xs
xsm
sm
md
lg

“กล้านรงค์ จันทิก” อำลาจากตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.อย่างสง่างาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปานเทพ กล้าณรงค์ราญมอบโล่เชิดชูเกียรติแก่กล้าณรงค์
เล่นเครื่องดนตรี ที่คุ้นเคยสมัยเรียนเซนคาเบรียล
เสียงเพลงขอมอบดอกไม้ก้องกระหึ่มไปทั้งห้องนนทรี 1 สำนักงาน ป.ป.ช. ภาพของ กล้านรงค์ จันทิก ยืนอยู่บนเวทีท่ามกลางเหล่าผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ที่เข้าแถวยาวเหยียดอยู่เต็มเวทีเพื่อจะมอบดอกไม้แก่เขาเพื่อแสดงออกถึงความรักและอาลัยต่อเขาในงานเลี้ยงวันเกิดครบ 70 ปีพร้อมกับเลี้ยงอำลาในวันเกษียณอายุจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ในชื่อ“งานแสดงมุทิตาจิต แด่กรรมการป.ป.ช. กล้านรงค์ จันทิก “

“ขอให้ท่านมีสุขภาพที่แข็งแรง มีจิตใจที่เข้มแข็ง สามารถทำงานใหักับประเทศชาติและสังคม” เป็นคำกล่าวอวยพรจากใจของปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ก่อนที่จะส่งไมค์ต่อให้พระเอกของงานในวันนั้นคือ กล้านรงค์ หรือ “ท่านกล้า”ของน้อง ๆ ในป.ป.ช. ซึ่งอยู่ในสูทสีเข้มในอิริยาบถสบาย ๆ โดยกล่าวติดตลกว่า “ ผมจะอยู่ที่ป.ป.ช.อีก 2 ชั่วโมง ก็จะเลิกเป็นแล้วเพราะผมจะกลับบ้าน” จากนั้นจึงเล่นแอ๊คคอเดียนที่เจ้าตัวรีบออกตัวว่าร้างลามานานหลายปีแล้ว เพื่อมอบเสียงเพลงให้แก่เพื่อนร่วมงานผู้ล่วงลับไปแล้ว
สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ร่วมแสดงความยินดี
โต๊ะ VIP ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ,ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณและพล.ต.อ. สถาพร หลาวทอง
“ผมรักที่นี่เพราะอยู่มาตั้งแต่ยังเป็นองค์กรเล็ก ๆ เมื่อปี 2518 มีพนักงานเพียง 7 - 8 คน เรามาอาศัยตึกนารีสโมสร ในทำเนียบรัฐบาลอยู่ ผมทำงานองค์กรนี้มาตั้งแต่ซี 4 จนเกษียณซี 7 ผมจึงมีความผูกพันกับองค์กรนี้ เวลามีปัญหาเราได้ร่วมต่อสู้กันมา จึงกลายเป็นความผูกพัน”

เป็นประโยคที่ท่านกล้ากล่าวเริ่มต้นของบทสนทนาเปิดใจในคืนนั้น ซึ่งกลั่นออกมาจากความรู้สึกที่เขามีกับองค์กรนี้ กับเพื่อนร่วมงาน ในหน้าที่ของมือปราบสุจริตที่ต้องเกี่ยวข้องกับอิทธิพลและคดีสำคัญระดับประเทศมากมายตลอดเวลาเกือบ 40 ปี แม้ว่าเมื่อปี 2546 เขาจะเกษียณในตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ช. ไปแล้ว และตั้งใจไปสมัครเป็นสว.มาก่อน แต่โชคชะตาลิขิตชีวิตมาแล้ว ในที่สุดกล้าณรงค์ก็ต้องกลับมาที่ป.ป.ช.อีกครั้งในตำแหน่งกรรมการ

และอีกหนึ่งคำพูดที่ตอกย้ำถึงความรักองค์กรนี้ว่า “ ผมอยู่ในหลายตำแหน่งแต่ไม่มีตำแหน่งไหนที่ผมภูมิใจมากที่สุดเท่าตำแหน่งเลขาธิการป.ป.ช. เพราะองค์กรนี้เป็นที่พึ่งของประชาชน ไม่เคยมีอะไรเสียหายตั้งแต่ตั้งขึ้นมาจนถึงปัจจุบันนี้”

“มีคนเคยถามผมว่าทำงานอย่างนี้ไม่กลัวตายเหรอ ผมต้องบอกว่าชีวิตผมตายมาหลายครั้งแล้ว” กล้านรงค์กล่าวเรื่องที่เขา “เฉียดตาย”ในหน้าที่ด้วยสีหน้าปกติออกจะติดตลกด้วยซ้ำเหมือนไม่มีอะไรที่น่ากลัวไปกว่านี้อีกแล้ว และปัจจุบันผลงานในการปราบปรามทุจริตของเขาที่ฝากอนุสรณ์เอาไว้คือลูกกระสุนปืน .22 มม.ที่ฝังอยู่ที่ขาซ้ายจนถึงทุกวันนี้


แต่เหตุการณ์ที่ยังฝังอยู่ในใจของเขามากที่สุดคือวันแถลงปิดคดีซุกหุ้นของ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2544

“เราต้องยอมรับว่าตอนนั้นป.ป.ช.อยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ที่สุด ไม่เหมือนคดีของพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เพราะประชาชนรู้สึกว่าต้องการให้คนมาช่วยกู้ชาติบ้านเมือง เราจึงทำคดีนี้ด้วยความกดดันมาก”

ในวันแถลงปิดคดีซุกหุ้นนั้นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีประชาชนหลายหมื่นคนที่ไปให้กำลังใจพล.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และถือเป็นการเผชิญกันครั้งแรกระหว่างป.ป.ช.กับทักษิณ

ขณะที่กล้านรงค์กับคณะกำลังเดินทางด้วยรถตู้เพื่อไปศาลรัฐธรรมนูญนั้น ด้วยแรงกดดันจากสถานการณ์รอบด้านทำให้ทุกคนในรถต่างนิ่งเงียบกันหมด ถามว่าหมดกำลังใจไหมตอบว่าหมด ถามว่ากลัวไหม ตอบได้เลยว่ากลัว

“ พวกเรานั่งอยู่ในรถด้วยจิตใจที่กังวล ปรากฏว่าจู่ๆ เพลง “มอญดูดาว”ก็ดังขึ้นมาในจิตใจผม ท่อนที่ว่า “เหลืองของเราคือธรรมประจำจิต แดงของเราคือโลหิตอุทิศให้” จนผมต้องร้องออกมาแล้วนาทีนั้นมันเกิดกำลังใจขึ้นมาว่าวันนี้เราสู้ สู้แล้วอะไรจะเกิดขึ้นก็ต้องรับ”

แต่ปรากฏว่าคนอื่นๆ ในรถตู้ เรียนจนมหาวิทยาลัยรามคำแหงหมด ไม่มีใครรู้จักเพลงนี้ คนที่อยู่ในรถตู้ยังแซวว่า แหม ท่านกล้าอารมณ์ดีนะ ร้องเพลงด้วย” กล้านรงค์หยอดมุกหักมุมเรียกเสียงฮาจากผู้ฟังลั่นห้อง

หลังจากแถลงสรุปคดีจบทั้งสองฝ่ายแล้ว ปรากฏว่าประชาชนไม่ยอมกลับ แต่มาออกันหน้าประตูทางเข้า จนกล้านรงค์และคณะไม่สามารถฝ่าฝูงชนออกไปได้ สุดท้ายจึงต้องหนีออกทางประตูหลังจึงรอดตายมาได้


ในชีวิตที่ถูกเคี่ยวกรำด้วยความกดดันมาตลอด ในตอนหนึ่งเขาได้เปิดใจถึงความทุกข์ตลอดที่ทำงานกับป.ป.ช.ว่า

“ขอให้พวกเรา 1,400 คนจงรักองค์กรนี้ มีจิตใจรวมกันเป็นหนึ่งเดียวคือป.ป.ช. ในฐานะผู้นำยิ่งต้องอดทน เพราะถ้าผู้นำท้อจะทำให้ลูกน้องเสียกำลังใจหมด ผมเป็นมนุษย์มีความรู้สึกเจ็บเหมือนกับคนอื่น ๆ แต่ผมต้องบอกไม่เจ็บ กลับไปบ้าน ถามทุกข์ไหม ถึงบอกว่าทุกข์ คนเราเจ็บร้องโอยออกมาก็คลายเจ็บ คนมีความทุกข์ร้องไห้ออกมาก็คลายทุกข์ แต่คนที่ทั้งเจ็บทั้งทุกข์แต่ร้องไห้ไม่ได้ คนนั้นยิ่งทุกข์สาหัส”

และสุดท้ายก่อนจะวางไมค์จบบทบาทของกรรมการป.ป.ช.ในคืนนั้น ท่านกล้าได้อ่านบทกลอนที่กลั่นออกมาได้บทหนึ่งเมื่อปี 2544 เพื่อเตือนใจให้ยืนหยัดและต่อสู้ต่อไป

"แม้หนทางข้างหน้าจะว่างเปล่า แม้เหลือเราเท่านั้นที่ยืนสู้

แม้ไม่มีใครเลยจะคอยดู เราจะอยู่สู้ต่อไปให้แผ่นดิน"

เป็นการปิดฉากอำลาบทบาทของมือปราบสุจริตของแผ่นดินได้อย่างสง่างาม

 
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
กำลังโหลดความคิดเห็น