ในวันที่ดีกรีทางการเมืองยังคงรุ่มร้อน บ้านหลังใหญ่ย่านบางนา-ตราด ของ รศ.ดร.สันติ และปราณี คุณประเสิรฐ เปิดประตูต้อนรับเราเพื่อบอกเล่าถึงอัศจรรย์และความงดงามของอักษรไทย ที่บรรพบุรุษสร้างทิ้งให้เป็นมรดกกับลูกหลาน โดยเขากำลังนำเทคนิค Calligraphy มาใส่ในอักษรไทยให้วิจิตรงดงามมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เพื่อตอกย้ำคุณค่าความเป็นไทย ให้เราได้ฟังเป็นการผ่อนคลายบรรยากาศตึงเครียดทางการเมือง
สันติเล่าว่า หลังจบด้านศิลปะจากนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ก็ไม่คิดจะมาเป็นครู แต่เมื่อได้มาสอน วิชาการออกแบบตัวอักษร ศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัย กลับรู้สึกหลงรัก สอนไปจนถึงวันที่รู้สึกเหมือนไม่มีอะไรจะสอน จึงตัดสินใจรูดม่านชีวิตการเป็นพ่อพิมพ์ของชาติไปเมื่อปี 2554 เพื่อค้นหาสิ่งที่ตัวเองรัก โดยยึดห้องนั่งเล่นหลังบ้านเป็นที่นั่งออกแบบงานประยุกต์ศิลป์ตามที่ถนัด แต่ด้วยความที่ว่า “ตัวหนังสือ” เป็นสิ่งที่ต้องผ่านตาทุกวัน ตัวอักษรที่เห็นมักเป็นรูปแบบเดิมๆ ทำให้เขาไม่อาจหยุดตวัดปลายปากกาออกแบบตัวอักษรได้
สันติยังคงสนุกกับการค้นหาเทคนิคแปลกๆ จนได้พบการสร้างอักษรวิจิตรไทย (Calligraphy) แนวใหม่ พร้อมตั้งความฝันอยากให้อักษรวิจิตรที่เขาร้อยเรียง เป็นที่รู้จักและยอมรับ เหมือนจีน และหลายประเทศในแถบยุโรป
เพียงไม่นานความฝันของเขาก็เริ่มเป็นจริง เมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เห้นผลงาน และตัดสินใจบรรจุวิชา Calligraphy ไว้ในหลักสูตร อีกทั้ง บริษัท พรีม่าโกลด์ ในเครือบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด ก็นำตัวอักษรวิจิตรคำว่า รักแม่ ที่งดงามจากปลายปากของ “สันติ” มาทำเป็นจี้ทองคำ ออกจำหน่ายจนได้รับความนิยมในหมู่คนไทยเชื้อสายจีนรุ่นใหม่
“Calligraphy กลายเป็นงานรักไปแล้วครับ เกษียณตัวเองออกมาเพราะอยากทำงานอิสระ แต่สุดท้ายก็วนเวียนกับตัวอักษร (หัวเราะ) คือเราเห็นยุโรปเขามีอักษรวิจิตรอย่าง Love หรือ จีน เขาจะมีคำมงคลที่แปลว่า “สุขภาพแข็งแรง” เป็นที่รู้จักกัน ซึ่งผมมองว่าอักษรไทยเราสวยงาม ก็อยากทำให้เป็นเอกลักษณ์บ้าง พอดีช่วงนั้นใกล้วันแม่เลยลองเขียนคำว่า “รักแม่” ลากเส้นมาเกี่ยวคล้องกันเป็นรูปหัวใจ พอดีภรรยา (ปราณี) อยู่พรีมาโกล์ดมาเห็น เกิดสนใจขอเอาไปทำเป็นจี้ทองขาย ปรากฏว่ากระแสตอบรับดีเกินคาด ผมดีใจนะ.. คิดว่าถ้าเราไปสอนเด็กๆ อาจเกิดประโยชน์ต่อยอดไปทำเป็นอาชีพได้ เลยเสนอผู้ใหญ่ที่จุฬาฯปรากฏทางจุฬาฯสนใจ ผมก็เลยต้องกลับไปเป็นอาจารย์สอนที่นั่นอีกครั้ง (หัวเราะ) แต่เป็นแค่อาจารย์พิเศษสอนออกแบบ Calligraphy อย่างเดียว” สันติกล่าวพร้อมรอยยิ้มสดใส
เมื่อถามว่าการเขียนอักษรวิจิตรมีความสำคัญและพิเศษอย่างไร สันติบอกว่า ชาวจีนถือว่าศาสตร์นี้เป็นสุดยอดศิลปะแขนงหนึ่งที่มีความลึกซึ้งมีความหมายกับคนทั่วไป โดยในสมัยโบราณชนชั้นสูงของจีนทุกคนจะต้องเรียนรู้ 4 วิชาที่สำคัญ คือ วิชาการเขียนอักษรวิจิตร ร่วมกับวิชาการวาดภาพ ดนตรีเครื่องสาย และหมากล้อม
สำหรับประเทศไทยเอง แม้จะมีการใช้ตัวอักษรมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง แต่เพิ่งเริ่มมีการเขียนอักษรวิจิตรในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง โดยก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะในสมัยสุโขทัยหรืออยุธยา กลับไม่ปรากฏหลักฐานของการเขียนอักษรวิจิตรเลย
"ตัวเขียนอักษรไทยที่เราเห็นในการ์ดเชิญ หรือประกาศนียบัตร เป็นการเขียนตัวคัดบรรจง ให้สวยงามอ่านได้ชัดเจน แต่ Calligraphy ต้องใช้โครงสร้างตัวอักษร วางฟอร์มให้สวยงาม ต้องเพิ่มเติมลีลาลายเส้น จังหวะช่องไฟ ต้องมีเทคนิคสร้างความรู้สึกให้คนเห็นแล้วมีอารมณ์คล้อยตาม"
หนุ่มใหญ่มาดเซอร์ ยังบอกถึงการเขียนอักษรวิจิตรของไทยว่ามีความแตกต่างจากของจีน เพราะอักษรจีนนั้นแต่ละตัวจะมีความหมายเฉพาะ จึงต้องเขียนโดยรักษามาตรฐานรูปร่างและรูปทรงชัดเจน เพราะหากเขียนเส้นผิดเพี้ยนไป ความหมายก็จะเปลี่ยนไป และการเขียนอักษรวิจิตรของจีนนิยมใช้พู่กันเขียนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สำหรับตัวอักษรไทยหรือโรมันสามารถนำตัวอักษรมาประสมกันได้ จึงนิยมใช้ดินสอหรือปากกาเขียน การเขียนอักษรของไทยจึงมีลักษณะที่มีความใกล้เคียงกับยุโรป และอเมริกา
สันติบอกว่า ตอนนี้เขากำลังเลือกความหมายของคำธรรมะ มาสร้างสรรค์อักษรวิจิตร ที่มีความหมายตรงและความหมายแฝง อ่านแล้วเข้าใจง่ายคล้ายคำว่า“รัก” ที่เคยทำไปแล้ว แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก!!
อุปสรรคสำคัญที่ “สันติ” พบคือ คำสอนที่เป็นคำคมของไทย 1 ประโยคค่อนข้างยาว มีตัวอักษรและสระมาก การย่อคำเขียนให้สุขุมลุ่มลึก ภาพที่ปรากฎต้องทำให้คนเห็นแล้วจดจำได้ เข้าใจง่าย ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ภายใน 2-3 วัน “Calligraphy ต้องฝึกนานไม่ใช่เรียนจบออกมาแล้วทำได้เลย บางมุมคล้ายการเขียนภาพ อย่างอาจารย์ถวัลย์ที่ตวัดพู่กันเขียนภาพแป๊ปเดียว มีคนขอซื้อในราคาสูง บางคนสงสัยทำไมแพง เพราะเขาไม่รู้ว่ากว่าอาจารย์จะเขียนแบบนี้ได้ อาจารย์ใช้เวลาเกือบตลอดชีวิต คนจีนบางคนยอมเสียเงินเป็นล้านเพียงเพื่อผลงานของศิลปินที่เขาชื่นชอบ”
สันติ ยังกล่าวอย่างอารมณ์ดีอีกว่า ตอนนี้เพิ่งทำอักษรวิจิตรสื่อความหมายว่า “รักพ่อ” ในแบบภาษาไทยเสร็จ โดยตั้งความหวังอยากให้เป็นสื่อสัญลักษณ์ของคนไทย ที่เห็นปุ๊ปรู้ทันทีว่า “คนไทยรักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
“ตอนนี้ใกล้วันพ่อ ภรรยาก็บอกมาแล้วว่าอยากได้ เพราะถ้าบริษัทเขาทำออกมาแล้วคนชอบ เหมือนคำว่า “รักแม่” ผมดีใจนะครับ ไม่จดเป็นลิขสิทธิ์ อยากให้อักษรนี้เป็นสิ่งแทนใจมอบให้พ่อหลวง และคนเป็นพ่อทุกคน” หนุ่มอาร์ตอารมณ์ดีกล่าวพร้อมรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจ
ในวันนี้ แม้อักษรวิจิตร หรือ Calligraphy อาจเป็นที่ยอมรับบ้างแล้วในระดับหนึ่ง หากแต่ “สันติ” ยังต้องใช้เวลาพัฒนาต่อไปอีกเรื่อยๆ แต่ไม่ว่าจะนานเพียงใด ก็จะผลักดัน อักษรวิจิตรในแบบของเขาต่อไป โดยหวังว่างานที่เขารักและหลุ่มหลงชิ้นนี้ จะมีส่วนร่วมในการช่วยตอกย้ำและส่งต่อ “อักษรไทย” ซึ่งเป็นมรดกสำคัญที่บ่งบอกถึงรากเหง้าความเป็นไทยจากรุ่นสู่รุ่นอีกทางหนึ่ง