ART EYE VIEW---หลายคนที่ผ่านไปเห็นนิทรรศการขนาดย่อม ณ ห้องรูปไข่ ชั้น 1 ของอาคารจัตุรัสจามจุรี(จามจุรีสแควร์) ณ ขณะนี้ อาจจะนึกสงสัยอยู่บ้างว่า ภาพวาด,เครื่องประดับ และงานศิลปหัตถกรรมอื่นๆที่ติดผนังและจัดวางให้ชม ซึ่งเป็นทั้งผลงานของศิลปิน นักศึกษาและนักเรียน ต้องการสื่อสารอะไรกับผู้ผ่านเข้าไปชม
มันคือส่วนหนึ่งของผลงานศิลปะที่เกิดจากการนำ “สีเกล็ดมุก หรือ สีกว็อช(Gouache)” และ “ดินจุฬา(Chula Clay) หรือ ดินปั้นเกล็ดมุก” ซึ่งต่างมีส่วนผสมของเกล็ดประกายมุก สกัดจากเปลือกหอยแมลงภู่ มาให้ทุกคนทดลองสร้างสรรค์เป็นชิ้นงาน
ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ 4 นักวิจัยได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ปุณณรัตน์ พิชญไพบูลย์,อ.ภุชงค์ โรจน์แสงรัตน์,ดร.โฉมฉาย บุญญนันต์ และดร.อินทิรา พรมพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาศิลปะ ดนตรี และนาฎศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ หนึ่งในทีมวิจัยของ “หน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้” ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จในพัฒนาเกล็ดประกายมุกที่ได้แปรรูปจากเปลือกหอยแมลงภู่
และต่อมา 4 นักวิจัยดังที่กล่าวมาข้างต้น ได้นำเกล็ดประกายมุกที่สลัดได้ มาบูรณาการใช้เป็นส่วนผสมในอุปการณ์สำหรับทำงานศิลปะ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปุณณรัตน์ พิชญไพบูลย์และ อ.ภุชงค์ โรจน์แสงรัตน์ ทำวิจัยในส่วน “สีเกล็ดมุก” ขณะที่ ดร.โฉมฉาย บุญญนันต์ และดร.อินทิรา พรมพันธุ์ ทำวิจัยในส่วน “ดินจุฬา”
ทำให้เปลือกหอยแมลงภู่จำนวนมากที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลเป็นจำนวนมากกว่า 5 หมื่นตัน ในแต่ละปี กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ขึ้นมาทันที
“ในแต่ละปีบ้านเราทั่วประเทศบริโภคหอยแมลงภู่ประมาณปีละแสนตัน รวมทั้งส่งออก แล้วเวลากินเสร็จปุ๊บ เปลือกถูกจะทิ้ง และเป็นปัญหาเรื่องมลพิษทางสิ่งแวดล้อม และถ้าเปลือกมีเศษเนื้อติดอยู่ด้วยจะทำให้เน่า ส่วนใหญ่จึงทำการกำจัดโดยการฝังกลบ
เมื่อเราเห็นถึงลักษณะพิเศษของเปลือกหอยแมลงภู่ ถ้าดูเวลามันสะท้อนแสง มันมีประกายคล้ายมุกจริง เราจึงหาวิธีการสกัดออกมาให้ได้ เพื่อให้มันออกมาเป็นแผ่นเดี่ยวๆ เพราะว่าตอนที่มันอยู่เป็นแผ่นซ้อนๆกัน ในเปลือก มันอยู่กันแน่นเกินไป
เราทำวิจัยเรื่องนี้มาสองปี ก่อนนี้ผมทำวิจัยเรื่องหอยมุกมาก่อน ทำให้รู้ว่าเปลือกหอยทุกชนิดในโลกมันคือแคลเซียมคาบอเนต แต่ว่าเปลือกหอยมุก เปลือกหอยแมลงภู่ เปลือกหอยนมสาว เปลือกหอยเป๋าฮื้อ ตัวมุกในเปลือกของมันมีโครงสร้างพิเศษไม่เหมือนหอยอื่นๆทั่วไป คือมันเป็นเกล็ดๆ เป็นแผ่นเรียบๆ มันสะท้อนแสงได้ดี มันก็เลยสามารถทำเป็นประกายวับๆได้ เพียงแต่ว่าเราต้องหาวิธีการแยกมันออกมาใช้งาน
ถามว่าทำไมต้องเปลือกหอยแมลงภู่ หอยอื่นทำได้ไหม ทำได้ แต่มันหายาก แต่หอยแมลงภู่มีการบริโภคทุกวันแต่ถ้าวันหนึ่งมีการเลี้ยงหอยชนิดอื่นๆดังที่ยกตัวอย่างมาเยอะ บริโภคกันเยอะ และเศษเหลือทิ้งเยอะก็สามารถเอามาสกัดเป็นเกล็ดประกายมุกได้เช่นกัน” รศ.ดร.สนอง กล่าว
ที่ผ่านมาเราคงเคยพบเห็นประกายมุกเป็นส่วนผสมอยู่ในข้าวของเครื่องใช้หลายอย่าง แม้กระทั่งยาทาเล็บ, อายแชโดว์ หรือแม้แต่สีที่ใช้ในการเขียนภาพ
ทว่าประกายมุกเหล่านั้น รองศาสตราจารย์ ดร.ปุณณรัตน์ พิชญไพบูลย์ หนึ่งในผู้ทำวิจัยเรื่อง “สีเกล็ดมุก” จากเปลือกหอยแมลงภู่ กล่าวว่า ต้องนำเข้า มีราคาแพง และสกัดจากแร่ไมก้า ซึ่งเป็นแร่หินเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้
“ถ้าเอาไปใช้ในระดับโรงเรียนก็เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมแล้ว ขณะที่สีเกล็ดมุกของเรา แม้ว่าประกายที่ได้จะไม่เหมือนที่เคยนำเข้าเสียทีเดียว แต่จุดเด่นของงานวิจัยนี้จะช่วยปลุกสำนึกในการรักษ์โลกในขณะที่ใช้(สีเกล็ดมุก)ระบายภาพหรือใช้ดิน(จุฬา)ปั้นชิ้นงาน”
รศ.ดร.สนอง เสริมด้วยว่า “ถ้าเราหันมาใช้ประกายมุกทีได้จากการแปรรูปเปลือกหอยแมลงภู่ จะเป็นการลดต้นทุนอย่างนึง และถ้าเราสามามารถผลิตสีเกล็ดมุกและดินจุฬาได้อย่างเป็นระบบ จะทำให้ต้นทุนของการผลิตถูกลง ถูกกว่าดินญี่ปุ่นน้ำเข้า
แล้วชาวประมงที่เคยเอาเปลือกหอยไปทิ้งก็สามารถนำกลับมาแปรรูปและสร้างมูลค่าจากเปลือกหอยได้ทั้งหมด”
อย่างไรก็ตาม อ.ภุชงค์ โรจน์แสงรัตน์ อีกหนึ่งผู้ทำวิจัย “สีเกล็ดมุก” กล่าวว่า ขณะนี้สียังอยู่ในช่วงพัฒนา และทดลองใช้งาน ดังนั้นจึงไม่อาจกล่าวว่า จะถูกนำใช้แทน ประกายมุกแบบที่ศิลปินเคยใช้งานได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
“ศิลปินบอกว่าเวลาใช้กับสีน้ำ เทกเจอร์ของเกล็กมุกมันไปรบกวนฟีลลิ่งของความเป็นสีน้ำ ที่ต้องการความใส เราต้องเชื่อศิลปินแหล่ะว่ามันไม่ได้ พอเราลองให้ลองใช้กับสีโปสเตอร์ที่ต้องระบายหนา ปรากฏว่ามันกลบความประกายของเกล็ดมุกไปเลย แต่ถ้าผสมในสัดส่วนที่พอเหมาะแล้วเนี่ย มันจึงจะทำให้เห็นเป็นประกายมุกขึ้นมา ถ้ามองโดยไม่โดนแสงจะเหมือนทรายละเอียด
ดังนั้นระหว่างนี้ เราจึงไม่สามารถที่จะเรียกประเภทมันว่า สีน้ำ สีโปสเตอร์ หรือสีเมทัลลิก(สีผสมเกล็ดเงิน)ก็ไม่ได้อีก เพราะว่าความ ความประกายมันอาจจะไม่เท่าสีเมทัลลิก ก็เลยขอเรียกเป็นสีเกล็ดมุกแทน เป็นสีอีกรูปแบบใหม่แล้วกัน ตอนนี้อยู่ในช่วงทดลองกับประชาชนทั่วไปว่า ใช้เขาจะรู้สึกยังไง สนใจขนาดไหน”
ด้าน รศ.สมโภชน์ ทองแดง ส่วนหนึ่งของศิลปินที่ทดลองใช้สีเกล็ดมุกกล่าวว่า สีจะอยู่ในช่วงของการพัฒนาและขณะที่ตนเองทดลองใช้สีก็มีทั้งความรู้สึกที่พอใจและไม่พอใจ แต่ต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ดีมากๆที่มีการแปรรูปของที่ไม่มีประโยชน์มาทำให้มีประโยชน์ขึ้นมา
“จากที่ผมใช้ ส่วนหนึ่งพอใจ และอีกส่วนต้องใช้เวลาในการพัฒนา การระบายภาพสีน้ำจากสีที่ผสมสีเกล็ดมุกมันต้องเขียนหนา แต่พอหนาความเป็นสีน้ำก็หายไป แต่พอเขียนบางแบบสีน้ำ ประกายมุกมันก็ไม่ออก
แต่ต้องขอบคุณอาจารย์สนองที่ทดลองอะไรใหม่ๆชอบค้นหา และมันก็เป็นเรื่องดีที่เอามาบูรณาการกับศิลปะ เพราะการทำงานร่วมกันมีความสำคัญมาก
เอาของมันมีประโยชน์มาทำให้มี มันดีอยู่แล้ว แต่จะมากน้อยแค่ไหนต้องรอดูในอนาคต”
นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรมเกล็ดมุกจากเปลือกหอยแมลงภู่ หรือ ART GO GREEN วันนี้ - 9 มีนาคม พ.ศ.2557 ณ ห้องรูปไข่ ชั้น 1 ของอาคารจัตุรัสจามจุรี(จามจุรีสแควร์)
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews