xs
xsm
sm
md
lg

“ผลงานศิลปะแต่ละชิ้นสะท้อนว่า พ่อเป็นคนรักครอบครัว” ศักดิ์ศยาม พงษ์ดำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 ศักดิ์ศยาม พงษ์ดำ
ART EYE VIEW--- “ผมเกิดที่จังหวัดสิงห์บุรี อยู่กับไร่นามาตั้งแต่เด็ก สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ พืชพันธุ์ บรรดาสัตว์ต่างๆ ตลอดจนประเพณี วิถีทางการใช้ชีวิตแบบชนบถ เป็นที่มาของการสร้างงานของผม”

คือคำบอกเล่าในสูจิบัตรเล่มโต เมื่อคราวจัดนิทรรศการศิลปะเชิดชูเกียรติ ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เมื่อปี 54 ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) ปี 41

ก่อนที่ ศ.เกียรติคุณประหยัด จะเสียชีวิตไปด้วยโรคหัวใจ เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 57 และเหลือทิ้งไว้ให้ผู้คนจดจำ ในฐานะศิลปินไทยคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงทางด้านภาพพิมพ์แกะไม้ (wood cut)

แต่ถ้าถามสมาชิกในครอบครัว ศักดิ์ศยาม พงษ์ดำ หรือ แก้ว บุตรชายคนที่ 3 ของ ศ.เกียรติคุณประหยัด บอกถึงความรู้สึกที่มีต่อผลงานศิลปะของพ่อว่า

“ผลงานศิลปะแต่ละชิ้นสะท้อนตัวตนว่า พ่อเป็นคนรักครอบครัว พ่อจะรัก ห่วงใย และคิดถึงครอบครัวตลอด แม้แต่ตอนที่ผมไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งตอนนั้นผมก็โตแล้วนะ อายุ 25 ปีแล้ว แม่(ประภาศรี)เล่าให้ฟังว่า ตอนที่ผมไปใหม่ๆพ่อมานั่งร้องไห้ คือเขาเป็นห่วงว่าเราจะอยู่อย่างไร จะกินอย่างไร จะปลอดภัยไหม”

ศ.เกียรติคุณประหยัด เมื่อครั้งไปเรียนที่อิตาลี
 ศักดิ์ศยาม เมื่อครั้งไปเรียนที่นิวยอร์ก
Print Maker ลูกมือพ่อ

ในบรรดาพี่น้องทั้งหมด ศักดิ์ศยามกล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับการทำงานศิลปะของพ่อมากที่สุด เนื่องจากเป็นลูกมือช่วยทำงานภาพพิมพ์มาโดยตลอด

“เราสามคนพี่น้องเรียนโรงเรียนเดียวกันมาตลอดตั้งแต่เล็กๆ เรียนประถม ที่ราชวินิต เรียนมัธยมที่สวนกุหลาบ และเรียนมหาวิทยาลัย ที่ศิลปากร แต่พี่ชายคนโต(ศยมภู)เรียนจบด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ ส่วนพี่คนกลาง(ศยามพงศ์)เรียนวิทยาศาสตร์ และผมเรียนจบสาขานิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ ซึ่งจะมีความใกล้เคียงกับพ่อฯ มากกว่าพี่น้องคนอื่นๆ (ศ.เกียรติคุณประหยัด เรียนศิลปะที่เพาะช่างและมหาวิทยาลัยศิลปากร หลังได้รับปริญญาตรีศิลปะบัณฑิต (จิตรกรรม) ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลอิตาลีไปศึกษาต่อ ณ สถาบันประณีตศิลป์แห่งกรุงโรม)

และพอเรียนจบมาแล้ว ผมเคยช่วยพ่อทำงานพิมพ์ อยู่ระยะหนึ่ง ทำหน้าที่เป็น Print Maker เพราะการทำงานภาพพิมพ์ บางขั้นตอนมันต้องใช้แรง ต้องกลิ้งลูกกลิ้งผสมสี และระยะหลังๆ ประมาณ 20 ปี มานี้ ก่อนที่พ่อจะเสียชีวิต เวลาที่ยืนมากๆ เขาจะมีอาการปวดหลัง ขาชา อะไรอย่างนี้ ผมจึงต้องเข้ามาช่วยทำงาน

และช่วงหนึ่งพ่อเคยรับงานทำภาพพิมพ์ ประดับห้องพักของโรงแรม บางทีมาก 500-800ห้อง ผมก็ต้องช่วยพ่อทำในส่วนนั้นด้วย”

เรียนจบและช่วยงานพ่ออยู่พักใหญ่ หลังจากนั้นศักดิ์ศยามเดินทางไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ก่อนจะกลับมาเป็นลูกมือช่วยพ่อตามเดิม

  “พอช่วยพ่อทำงานศิลปะประดับโรงแรมเสร็จ แล้วไปทำงานออฟฟิศอยู่สักพัก พ่อก็ถามว่า จะอยู่อย่างนี้เหรอ ไม่ไปเรียนต่างประเทศเหรอ ผมก็เลยคิดว่า เออ... ไปเรียนต่อก็ดีเหมือนกัน ก็เลยติดต่อเรื่องไปเรียนต่างประเทศ ไปอยู่ที่นิวยอร์ก 5 ปี เรียนด้าน communication design ที่ Pratt Institute

แล้วก็กลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร อยู่พักหนึ่ง แล้วลาออกมาทำบริษัทส่วนตัว ชื่อ Three Some Design เวลานี้บริษัทก็ยังอยู่ แต่ไม่ได้รับงานทางด้าน graphic design อย่างที่เคยทำเป็นหลัก หนักไปทำทางด้าน fashion accessories ซึ่งภรรยาผม(เหมี๋ยว - วาทินี) เขาทำด้านนี้อยู่ เราก็เลยเปลี่ยนแนวมาทำงานนี้เป็นหลัก โดยใช้ชื่อบริษัทเดิม”

อาหารรสมือชาวนาชาวไร่

แม้จะเคยเป็นลูกมือช่วยพ่อทำงานศิลปะ แต่สิ่งที่ศักย์ศยามบอกว่าได้รับจากพ่อมากที่สุด คือเรื่องการทำอาหาร

"ผมได้เรื่องการทำกับข้าวจากพ่อ แต่ก่อนทุกวันหยุด พ่อจะเป็นคนทำกับข้าว ไปจ่ายตลาดแต่เช้าตรู่ กลับมาทำกับข้าวตั้งเต็มโต๊ะ ตอนหลังๆผมก็เริ่มไปยืนดู สนใจ จนกลายเป็นคนชอบทำกับข้าวให้ที่บ้าน พ่อจะทำอาหารสไตล์บ้านนอกหน่อย เพราะพ่อเป็นคนสิงห์บุรี เป็นคนไทยพวน และอาหารพวกแกงส้ม ต้มโคล้ง ของพ่อ จะออกไปแนวๆอาหารของคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับไร่กับนา เปรี้ยวด้วยมะขามเปียก เผ็ดด้วยพริกแห้ง ในขณะที่คุณแม่ เวลาทำกับข้าวจะเปรี้ยวด้วยมะนาว เพราะคุณแม่อยู่กับสวน อยู่ในกรุงเทพ แถวๆภาษีเจริญ เวลาทำกับข้าวจะใช้พริกขี้หนูสวน ใช้มะนาวสด แต่คุณพ่อจะเป็นมะขามเปียก เพราะว่าอยู่กับไร่กับนา ของพวกนี้มันเก็บได้ยาวนานกว่า อาหารของคุณพ่อจะเป็นสไตล์นั้น

หรือไม่ก็เป็นอาหารฝรั่งไปเลย เช่น สปาเกตตี้ สเต็ก สตูว์ สลัด พ่อเค้าเคยไปเรียนที่เมืองนอก และเวลาเค้าไปกินอะไรอร่อยๆที่ไหน เค้าจะจำส่วนผสมกลับมา แล้วมาลองทำกินเองที่บ้าน เวลาไปกินอะไรอร่อยๆ ก็อยากจะกลับมาทำให้ที่บ้านกิน จะเป็นลักษณะนั้น”

ขณะที่ภาพของพ่อที่เขาคุ้นตา คือภาพที่พ่อนั่งทำงานศิลปะ "ที่ผ่านมาผมเห็นพ่อทำงานตลอดเวลา ไม่เพ้นท์ ก็พิมพ์ เราก็ชินกับภาพที่พ่อต้องทำงานอยู่บ้าน น้อยครั้งที่จะเห็นนั่งดูทีวี ซึ่งถ้าดูจะดูแค่ตอนหัวค่ำ ดูข่าว ดูกีฬา พ่อเป็นคนชอบกีฬา ถ้าเกิดเป็นพวกกีฬาของชาติไทย หรือทีมชาติ จะดูจะเชียร์อยู่หน้าจอ นอกนั้นก็จะไม่ดูอะไร ดูแค่ข่าวกับกีฬาเท่านั้น

เราจะคุ้นเคยกับภาพที่พ่อนั่งทำงานศิลปะตลอดเวลา บางทีพ่อก็จะเรียกไปดู มาดูนี่ พ่อเพิ่งสเก๊ตช์ภาพนี้ เห็นหรือยัง ดีมั้ย สวยมั้ย เราก็จะตื่นตาทุกครั้ง

พอไม่มีพ่ออยู่ อารมณ์ตรงนี้มันหายไปหมดเลย ตลอด 40 กว่าปี ผมจะเห็นภาพแบบนี้มาตลอด พอไม่มี ตอนแรกมันก็แปลกๆ ไม่มีรูปใหม่ๆของพ่อให้ดูอีกแล้ววุ้ย”



 งบกว่า 40 ล้าน หอศิลป์ประหยัด พงษ์ดำ

ปัจจุบันนอกจากมีบริษัทของตัวเอง และเป็นอาจารย์ประจำสอนทางด้านนิเทศศิลป์ ที่เพาะช่าง ศักดิ์ศยามยังเป็นผู้ที่ถูกมอบหมายให้ดูแลและจัดการงานศิลปะของพ่อทั้งหมด

“ เพราะคุณพ่อมีงานเยอะ ที่ยังเก็บไว้ที่บ้าน ทั้งงานเทคนิคภาพพิมพ์ ภาพเพ้นท์ ซึ่งผมก็จะรู้ว่า มีภาพไหนบ้าง และมีกี่รูป และแต่ละภาพแตกต่างกันอย่างไร เพราะเราเป็นคนรู้เห็นขั้นตอนในการทำงานของคุณพ่อ ว่ายากง่ายแค่ไหน”

รวมถึงยังเป็นผู้ดูแล หอศิลป์ประหยัด พงษ์ดำ ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเปิดให้เข้ามาตั้งแต่มีนาคม 2557 ศักดิ์ศยามเล่าถึงที่มาของหอศิลป์แห่งนี้ว่า

“แกลเลอรี่ที่ปากช่อง เป็นความตั้งใจของพ่อเมื่อนานมาแล้ว ว่าอยากจะมีพื้นที่แสดงงานของตัวเอง ไว้ให้นักเรียน นักศึกษา หรือว่าใครที่สนใจได้มาชม ได้แรงบันดาลใจ ได้มีความสุขกับการชมงานศิลปะ พ่อบอกว่าในกรุงเทพ แกลเลอรี่มีเยอะแยะแล้ว ถ้าไปตั้งที่ต่างจังหวัด จะได้เป็นสถานที่ไว้ให้เด็กๆ หรือคนที่ไม่มีโอกาสได้เดินทางเข้ามากรุงเทพบ่อยๆ ได้ดูงานศิลปะ

บวกกับช่วงที่นำท่วมกรุงเทพ เมื่อปี 54 ด้วย ตอนนั้นครอบครัวเราแทบจะทั้งหมดเลย ต้องอพยพไปเช่ารีสอร์ส แถวชลบุรี อยู่เป็นเเดือน แล้วพ่อก็เอาอุปกรณ์ไปทำงานศิลปะด้วย พอเขารู้สึกว่าตัวเองทำงานได้ผลดี เนื่องจากบรรยากาศเงียบสงบ ไม่มีธุระต้องไปไหนมาไหน ไม่มีโทรศัพท์มาติดต่อ เพราะตอนนั้นน้ำท่วม จึงไม่มีกิจกรรมที่เคยทำให้ต้องทำ พ่อก็เลยบอกลูกๆว่าให้ไปหาสถานที่ทำแกลเลอรี่ แต่ไม่ต้องไกลกรุงเทพมาก พอให้พ่อได้เดินทางสะดวกหน่อย เพราะนอกจากมีแกลเลอรี่โชว์งานศิลปะได้ เขาจะทำสตูดิโอไว้ทำงานศิลปะด้วย

พี่ชายผมจึงไปตระเวนหาที่ เลยไปได้ที่ตรงนั้น ซึ่งซื้อเมื่อประมาณปี 54-55 หลังช่วงน้ำท่วมนี่เองครับ เป็นโครงการแบ่งขายจากคนรู้จักกันครับ เป็นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่รู้จักกับพ่อเป็นอย่างดี ชวนพ่อว่ามาอยู่ตรงนี้ไหม มาอยู่ใกล้ๆกัน พอพ่อไปดูที่ เห็นว่าสวยก็เลยตัดสินใจซื้อ

เป็นความฝันของพ่ออีกอย่างหนึ่งที่ได้มีที่แสดงงานของตนเอง ในขณะเดียวกันก็มีประโยชน์ให้ใครที่สนใจงานศิลปะได้เข้ามาดู เพราะว่าเราไม่ได้เก็บค่าชมอะไรทั้งสิ้น สามารถเข้าไปชมได้ทุกวัน ยกเว้นวันพุธ แต่พวกเราเอง ส่วนใหญ่จะไปได้ช่วงหยุดวีคเอนด์ มากกว่า แต่จะมีพี่ชายที่ไปบ่อย ช่วงกลางสัปดาห์ ก็ต้องไป เพราะว่าเขาต้องไปดูแลเรื่องการก่อสร้าง”

เนื่องจาก หอศิลป์ ยังมีส่วนขยายอื่นๆ ที่ประกอบด้วย ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร และที่พัก ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

“เพราะในเมื่อแกลเลอรี่ไม่มีรายได้เข้ามาแต่สถานที่เราต้องดูแลรักษาตลอด เราก็เลยคิดกันว่า ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งทำที่พัก สัก 20-30 ห้อง ให้มีรายได้มาหมุนเวียนมาเลี้ยงโครงการทั้งหมด นอกจากแสดงงานของคุณพ่อในแกลเลอรี่ เราก็อาจจะแสดงในที่พักด้วย”

ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันครอบครัวพงษ์ดำใช้งบประมาณไปกับโครงการทั้งหมดร่วมหลายสิบล้าน

“ถ้าจะคร่าวๆ ตอนนี้น่าจะเกิน 40 ล้าน แม้จะเป็นการใช้เงินที่เยอะ แต่ผมว่ามันก็เป็นความภูมิใจของพ่อ เพราะตอนที่พ่อเขามีชีวิตอยู่ เขาดูมีความสุข เวลาที่ได้ไปนั่งทำงาน ได้ไปพักผ่อน และเงินทุกบาททุกสตางค์ได้มาจากการทำงานศิลปะของเขาหมดเลย ส่วนลูกๆก็แค่ลงแรง

เวลาคุณพ่อเขียนรูป ส่วนใหญ่ก็จะมีคนมารอรับอยู่แล้วครับ ดังนั้นที่ผ่านมาเขาก็เขียนรูปไปเรื่อย พอมีเงินก็ทำหอศิลป์ พอไม่มีเงินก็ชะลอ”

หอศิลป์ประหยัด พงษ์ดำ ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

ผลงานศิลปะชิ้นสุดท้าย

จากการบอกเล่าของลูกชาย ผลงานศิลปะที่ ศ.เกียรติคุณประหยัด ทำในช่วงท้ายของชีวิต ไม่ใช่งานภาพพิมพ์แกะไม้ แต่เป็นงานภาพวาดบนแผ่นไม้ ผสมกับการแกะไม้

“ทำให้คนได้ถึงเอกลักษณ์หนึ่งในการทำงานของพ่อที่ชอบทำงานภาพพิมพ์แกะไม้ ดังนั้นงานที่พ่อทำก่อนจะเสียชีวิต ยังใช้เสน่ห์ในการแกะไม้ มาทำร่วมกับงานเพ้นท์ติ้ง แกะให้เกิดเทคเจอร์ เกิดรูปภาพ เกิดฟอร์ม แล้วเพ้นท์ลงไป”

ผลงานที่ ทำเป็นชิ้นสุดท้ายในชีวิตก็ใช้เทคนิคเดียวกันนี้ ทว่าเป็นงานชิ้นใหญ่ ที่ลงมือทำมาตั้งแต่ปี 56 จวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

“ปลายปี 56 พ่อเริ่มลงมือร่างชิ้นงาน แต่ทำลงไม้แผ่นใหญ่ จึงกว่าจะแกะเสร็จ และด้วยเวลาก็ไม่ค่อยมีด้วย เพราะเดี๋ยวก็ต้องไปข้างนอก ไปประชุม ไปตัดสินงานประกวดศิลปะ แต่พอมีเวลา พ่อจะมานั่งทำงาน นั่งแกะ นั่งเพ้นท์

ทำอยู่สองรูป ชิ้นนึงยังไม่ได้ลงสีเลย อยู่ที่เขาใหญ่ มีแค่รอยแกะลายเส้นบนกระดานไม้ให้เห็น ส่วนอีกชิ้นนึงคือชิ้นนี้ที่ลงสีไว้แล้วเกือบเสร็จ สองชิ้นนี้เรียกได้ว่าเป็นงานชิ้นสุดท้าย เพราะว่าจนถึงวันที่ก่อนพ่อจะเสีย เขาก็ยังหยิบพู่กันมาแต้มสีอยู่เลย

เป็นงานที่พ่อยังไม่ได้ตั้งชื่อนะฮะ ในภาพมีภาพโพธิ์เงินโพธิ์ทองเป็นหลัก มีภาพต้นไม้ มีรวงข้าว มีปลาสีเงินสีทอง แหวกว่ายอยู่ พ่อเคยอธิบายไว้ว่าเกี่ยวกับความร่มเย็น ความสงบสุข ความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน”
ผลงานศิลปะชิ้นสุดท้าย
ภาพประกอบ  พระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก
ตัวอย่างภาพ sketch ดาวเพดาน พระอุโบสถ วัดหลวงพ่อโสธรวราราม จ.ฉะเชิงเทรา
ตัวอย่างภาพ sketch พื้นพระอุโบสถ วัดหลวงพ่อโสธรวราราม จ.ฉะเชิงเทรา
ยามเช้า
 ผลงานที่ภูมิใจและได้รับความนิยม

ในฐานะทายาทผู้รับรู้ทั้งในเรื่องการทำงานศิลปะ ตลอดจนการซื้อขายผลงานของผู้เป็นพ่อมาโดยตลอด ศักดิ์ศยามบอกเล่าว่า หากถามถึง ผลงานที่เป็นที่ภาคภูมิใจในชีวิตพ่อ คือการได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้เป็นหนึ่งในจำนวนศิลปินผู้เขียนภาพประกอบ พระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก และผลงานออกแบบพื้นและดาวเพดานในพระอุโบสถ วัดหลวงพ่อโสธรวราราม จ.ฉะเชิงเทรา

“งานพระอุโบสถวัดหลวงพ่อโสธรพ่อทำอยู่ประมาณ 2 ปีได้มั้งครับ ตอนนั้นเกษียณแล้วนะ ต้องขับรถไปกลับ ระหว่างฉะเชิงเทรากับบ้านที่บางแค บางวันก็ไปกลับ บางวันก็ไปค้าง บางครั้งก็ไปค้างอยู่เป็นอาทิตย์ เวลาเขียนภาพเพดาน พ่อต้องปีนขึ้นไปเขียนเหมือน ไมเคิล แองเจโล”

ขณะที่ในแง่ของการซื้อขาย ผลงานศิลปะของ ศ.เกียรติคุณประหยัด ที่เป็นที่ต้องการของคนทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ โดยเฉพาะภาพชื่อ “ยามเช้า” ซึ่งมีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับภาพที่เคยได้รับรางวัลเหรียญทองศิลปกรรมแห่งชาติ

“เพราะส่วนใหญ่คนจะรู้จักพ่อทางด้านภาพพิมพ์แกะไม้ จึงอยากได้มากกว่า และราคามันย่อมเยาว์กว่าราคาภาพวาด และภาพพิมพ์ที่ทำให้คนรู้จักคุณพ่อมากที่สุดก็คือภาพยามเช้า

เพราะพ่อเคยได้รางวัลเหรียญทองศิลปกรรมแห่งชาติ จากภาพไก่ขันบนสุ่มชื่อ “ยามเช้า” ขนาด 60*80 เซนติเมตร ซึ่งมีแค่ 4 ชิ้น

ต่อมาพ่อจึงทำภาพแบบเดียวแต่มีขนาด 40*60 เซนติเมตร ขึ้นมาขาย คนก็เลยรู้จักภาพนี้กันเยอะ”

ดังนั้นเราจึงพบว่าภาพพิมพ์ชื่อ "ยามเช้า" ถูกเลือกมาทำเป็นภาพปกหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ ศ.เกียรติคุณประหยัด

“เพียงแต่เราออกแบบให้สีของภาพดร็อปลงเป็นโทนขาวดำ มีเฉพาะส่วนที่ปิดทองเท่านั้นที่เป็นแววสีทองอยู่”

นอกนั้นภาพอื่นๆที่เป็นที่ต้องการของคนทั่วไปรองลงมาจากภาพ “ยามเช้า “ได้แก่ ภาพพิมพ์แกะไม้ที่เป็นภาพแมว ภาพนกฮูก และอื่นๆ ขณะที่นักสะสมงานศิลปะจะนิยมผลงานภาพวาดมากกว่า

“พวกนักสะสมศิลปะเขาจะชอบผลงานที่มีน้อยชิ้นมากกว่า อย่างภาพเพ้นท์ติ้ง จะมีชิ้นเดียวไม่สามารถทำซ้ำ เขาจะชอบชิ้นที่คนอื่นไม่มี แต่มีที่เขาคนเดียว”
นิทรรศการ UNCONDITIONAL LOVE ณ ศูนย์การค้า เกษรพลาซ่า

ศิลปะที่รู้สึกได้ที่ใจ

ล่าสุดภายหลังจากที่เสียชีวิต ผลงานศิลปะของ ศ.เกียรติคุณประหยัด ทั้งเทคนิคภาพพิมพ์แกะไม้ ภาพวาด ภาพวาดบนแผ่นไม้ผสมเทคนิคการแกะไม้ และประติมากรรม ถูกรวบรวมมาจัดแสดงเป็นครั้งแรก ในนิทรรศการ UNCONDITIONAL LOVE ระหว่างวันที่ 9 กรกฎาคม - 8 กันยายน 2558 ณ ศูนย์การค้า เกษรพลาซ่า

ทั้งผลงานเทคนิคภาพพิมพ์แกะไม้และภาพวาด ที่สื่อถึงความรักความผูกพันของแม่และลูกและความอบอุ่นในครอบครัว เนื่องจากช่วงเวลาของการจัดแสดงคาบเกี่ยวกับ วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม

รวมไปถึงผลงานประติมากรรมรูปแมว ตลอดจนภาพ “ยามเช้า” ที่ได้รับความนิยม และภาพวาดบนแผ่นไม้ผสมการแกะไม้ที่ทำเป็นชิ้นสุดท้ายในชีวิต

“ผมไม่ได้เขียนภาพให้สวยที่ตา แต่ให้รู้สึกที่ใจ”

ประโยคที่ ศ.เกียรติคุณประหยัด เคยกล่าวในหลายโอกาส ถูกนำโปรยไว้ใต้ผลงานศิลปะชิ้นสุดท้าย

“เป็นประโยคที่พ่อเขามักจะพูดอยู่บ่อยๆ เพราะการทำงานศิลปะของพ่อ เขาต้องการให้งานกระทบต่อความรู้สึกของคนดู เช่น ภาพแม่ลูก ดูแล้วจะต้องรู้สึกถึงความอบอุ่น ความรักของแม่ที่มีต่อลูก หรือภาพน้องขี่หลังพี่ จะต้องทำให้คนดูรู้สึกได้ถึงความผูกพัน ความใกล้ชิดของพี่น้อง

เพราะพ่อเป็นคนรักครอบครัว ห่วงครอบครัว ห่วงลูก ซึ่งมันก็สะท้อนออกมาทางภาพ ที่เป็นภาพของความอบอุ่นของครอบครัว

ดังนั้นประโยคนี้จึงแสดงถึงความหมายที่ถ่ายทอดผ่านผลงานของพ่อได้อย่างชัดเจน”

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม และ ครอบครัว "พงษ์ดำ"


วันนี้นอนเร็วหน่อยแล้วกัน

“พ่อมีโรคประจำตัวอยู่ คือโรคหัวใจ ช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาก่อนจะเสีย พ่อทำบอลลูนมาแล้ว 4 ครั้ง แต่ละครั้ง ห่างกันประมาณ 5 -8 ปี และครั้งล่าสุดที่พ่อทำบอลลูนคือเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ก่อนพ่อเสียประมาณ 2 เดือน ซึ่งพอทำเสร็จคุณหมอก็บอกว่าเรียบร้อยดี พ่อเองก็บอกว่า ทำคราวนี้ดีนะ พ่อไม่เหนื่อย ไม่รู้สึกแน่นอะไรเลย ทางเราเองก็สบายใจว่าไม่ต้องห่วงสุขภาพพ่อไปอีกพักใหญ่ๆ เลยล่ะ

แต่ว่าด้วยความที่พ่อมีโรคอื่นๆด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคไต ทุกคนก็เลยจะเห็นว่าปีที่ผ่านมาดูพ่ออ่อนแอลงไปพอสมควร แต่ก็ยังทำงานตามปกติ รวมทั้งการออกไปประชุม ไปร่วมตัดสินงานศิลปะ ไปทำงานตามปกติทุกอย่าง

ผมว่ามันเป็นความสุขของพ่อด้วย เป็นการทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคม ซึ่งพ่อเต็มใจอยู่แล้ว แล้วเราเองก็เห็นว่ากิจกรรมเหล่านี้ คงไม่มีผลต่อสุขภาพของพ่ออะไรมากมาย และหมอเองก็แค่บอกว่าให้พ่อพักผ่อนให้มากๆหน่อย แค่นั้นเอง

และวันก่อนที่พ่อจะเสีย ไม่มีวี่แววเลยว่าพ่อจะล้มหมอนนอนเสื่อ เจ็บไข้ได้ป่วย ลุกไม่ไหว ใช้ชีวิตปกติ เพียงแต่ว่าช่วงนั้น มีหวัดนิดหน่อย คุณหมอเองก็ยังบอกว่าเป็นหวัดธรรมดา ไม่ได้เป็นไข้หวัดใหญ่ ไม่ได้เป็นอะไร แค่ต้องทานน้ำ ทานยา นอนพักเยอะๆ และคืนก่อนจะเสียก็ยังทานข้าว ดูทีวี คุยกับคนในครอบครัวตามปกติ พอตกซักสองทุ่มพ่อก็บอกว่า พ่อนอนเร็วหน่อยดีกว่า และยังบอกว่า แก้วไปหยิบผ้าห่มให้พ่อหน่อย ปกติห้องนอนพ่อจะอยู่ข้างบน แต่วันนั้นพ่อบอกว่านอนข้างบนแล้วหนาว แอร์เย็น พ่อขอลงมานอนห้องข้างล่าง คือห้องที่ใกล้ๆกับห้องทำงานของพ่อ ซึ่งบางทีพ่อก็จะลงมานอนที่ห้องนั้นด้วยเหมือนกัน แต่คืนก่อนเสียพ่อนอนห้องข้างบน แล้ววันจะเสียลงมานอนห้องข้างล่าง ผมหยิบผ้าห่มมาให้ ถามพ่อว่า พ่อจะนอนแล้วเหรอ เพิ่งสองทุ่ม พ่อเลยบอกว่า เออ.. วันนี้นอนเร็วหน่อยแล้วกัน

แล้วปกติพ่อเป็นคนตื่นเช้า หกโมงเช้าก็จะตื่นแล้ว ตื่นมาส่งหลานไปโรงเรียน แต่วันนั้นคพ่อไม่ออกมา เราก็คิดกันว่าสงสัยคุณพ่ออาจจะยังเพลียอยู่ จนประมาณเจ็ดโมงเช้า แม่บอกว่า ต้องไปปลุกแล้วล่ะ จะได้มาทานข้าว มาทานยา

พอเข้าไปปลุกจึงได้พบว่าคุณพ่อเสียแล้ว นอนอยู่บนเตียง ผมมาคิดอีกทีก็คิดว่าเป็นเรื่องดีที่การเสียของพ่อ ไม่ทรมาน คงหลับไป แล้วไปเลย”


ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews


กำลังโหลดความคิดเห็น