xs
xsm
sm
md
lg

"Nhoo Matthews" จากชีวิตครูไทยสู่ดีไซเนอร์ในมหานครนิวยอร์ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนู - สุดาภรณ์ แมทธิว
 
คำว่า "ดีไซเนอร์" นั้น ฟังดูไกลเกินเอื้อม สำหรับคุณครูอย่าง หนู - สุดาภรณ์ แมทธิว ถึงแม้คุณแม่จะเป็นช่างเย็บผ้า แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เธอใฝ่ฝันจนกระทั่งเธอได้มีโอกาสพบรับกับหนุ่มนิวยอร์กผู้จุดประกายอาชีพนักออกแบบให้เธอ จนได้ทำงานกับแบรนด์เนมชื่อดังอย่าง Zac Posen และ Marchesa ได้เย็บลูกไม้ให้ชุดวิวาห์คนดังอย่างนิโคล ริชชี่ และวันนี้เธอก็นำฝีมือการปักลูกไม้และการออกแบบจากประสบการณ์แดนไกลมาถ่ายทอดและพัฒนาวงการแฟชั่นไทย

 
การพบรักในโลกออนไลน์แล้วย้ายไปอยู่ต่างประเทศของสาวไทยไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ชีวิตของ หนู-แมททิว เธอได้สานต่อโอกาสนั้นจนพบอาชีพที่ตัวเองรักเพราะหลังจากจบปริญญาตรีและเข้าเป็นครูสอนภาษาที่โรงเรียนในตัวจังหวัดลพบุรี เธอตัดสินใจย้ายไปอยู่กับสามีชาวต่างชาติที่นิวยอร์กและเข้าศึกษาด้านแฟชั่นดีไซน์ที่ FIT (Fashion Institute of Technology)

"ไปอยู่แล้วเบื่อค่ะ ไม่รู้จะทำอะไร จะไปทำงานห้องอาหารไทยสามีก็ทักท้วง เขาแนะนำให้เรียนในสิ่งที่รักแต่เราก็ยังไม่รู้ว่าเราชอบอะไร จะใช้ภาษาอังกฤษที่ถนัด แต่ที่นั่นเขาก็เหนือกว่าเราอยู่แล้ว วันหนึ่งสามีก็ทักว่า เรียนดีไซน์สิเพราะนิวยอร์กเป็นมหานครแห่งแฟชั่นนะ แถมเขายังเห็นเรานั่งขีดๆ เขียนๆได้รูปออกมาสวยๆ ทุกครั้งเวลาจับดินสอ"

 

 
หนูเริ่มต้นไปค้นหาความฝันด้วยการเรียนคอร์สออกแบบที่ Parson School of New York เรียนตั้งแต่เริ่มต้นคือวาดภาพฟิกเกอร์โครงสร้างและสรีระและเมื่อรู้ว่าอาชีพนี้ใช่สำหรับตัวเธอและสนใจอยากเรียนเต็มคอร์ส (2 ปี) อาจารย์จึงแนะนำให้เธอไปเรียนที่ FIT เพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่า และมีการเรียนการสอนที่ไม่แตกต่างกัน "การเรียนแฟชั่นในสถาบันชื่อดังอย่าง FIT ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ด้วยความที่เธอมีพื้นฐานด้านการเขียนฟิกเกอร์มาก่อนจึงลัดขั้นตอนนี้ไปอย่างง่าดายจากนั้นเมื่อขึ้นระดับ 2 เธอต้องเลือกว่าสนใจอะไรโดยนักเรียนต้องรู้ว่าตัวเองชอบไหน

"ตอนที่ครูให้เลือก ยังไม่คิดว่าทำได้ดีไซเนอร์จะต้องเรียนตามความถนัด โรงเรียนมีให้เลือกตั้งแต่ออกแบบเสื้อผ้าผู้หญิง ผู้ชาย ชุดราตรี ชุดกีฬา และชุดทำงานเราเองยังไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่า เราก็เอาที่ถนัดคือชุดราตรีก็เรียนไปเรื่อยๆ จนวันที่จบโรงเรียนมอบรางวัลนักเรียนดีเด่น FIT สาขาออกแบบแฟชั่น (หัวเราะ) ก็งง ว่าได้เพราะอะไร ตอนหลังอาจารย์มาบอกว่าได้เพราะดีไซเนอร์ที่มาเป็นวิทยากรเขาเห็นงานแล้วชอบและอีกหนึ่งรางวัลที่ภูมิใจมากคือได้รางวัลที่ 2 ของการประกวด All Japan Fashion Teachers Award, ปี 2005 ซึ่งหนูได้ออกแบบชุดแอร์ โฮสเตสให้สาวๆ สายการบินแอร์ ฟรานซ์ ซึ่งตอนนั้นมีผู้เข้าประกวดจากสถาบันออกแบบทั่วโลก"

 
การทำงานด้านแฟชั่นในมหานครแห่งแฟชั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะทุกคนที่เรียนจบต้องผ่านด่านการฝึกงานกับแบรนด์เสื้อผ้า สำหรับหนูตัดสินใจไปฝึกงานที่ Cynthia Rowley เพราะชอบแนวเสื้อผ้าของเขา “ฝึกงานดีไซน์เนอร์ที่นั่นก็เหมือนนักร้องเมืองไทยที่ก่อนจะดังต้องวิ่งซื้อโอเลี้ยงให้ครูเพลงเราไม่สามารถไปจับเสื้อผ้าเขาได้เลยเพราะการตัดเย็บเสื้อผ้าทุกตัวสำคัญมากเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าชุดที่เขากำลังตัดสำคัญแค่ไหน ตัดให้ใครใส่เพราะจะต้องปกปิดเป็นความลับ ถ้าเราทำเสียหาย เขาก็เสียไปด้วย"

 
สาวหนูอยู่ที่ Cynthia Rowley ได้เพียง 3-4 เดือน ก็ได้รับจดหมายจาก Garan Inc. ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเสื้อที่ตั้งอยู่บนตึกเอ็มไพร์สเตทรับเข้าทำงาน ซึ่งเธอรู้สึกดีใจเพราะเป็นเงินก้อนแรกจากอาชีพนี้ แต่ทำได้ปีกว่า ก็รู้สึกว่าไม่ใช่เพราะการ์เมนต์เป็นงานเชิงพาณิชย์ไม่ใช่ศิลปะ เลยตัดสินใจลาออกมาเรียนงานออกแบบด้าน Haute Couture, Lady Tailoring และ Pattern Making เพิ่มเติม

 
จากประสบการณ์ที่สั่งสมบวกกับผลงานโดดเด่นเมื่อครั้งเรียน เธอยื่นใบสมัครฝึกงาน ที่ Zac Posen(แบรนด์ดังที่ออกแบบเสื้อให้ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต ใส่เมื่อครั้งไปเดินพรมแดงที่เมืองคานธ์ ฝรั่งเศส) ตำแหน่ง Pattern making intern และด้วยความที่กระตือรือร้นเพียงไม่นานบริษัทก็จ้างให้เป็นผู้ช่วย Pattern maker

"ตอนไปสัมภาษณ์เขาถามว่าจะทำอะไรเราก็บอกเลยบอกทำแพตเทิร์นป้าที่ทำอยู่แกก็แปลกใจเพราะใครมาที่นี้ก็อยากเป็นดีไซเนอร์ทั้งนั้นพอเราชัดเจนแบบนี้ป้าก็จะสอนการทำเสื้อผ้าแฟชั่นทุกขั้นตอนเสื้อผ้าที่โน้นจะแยกเป็นโปรดักส์กับแคตวอล์กงานโปรดักส์จะละเอียดเนี้ยบกว่างานแคตวอล์กคือก่อนส่งลูกค้าจะมีนางแบบที่หุ่นเหมือนลูกค้ามาลองวงแขนต้องกระชับเคลื่อนไหวสบายมั๊ย ละเอียดถึงขนาดนี้เลยค่ะ"
Georgina Chapman ดีไซน์เนอร์คนดัง Marchesa ไอดอลของหนู แมทธิว
 
1 ปีผ่านไป หนู แมทธิว ก้าวขึ้นบันไดฝันอีกขั้น ยอมทิ้ง Zac Posen ไปทำงานกับ Marchesa ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแบรนด์เสื้อผ้าที่ชื่นชอบ เพราะที่นั่น เธอจะได้ทำงานกับดีไซเนอร์ดังอย่าง Georgina Chapman แบบใกล้ชิด ...แต่ดูเหมือนโชคชะตาจะเล่นตลกกับเธอเพราะทำได้เพียงไม่นาน หนูก็ต้องลาออกเพื่อมาดูแลแม่สามีที่ป่วยหนัก
 
"Georgina นี่เป็นไอดอลของเราเลย พอรู้ว่าจะได้ทำงานกับดีไซเนอร์คนนี้กระโดดเลยค่ะ เวลาทำงานเขาจะจริงจังและดุมาก เป็นคนที่แต่งตัวเนี๊ยบตลอดตั้งแต่หัวจรดเท้า พอแม่สามีไม่สบายก็จ้างพยาบาลมาดูแล วันไหนพยาบาลไม่มาก็ต้องลางานไปดู แล้วเราเพิ่งเริ่มงานไม่นานลาบ่อยๆ ก็เกรงใจ เลยลาออกตัดสินใจลาออก เพราะก่อนหน้านั้นเคยคุยกับสามี ว่าถ้าแม่เขาเป็นอะไรเราจะดูแลให้จนถึงที่สุด ซึ่งเราก็ไม่คิดว่าจะเร็วเพราะแกป่วยไม่นานก็เสีย ตอนจะออกเสียดายมากแต่ก็ถือว่าคุ้มได้ทำงานกับดีไซเนอร์ดัง"

 
เมื่อจัดการพิธีศพของแม่สามีเรียบร้อย เธอก็กลับเมืองไทยพร้อมสามี โดยหนูวางแผนเปิดห้องเสื้อและโรงเรียนสอนการออกแบบของตัวเอง โดยเริ่มจากการเปิดเพจในเฟสบุ๊คชื่อ Nhoo Matthews ทำให้มีคนสนใจติดตาม ล่าสุดแม้โรงเรียนของเธอจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ก็มีลูกศิษย์มาสมัครเรียน 2-3 รุ่นแล้ว

 
ก่อนจากกันหนูเปิดห้องทำงานของเธอให้เราดู...ลูกไม้ลายสวย กับดอกไม้ผ้าที่วางระเกะระกะในห้องทำงานทำให้รู้ว่าทุกวันนี้หนูมีความสุขกับอาชีพดีไซเนอร์มากที่สำคัญยังได้กลับมาเป็นครูอีกครั้ง แม้วิชาที่สอนจะต่างครั้งแรกก็ตามที
เส้นทางดีไซเนอร์ของหนู แมทธิว แม้จะไม่หวือหวา แต่ประสบการณ์การทำงานกับห้องเสื้อแบรนด์ดังหลายแห่ง ทำให้เธอเป็นดีไซเนอร์สายพันธ์ใหม่อีกคนที่ต้องจับตา

กำลังโหลดความคิดเห็น