xs
xsm
sm
md
lg

“เมธินทร์ ลียากาศ” กับเรื่องเล่า แสตมป์ของรัก “เจ้าฟ้านักสะสม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมธินทร์ ลียากาศ
 
หากงาน “130 ปี กิจการแสตมป์ไทยและแสตมป์ดวงแรกของไทย” ไปรษณีย์ไทย ไม่ได้อัญเชิญแสตมป์และไปรษณียบัตรสะสมส่วนพระองค์ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงส่งมาจากหลายประเทศทั่วโลก มาจัดแสดงนิทรรศการ เราก็คงไม่รู้ว่า การสะสมแสตมป์และการเขียนไปรษณียบัตรถึงพระองค์เอง ทุกครั้งที่เสด็จไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจในสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ นับเป็นอีกหนึ่งพระจริยวัตรที่งดงามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

 
เมธินทร์ ลียากาศ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาดไปรษณียากรไทย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นทั้งนักสะสมที่วงการสะสมแสตมป์รู้จักดี ทั้งยังเป็นผู้ถวายงานงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทำหน้าที่จัดเก็บแสตมป์และตราไปรษณียากรสะสมส่วนพระองค์ บอกว่า รู้สึกปลาบปลื้มที่ได้มีโอกาสถวายงานอย่างใกล้ชิด ทำให้ได้รู้ว่า สมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินตามรอยพระราชจริยวัตรแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในทุกๆเรื่อง ไม่เว้นแม่แต่เรื่องของสะสม และการรักษาข้าวของเครื่องใช้

เมธินทร์ เริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนเข้าไปถวายงานจัดเก็บแสตมป์ให้สมเด็จพระเทพฯ ว่า ช่วงปี 2535 คณะผู้บริหารของบริษัทไปรษณีย์ไทย ได้มีโอกาสเข้าไปพิพิธภัณฑ์ของสะสมส่วนพระองค์ ที่ทรงเรียกว่า “บ้านสวนปทุม” จังหวัดปทุมธานี และเห็นแสตมป์ของสมเด็จพระเทพฯ มีจำนวนมาก แต่ละดวงมีคุณค่า เป็นของรักของหวงที่พระองค์ทรงสะสมมาตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ แต่ด้วยพระราชกรณียกิจที่มากมาย ไม่มีการจัดเก็บที่ถูกต้อง คณะผู้บริหารจึงทูลขอสร้างห้องจัดเก็บแสตมป์ถวายพระองค์ท่าน ซึ่งท่านก็ยินดี

 
สมเด็จพระเทพฯ ทรงสนใจสะสมแสตมป์ และโปรสการ์ด ตั้งสมัยทรงพระเยาว์ โดยสะสมทั้งแสตมป์ที่ระลึกที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แสตมป์ที่ระลึกเทศกาลงานประเพณี รวมถึงแสตมป์จากประเทศต่างๆ ดังจะเห็นได้จากพระองค์ทรงสะสมแสตมป์ดวงแรกของโลกไว้ หรือเวลาเสด็จไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะ ประเทศจีน

“แสตมป์ของท่านมีเยอะมาก ทุกดวงจะเก็บเป็นอย่างดีแต่ก็อยู่กระจัดกระจาย บางดวงท่านจะสอดไว้ในสมุดบันทึก ซึ่งตรงนี้เราก็รู้ว่าพระราชกรณียกิจของพระองค์ในแต่ละวันมีมากมาย แล้วการจัดเก็บแสตมป์ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีเวลา ต้องทะนุถนอม เมื่อทางไปรษณีย์สร้างห้องเก็บแสตมป์เสร็จ ผมก็เข้าไปแยกแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ ที่เยอะสุดก็เป็นแสตมป์ของประเทศจีน ซึ่งมีทั้งที่ทรงซื้อสะสมด้วยพระองค์เอง และมีคนนำมาถวาย”

 
เมธินทร์ บอกถึงเสน่ห์แห่งการสะสมแสตมป์ของสมเด็จพระเทพฯ ว่า ทรงเป็นนักสะสมจริงๆ ทุกครั้งหากมีแสตมป์ออกใหม่และทรงชื่นชอบ ท่านจะทรงเขียนใบสั่งซื้อด้วยพระองค์เอง และถ้ามีใครนำไปถวาย ท่านก็จะทรงจดชื่อผู้ที่ถวายและลงวันที่ที่ได้รับไว้ด้านหลังแสตมป์ แสดงให้เห็นว่าท่านมีความละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง ทั้งยังทรงให้ความสำคัญในทุกสิ่งที่พระองค์ได้สัมผัส ต่างจากนักสะสมทั่วไป ที่ตัวแสตมป์ต้องสมบูรณ์ด้วยความรัก และต้องการเพิ่มมูลค่าให้แสตมป์ของตนเอง

 
“นักสะสมทั่วไปจะให้ความสำคัญตัวแสตมป์ การฉีกแสตมป์ออกจากกัน ฟันแสตมป์ต้องอยู่ครบไม่ขาดหายออกจากกัน จะหยิบจับด้วยมือก็กลัวเป็นรอย ต้องใช้ปากคีมจับ และแสตมป์ที่ยังไม่ใช้จะต้องมีกาวด้านหลังครบเพราะเกรงจะมีผลต่อราคา ความแตกต่างตรงนี้ แสดงให้เห็นว่าแสตมป์ทุกดวงมีคุณค่าทางใจต่อพระองค์ท่าน และท่านก็ทรงเก็บสะสมแสตมป์เป็นที่ระลึกส่วนพระองค์จริงๆ”

 
นอกเหนือจากการสะสมแสตมป์แล้ว สมเด็จพระเทพฯ ยังโปรดการเขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆ ลงบนไปรษณียบัตร หรือโปสการ์ด เพื่อบอกเล่าเรื่องราวระหว่างการเดินทางถึงพระองค์เอง เห็นได้จากไปรษณียบัตรที่ลงลายพระหัตถ์จ่าหน้าถึงพระองค์เอง และส่งผ่านบริการไปรษณีย์กลับมายังปลายทาง ณ พระตำหนักจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต อย่างสม่ำเสมอ
เมธินทร์ เล่าต่ออีกว่า ข้อความบนโปสการ์ดที่ทรงเขียนด้วยลายพระหัตถ์ จะทรงเล่าว่า แต่ละวันท่านเสด็จไปที่ไหนและทรงงานอะไร การเขียนโปสการ์ดของท่านยังทรงบรรยายด้วยภาษาที่กระชับ เวลาอ่านแล้วเข้าใจง่ายอย่างน่าทึ่ง เช่น เมื่อครั้งที่ทรงได้รับเชิญไปร่วมงาน อังกฤษคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีน เมื่อปี 2540 ท่านเขียนโปสการ์ดกลับมาว่า “วันสุดท้ายของอังกฤษในจีน” 1 ฉบับ และวันรุ่งขึ้นก็เขียนอีก 1 ฉบับว่า “วันแรกของจีนในฮ่องกง”

 
ปัจจุบัน ของสะสมส่วนพระองค์จะทรงเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ “บ้านสวนปทุม” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นห้องสำหรับไปรษณีย์โดยเฉพาะ มีสมุดแสตมป์สะสม รวมทั้งเหรียญที่ระลึก เหรียญรางวัล กรอบบรรจุแสตมป์นับร้อยกรอบ รวมทั้งพระฉายาลักษณ์ที่ทรงฉายคู่กับตู้ไปรษณีย์ในหลายๆ ประเทศที่เสด็จไปเยือน

 
เมธินทร์ยังบอกด้วยว่า ทุกวันนี้ สมเด็จพระเทพฯ ยังคงให้ความสำคัญเรื่องแสตมป์และไปรณียบัตรไม่เปลี่ยนแปลง แม้พระราชกรณียกิจจะมีมากมาย แต่ถ้ามีเวลาว่าง ท่านก็จะเสด็จทอดพระเนตรแสตมป์ของพระองค์ และเมื่อไปรษณีย์ไทยมีแสตมป์ออกใหม่ เมื่อท่านทรงทราบและทรงโปรด ก็จะทรงเขียนใบสั่งซื้อด้วยพระองค์เอง พระจริยวัตรที่งดงามนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจของพนักงานไปรษณีย์ไทยยิ่งนัก


กำลังโหลดความคิดเห็น