xs
xsm
sm
md
lg

'นางฟ้า' จากห้องมืด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นเวลายาวนานถึงสามเดือนที่เหล่า “นางฟ้า” จะได้มาสิงสถิตย์ ณ ชั้น 36 โรงแรมพูลแมน กรุงเทพ จี (สีลม)

พวกเธอมาจากไหน แตกต่างจากนางฟ้าในห้วงจิตนาการของทุกอย่างไรบ้าง และการมาครั้งนี้มีจุดประสงค์ใด

รับฟังคำตอบจาก เชิดวุฒิ สกลยา เจ้าของผลงานภาพถ่ายขาว-ดำ ใน นิทรรศการ นางฟ้า(Angel)

อยากเก็บไว้ในวิถีชีวิต หรือในพิพิธภัณฑ์ ?

ไม่ว่านางฟ้าจะมีอยู่จริง หรือเป็นสิ่งที่ถูกสมมุติขึ้น แต่สำหรับเชิดวุฒิ(ผู้ซึ่งยังไม่เคยพบเห็นนางฟ้าองค์จริงๆมาก่อน) มองว่านับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นางฟ้ายังคงมีบทบาทสำคัญ ในการช่วยเหลือมนุษย์ให้คลายทุกข์โศกจากสิ่งที่ต้องเผชิญบนโลกใบนี้
 
ดังเช่นที่เรายังพบเห็น นางรำ,นางละครต่างๆ ปรากฏตัวในฐานะ “นางฟ้า” ในงานพิธีมงคลต่างๆ เช่น งานรําถวาย แก้บน สะเดาะเคราะห์ต่อชะตา ทั้งในระดับชาวบ้านทั่วไป และพิธีบวงสรวงสําคัญๆของบ้านเมือง ที่มักจะมีเหล่านางฟ้ามาชุมนุมกันเพื่อร่ายรำอย่างสวยงามและพร้อมเพรียง เพื่อให้เกิดความเป็นศิริมงคล อวยชัยให้พร ให้มนุษย์พ้นจากทุกข์ภัยและดลบันดาลให้คำอธิษฐานของผู้คน เป็นปาฏิหาริย์ หรือบังเกิดผลเป็นจริงขึ้นมาได้
 

“หากถามว่านางฟ้าในความคิดของผมเป็นอย่างไร คำตอบก็คงจะอธิบายมาจากจินตนาการของตัวผมเองว่า นางฟ้าต้องสวมชฎา ฟ้อนรำ และเหาะได้ สามารถให้พรให้คนสมหวังได้”

นิทรรศการครั้งนี้เชิดวุฒิต้องการสื่อสารกับผู้ชมว่า สิ่งเหล่านี้คืออัตลักษณ์ของความเป็นไทยที่บรรพบุรุษในยุคโบราณได้ส่งผ่านและถ่ายทอดมาให้คนในยุคปัจจุบันได้สัมผัส แม้จะเป็นเพียงเศษเสี้ยว แต่ก็ยังเป็นเศษเสี้ยวที่ยังคงมีลมหายใจอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน
ภาพถ่ายหลายๆภาพในนิทรรศการ เชิดวุฒิจึงเลือกที่จะบันทึกภาพนางรำ นางละครต่างๆ ในช่วงเวลาที่กำลังอยู่ในอิริยาบถและสภาพแวดล้อมที่แสดงเห็นถึงการอยู่ร่วมกันของอดีตและปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น นางรำนางละครขณะโดยสารบันไดเลื่อน, ใช้มือถือ, พักรับประทานข้าวจากกล่องโฟม ฯลฯ

“ผมต้องการสื่อว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งพิเศษและมีค่าสำหรับผม เพราะการที่สิ่งเหล่านี้ มันยังคงหลงเหลือให้ได้เห็น และแทรกอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน แสดงว่าจิตวิญญาณมันยังมีอยู่ ผมไม่อยากเห็นว่าวันหนึ่งเราต้องไปดูสิ่งเหล่านี้แต่จากในพิพิธภัณฑ์ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ก็เหมือนเป็นการยอมรับว่า มันได้ตายไปแล้ว”

ขณะเดียวกันเชิดวุฒิถือโอกาสใช้ภาพถ่ายในนิทรรศการครั้งนี้ ตั้งคำถามกับผู้ชมไปด้วยในตัวว่า “เราอยากเก็บสิ่งเหล่านี้ไว้ในวิถีชีวิต หรือในพิพิธภัณฑ์”

“และปริศนา 2 อย่าง ที่ผมทิ้งไว้ให้ผู้ชมได้คิดคือ 1) ทำไมนางฟ้าของผมจึงมักปรากฎตัวในตอนกลางคืน และ 2) ให้สังเกตดูดีดีนะครับว่า อารมณ์และโทนของภาพมันบ่งบอกอะไรบางอย่าง”


“นางฟ้า” จากห้องมืด

ภาพถ่ายทุกภาพถูกบันทึกไว้ในช่วง 3- 4 ปีที่ผ่านมานี้ ในช่วงเวลาที่เชิดวุฒิสะพายกล้องออกไปตระเวณถ่ายภาพตามสถานที่ต่างๆในกรุงเทพฯ

“ศาลพระพรหม ศาลพระภูมิน้อยใหญ่ตามที่ต่างๆ หรือเทศกาลงานสำคัญตามวาระต่างๆ ทั้งงานราษฎร์ งานหลวง ซึ่งโดยมากจะภาพที่ผมบันทึกไว้จากการเดินไปพบโดยบังเอิญครับ”

ความพิเศษอย่างหนึ่งของภาพถ่ายขาว-ดำ ในนิทรรศการครั้งนี้คือ ภาพทุกภาพถ่ายด้วยกล้องฟิล์ม ระบบแมนนวลล้วนๆ ทั้งกล้องไลก้า mp และกล้องโลไลเฟล็ก ทวินเลนส์ โดยใช้ฟิล์มขาว-ดํา ของโกดัก t-max ทั้งขนาด120 และ 135

ผ่านกระบวนการล้างและอัดด้วยมือในห้องมืด โดยอัดขยายภาพบนกระดาษ Fiber-based paper แบบ gelatin silver print ชึ่งหาได้ยากแล้วในปัจจุบัน เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตได้ทยอยปิดตัวลง

“ขณะที่ภาพถ่ายขาว-ดำ ในนิทรรศการชุด สนามหลวง (Spirit of Sanamluang) ซึ่งผมเคยจัดแสดงเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า ถ่ายด้วยฟิล์มเช่นกัน แต่อัดขยายบนกระดาษ ดิจิตอล awagami ของญี่ปุ่น ซึ่งยังถือเป็นการย้อนยุคแบบลูกครึ่ง แต่งานภาพถ่ายชุดนางฟ้านี้ เป็นการย้อนขบวนการเก่าแบบเต็มๆครับ

กระบวนการและขั้นตอนแบบเก่าซึ่งกําลังจะหมดไป ที่ผมเลือกใช้เพื่อการสร้างสรรค์ภาพ เปรียบไป ก็ไม่ต่างจาก นาฏศิลป์ที่กําลังจะถูกยกเลิกการสอน หรือ อัตลักษณ์แห่งยุคสมัยเก่าอีกหลายๆอย่าง ที่กําลังจะถูกเปลี่ยนแปลงทีละน้อยๆด้วยยุคสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ ทําให้มันเหลือเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ที่ไม่ได้หลอมรวมกับวิถีชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบันอีกต่อไป สุดท้ายมันก็ต้องถูกเก็บหรือจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ เป็นเพียงแค่ซากของวัฒนธรรมที่เอาไว้แค่ศึกษา ไม่ให้ลืมไปก็เท่านั้นเองครับ”

ผู้ที่เข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเชิดวุฒิในขั้นตอนอัดขยายภาพ คือ ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ ช่างภาพฝีมือดีอีกคนที่หลงใหลเสน่ห์ของการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มและกระบวนการล้างอัดในห้องมืด

“เผอิญช่างอัดภาพคนเก่าของผมคือ คุณสุรัตน์ ฮาฟมูนแลป ได้เสียชีวิตลง และผมก็ได้ทราบว่าคุณธวัชชัยรับล้างอัดรูปเป็นอาชีพด้วย ผมก็เลยให้เขาช่วยอัดขยายภาพให้ครับ”


พบนางฟ้าที่ถนนสีลม

เชิดวุฒิเป็นศิลปินคนที่ 7 ที่โรงแรมพูลแมน กรุงเทพ จี (สีลม) เชื้อเชิญให้มานำเสนอผลงาน หลังจากที่ พ.ศ.2555 เป็นต้นมา โรงแรมฯได้เปิดพื้นที่ บนชั้น 36 ให้ศิลปินได้เสนอผลงาน เนื่องจากผู้บริหารชื่นชอบในงานศิลปะและต้องการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนในแวดวงอื่นได้มีโอกาสชื่นชมงานศิลปะบ้าง

“สืบเนื่องมาจากทางผู้บริหารของโรงแรมฯ ได้ไปชมผลงานของผมชุด Spirit of Sanamluang  แล้วเกิดความประทับใจ ทางโรงแรมฯเลยติดต่อมาเพื่อเชิญให้ผมมาแสดงงานชุดใหม่ที่นี่ครับ และตัวผมเองก็รู้สึกประทับใจกับสไตล์ของโรงแรมและทีมงานที่เป็นมืออาชีพของที่นี่ครับ”

แต่ไม่ว่าจะเป็นการแสดงครั้งไหน สิ่งที่เชิดวุฒิพยายามคงไว้ในงานภาพถ่ายของเขาทุกครั้ง แม้ว่าเนื้อหาในการนำเสนอจะเปลี่ยนไป
“ภาพถ่ายของผมมักจะตั้งคำถามกลับไปที่ผู้มาชมงานให้คิดต่อและทิ้งพื้นที่ไว้สำหรับจินตนาการของแต่ละคน และเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่ผมสังเกตดูงานของตัวเอง คือ พื้นที่แห่งปริศนาและความลึกลับ ซึ่งเป็นสุนทรียอย่างหนึ่งที่มักซ่อนอยู่ในภาพถ่ายของผมครับ”

"ในหลวง” แรงบันดาลใจในการถ่ายภาพ

บุคคลสำคัญที่เป็นแรงบันดาลในการถ่าย เชิดวุฒิเคยกล่าวไว้ในสูจิบัตร เมื่อครั้งแสดงนิทรรศการชุด สนามหลวง (Spirit of Sanamluang) ว่า
 

“แรงบันดาลใจในการถ่ายภาพศิลป์ของผมนั้น มาจากเมื่อครั้งยังเด็ก ที่ได้มีโอกาสเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แทบทุกภาพ ทั้งขณะทรงงาน หรือทรงพักผ่อนพระอิริยาบถ จะทรงพกกล้องถ่ายภาพติดพระวรกายไปทุกๆที่ พระองค์ท่านจะบันทึกภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนตามสภาพความเป็นจริงของชีวิต
 
ยิ่งมาได้ทราบอีกว่าในโลกมีพระมหากษัตริย์ของไทยประเทศเดียวเท่านั้น ที่ทรงกล้องตลอดเวลา และรักการถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจ แม้จะทรงพระประชวร ผมยังเห็นพระองค์ท่านทรงกล้องและถ่ายภาพ ซึ่งจุดนี้เองที่เป็นความประทับใจ และเป็นแรงบันดาลใจอย่างมากต่อผม เป็นต้นเหตุที่ทำให้ผมมาพกกล้องใส่ฟิล์มพร้อมตลอดเวลา ก่อนที่จะออกไปข้างนอกในทุกๆวัน และถ่ายภาพทุกครั้งที่มีโอกาส
 

และที่สำคัญเป็นอย่างมาก พระองค์ท่านทรงสอนให้จิตใจผมละเอียด อยู่กับสภาวะของปัจจุบันขณะ เพราะถ้าผมไม่วางจิตแบบนี้ ผมจะไม่สามารถที่จะบันทึกเสี้ยววินาทีที่สะเทือนใจในปัจจุบันขณะนั้นได้เลย

ผมทำแบบนี้มาตลอด 20 ปี และจะทำตลอดไป จนกว่าชีวิตจะหาไม่ เพราะการถ่ายภาพของผม คือกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของลมหายใจ”

นิทรรศการภาพถ่ายขาว-ดำ ชุด นางฟ้า ( Angel) โดย เชิดวุฒิ สกลยา เปิดแสดงระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2556 - 31 มกราคม พ.ศ.2557 ณ แกลลอรี่ ชั้น 36 โรงแรมพูลแมน กรุงเทพ จี (สีลม) โทร. 0- 2238 -1991 ต่อ 1419




รู้จัก ... เชิดวุฒิ สกลยา

ปัจจุบันอายุ 39 ปี หลงใหลการถ่ายภาพตั้งแต่เรียนวิชาถ่ายภาพ ในภาคเรียนที่ 2 ขณะศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ตั้งแต่นั้นเขาจึงมีกล้องถ่ายภาพติดตัวตลอดเวลา

จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา 20 กว่าปี ที่เชิดวุฒิคร่ำหวอดอยู่ในวงการถ่ายภาพ เคยมีโอกาสร่วมงานกับนิตยสารที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ในตำแหน่งช่างภาพ ผู้ถ่ายภาพแฟชั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ, เคยร่วมงานกับบริษัทโฆษณาซึ่งส่งผลงานของเขา เข้าประกวดและได้รับรางวัล อาทิ

รางวัลเหรียญทองในการประกวด Asia Pacific Ad Fest 2007, รางวัลชนะเลิศ ในการประกวด 15th Cresta International Advertising Award 2007 และ รางวัลเหรียญเงินจากการประกวด London International Award 2008
ซึ่งในระหว่างที่ทำงานประจำนั้น เชิดวุฒิพยายามหาเวลาว่างออกไปเดินถ่ายภาพที่เขารักอย่างสม่ำเสมอ กระทั่งลาออกมาเป็นศิลปินอิสระและมีโอกาสแสดงผลงานต่อสาธารณชนหลายครั้ง อาทิ

เมษายน พ.ศ. 2555 ร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการศิลปะ Intuition ร่วมกับศิลปินแขนงอื่นๆ อีก 3 ท่าน ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท ย่านประตูน้ำ

พฤษภาคม พ.ศ. 2556 แสดงเดี่ยวนิทรรศการภาพถ่ายขาว -ดำ ชุด สนามหลวง (Spirit of Sanamluang) ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า

พฤษภาคม - มิถุนายน พ.ศ.2556 ร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการภาพถ่าย Night Shift ณ Rooftop แกลลอรี่ ย่านทองหล่อ

กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ภาพถ่าย 3 ภาพของเขาได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงใน นิทรรศการภาพถ่าย 180 ปี ความสัมพันธ์ไทย - สหรัฐอเมริกา ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ และนิทรรศการนี้สัญจรไปจัดแสดงทั่วประเทศไทย และจะถูกนำไปจัดแสดงที่เมืองลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา อีกครั้ง ในงาน Month of Photography LA, MOPLA ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2557

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews


กำลังโหลดความคิดเห็น