xs
xsm
sm
md
lg

สิ้น “ศิลปินชนบท” ศ. ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ปี 41

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ART EYE VIEW---ช่วงเช้าของวันนี้(วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2558 เวลา 06.45 น.) ณ โรงพยาบาลศิริราช วงการศิลปะได้สูญเสียศิลปินอาวุโสวัย 86 ปี ไป 1 ท่าน คือ ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำปี พ.ศ. 2541 เนื่องจากภาวะติดเชื้อที่ปอด หลังจากรับคีโมบำบัด และฉายแสงมาเป็นระยะๆ เพื่อรักษาโรคมะเร็งหลอดอาหาร

ศ.ชลูด เกิดเมื่อ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 ที่จังหวัดธนบุรี เป็นหนึ่งในศิษย์รุ่นแรกๆของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (ผู้มีบทบาทสำคัญในวงการศิลปะร่วมสมัยไทย) จบการศึกษาจาก วิทยาลัยเพาะช่าง,คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (นอกจากเรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 สาขาประติมากรรม ยังเป็นคนแรกของคณะฯ และของมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่รับปริญาตรี สาขาศิลปศาสตร์บัณฑิต)
 
 จากนั้นมีโอกาสไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ จนได้รับประกาศนียบัตร Diploma of Fine Arts จากสถาบันศิลปะ Accademia di Belle Arti แห่งกรุงโรม ประเทศอิตาลี

ตัวอย่างผลงานประติมากรรมของ ศ.ชลูด ที่ประชาชนทั่วไปเคยพบเห็นในพื้นที่สาธารณะและติดตั้งนอกอาคารหลายแห่ง ได้แก่ ผลงานประติมากรรมชื่อ “องค์สาม” พ.ศ.2524 และอินทรีย์ 5” (พ.ศ.2541) สำหรับธนาคารกสิกรไทย

ผลงานประติมากรรม “พระบรมโพธิสมภาร” (พ.ศ.2531) สำหรับมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และ “โลกุตระ” (พ.ศ.2534)สำหรับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


ขณะเดียวกัน ศ. ชลูด กล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในศิลปินผู้ได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานมาจากสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตชนบทไทย มีการหยิบจับวัตถุและวัสดุจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งวัสดุจากธรรมชาติ และวัสดุสังเคราะห์ที่อยู่ในชีวิตประจำวันมาเป็นสื่อในการแสดงออก โดยเมื่อปี พ.ศ.2525 เคยสร้างผลงานชื่อ “ประติมากรรมชนบท”

นอกจากนี้ยังมีผลงานศิลปะเทคนิคภาพพิมพ์ที่ทุกคนคุ้นตาเป็นภาพของผู้หญิงและเด็กหญิงผมสั้นในชุดแต่งกายแบบหญิงชาวบ้านในชนบท และศิลปินเองก็เคยนิยามตัวเองว่า “ผมเป็นศิลปินชนบท
       

ในฐานะครู ศ.ชลูดเป็นศิลปินที่มีลูกศิษย์ที่เติบโตมาเป็นศิลปินมากมาย เนื่องจากเป็นผู้บุกเบิกการเรียนการสอน ด้วยการจัดตั้งภาควิชาภาพพิมพ์ (พ.ศ.2508) และภาควิชาศิลปไทย (พ.ศ.2519) คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นอาจารย์พิเศษให้กับหลายสถาบัน

ด้านงานวิชาการ ศ.ชลูด ยังเป็นผู้แต่งตำราวิชาองค์ประกอบศิลป์ รวมไปถึงหนังสือ และบทความทางศิลปะ

ก่อนจะจากไป ย้อนกลับไปเมื่อสองปีที่ผ่านมา บรรดาลูกศิษย์ได้จัดงานแสดงศิลปะครั้งสำคัญให้ผ่านนิทรรศการ “จิตรกรรมฝาผนังของอาจารย์ชลูด และผลงานย้อนหลัง” ระหว่างวัน 31 พฤษภาคม - 18 สิงหาคม พ.ศ.2556 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

โดยในนิทรรศการครั้งนั้นมีผลงานศิลปะของ ศ.ชลูด มาให้ชม 6 ส่วน ได้แก่
 
1)ผลงานจิตรกรรมบนกระดาษ(สร้างสรรค์เมื่อปี พ.ศ.2553 - 2556) หลายร้อยชิ้นมาติดเรียงรายเต็มฝาผนัง และ “แบกะดิน” ผลงานประติมากรรมชิ้นเล็กๆหลายชิ้นหลากเทคนิค ซึ่งตั้งให้ชมอยู่ที่พื้นห้อง
2)ผลงานชุด "ธรรมศิลป์" (พ.ศ.2530-2539) ผลงานสะท้อนความบริสุทธิ์ของจิตใจศิลปินที่สงบนิ่งและปล่อยวาง อันเป็นผลมาจากภาวะของสมาธิ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะทำงาน และจากการศึกษาปฏิบัติธรรม 

3)ผลงานวาดเส้น ชุด “บทกวี” (พ.ศ.2525-2526) , “ลูกสาว” (พ.ศ.2528) ,“ประติมากรรมในทิวทัศน์” (พ.ศ.2550) และ “วาดเส้นภาวนา” (พ.ศ.2554) ซึ่งสร้างขึ้นในระหว่างหนีภัยน้ำท่วมไปอยู่ที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

4)ผลงานชุด “ประติมากรรมชนบท” (ปี พ.ศ.2525) 

5)
ผลงาน "วาดเส้นจากโรมและภาพพิมพ์นามธรรม" โดยในช่วงเวลาที่เดินทางไปศึกษาเทคนิคภาพพิมพ์กลวิธีร่องลึก (intaglio) ที่ประเทศอิตาลี (ประมาณปี พ.ศ.2499-2501)และศึกษาเทคนิคภาพพิมพ์หิน (lithograph) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา (ปี พ.ศ.2507) ระหว่างนั้น ศ.ชลูดได้เดินทางไปวาดภาพทิวทัศน์ตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี และกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส รวมถึงได้สร้างผลงานภาพพิมพ์นามธรรม ซึ่งมีเทคนิคที่น่าสนใจขึ้นอีกจำนวนหนึ่งด้วย


และ 6) "ผลงานยุคแรก" (พ.ศ.2498-2505) เป็นผลงานเทคนิคภาพพิมพ์แบบแกะลายเส้น (engraving)ที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตชนบทไทย โดยศิลปินทดลองนำเมโซไนท์ (mesonite)หรือกระดาษอัดแข็ง มาใช้แทนไม้เป็นคนแรกของไทย ต่อมาได้สร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคภาพพิมพ์แกะไม้ (wood cut) ซึ่งมีทั้งภาพพิมพ์ขาวดำและภาพพิมพ์สี แสดงออกด้วยเรื่องราวและรูปทรงที่เรียบง่าย สะท้อนถึงความเป็นไทย รวมถึงผลงานจิตรกรรมชุด “ชีวิตชนบทปิดทอง” (พ.ศ.2499) ซึ่งศิลปินทดลองติดทองคำเปลวลงบนจิตรกรรมร่วมสมัยเป็นคนแรก

กำหนดให้มีพิธีรดน้ำศพ "ศ.ชลูด นิ่มเสมอ" ในวันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2558 เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป ณ ศาลา 1 วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร และกำหนดพิธีสวดอภิธรรมศพ เป็นเวลา 7 วัน






ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews


กำลังโหลดความคิดเห็น