xs
xsm
sm
md
lg

“พายปลดหนี้” ของ ณธนพร เอื้อวันทนาคูณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อร- ณธนพร เอื้อวันทนาคูณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยไดมอนด์ฟูด จำกัด เจ้าของร้านพายโฮมเมด April’s Bakery
 
เรื่องราวของสาวบ้านนอกที่หลังจากแม่ตาย พี่ชายคนโตต้องเสียสละออกมารับช่วงทำงานส่งเสียให้เรียนจบปริญญาตรี เมื่อจบแล้วก็ออกมาเปิดร้านเบเกอรี่ หวังแบ่งเบาภาระพี่ชาย แต่กลับขาดทุนจนมีหนี้สิน แต่เพราะ “พายหมูแดง” ชิ้นเดียว กับความอดทนมุ่งมั่น ทำให้หญิงสาวพลิกชีวิตปลดหนี้ได้หมด แล้วกลายมาเป็นเจ้าของธุรกิจมูลค่านับร้อยล้าน

นี่ไมใช่พล็อตนิยายน้ำเน่า หากแต่นี่คือเรื่องจริงของ อร- ณธนพร เอื้อวันทนาคูณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยไดมอนด์ฟูด จำกัด เจ้าของร้านพายโฮมเมดชื่อดัง "April’s Bakery"

 
ร้านกาแฟชื่อดังในห้างเซ็นทรัลพระราม 3 เป็นสถานที่ที่เรานัดพบ อร-ณธนพร เจ้าของใบหน้าสวยหวานและเรือนร่างอันบอบบาง เธอฉีกยิ้มหวานให้เราทันทีที่พบกัน พร้อมตอบคำถามเรื่องราวชีวิตในอดีตที่ผ่านมาว่า ครอบครัวทำธุรกิจขายวัสดุก่อสร้าง ซึ่งพอมีฐานะที่ทำให้เธอใช้ชีวิตอย่างสุขสบายได้ หลังจบปริญญาตรีคณะบริหารธุรกิจ จากเอแบคแล้ว พี่ชายก็เรียกตัวให้กลับไปช่วยขายวัสดุก่อสร้างที่นครสวรรค์บ้านเกิด

"อรไม่ถนัดที่จะขายอุปกรณ์ก่อสร้าง คือมันไม่ใช่แนวของเรา อีกอย่างคืออรฝันอยากทำธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง อยากเปิดร้านขายขนม ตอนนั้นช่วยงานขายของก่อสร้างที่บ้านได้ประมาณ 5-6 เดือน ก็ไปเช่าที่ตลาดนัดนครสวรรค์ไว้ขายขนมปัง ซื้อวัตถุดิบมาทำเบเกอรี่ขายเลยค่ะ”

เบเกอรี่ในฝันของ “อร” กลายเป็นสิ่งที่ญาติพี่-น้องขบคิดกันว่า จะไปรอดหรือไม่ ? เพราะเด็กสาวที่ถูกเลี้ยงดูมาเป็นอย่างดีในวัยเด็ก กลับต้องกลายมาเป็นแม่ค้าขนมปัง ต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อลุกมานวดแป้ง ทำแป้ง หมักไส้ ผัดไส้ อบขนมเบเกอรี่สารพัดไส้ มีตั้งแต่ ไส้ไก่ ไส้กรอก หมูหยอง เนยสด เป็นต้น ก่อนจะใส่รถเข็นไปขายที่ตลาดนัดเพียงลำพัง

 
อรเล่าถึงชีวิตแม่ค้าในช่วงนั้นว่า นอกเหนือจากทำขนมเองแล้ว สิ่งที่ไม่เคยทำก็ต้องทำ เช่น การร้องเชิญชวนคนมาซื้อขนมปังของเธอ ซึ่งเธอยอมรับว่าอายเหมือนกันแต่ต้องทำ ทำไปทำมาก็สนุก เพราะว่าประสบความสำเร็จ ลูกค้ามาซื้อและบอกต่อๆ กัน ปากต่อปาก ยอดขายเป็นกอบเป็นกำ “ได้วันละ 3-4 พันบาททุกวัน อาศัยขายถูกขายได้มากค่ะ”

ระหว่างที่ขายขนมปัง เธอก็คิดและฝันอยากมีรายได้เพิ่มมากขึ้น อยากเป็นแอร์โฮสเตสสายการบินต่างประเทศ จึงแอบยื่นใบสมัครไป พอได้สมใจอยากแล้ว “เอาเข้าจริงงานสายการบินไม่ได้สวยหรูเหมือนที่คิดค่ะ งานบนเครื่องหนักไม่เป็นไร แต่ถูกคนดูหมิ่นดูแคลนเป็นสิ่งที่ไม่ปลื้มนักค่ะ แต่ก็ต้องอดทนไม่อยากให้ใครว่าเป็นคนเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ อยู่ได้ 2 ปีก็ลาออก”

 
หลังลาออกแล้ว “อร” ก็นำเงินที่อดออมจำนวน 2 ล้านกว่าบาท มาเปิดร้านกาแฟและเบเกอรีเล็กๆ ที่ศูนย์การค้าซีดีซี เลียบทางด่วนเอกมัยรามอินทรา ด้วยความที่ไม่ถนัด ก็ต้องปิดร้านไป แต่อรก็ไม่ยอมแพ้ เธอกลับไปขอเงินพี่ชายมาลงทุนต่ออีกรวมเป็น 5 ล้านบาท ครั้งนี้เธอทำเบเกอรีขายในตู้ขายเล็กๆ ภายในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล โดยใช้ชื่อ April’s Bakery

อรเล่าว่า เธอต้องทำขนมปัง คุกกี้ มาวางขาย แต่ยอดขายไม่ตรงตามเป้าที่ห้างกำหนด จึงมาเตือนให้ปรับปรุงสินค้าในร้าน ภายใน 1 เดือน หากไม่ดีต้องออกจากห้าง “ตอนนั้นขาดทุนต่อเนื่องมา 3 ปีกว่า ไม่กล้าบอกใคร ช่วงนั้นเครียดมากนะคะ แอบร้องไห้คนเดียวตลอด ไหนจะต้องหาค่าเช่าพื้นที่ เงินเดือนลูกน้อง แล้วยังต้องพยายามหาสูตรขนมใหม่ เพื่อให้ของขายได้ เงินไม่มีต้องยืมเพื่อนบ้าง เอาของไปจำนำบ้าง ของหมดก็เอารถไปรีไฟแนนซ์ กู้เงินนอกระบบก็ต้องทำค่ะ คือต้องอยู่ให้ได้ เพราะรู้ว่าหากถูกยกออกไปโอกาสที่จะกลับมาขายในห้างก็ไม่มีแล้ว”
 
แต่สาวร่างบอบบางคนนี้ก็ไม่ยอมแพ้ หลังลองผิดลองถูกและมุ่งมั่นทุ่มเทกับพายสูตรต่างๆ นานกว่า 3 เดือน ในที่สุดเธอก็ได้สูตร “พายหมูแดง” จาก โรงแรมแชงกรีลา เกาะฮ่องกง มาเป็นต้นแบบในการปรับปรุงรสชาติให้คุ้นลิ้นกับคนไทย แล้วนำมาขายใน ร้าน April’s Bakery

ครั้งนั้เหมือนถูกหวย พายชิ้นเล็กๆ นี้ กลับถูกปากลูกค้าคนไทยที่ติดใจในรสชาติถึงกับบอกต่อ จากยอดขายวันละไม่กี่ร้อยชิ้น ก็กลายเป็นหลักพันชิ้นต่อวัน

 
“พายหมูแดง” ไม่เพียงแต่เป็นพระเอกที่ช่วยชุบชีวิตเธอ จากขาดทุนเป็นกำไร สามารถอยู่ขายในเซ็นทรัลต่อไปได้แล้ว ใครจะเชื่อว่ามันยังเป็นสื่อรัก ทำให้ “อร” ได้เจอกับ “สามี” ชนินทร์ มธุรพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยฮอสพิทัล โพรดักท์ ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ภายใต้เครื่องหมายการค้าสามเอ็ม อีกด้วย

เจ้าของใบหน้าสวยใสทอดสายตามองแก้วกาแฟตรงหน้า รำลึกถึงวันเก่าๆ ในช็อปเล็กๆ ที่ เซ็นทรัลพระราม 3 อันเป็นที่ตั้งร้านของเธอว่า คุณพ่อสามีเป็นลูกค้าประจำของ April’s Bakery มาอุดหนุนทุกวัน ช่วงไหนเป็นช่วงเทศกาลจะสั่งซื้อครั้งละเป็นหมื่นบาท “ตอนนั้นยังไม่รู้จักสามี คุณพ่อก็บอกจะแนะนำให้รู้จัก ขอให้นำของมาส่งที่บ้าน เพื่อจะได้เจอกับลูกชายของท่าน อรก็อยากได้เงินนะคะ อยากบริการลูกค้าด้วยเพราะท่านมีพระคุณ พอมาถึงท่านก็แนะนำให้รู้จักกัน ก่อนจะบอกให้ลองคุยกันดู ไม่บังคับอะไร เราก็คบกันเรื่อยมาค่ะ มาแต่งงานกันเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ตรงนี้อรเองก็ไม่เคยคิดฝันว่าตัวเองจะโชคดีได้ขนาดนี้”

จากธุรกิจเล็กๆ เปิดตู้เล็กๆ ขายขนมที่ขาดทุนต่อเนื่องในช่วงแรก จนถึงวันนี้ วันที่ปลดหนี้สินได้หมด เปลี่ยนขาดทุนเป็นกำไรกลายเป็นร้านเบเกอรี่ชื่อดัง มีโรงงานระดับร้อยล้าน และเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป สามารถขยายสาขาไปแล้วมากกว่าสิบแห่ง แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ต้องอาศัยความอดทนและความมุ่งมั่นไม่น้อย

บทเรียนชีวิตของผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่สู้ชีวิตคนนี้ หวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆ คนที่กำลังท้ออยู่ก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น