ART EYE VIEW---บ้านเมืองที่มีความเจริญ นอกจากแสดงให้เห็นผ่านทางเศรษฐกิจการค้าที่รุ่งเรืองและผู้คนที่อยู่ดีกินดีแล้ว ยังสามารถที่จะพิจารณาได้จากปัญญาความคิดและความสร้างสรรค์ของประชาชน ที่แสดงผ่านงานศิลปกรรมต่างๆทั้งที่มีลักษณะในเชิงอนุรักษ์ สืบทอดขนบแห่งบรรพชน และงานสร้างสรรค์อันเป็นนวศิลป์จนกลายเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง
ด้วยเหตุนี้ การที่ยกย่องเชิดชูความคิดและความเจริญทางปัญญาของคนชาติใดชาติหนึ่ง ก็สามารถที่จะทำด้วยการยกย่องและเชิดชูศิลปิน ผู้สร้างผลงานด้านศิลปะ ที่แสดงให้เห็นความงอกเงยทั้งในด้านเนื้อหา อันแสดงให้เห็นปัญญาความคิดและในด้านรูปแบบอันได้แก่ เทคนิคชั้นเชิงทางศิลปะและในขณะเดียวกัน ผู้ที่ได้รับชมงานศิลป์ที่ดี ก็ย่อมได้รับผลได้แก่ ความงอกงามทางความคิดและความสุขของจิตใจ ดังที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์ผู้สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พระราชนิพนธ์ถึงคุณค่าของศิลปะไว้ในบทสภาสามัคคีเสวก ตอน วิศวกรรมา ความตอนหนึ่งว่า
“ศิลปกรรมนำใจให้สร่างโศก ช่วยบรรเทาทุกข์ในโลกให้เหือดหาย
จำเริญตาพาใจให้สบาย อีกร่างกายก็จะพลอยสุขสำราญ”
จากบทพระราชนิพนธ์ข้างต้น ผู้เกี่ยวข้องกับงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นผู้สร้าง ผู้สนับสนุน ผู้ชม ก็ล้วนแต่ได้รับประโยชน์ต่อตนเองทั้งสิ้น
คือคำกล่าวของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยศักดิ์ ชั่งใจ ผู้อำนวยการ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และรักษาการณ์รองคณบดีคณะครุศาสตร์ โอกาสจัดแสดง ผลงานศิลปกรรรมนักเรียน ครั้งที่ 11 หรือ นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะของนักเรียน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ของโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม จัดโดย กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ของโรงเรียนฯ
อาจารย์สุจินต์ วัฒนะรัตน์ หัวกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม กล่าวว่า เป็นเวลานานกว่า 7 ปีแล้วที่ทางโรงเรียนฯเว้นช่วงจัดแสดงผลงานศิลปะของนักเรียน หลังจากที่เคยจัดแสดง ผลงานศิลปกรรมนักเรียน ครั้งที่ 10 ไปเมื่อปี พ.ศ.2552 ณ ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง
มาถึงครั้งล่าสุดนี้ การจัดแสดง ผลงานศิลปกรรมนักเรียน ครั้งที่ 11 ณ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ของโรงเรียนฯ จะมีผลงานศิลปะของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มาให้ชมหลากหลายเทคนิค รวมถึงจัดแสดงผลงานศิลปะของอาจารย์ประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ,ผลงานศิลปะของอาจารย์นิสิตฝึกประสบการณ์,ผลงานศิลปะของนักเรียนซึ่งเป็นเด็กพิเศษ และผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ซึ่งเป็นศิษย์เก่า
โอกาสที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุ ครบ 7 รอบ 84 พรรษา และเพื่อให้นักเรียนได้ตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ทรงให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมให้พสกนิกรนำเอาความรู้ภูมิปัญญาของไทยมาสร้างเสริมอาชีพให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น การจัดแสดง ผลงานศิลปกรรมนักเรียน ครั้งที่ 11 จึงถูกจัดขึ้นในชื่อ สานศิลป์ แผ่นดินแม่ (Art Legacy of Our Nation) มีผลงานศิลปะของนักเรียนจำนวนหลายชิ้น ซึ่งสร้างสรรค์เป็นภาพพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาร่วมจัดแสดงด้วย
นอกจากนี้ ยังถือเป็นครั้งแรก ที่การแสดงผลงานศิลปะของนักเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม จัดให้มีการจำหน่ายผลงานศิลปะของนักเรียน (จากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อการแสดงสิ้นสุดลง ผลงานจะถูกส่งคืนนักเรียน)
เพื่อนำรายได้หลังหักค่าจ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ มอบให้แก่เจ้าของผลงาน และอีก 50 เปอร์เซ็นต์ บริจาคให้แก่ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
อาจารย์อนุรุทธ เปรมนิรันดร อาจารย์ประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ร่วมแสดงความเห็นว่า ความน่าสนใจของการแสดงผลงานศิลปะในครั้งนี้ เป็นการจัดแสดง ที่มีผลงานศิลปะของนักเรียนมาให้ชมหลากหลายเทคนิคมากที่สุดงานหนึ่ง ได้แก่ ประติมากรรมกระดาษนูนต่ำ,ประติมากรรมกระดาษสามมิติ,ผลงานออกแบบโปสเตอร์ภาพบุคคล,ผลงานออกแบบร่าง(Sketch Design),ผลงานออกแบบแผนที่,จิตรกรรมสีโปสเตอร์,จิตรกรรมสีโปสเตอร์รูปหลายเหลี่ยม,จิตรกรรมไทย,วาดเส้น,ผลงานศิลปะฉลุกระดาษ และภาพพิมพ์กระเบื้องยาง
และสิ่งนี้สะท้อนถึงสิ่งที่ อ.สุจินต์ ให้ข้อมูลว่า โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม มีระบบการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ศิลปะของนักเรียน
ไม่ว่าจะเป็น 1.มีอาจารย์ประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ 6 ท่าน( อ.สุจินต์ วัฒนะรัตน์,ผศ.พัชริน สงวนผลไพโรจน์,อ.อนุรุทธ เปรมนิรันดร,อ.อติญา วงษ์วาท,อ.อรทัย ชวนนิยมตระกูล และ อ.จักรินทร์ พันธุโชติ ) ที่ต่างมีความเชี่ยวชาญในศิลปะกันคนละด้าน,2.นอกจากโรงเรียนจะจัดให้มีชั่วโมงเรียนศิลปะตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดมาให้ ยังเปิดให้มีวิชาเลือกเสรีด้านศิลปะ ให้นักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ได้เลือกเรียนเพิ่มเติมด้วย,3.โรงเรียนเป็นห้องเรียนทดลองสอนของนิสิตฝึกประสบการณ์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในจำนวนนิสิตเหล่านี้มีนิสิตที่จบการศึกษามาทางด้านครุศิลป์(ครูสอนศิลปะ)และ4. โรงเรียนเชิญศิษย์เก่าและผู้ปกครองนักเรียนที่มีความรู้ด้านศิลปะเฉพาะทางมาเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่นักเรียนอย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตาม อ.สุจินต์ ยอมรับว่าแม้นักเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม จะอยู่ในระบบที่ส่งเสริมให้เรียนรู้ด้านศิลปะ แต่ก็มีนักเรียนจำนวนมากที่มีความสามารถโดดเด่นทางด้านนี้ ไม่มีโอกาสเรียนต่อด้านศิลปะในระดับมหาวิทยาลัย
“เด็กทุกคนทำงานศิลปะได้ และโตขึ้นเขาก็ยังทำงานศิลปะได้ เพียงแต่ว่าเขาจะมีโอกาสได้ทำหรือเปล่า เพราะต้องยอมรับว่าคนในสังคมเราส่วนมากยังมองว่าศิลปะใช้ประกอบอาชีพในอนาคตไม่ได้ ดังนั้นสาเหตุหนึ่งขึ้นอยู่กับครอบครัวของเด็กด้วย เราบังคับไม่ได้ ครอบครัวของเด็กสำคัญที่สุด เพราะมันคืออนาคตของลูกเขาทั้งชีวิต เราทำได้อย่างเดียวคือส่งเสริมให้เด็กทำงานศิลปะ เมื่อได้ทำ เขาก็มีความสุข ถึงแม้บางทีจะทุกข์บ้าง เพราะบางทีเกรด หรือคะแนนที่เขาได้จากวิชาศิลปะ ไม่ค่อยดี ยิ่งเด็กโตเขาจะกังวลมาก เพราะเขาต้องเก็บคะแนนสะสมของเขาเพื่อไปสอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่เราก็ยังมีความภูมิใจว่า สิ่งที่เราในฐานะอาจารย์สอนศิลปะให้เขา มันมีความหลากหลาย และทำให้ปรากฏเป็นผลงานอย่างที่เห็น”
“สานศิลป์ แผ่นดินแม่” การแสดง “ผลงานศิลปกรรรมนักเรียน ครั้งที่ 11” โดย นักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา โดยมี รศ.ดร.บัญชา ชลาภิรมย์ รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านการพัฒนานิสิต และนิสิตเก่าสัมพันธ์ และอดีตคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานเปิดนิทรรศการ และมี อาจารย์พรพรหม ชัยฉัตรพรสุข รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารรักษาการแทนผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรักษาการแทนรองคณะบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้การตอนรับ และนิทรรศการจะเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2559 ณ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ.สุจินต์ กล่าวทิ้งท้ายเพื่อเชิญชวนผู้สนใจให้ไปชมการแสดงผลงานศิลปะของนักเรียนในครั้งนี้ว่า
“จุดประสงค์ของการจัดแสดงผลงานศิลปะของนักเรียนในครั้งนี้ เราอยากให้สังคมได้เห็นด้วยว่าเด็กโรงเรียนมัธยม ไม่เฉพาะเด็กสาธิตจุฬาฯนะครับ แต่เป็นเด็กทุกคนในเมืองไทยสามารถทำงานศิลปะได้หลากหลายเทคนิคเหมือนกับเด็กสาธิตจุฬาฯเช่นกัน เพียงแต่เขาไม่มีโอกาส ไม่มีใครส่งเสริมหรือรวบรวมผลงานมาจัดแสดงแบบนี้มากกว่า เพราะฉะนั้นถ้าเด็กๆมัธยมจากโรงเรียนอื่นมาดู น่าจะเป็นแรงผลักดันให้เขายังคงทำงานศิลปะต่อไป
เด็กทุกคนสามารถมาดูได้ รวมทั้งผู้ใหญ่ที่มาดูงานก็จะได้เห็นว่าเด็กสามารถทำงานศิลปะได้ตั้งเยอะแยะ ใครก็ตามมาดูเถอะครับ แล้วคุณจะได้ความสุข ความชื่นชมในตัวเด็กๆกลับไป”
รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews