“ภาพถ่าย” นับเป็นศิลปะชั้นดี ที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวและอธิบายตัวตนของคนในภาพได้มากที่สุด ศิลปะแขนงนี้แม้จะไม่ซับซ้อน แต่กว่าจะได้งานที่ดี นอกจากจะต้องมีความชำนาญ รสนิยม รวมถึงกระบวนความคิดที่ลึกซึ้งแล้ว ยังต้องอาศัยจิตใจที่เด็ดเดี่ยว
จัสติน มอทท์ ช่างภาพชื่อดังของโลก ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพชีวิตบุคคล ยอมรับว่า หลายครั้งที่เขารู้สึกกดดันอย่างหนัก เมื่อต้องถ่ายภาพบุคคลที่กำลังมีความทุกข์ ซึ่งเขารู้ดีว่า ภาพถ่ายของเขาอาจจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรได้มาก แต่อย่างน้อยมันคือ การเปิดแสงสว่างในที่มืดให้คนได้เห็น และรับรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบนโลกใบนี้
จัสติน มอทท์ เป็นช่างภาพชื่อดังเจ้าของรางวัล “เบสท์ ซิงเกิล อิมเมจ ฟอร์ แทรเวล โฟโต้กราเฟอร์ ออฟ เดอะ เยียร์” และเจ้าของภาพถ่ายเชิงสารคดี ภาพข่าว ที่มีผลงานผ่านนิตยสาร TIME, The Wall Street Journal, Newsweek, T Magazine (New York Times Style Magazine), หนังสือพิมพ์ และ ช่องโทรทัศน์ อาทิ The Daily Telegraph, The Gardian, BBC, CNN, Discovery Channel, Der Spiegel, Bon Appetite, Forbes เปิดโอกาสให้เราได้พูดคุยถึงชีวิตการเป็นช่างภาพของเขาอย่างเป็นกันเอง
เส้นทางการเป็นช่างภาพของ “จัสติน” เริ่มขึ้นขณะที่เขากำลังเรียนปีที่ 3 วิชาถ่ายภาพวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยประจำรัฐซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ด้วยการถ่ายภาพข่าวให้สำนักข่าวต่างๆ แม้ว่าในช่วงแรก ชื่อของเขาจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก หากแต่ด้วยฝีไม้ลายมือ การภาพถ่ายชีวิต ทำให้เพียงไม่นานชื่อของ “จัสติน” ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงข่าว
ภาพถ่ายของจัสติน เต็มไปด้วยเรื่องราวที่สมบูรณ์ สะท้อนเหตุการณ์และเรื่องราวรอบตัวในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง สามารถสื่อสารกับผู้ชมได้ในทุกๆ มิติ ทั้งด้านศิลปะ ความหมาย คนดูจึงสามารถเข้าถึงเหตุการณ์ และสัมผัสอารมณ์งานของเขาได้อย่างง่าย “ผมชอบถ่ายภาพบุคคลที่เน้นเรื่องแสงและเงา เพราะมีเรื่องราวสามารถบอกเล่าอารมณ์เจ้าของภาพได้เป็นอย่างดี หลายครั้งที่ผมลำบากใจกับการถ่ายภาพลักษณะนี้ แต่ด้วยหน้าที่ผมก็ต้องทำ”
จัสตินหลงใหลการถ่ายภาพอย่างหนัก จนไม่กลับไปเรียนต่ออีกเลย โดยเขาบอกว่า เขาสามารถเรียนรู้ทั้งหมดได้จากการทำงาน เพราะทุกที่ที่เดินทางไปนั้น ทำให้เขาได้พบสิ่งใหม่ๆ มากกว่าการที่จะนั่งเรียนในห้องเรียน เขาพอใจที่ได้เดินทางไปในทุกที่ และได้ถ่ายภาพตั้งแต่ภาพเหตุการณ์ที่เศร้าที่สุดคือ มีคนตายไปจนถึงงานที่มีความสุขที่สุดคืองานแต่งงาน และถึงแม้จะมีความสุขในการได้พบประสบการณ์จริงจากการถ่ายภาพ แต่หลายครั้งที่เขารู้สึกกดดัน
ช่างภาพหนุ่มใหญ่ "จัสติน มอทท์" ก้มหน้าทบทวนอะไรบางอย่างก่อนจะเงยหน้ามาบอกถึงการทำงานที่ฝังใจและเขาเองก็ไม่อาจจะลืมเลือนได้ว่า “เหตุการณ์ที่เศร้าที่สุดสำหรับชีวิตการถ่ายภาพของผม คือช่วงปี 2010 มีโศกนาฏกรรมคนเขมรเหยียบกันตาย ในงานลอยกระทงบนสะพานข้ามเกาะเพชร ครั้งนั้นมีคนตายมากกว่า 300 คน ผมได้เห็นสภาพศพ สีหน้าครั้งสุดท้ายของพวกเขา ได้เห็นแววตาของผู้สูญเสีย ได้เห็นการร้องไห้แล้วผมรู้สึกแย่มากๆ เวลาที่จะต้องกดชัตเตอร์ มันเหมือนเราไปล่วงละเมิดเอาความทุกข์ของเขามาเป็นผลงาน ผมต้องสลัดความสงสารออกไป แล้วตั้งใจทำงานต่อไปเพราะมันคือหน้าที่ ผมจะทรยศต่อหน้าที่ไม่ได้”
แม้จะรักและกระหายการถ่ายภาพมากเพียงใด แต่มันก็ไม่ใช่ทั้งหมด จัสติน บอกว่า มีครั้งหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจวางกล้องหลังลังเลอยู่นานว่า “ครั้งนั้นอยู่ที่เวียดนาม ผมเห็นผู้หญิงตาบอดกำลังจะเดินข้ามถนน ที่มีรถราวิ่งไป-มาด้วยความเร็ว โดยไม่มีใครสนใจจะช่วยพาเธอข้ามถนนเลย ผมรู้ว่าหากปล่อยให้เธอเดินอะไรจะเกิดอะไรขึ้น แต่หากเลือกจะตั้งกล้องรอถ่ายภาพ ผมต้องได้ภาพนาทีชีวิตของผู้หญิงคนนั้น แต่ผมทำไม่ได้ สุดท้ายแล้วผมเลือกที่จะวางกล้องแล้วพาเธอข้ามถนน พอเธอปลอดภัยแล้ว แม้ผมจะไม่ได้ภาพนาทีชีวิต แต่ผมรู้สึกมีความสุขมาก”
ปัจจุบัน “จัสติน” ย้ายตัวเองมาเป็นช่างภาพอิสระในแถบเอเชีย และมีออฟฟิศหลักอยู่ที่เวียดนาม โดยเลิกถ่ายภาพข่าวและหันมาเน้นถ่ายภาพแฟชั่น โฆษณาและภาพงานวิวาห์เป็นหลัก เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกมีความสุข แม้จะไม่ท้าทายมากนักแต่มันก็ลดภาวะความกดดันความรู้สึกหากเจอเรื่องเศร้าๆ
“จัสติน” ยังบอกอีกว่า หากจะหาความท้าทายในการถ่ายภาพในตอนนี้ เขาเลือกที่จะถ่ายภาพท้าทายในเรื่องที่ทำให้เขาได้ความรู้ใหม่ๆ โดยล่าสุด เขาเข้าร่วมโครงการ “PHOTO FACE-OFF season 2” ซึ่งเป็นการประลองฝีมือการถ่ายภาพ ภายใต้ความกดดันรูปแบบต่างๆ ระหว่างช่างภาพมืออาชีพกับช่างภาพมือสมัครเล่น เพื่อจะชิงตำแหน่งแชมป์ของ Asia’s Photo Face-Off
ก่อนจากกันช่างภาพหนุ่มใหญ่ วัย 36 ปี ที่ชื่อ "จัสติน มอทท์" ยังฝากถึงช่างภาพรุ่นใหม่ว่า หากอยากจะประสบความสำเร็จขอเพียงแค่ “ตั้งใจ อดทน ลุยงานหนัก ต้องเป็นตัวของตัวเอง อย่าให้อะไรมาบดบังความเป็นตัวของตัวเองได้ ที่สำคัญคือ ต้องทดลองสิ่งแปลกใหม่อยู่เสมอ เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์”