xs
xsm
sm
md
lg

วันสบายๆ กับ "พนมเทียน" ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พนมเทียน หรือ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2540
 
ถ้า เจมส์ บอนด์ พยัคฆ์ร้าย 007 เป็นมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ของฮอลลีวูดและคนทั่วโลกแล้ว "เพชรพระอุมา" ก็คือ วรรณกรรมอมตะล้ำค่าแห่งความภูมิใจของคนไทย ที่ตื่นเต้นสนุกสนานจินตนาการล้ำเหลือ มีความเป็นสากลยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน ในวันนี้ แม้ "พนมเทียน" เจ้าของบทประพันธ์จะหยุดเขียนนวนิยายแล้ว แต่บทประพันธ์ของเขาเกือบทุกเรื่อง ยังสร้างความประทับใจให้นักอ่านรุ่นใหญ่ไม่เสื่อมคลาย แฟนคลับหลายคนยังอยากรู้ข่าวคราวของนักเขียนผู้นี้... และเนื่องในเดือนเมษายน เดือนดีที่เป็นทั้งปีใหม่ไทยและยังเป็นเดือนเกิดของเขา เราจึงขอพูดคุยกับพนมเทียนเพื่อขออัปเดตชีวิตของเขา เพื่อนำมาฝากแฟนคลับ "พนมเทียน" และเพื่อบอกเล่าเรื่องราวชีวิตสุดคลาสสิกของนักเขียนรุ่นใหญ่ ให้นักอ่านรุ่นใหม่ได้รู้จักกัน

ที่บ้านหลังงามย่านพัฒนาการของนักเขียนดัง “ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ” เจ้าของนามปากกา "พนมเทียน" เปิดประตูให้เราได้เข้าไปพูดคุยเพื่ออัปเดตชีวิตในวันนี้ของเขาอย่างเป็นกันเอง

 
พนมเทียนในชุดเสื้อเชิ้ตสีเหลืองที่เราได้พบในวันนั้น แม้จะมีอายุกว่า 80 ปีแล้ว แต่ยังคงดูสดใสแข็งแรง และที่สำคัญคือ ยังคงเค้าความหล่อเหลาให้ได้เห็น เขาเริ่มต้นบอกกับเราว่า ทุกวันนี้ใช้ชีวิตเหมือนคนสูงวัยทั่วไป แม้จะหยุดเขียนนวนิยายแล้ว แต่ยังจับปากกาเล่าประสบการณ์ชีวิตและเขียนบทความลงหนังสือขวัญเรือน รวมถึงเขียนเรื่องราวของอาวุธปืนในแบบต่างๆ ให้กับหนังสือกันแอนแทรกติก โดยใช้บ้านหลังนี้เป็นที่ทำงาน เพื่อจะได้ใช้เวลาอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว

"ผมเขียนนวนิยายมาตั้งแต่อายุ 17 ปี เขียนมา 60 ปี รู้สึกเบื่อ เพราะเขียนมาทุกแบบของนวนิยาย ทั้งสืบสวนสอบสวน และโรแมนซ์ เขียนจนไม่รู้จะเขียนให้ได้ดีกว่าที่เคยเขียนมาได้อย่างไร" พนมเทียนเล่าถึงเหตุผลในการยุติการเขียนนิยายของเขา

พนมเทียนยังเล่าย้อนถึงชีวิตตอนเด็กว่า แต่เดิมไม่เคยคิดเป็นนักประพันธ์ เมื่อจากบ้านเกิดที่ปัตตานี เข้ากรุงเทพฯ แล้ว เขาก็เริ่มต้นศึกษาที่ โรงเรียนวัดสุทัศน์เทพวราราม เมื่อสำเร็จชั้นมัธยมปลายแล้ว ได้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

พล็อตเรื่องส่วนมากของพนมเทียน เป็นแนวผจญภัยสืบสวน ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากช่วงที่เขารับราชการตำรวจ ในตำแหน่งสายลับ "ในสมัยนั้นยังไม่มีใครรู้จักงานแบบนี้ ตำแหน่งนี้อันตรายมากบอกใครไม่ได้ แม้แต่พ่อแม่ก็ไม่รู้ ผมต้องเข้าไปอยู่ในซ่องโจร ยาเสพย์ติด ถ้าถูกจับได้มีอันตรายถึงชีวิต ทางบ้านก็จะได้เงินจากราชการเท่านั้น ผมคลุกคลีกับโจร เรียนรู้การใช้ปืน ทำให้ได้รู้ได้เห็นหมด สุดท้ายรู้สึกไม่ไหวเลยขอลาออกจากราชการ แล้วไปเรียนต่อด้านอักษรศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยบอมเบย์ ประเทศอินเดีย"

 
เมื่อกลับถึงเมืองไทย ก็เริ่มทบทวนว่า ตัวเองอยากนำความรู้จากการเป็นนักสืบมาเขียนนิยาย จึงเริ่มเขียนเรื่อง เล็บครุฑ ฑูตนรก ล่ามัจจุราช ล่าพระกาฬ มัจจุราชสีรุ้ง เด็กเสเพล ปฐพีเพลิง รวมถึงนิยายแนวรักกระจุ๋มกระจิ๋ม อาทิ ละอองดาว สกาวเดือน รัศมีแข แววมยุรา ซึ่งทั้งหมดเขาต้องเดินเข้าออกสำนักพิมพ์หลายแห่ง กว่าจะได้รับการยอมรับ

"จริงๆ แล้ว "จุฬาตรีคูณ" นี่เป็นเรื่องแรก เขียนสมัยอยู่มัธยมให้เพื่อนอ่าน เคยไปเสนอโรงพิมพ์แต่ไม่มีใครรับ เราก็เก็บไว้ พอกลับมาคนเริ่มรู้จัก จุฬาตรีคูณ ยังไม่ได้พิมพ์ก็มีคนมาขอไปทำภาพยนตร์ แล้วพอ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล และ ครูเอื้อ สุนทรสนาน เจ้าของวงดนตรีสุนทราภรณ์ ได้อ่าน ก็ช่วยกันแต่งเพลงประจำเรื่องจุฬาตรีคูณให้อีก 5 เพลง คือ เพลงจุฬาตรีคูณ เพลงเจ้าไม่มีศาล เพลงอ้อมกอดพี่ เพลงใต้ร่มมลุลี และเพลงปองใจรัก ก็เลยได้ตีพิมพ์ทีหลัง เป็นนวนิยายที่มีเพลงประจำด้วย" กล่าวพร้อมรอยยิ้ม

พนมเทียนบอกว่า งานของเขามีที่มาที่ไป ทุกเรื่องมาจากประสบการณ์จริงบวกจินตนาการ สำหรับ เพชรพระอุมา ซึ่งเป็นนิยายที่ยาวมากที่สุดของนิยายไทย

เมื่อถามถึงงานเพชรพระอุมา ที่กลายเป็นนิยายดังมีคนคลั่งไคล้ แล้วต้องมาปิดตำนานในเล่มที่ 48 นั้น เขารู้สึกเสียดายหรือไม่ นักเขียนใหญ่บอกว่า ไม่เสียดาย เพราะเขาคิดว่าเมื่อถึงจุดจบก็ต้องจบ "ถ้ายืดเยื้อต่อไป ก็ไปได้ไม่ดี พล็อตเรื่องและประสบการณ์ที่รู้ที่ควรใส่ไปในเรื่อง มันไม่สามารถจินตนาการต่อไปได้แล้ว เราก็ต้องจบ เพชรพระอุมาเป็นนิยายที่เขียนแล้วเหนื่อย เหมือนเราต้องเข้าไปอยู่ในนั้น ผมเขียนเสร็จแล้วรู้สึกโล่งว่าการต่อสู้ถึงที่สุดแล้ว"
พนมเทียน กับ ผาด (ผาด พาสิกรณ์) ลูกชาย ที่เดินตามรอยพ่อ
ทุกวันนี้ พนมเทียนในวัย 82 ปี ใช้ชีวิตเงียบๆ ที่บ้านหลังใหญ่กับภริยาคู่ชีวิต โดยมีลูกหลานมาเยี่ยมและรับประทานอาหารด้วยกันอย่างอบอุ่น ก่อนจากกัน เขายังบอกอีกว่า

"ผมไม่หวังให้ลูกต้องเป็นแบบผม อาชีพนักเขียนก็รู้กันดีว่าเป็นอาชีพไส้แห้ง อาชีพนักเขียนที่ดูเหมือนง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะเป็นงานที่ต้องใช้สมาธิ แต่ละเรื่องที่เขียนต้องใช้เวลา บางครั้งเขียนเพลินลืมทานอาหาร ชีวิตตอนนี้อย่างที่บอก ใช้เวลาอยู่กับภรรยา (สุมิตรา วิเศษสุวรรณภูมิ)และครอบครัว พยายามรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารดีๆ ติดตามข่าวสารบ้านเมือง ตรงนี้ก็เพียงพอแล้ว คิดถึงเพื่อนก็ไปหา เวลามีงานเทศกาลหนังสือถ้ามีเวลาว่างก็ไปได้เจอแฟนคลับ ตรงนี้ผมพอใจแล้ว หากใครคิดถึงผม ก็อ่านบทความผมได้ที่ขวัญเรือน"

จากแนวคิดและการวางแผนการทำงานที่มีระบบเช่นนี้เอง ทำให้ผลงานทุกชิ้นของพนมเทียนมีคุณภาพโดดเด่นไม่เหมือนใคร กลายเป็นที่ชื่นชอบของนักอ่าน ความรักที่มีให้นักเขียนรุ่นใหญ่รวมถึงนวนิยายเรื่องดังอย่างเพชรพระอุมาทำให้มีการตั้งชมรมเรารักพนมเทียน เพื่อมาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับผลงานของ “พนมเทียน” แม้วันนี้จะไม่มีนิยายเรื่องใหม่ๆ จาก พนมเทียน แล้ว แต่ชื่อของเขาไม่เคยเลือนหายไปจากใจนักอ่านยุคเก่า แถมยังเป็นที่คุ้นหูสำหรับนักอ่านรุ่นใหม่อีกด้วย

สำหรับ "พนมเทียน" หรือ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ได้รับการประกาศให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2540
ผลงานของพนมเทียนมีลักษณะเด่น คือ เป็นเรื่องยาวมาก เมื่อพิมพ์เป็นเล่ม สามารถรวมชุดได้หลายเล่ม อาทิ ศิวาราตรี มี 4 เล่ม เล็บครุฑ มี 2 ตอนๆ ละ 4 เล่ม รวม 8 เล่ม มัจจุราชสีรุ้ง มี 4 ตอนๆ ละ 4 เล่ม รวม 16 เล่ม เพชรพระอุมา มี 48 เล่ม ตัวละครหลายตัวของพนมเทียนเหมือนบุคคลในชีวิตจริง เช่น "ชีพ ชูชัย" จากเรื่องเล็บครุฑ, "เจ้าชายอริยวรรต" กับ "เจ้าหญิงดารารายพิลาส" จากเรื่อง จุฬาตรีคูณ, "ดร.ทรงกลด" กับ "นางสาวกระต่าย" จากเรื่องสกาวเดือน, "แงซาย" พรานป่ากะเหรี่ยงกู้ชาติ กับ "รพินทร์ ไพรวัลย์" จอมพรานผู้ยิ่งใหญ่จากเรื่อง เพชรพระอุมา โดยเรื่อง เพชรพระอุมา เป็นนิยายที่ได้รับความนิยมสูงสุด และเป็นเรื่องยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีในประวัติวรรณกรรมไทย ที่มียอดพิมพ์จำหน่ายสูงสุด

ภาพโดย พลภัทร วรรณดี
กำลังโหลดความคิดเห็น