเอ็นเอของแบรนด์ชัด ลูกค้าเริ่มคลิกกับเรา ก็เริ่มขยายสาขา ทำพีอาร์ให้คนรู้จัก”
มาถึงวันนี้ที่โพเอมอายุ 10 ขวบ ฌอนพอใจกับการเติบโตของแบรนด์ ที่ขยายถึง 8 สาขา และจากนี้คงไม่ขยายสาขาในไทยเพิ่ม แต่ตั้งเป้าจะพาแบรนด์ไปเติบโตในตลาดต่างประเทศ นอกจากจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย เขาเล็งตลาดดูไบ ซึ่งมีกำลังซื้อสูง
“ผมเพิ่งกลับจากดูไบ ไปรีเสิร์ชตลาดเสื้อผ้าผู้หญิงที่นู่น ลองเดินตามมอลล์ ดูขนาดเสื้อผ้าที่วางขาย ศึกษาวัฒนธรรมค่านิยมการแต่งตัวของผู้หญิงดูไบที่ถึงจะเซ็กซี่ แต่ก็ต้องเป็นเสื้อแขนยาว กระโปรง”
ถามว่าอะไรคือจุดเด่นที่ทำให้โพเอมยืนหยัดอย่างสง่างามในวงการแฟชั่นซึ่งเป็นสมรภูมิธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ฌอนบอกว่า ไม่ว่าเราจะเป็นสถาปนิกหรือดีไซเนอร์ เราคือคนที่มีความเชื่อ หน้าที่ของเราคือพยายามทำความเชื่อนั้นออกมาเพื่อให้คนอื่นเห็น และเชื่อในสิ่งที่เราทำ นั่นแหละคือหัวใจของการสร้างแบรนด์ของเรา
“ทุกวันนี้โพเอมตอบโจทย์ลูกค้าด้วยสินค้าในกลุ่มเรดดี้ ทูแวร์ ที่มีการออกแบบอย่างพิถีพิถัน ควบคู่กับบริการ Private Poem Couture ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นช่างเสื้อส่วนตัวของสาวๆ ที่มองหาเสื้อผ้าที่เข้ากับสรีระของตัวเองโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นชุดออกงาน หรือชุดเจ้าสาว การผสมผสานทั้งการเป็นดีไซเนอร์ยุคใหม่เข้ากับเสน่ห์ของเดรสเมกเกอร์ยุคก่อนที่เหลือน้อยลงทุกทีนี้เอง คือส่วนผสมที่ลงตัวของแบรนด์โพเอมที่หาไม่ได้จากแบรนด์อื่น” ฌอนกล่าวทิ้งท้าย
จากใจรุ่นพี่ ถึงมือใหม่หัดสร้างแบรนด์
1.ต้องเริ่มจากความรัก และความสนใจ มีแพสชั่นกับธุรกิจที่จะทำจริงๆ จากนั้นจึงหาสไตล์ตัวเองให้เจอ
2.ต้องมีการศึกษาข้อมูลเชิงลึก อาศัยหลักการและเหตุผลในการตัดสินใจ ที่สำคัญอย่าคิดยืมจมูกคนอื่นหายใจในการทำธุรกิจ
3.ทำธุรกิจไม่จำเป็นต้องโตเร็ว แต่ต้องโตอย่างมั่นคง
4.สำหรับใครที่ทำแบรนด์เสื้อผ้าแล้วอยากโกอินเตอร์ นอกจากหาตลาดได้แล้ว อย่าลืมประเมินศักยภาพการผลิตของตัวเอง ว่ารองรับกับดีมานด์ที่จะเข้ามาได้หรือไม่ :: Text by FLASH