xs
xsm
sm
md
lg

สรรพสิทธิ์ ฟุ้งเฟื่องเชวง ‘นักเล่าเรื่อง’ ส่วนผสมของนักสร้างแบรนด์ชั้นเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


>>หากมองแค่ประวัติ อาจชวนให้สงสัยว่า ทำไมชายหนุ่มมาดเนี้ยบอย่าง “เป๋า-สรรพสิทธิ์ ฟุ้งเฟื่องเชวง” ที่ศึกษามาทางด้านกฎหมาย กลับทำงานที่ดูเหมือนต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งการเป็นแบรนด์แมเนเจอร์นาฬิกาลักชูรี, ภัณฑารักษ์ ก่อนกระโดดมาสู่สายการตลาดในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายคอร์ปอเรต มาร์เกตติ้ง บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) แถมยังเป็นเจ้าของธุรกิจแฟชั่นกางเกงว่ายน้ำผู้ชายแบรนด์ TIMO TRUNKS อีกด้วย การจับเข่าคุยครั้งนี้ เป๋าให้คำตอบกับเราว่า ทุกอย่างคือเรื่องเดียวกัน คือ การสร้างแบรนด์

“การทำแบรนดิ้งและคอมมูนิเคชัน เป๋าถือว่าเป็นวิชาชีพ การที่รู้ว่าอะไรมาจากยุคไหน ทำให้เราเข้าใจทุกอย่างได้อย่างลึกซึ้งกว่าคนที่ไม่รู้ ถ้าเป๋าอยากให้ตึกนั้นดูเป็นอาร์ต เดโค เป๋าก็ควรจะเข้าใจว่ายุคนั้นทำไมต้องเป็นทรงนั้น เพราะการรู้ที่มาที่ไป จะทำให้เราทำทุกอย่างได้คมขึ้น” นักมาร์เกตติ้งหนุ่มเกริ่นถึงแก่นงานที่เขาเลือกทำ

การปรากฏตัวของชายหนุ่มวัย 30 ต้นๆ ในชุดสูทเรียบกริบที่มาพร้อมข้าวของส่วนตัว สะท้อนให้เห็นตัวตนความเป็นหนุ่มนักเรียนนอกที่เต็มไปด้วยความแอกทีฟ พิถีพิถัน ใส่ใจในทุกรายละเอียด สนใจศิลปะ แถมเป็นคนอารมณ์สุนทรีย์อีกต่างหาก

สรรพสิทธิ์เป็นทายาทคนโตครอบครัวฟุ้งเฟื่องเชวง เจ้าของบริษัท Hecny บริษัทชิปปิ้งที่มีประวัติยาวนาน และบริษัททัวร์ Grand Express Travel สำเร็จปริญญาโทด้านนิติศาสตร์ จาก King’s College London ประเทศอังกฤษ ก่อนบินกลับเมืองไทย และได้โอกาสร่วมงานในตำแหน่งแบรนด์แมเนเจอร์ที่เพนดูลัม ตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาลักชูรีชั้นนำของเมืองไทย จากนั้นมาสวมบทบาทภัณฑารักษ์ ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC ในยุคบุกเบิก ก่อนกระโดดมาสู่แวดวงอสังหาริมทรัพย์

“อาจจะดูว่างานไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย แต่จริงๆ มันเหมือนกัน คือ เป็นเรื่องการสร้างแบรนด์ เป็นการเล่าเรื่องและวิธีการบอกความสำคัญให้ลึกซึ้ง สมัยนั้น TCDC เป็นยุคก่อตั้ง ยังไม่มีคำว่า ดีไซน์ เซ็นทรัล เกิดในเมืองไทย พิพิธภัณฑ์ยังเป็นอะไรที่เชยมาก TCDC ถือเป็นอะไรที่ใหม่มาก ผมทำอยู่ที่ TCDC นานกว่า 2 ปีก็สนุกมาก ที่นั่นผมได้พบกับโลกของ Design’s World เดินทางไปพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก เจอดีไซเนอร์เป็นพันๆ เพื่อศึกษาหาสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อมาสร้างเป็น TCDC”

ระหว่างทำงานอยู่ที่ TCDC ถือเป็นการเปิดประตูสู่โลกครั้งสำคัญ เป๋าได้มีโอกาสแสดงฝีมือเต็มที่ จากการเป็นภัณฑารักษ์ จัดแสดงนิทรรศการทุก 3 เดือน มีโอกาสร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลกเพื่อนำผลงานของพวกเขามาจัดแสดง ไม่ว่าจะเป็น วิเวียน เวสต์วูด ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษชื่อก้อง, มารีเมกโกะ (Marimekko) แบรนด์ดีไซเนอร์ชื่อดังระดับตำนาน รวมถึงเป็นที่ปรึกษาช่วงก่อตั้งให้กับพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

จากหน้าที่ภัณฑารักษ์ เป๋ากระโดดข้ามสายมาในตำแหน่ง Head of Strategic & Concept Design Department ของ TCC Land Development หนึ่งในอาณาจักรของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี โดยเป๋าเข้ามาสร้างคอนเซ็ปต์ ดีไซน์ ให้กับโรงแรมและรีสอร์ตในเครือ อาทิ บันยันทรี สมุย, พลาซ่า แอทธินี, เลอ เมอริเดียน รวมถึงโรงแรมที่นิวยอร์ก และเอเชียทีก ในยุคแรกเริ่ม ทั้งหมดทั้งมวลล้วนแล้วแต่เป็นโจทย์ท้าทายและปูเส้นทางให้เป๋าเข้ามาสู่ถนนอสังหาริมทรัพย์เต็มตัว จนมาถึงหน้าที่การงานในปัจจุบันกับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายคอร์ปอเรต มาร์เกตติ้ง บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเมืองไทย

“หน้าที่ของเรา คือ ดูแลทุกอย่างที่เขียนคำว่า AP ทำให้แบรนด์มีมูลค่า เหมือนซื้อกาแฟสตาร์บัคส์ เราเชื่อว่าคุณภาพเหมือนกันทุกที่ AP ก็เช่นกัน ทุกวันนี้เรายึดมั่นในแง่คุณภาพของผลิตภัณฑ์ สองคือโลเกชั่น สามคือเราเข้าใจไลฟ์สไตล์ของคนเออร์เบิน ตอนเข้ามาทำงานที่นี่ สิ่งแรกที่ผมทำคือปรับโฉมออฟฟิศใหม่ คือถ้าอยากให้ตัวเองทันสมัย เราต้องทันสมัยจากข้างใน ให้คนของเราเรียนรู้ก่อนว่าอะไรคือ Urban Current เพราะต้องยอมรับว่าพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯ เปลี่ยนใจง่ายและบ่อยมาก ฉะนั้นเราต้องใหม่อยู่ตลอดเวลา”

กว่าสองปีแล้วกับการดูแลการตลาดกว่า 14 แบรนด์ ทั้งคอนโดมิเนียม ทาวน์โฮม บ้านเดี่ยว ภายใต้ชายคา AP เป๋ายังคงสนุกตื่นเต้นกับการทำงาน และมองปรากฏการณ์การเปลี่ยนที่เกิดขึ้นบนเส้นทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญ นั่นคือ “ว่าที่ลูกบ้าน”

“ทุกวันนี้ผู้คนมองสถานที่อยู่อาศัย เป็นเหมือนการแสดงตัวตนของเขาเหมือนกัน เขาไม่ได้ดูแค่สิ่งก่อสร้างอีกต่อไปแล้ว แบรนด์ก็สำคัญ เพราะนั่นคือการ Promise บางอย่างให้ลูกค้า ที่สำคัญผู้บริโภคสมัยนี้ Well inform มากๆ ลูกค้ามีความรู้ในการหาข้อมูลที่ละเอียดขึ้น ฉะนั้นเราต้องมีคอนเทนต์ให้เขาด้วย อย่างจะบอกว่าบ้านสวย เราต้องเล่าละเอียดไปกว่านั้น ตั้งแต่คุณภาพในวิธีการสร้าง วิธีการวางเลย์เอาต์ ซึ่งสิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดตั้งแต่เข้ามาทำ AP คือ การรีเสิร์ชของ AP จะสร้างทาวน์เฮาส์สักหลัง เรารีเสิร์ชกันมหาศาลมาก คิดตั้งแต่ที่จอดรถยันที่ตากผ้า” เป๋าเล่าถึงเนื้องานต้องอินในทุกรายละเอียด

แต่ถึงหน้าที่การงานจะโหมหนักแค่ไหน แต่ดูเหมือนว่าพลังในการทำงานของหนุ่มเป๋าไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะริบหรี่ลงแม้แต่น้อย เพราะนอกเหนือจากงานประจำแล้ว เขายังมีธุรกิจส่วนตัวที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ก่อนทำงานที่ AP ด้วยซ้ำ นั่นคือ การเป็นเจ้าของธุรกิจแฟชั่นกางเกงว่ายน้ำผู้ชาย TIMO TRUNKS อีกหนึ่งผลงานอันเกิดจากความชอบและต้องการบรรลุจุดหมายของตัวเอง

“จุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้ แรกสุดตอนนั้นอายุ 30 คิดว่า New Year Resolution คืออยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ผมก็เริ่มจากธุรกิจยาสีฟันก่อน พอไปรีเสิร์ชก็รู้สึกว่าไม่ค่อยเวิร์ก ต้องใช้ทุนมาก ตอนนั้นคิดว่าจะไปซื้อร้านก๋วยเตี๋ยวแถวบ้าน (หัวเราะ) จะได้ทำตามสัญญาของตัวเอง ในที่สุดบังเอิญมีไอเดียกางเกงว่ายน้ำเกิดขึ้นมา ออกแบบขึ้นมา 10 ลาย แล้วเปิดตัวบนเว็บไซต์ปลายปีเดือนธันวา พอมกราคมก็มีอีเมลจาก New York Time ขอยืมสินค้าของเราไปถ่าย ตอนนั้นคิดว่าโลกออนไลน์ช่างอัศจรรย์มาก และบอกตัวเองเหมือนกันว่า New York Time จริงหรือเปล่าเนี่ย? จากนั้นก็มีนิตยสาร Wallpaper UK อีเมลมายืมสินค้าของเราอีก เราดีใจมาก ทั้งที่ก็ไม่รู้ว่าเขามาเจอเว็บเราได้อย่างไร”

อาจเพราะทำด้วยใจรักบวกกับเทสต์ส่วนตัว รวมถึงการมีเพื่อนฝูงเป็นดีไซเนอร์ที่มีความสามารถมากมายตั้งแต่สมัยทำงานที่ TCDC มาช่วยกันดีไซน์ จึงเป็นส่วนผสมให้ TIMO TRUNKS โดดเด่นสะดุดตาไม่เหมือนใคร จากจุดเริ่มต้นเพียง 10 ลาย ถึงตอนนี้มีออเดอร์มากกว่า 3,000 ตัว วางจำหน่ายในหลายๆ ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย เดนมาร์ก ฮ่องกง ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และไทย

“สำหรับ TIMO TRUNKS ตอนแรกไม่คิดอะไรมากกว่าได้ทำตามสัญญากับตัวเองแล้ว พอหลังจากนั้นเริ่มมีคนติดต่อไปจำหน่ายต่างประเทศ ก็เริ่มคิดว่ามันเป็นธุรกิจแล้วนะ ต้องมีพนักงาน วันหนึ่งพอได้เข้าไปวางในห้างดัง ห้างที่เราไม่คิดว่าจะติดต่อมา อย่างร้าน H.Lorenzo Men ที่สหรัฐอเมริกา ถือเป็นร้านดังมากๆ ซึ่งการมีแบรนด์ไทยเข้าไปอยู่ในนั้น เป็นเรื่องภูมิใจมากๆ ทำให้ทุกวันนี้งานอดิเรกกลายเป็นธุรกิจ”

ทุกอย่างที่ชายหนุ่มคนนี้จับล้วนแต่เต็มไปแพสชัน ซึ่งเขายอมรับว่าไม่ได้นอนหลับเต็มตื่นมานานกว่า 5 ปีแล้ว แต่กลับไม่รู้สึกเหนื่อย เพราะทุกสิ่งล้วนแต่เป็นงานที่รัก โดยเฉพาะงานที่ AP ซึ่งใช้เวลามากที่สุด เนื่องจากได้รับความไว้วางใจจากผู้ใหญ่มากที่สุด

“ทุกท่านให้เกียรติเรา คิดว่าเรามีวิจารณญาณพอที่จะปล่อยของใหญ่ออกไปสู่สาธารณชน อาจเพราะเราชอบทำของที่ใหญ่กว่าตัวเอง รู้สึกว่าเป็นการฝึกฝนตัวเอง ผมถือว่าเป็นความท้าทายที่น่าสนใจ เพราะถ้าเกิดว่าเราทำไม่ดีก็แสดงว่าเราไม่เก่งพอที่จะอยู่ด่านแรก”

“ผมคิดว่าวิธีการทำแบรนดิ้งของผมไม่เหมือนหลักสูตรที่เคยเรียนหรืออ่านหนังสือมา เป็นส่วนผสมระหว่างทฤษฎีในตำราและสัญชาตญาณเข้าด้วยกัน ดังนั้นสิ่งที่เรียนรู้มาการทำแบรนด์ที่ดีควรเริ่มต้นจากภายใน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือองค์กรใหญ่ ซึ่งเมืองไทยเรามีของดีหลายอย่าง ถ้าเราสื่อสารเป็น เราก็สู้กับชาติไหนก็ได้”

ด้วยบุคลิกกระตือรือร้น มีความสุนทรีย์ในการใช้ชีวิต ทำให้เป๋าเชื่อว่าส่วนประกอบที่สำคัญในการเติบโตบนสายธุรกิจในแบบฉบับของเขา คือ การเข้าใจธุรกิจทั้งในเชิงตัวเลขและเชิงศิลป์ การผสมผสานศาสตร์ทั้งสองอย่างจะทำให้ทุกอย่างเกิดความกลมกล่อมขึ้น จึงไม่แปลกใจที่ความสนใจส่วนตัวของเขาถึงชื่นชอบงานสถาปัตยกรรม ศิลปะการตกแต่งภายใน และงานศิลปะ บนโต๊ะทำงานและที่บ้านจึงเต็มไปด้วยหนังสือดีไซน์ หนังสือออกแบบ และหนังสือกราฟิกต่างๆ ของนักออกแบบที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งทุกครั้งที่มีโอกาสเขาจะปลีกตัวไปอัปเดตอาหารสมองตามงานแฟร์สำคัญๆ อาทิ Salone de Mobile และ Venice Biennale ที่อิตาลี, Business of Design Week ที่ฮ่องกง ไปจนถึงงาน Paris Fashion Week และแน่นอนการหาเวลาผ่อนคลายด้วยการวาดรูป

“ทุกคนเกิดมามีสมองเท่ากัน สองมือเท่ากัน ต่อให้เรียนเก่งแค่ไหน ถ้าเราไม่เติมอะไรเข้ามาในสมอง มันก็จบ สิ่งที่จะทำให้เป๋าชนะคนอื่นได้ คือการมีข้อมูลมากกว่า เพราะฉะนั้นทุกปีถ้ามีโอกาสก็จะเดินทางไปดูงานดีไซน์ วีก, เทรด แฟร์, ฟังสัมมนา, อ่านหนังสือเล่มใหม่ หรือถ้าไม่ได้ไปไหนจริงๆ อย่างน้อยขอเปิดอินเทอร์เน็ตดูว่าวันนี้มีอะไรใหม่ที่สุด”

“ส่วนการวาดรูปเป็นงานอดิเรกในวันเสาร์-อาทิตย์ เป๋าพักผ่อนด้วยการวาดรูป ทำให้เราอยู่กับตัวเอง การที่เรามองสิ่งสิ่งเดียวอยู่ 3 ชั่วโมง เป็นเหมือนการนั่งสมาธิ ทำให้รู้สึกว่าเราอยู่ในโลกอื่น มีสิ่งเดียวที่อยู่ในใจเราก็คือการลงสี ผมเรียนกับครูโต (ม.ล.จิราธร จิรประวัติ) ครูโตบอกว่าเป๋าเป็นคนใจร้อน ฉะนั้นสมควรจะวาดรูป แต่ผมก็ยังใจร้อนอยู่นะ (หัวเราะ) อย่างภาพคนที่ผมเอามา คนทั่วไปใช้เวลาวาด 3 ชั่วโมง แต่ผมวาดแค่ชั่วโมงเดียว”

อินเรื่องศิลปะขนาดนี้ ทำให้อดถามไม่ได้ว่า ในอนาคตจะผันตัวเองไปทำงานศิลปะแบบจริงจังหรือเปล่า? ซึ่งเขาก็ให้คำตอบชัดเจน

“ถ้าถามว่าจุดมุ่งหวังในอีก 20 ปีข้างหน้าคืออะไร คิดว่าอยากจะถ่ายทอดวิธีคิดและหลักการการทำแบรนดิ้งแอนด์มาร์เกตติ้ง ในแบบฉบับของผมเองให้กับนักสร้างแบรนด์รุ่นใหม่ หรืออย่างน้อยสุดก็คาดหวังว่าวิธีการสร้างแบรนด์ในแบบของผม จะเป็นเฟืองตัวหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้สินค้าไทย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เล็กหรือบิ๊กโปรเจกต์อสังหาริมทรัพย์ก้าวสู่ระดับนานาชาติได้” หนุ่มนักสร้างแบรนด์คนเดิมกล่าวปิดท้าย :: Text by FLASH


กำลังโหลดความคิดเห็น