ART EYE VIEW---มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่า ศิลปะช่วยทำให้สุขภาพผู้ป่วยในโรงพยาบาลดีขึ้น
และมีการทดลองที่พิสูจน์ว่าผู้ป่วยที่พักในห้องที่มีงานศิลปะ สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายได้ดีกว่าผู้ป่วยในห้องที่ไม่มีงานศิลปะ
เพื่อเปิดโอกาสให้ภาพถ่าย ซึ่งเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งได้ทำหน้าที่เยียวยาด้านจิตใจของผู้ป่วย
เมื่อหลายปีก่อน โครงการ ART CARE จึงเกิดขึ้น โดยการริเริ่มของ สมคิด ชัยจิตวนิช อดีตช่างภาพในวงการสื่อสารมวลชน ผู้ผันตัวเองมาทำงานถ่ายภาพรับใช้พุทธศาสนา ให้กับหลายองค์กร
กระทั่งวันหนึ่งเมื่อมีเหตุให้ต้องพาสมาชิกในครอบครัวเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยครั้ง เธอจึงเกิดแรงบันดาลใจและมีความฝันที่จะนำผลงานภาพถ่ายแนวธรรมชาติของตัวเอง ที่บันทึกไว้จำนวนมากระหว่างเดินทางไปทำงานถ่ายภาพรับใช้พุทธศาสนา ไปติดตั้งในโรงพยาบาลเพื่อเป็นการเยียวจิตใจผู้ป่วย รวมไปถึงญาติของผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล
ภาพถ่ายเยียวยาผู้ป่วย ณ คลีนิคนิรนาม
หลังจากที่ได้ดำเนินการมาแล้วและได้รับผลดีใน 2 โรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลหัวทะเล จ.นครราชสีมา โดยได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากกลุ่มกัลยาณมิตรที่มีวิชาชีพทางด้านการถ่ายภาพและด้านอื่นๆ
เว้นช่วงมาระยะหนึ่งโครงการ ART CARE ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง ณ คลินิคนิรนาม ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย
แต่มีการพัฒนารูปแบบของกิจกรรมมากขึ้น นั่นคือ แทนที่จะเป็นการติดตั้งเฉพาะผลงานภาพถ่ายของสมคิด เหมือนเช่นครั้งแรก หรือ อบรมด้านการถ่ายภาพให้กับบุคลากรของโรงพยาบาล แล้วนำผลงานของเจ้าหน้าที่เหล่านั้นมาติดตั้ง เหมือนเช่นครั้งที่ 2 ซึ่งมีการอบรมขึ้น ณ เขาใหญ่
ครั้งที่ 3 หรือครั้งล่าสุดนี้ นอกจากมีกิจกรรมอบรมด้านการถ่ายภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ของศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ยังอบรมให้กับผู้ติดเชื้อ HIV ด้วย โดยจัดกิจกรรมขึ้น ณ สวนลุมพินี และก่อนทำการอบรมทุกคนจะนั่งสมาธิเพื่อให้ใจผ่อนคลายก่อน
“เราอบรมแค่วันเดียว และแนวคิดของเราคิด เราไม่ได้ต้องการจะสอนคนทุกคนเป็นมืออาชีพ หรือส่งภาพประกวด แต่เราสอนว่า คุณคิดว่าภาพแบบไหนในเวลาที่คุณป่วยแล้วคุณอยากจะดู
ดังนั้นในเวลาที่เราสอน เราก็จะสอนพื้นฐานการถ่ายภาพ ไม่ได้เน้นเทคนิค เพราะเราเคยทำวิจัยในกลุ่มเราว่า ภาพอะไรที่มันควรจะอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งอาจจะเป็นภาพที่ไม่มีอะไรซับซ้อน เป็นภาพที่เรียบๆไม่มีรายละเอียดมาก เพราะเวลาที่คนเราป่วยอาการจะเหมือนโลกมันหมุนมาก ซึ่งถ้าเราไปดูภาพของช่างภาพที่มีเทคนิคอลังการมาก ดูแล้วเราอาจจะเวียนหัวก็ได้
จากที่ทำโครงการนี้มา 5 ปี ส่วนตัวก็พยายามศึกษาเอง คุยกับนักจิตวิทยาด้วยว่าภาพไหนที่มันควรจะอยู่ในโรงพยาบาล เราก็วิเคราะห์ออกมาว่า มันควรจะเป็นสีเขียว และง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน”
จากนั้นจึงให้หลายฝ่ายๆร่วมทำการคัดเลือกภาพถ่ายของผู้เข้าอบรม รวมไปถึงผลงานของช่างภาพมืออาชีพและมือสมัครเล่น มาติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆของ 3 ตึก ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์วิจัยโรคเอดส์สภากาชาดไทย
ในจำนวนนั้นมีผลงานภาพถ่ายสวนเซน ณ โครงการหลวงดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่ ของ ธีรภาพ โลหิตกุล ช่างภาพมืออาชีพจากกลุ่มสห+ภาพ ซึ่งสมคิดยกให้เป็นหนึ่งในต้นแบบในการทำงาน
และภาพถ่ายธรรมชาติถ่ายจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ผลงานของ ไพโรจน์ สังวริบุตร นักแสดงรุ่นใหญ่ ซึ่งในระยะหลังถ่ายภาพตัวเองและภรรยาน้อยลง แล้วหันมาสนใจถ่ายภาพในแนวที่มองดูแล้วทำให้เกิดความสุข มาร่วมติดตั้งด้วย
สมคิดกล่าวว่า เหตุที่โครงการครั้งล่าสุดได้มีเชิญหลายๆฝ่าย ทั้งช่างภาพ,สื่อมวลชน,นักจิตวิทยาฯลฯ มากถึง 19 ท่าน มาช่วยกันเลือกภาพก่อนทำการติดตั้ง แทนที่เธอและเพื่อนๆเพียงไม่กี่คนจะเป็นผู้คัดเลือกเองเหมือนโครงการสองครั้งก่อนหน้า
เพราะอยากได้ภาพที่มาจากมุมมองของคนหลายๆสาขาอาชีพ
“เพราะบางทีคนเราอาจจะมีมุมมองที่ต่างกัน ซึ่งเราก็ตั้งไว้ว่า แต่ละคนคิดว่าภาพแบบไหนที่จะทำให้คนป่วยรู้สึกดีขึ้น ดังนั้นทุกคนก็จะมาช่วยกันเลือกภาพและแสดงทัศนะไปด้วย”
และที่สำคัญไปกว่านั้นภาพที่นำมาติดตั้งยังเปลี่ยนจากภาพถ่ายใส่กรอบและมีกระจก มาเป็นภาพถ่ายแบบที่พิมพ์ลงบนผ้าใบ เพราะแบบเดิมนั้นจะเกิด reflex ในเวลาที่มอง ซึ่งไม่ดีต่อสายตาผู้ป่วย และการติดตั้งก็มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่เป็นการนำภาพซึ่งพิมพ์บนผ้าใบมาแขวนผนังอย่างเดียว บางภาพถูกพิมพ์ติดไว้ที่ลิฟท์ หรือพิมพ์ติดผนังก็มี เพราะสมคิดได้ไปเห็นตัวอย่างจากการไปดูงานในโรงพยาบาลที่แคนาดา และครั้งนี้เธอยังได้รับการอนุเคราะห์ในด้านการช่วยออกแบบและติดตั้งภาพให้ฟรีจาก บริษัท Pre - One ซึ่งได้ให้ความใส่ใจเลือกใช้วัสดุที่ไม่มีสารพิษที่เป็นเป็นอันตรายกับผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อมด้วย
ผู้ติดเชื้อ HIV ยังคงฝันร้าย
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวในวันรับมอบภาพถ่ายอย่างเป็นทางการว่า
ในอดีตสิ่งที่คนทั่วไปมองมายังผู้ติดเชื้อ HIV ได้เพิ่มภาวะซึมเศร้าให้กับตัวผู้ติดเชื้อเป็นอย่างมาก แม้ในระยะหลังหลายคนจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อ HIV มากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่าสิ่งที่คนทั่วไปมองมายังผู้ติดเชื้อ ยังไม่หมดไปจากสังคมไทย
“ถึงแม้ว่าตอนหลังจะดีขึ้นเยอะ แต่ความทรงจำเก่าๆมันยังอยู่ในสังคมไทย ยากที่จะลืมเลือน”
ดังนั้นที่ผ่านมานอกจากการที่แพทย์และพยาบาลจะพยายามให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาและให้ความเห็นอกเห็นใจในตัวผู้ติดเชื้อ ให้มากที่สุด
ยังพยายามมองหาว่าจะมีวิธีการใดอีกบ้างที่จะช่วยเยียวยาจิตใจผู้ป่วย
“มีความพยายามหลายอย่างมากครับ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อมีจิตใจที่ผ่องใส มีกำลังใจมากขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นเด็ก เราทำกิจกรรมหลายอย่างมาก เช่น พาไปเข้าแคมป์ ให้เล่นดนตรี ให้ออกกำลังกาย ให้วาดรูป รวมทั้งนำรูปที่เขาวาดไปขาย ไปทำปฏิทิน หรือแม้แต่ให้คนนอกนำไปประมูลขาย เพื่อนำเงินมาช่วยเด็ก เพื่อเด็กที่ติดเชื้อเองก็จะได้มีกำลังใจ และได้ผ่อนคลายตัวเองผ่านการวาดรูป เหล่านี้คือสิ่งที่เราได้พยายามใช้ศิลปะมาบำบัดจิตใจผู้ติดเชื้อ”
ดังนั้นเมื่อโครงการ ART CARE มีความประสงค์ที่อยากจะนำภาพถ่ายเข้ามามีส่วนช่วยในการเยียวยาจิตใจผู้ติดเชื้ออีกทาง จึงเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ของศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เป็นอย่างมาก
อีกทั้งปัจจุบัน คลินิคนิรนามไม่ได้ให้บริการแต่เฉพาะผู้ติดเชื้อ HIV และโรคทางเพศสัมพันธ์อื่นๆเท่านั้น แต่ยังให้บริการตรวจสุขภาพประจำปีและโรคทั่วไปอีกหลายโรค
“เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์มาก ไม่ใช่ต่อเฉพาะผู้มาใช้บริการ แต่ยังมีประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ เพราะแต่ครั้งต้องเครียดจากการรับฟังผู้มาตรวจเลือดมากถึง 20-30 คน และคนละหลายสิบนาทีต่อครั้ง ที่บางครั้งจะพูดไปแล้วร้องไห้ไป
ดังนั้นถ้าหากในห้องตรวจ หรือแม้แต่เวลาที่เดินออกมาข้างนอก มาเข้าห้องน้ำ ฯลฯ แล้วมีรูปสวยๆงามๆให้ได้มอง มันจะช่วยเจ้าหน้าที่ได้เยอะเลย
ผมขอขอบคุณช่างภาพ เพราะสิ่งที่ท่านทำมีประโยชน์มากเลย สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคที่มันน่ากลุ้มใจ ทั้งโรคเอดส์และมะเร็ง ดังที่โครงการเคยได้ทำให้กับผู้ป่วยในครั้งแรก
ก็หวังว่าสิ่งที่ทุกท่านทำจะย้อนกลับไปทำให้ทุกท่านมีความสุขความเจริญ”
เยียวยาผู้อื่น =เยียวยาตัวเอง
ธีรภาพ โลหิตกุล กล่าวในวงเสวนา “ART CARE ภาพถ่ายเพื่อการเยียว” ซึ่งมีอีก 3 ท่าน ได้แก่ สมคิด,นายแพทย์ต่อศักดิ์ ปุณณุปูรต แพทย์ประจำฮีฟแนท ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย (ผู้ร่วมผลักดันให้เกิดโครงการครั้งที่ 3 ขึ้นที่ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย โดยการประสานงานของ อุไรวรรณ เจริญถาวรพานิช ผู้แนะนำให้รู้จักสมคิด) และ จิตร์ ตัณฑเสถียร ศิลปินผู้สนใจภาพถ่ายเพื่อการเยียวยาและมีส่วนร่วมในการคัดเลือกภาพถ่ายชุด “น้ำ” จำนวน 44 ภาพของสมคิดไปติดตั้งในโครงการครั้งแรก ร่วมเสวนา โดยมี ช่อผกา วิริยานนท์ หนึ่งใน 19 คณะกรรมการคัดเลือกภาพถ่าย ดำเนินรายการ ว่า
ขณะที่ภาพของเขาได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเยียวยาผู้อื่น ในเวลาเดียวกันมันก็ได้กลับมาเยียวยาตัวเขาเองด้วย ผู้กำลังป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน
“ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองถ่ายภาพเก่ง แต่ผมมีความรู้สึกว่า เราจะบันทึกธรรมชาติอย่างไรให้สมกับความงามของธรรมชาติ พยายามจะถ่ายทอดออกมาให้ใกล้เคียงที่สุด แต่ไม่มีทางทำได้เท่าธรรมชาติแน่นอน
ดังนั้นทุกคนที่ถ่ายภาพ ก็เหมือนกับว่าเราอยากจะเก็บภาพธรรมชาตินั้นๆไปให้คนอื่นได้เห็นด้วย
พอคุณสมคิดชวนมาร่วมโครงการนี้ตอนแรกก็ยังไม่เห็นถึงความชัดเจนของประโยชน์ที่จะได้รับ จนกระทั่งได้เห็นว่าภาพของเราถูกนำมาติดตั้งไว้ตรงไหน ก็รู้สึกมีความภาคภูมิใจ และการที่ตัวเองได้ทำประโยชน์นี่เองได้กลายเป็นสิ่งที่กลับมาบำบัดรักษาตัวผมเอง ผู้กำลังป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน
อาการของโรคพาร์กินสัน บางเวลาในการที่เราจะสามารถตอบโต้กับการโจมตีของอาการ ซึ่งเหมือนว่ามีสาร Adrenaline หลั่งออกมา ทำให้เราเครียด เราจะต้องมีสาร Endorphine ซึ่งแป็นสารแห่งความสุข หลั่งออกมาตอบโต้
ดังนั้นในวันที่ผมได้เห็นว่าภาพของตัวเองไปปรากฏอยู่ตรงไหนมีประโยชน์อย่างไร ก่อนนอนผมจะนึกถึงภาพๆนั้น เพราะภาพนั้นในตอนไปถ่ายเรามีความสุข แล้วภาพยังไปทำให้คนอื่นมีความสุขอีก ในเมื่อเราได้ทำประโยชน์ให้คนอื่น ผมจึงบอกตนเองได้ว่า แล้วยังจะกังวลอะไรอยู่อีกหรือ ดังนั้นการได้ร่วมกิจกรรมนี้ จึงได้มีส่วนช่วยให้ผมได้ต่อสู้กับภาวะต่างๆที่มาโจมตี
นอกจากนี้อยากบอกว่าคุณสมคิดนำภาพที่ผมถ่ายไปติดไว้ในจุดที่เหมาะสม ทั้งที่จุดที่ติดภาพเป็นทางตัน แต่พอเอาภาพไปติดไว้ ทำให้ดูเหมือนว่าเราสามารถเดินต่อไปได้อีก
เพราะฉะนั้นวันนี้ที่ผมมา ส่วนหนึ่งเพราะอยากมาขอบคุณคุณสมคิด ไม่ใช่เพราะคุณสมคิดบอกว่า พี่ธีรภาพเป็นไอดอลจึงต้องตอบแทนกัน
แต่มันเป็นสิ่งที่คุณสมคิดได้ช่วยผมอีกทางหนึ่งในการต่อสู้กับโรคพาร์กินสันด้วย”
เยียวยาต่อเนื่องปีละ 3 ครั้ง
เร็วๆนี้ สมคิดกำลังเดินทางไปวัดไทย ที่ประเทศอังกฤษเพื่อบันทึกภาพและตามรอย พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) แห่งวัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี.
ช่างภาพผู้ที่เวลานี้วางบทบาทของตัวเองไว้ว่า อยากให้ภาพถ่ายส่วนหนึ่งของตัวเองกระตุ้นให้ผู้คนเกิดความศรัทธาในพุทธศาสนา (ท่ามกลางวิกฤตศรัทธาที่สมคิดยังเชื่อว่าพระดีๆยังมีอยู่มาก) และอีกส่วนช่วยในการเยียวยาผู้ป่วยต่อไป ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า
เมื่อกลับมาเธอตั้งใจจะผลักดันให้มี โครงการ ART CARE ครั้งที่ 4 ติดตามอีกประมาณเดือนสิงหาคม และอยากให้ต่อไปนี้ทุกปีมีกิจกรรมเกิดขึ้นอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง เพื่อไม่ให้กิจกรรมขาดช่วง
และยินดีเป็นอย่างยิ่งหากจะมีกลุ่มคนหรือหน่วยงานใด อยากจะใช้โครงการที่เธอริเริ่มนี้เป็นต้นแบบเพื่อทำตาม
เพราะในที่สุดแล้วเธอและกัลยาณมิตรผู้ให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอดปรารถนาที่จะเห็นโครงการได้รับการต่อยอดเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยอย่างทั่วถึง
Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : พงษ์ฤทธิ์ชา ขวัญเนตร
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews