ชื่อของ ลาวัณย์ อุปอินทร์ (ดาวราย) อาจไม่เป็นที่คุ้นหูนัก สำหรับผู้ที่ไม่อยู่ในแวดวงศิลปะ หากแต่ในวงการเดียวกัน ชื่อของเธอถูกจัดให้เป็นจิตรกรชื่อดัง เจ้าของผลงานภาพพอตเทรตพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตหลายพระองค์ และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้ตามเสด็จเพื่อถวายงานจนเรียกได้ว่าเป็น “ศิลปินในราชสำนัก” ยุคต้นๆ
ในวันที่แดดทอแสง “ลาวัณย์” ในวัย 77 ปี ลูกศิษย์ก้นกุฏิของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี สวมชุดกระโปรง ผูกผ้าพันคอสีแดง เสื้อสูทตัวเก๋ติดเข็มกลัดรูปอาจารย์ศิลป์ ยืนยิ้มหวานต้อนรับพร้อมพาชมสตูดิโอของเธออย่างเป็นกันเอง ผลงานที่เราได้เห็นส่วนใหญ่ล้วนเป็นภาพพอตเทรตเหมือนจริง
อาจารย์เล่าย้อนถึงที่มาในการชอบเขียนภาพพอตเทรตว่า เมื่อครั้งยังเรียนได้รับคำชมจากอาจารย์ศิลป์และอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ถึง 2 ครั้ง “ตอนนั้นดิฉันเขียนภาพนู้ดครึ่งตัว อาจารย์ศิลป์มาเห็นก็ชม แล้วเรียกอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ มาดู อาจารย์เฟื้อก็ชมบอกว่า “นายทำดีแล้ว เหมือนจริงทำต่อไป” ก็มั่นใจและดีใจเลยเขียนภาพพอตเทรตเรื่อยมา”
ด้วยฝีแปรงที่จัดจ้านบวกกับความเป็นคนทันสมัย ชอบเรื่องการบ้านการเมือง ผลงานส่วนใหญ่จึงเป็นภาพนักการเมือง ตลอดจนบุคคลที่มีชื่อเสียง อาทิ ป๋วย อึ้งภากรณ์, ปรีดี พนมยงค์ ฯลฯ แต่ละภาพมีมิติบอกเล่าเรื่องราวได้เป็นอย่างดี ทำให้ชื่อของลาวัณย์เริ่มเป็นที่ยอมรับในแวดวงศิลปะมากขึ้น
กับงานผลงานพอตเทรตพระมหากษัตริย์ไทยชิ้นแรก ก็สร้างความฮือฮาแล้ว เพราะอาจารย์ลาวัณย์เล่าว่า เขียนรูปมหาราช 5 พระองค์ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช, พ่อขุนเม็งรายมหาราช, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปัจจุบันนี้ภาพเหล่านี้ได้รับการเผยแพร่จนเป็นที่คุ้นตาของคนไทย
อาจารย์ลาวัณย์เล่าว่า ประมาณปี 2509 สำนักค้นคว้าทางวิญญาณ ได้ติดต่อให้เขียนรูปพระมหากษัตริย์ไทยที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมหาราช 5 พระองค์ ซึ่งตอนแรกอาจารย์ไม่เชื่อจึงตอบปฏิเสธ เพราะคิดว่าท่านสวรรคตไปนานท่านคงไปประสูติใหม่แล้ว “ตอนดิฉันพูดก็โดนผู้ใหญ่ตีปาก (หัวเราะ) แล้วอาจารย์พร รัตนสุวรรณ เป็นผู้อำนวยการสำนักค้นคว้าทางวิญญาณก็อธิบายว่า พระมหากษัตริย์เป็นบุคคลที่สูงสุด จะอยู่ในโลกทิพย์ หากจะเกิดต้องเป็นสถานที่ที่เหมาะสม ดิฉันจึงยอมเขียน ภาพแรกที่เขียนเป็นภาพพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ดิฉันจะเขียนตามบอกเล่าของคุณศรีเพ็ญ จตุทักศรี ที่นั่งสมาธิแล้วบอกว่าต้องวาดอย่างไร โดยการดรออิ้งให้เหมือนก่อน แล้วจึงเติมสีเป็นภาพครึ่งพระองค์และเต็มองค์”
จากนั้นเพียงไม่กี่ปี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน และมีอาจารย์ศิลป์ พีระศรี นำชมนิทรรศการ พระราชินีทอดพระเนตรเห็นงานของอาจารย์ก็ทรงชื่นชม หม่อมเจ้ากรวิก จักรพันธ์ จึงพาอาจารย์ลาวัณย์เข้าเฝ้า
“ตอนที่เข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงชมแล้วท่านก็รับสั่งตกใจว่า ดิฉันเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ท่านรับสั่งว่า “ได้ยินชื่อมานาน ฉันเป็นแฟนประจำเธอด้วยนะ” จากนั้นก็ทรงโปรดให้ตามเสด็จเขียนภาพในโอกาสต่างๆ และให้วาดภาพของพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อนำไปติดที่พระตำหนักจิตรลดา”
อาจารย์ลาวัณย์ยังเล่าถึงความทรงจำและพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในความทรงจำด้วยรอยยิ้มว่า “ในหลวงทรงชอบเขียนภาพ วันหนึ่งท่านอยากเขียนภาพ แต่ยังเขียนไม่ได้ท่านเลยบีบสีลงจานสีแล้วละเลงเอาฝ่ามือทับแล้วมาแปะที่ผ้าใบ เมื่อข้าราชบริพารดูต่างก็ชื่นชมว่างดงาม ในหลวงก็ทรงยิ้มแล้วมาถามดิฉันว่า “พวกเขาไม่มีความรู้ด้านศิลปะหรือว่าเขาพูดเอาใจฉัน” ซึ่งท่านทรงเป็นกันเองกับทุกคนมาก”
นอกเหนือจากความประทับใจที่ได้รับใช้ทั้งสองพระองค์แล้ว อาจารย์ลาวัณย์ยังได้รับใช้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา และเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์อีกด้วย “ตอนนั้นสมเด็จพระเทพฯ ยังทรงพระเยาว์ แต่ท่านมีทักษะเรื่องการใช้ภาษาเป็นอย่างมาก ตอนดิฉันรอเข้าเฝ้า พระพี่เลี้ยงเห็นดิฉันก็ทูลถามสมเด็จพระเทพฯ ว่า อยากเรียนศิลปะหรือไม่? สมเด็จพระเทพฯ ท่านก็วิ่งมาบอก “ศิลปะศิลชุนอะไร ฉันไม่สนใจหรอก” ดิฉันได้ฟังแล้วก็ยิ้มเพราะไม่เคยได้ยินคำว่า “ศิลปะศิลชุน” อย่างพวกเราถ้าจะพูดก็ ศิลป่งศิลปะ หรือ ศิลปะศิลเปอะ แต่ท่านใช้คำนี้ตั้งแต่พระเยาว์ ทำให้รู้ว่าท่านทรงอัจฉริยะด้านภาษาจริงๆ”
แม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายสิบปี อาจารย์ลาวัณย์ยังจดจำเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิตเธอได้อย่างแม่นยำ อาจารย์บอกว่า ภาคภูมิใจที่ได้ทำงานที่ตัวรัก ได้เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับความไว้วางใจจากอาจารย์ศิลป์ พีระศรี บรรจุให้เป็นครูล่ามตั้งแต่เป็นนิสิต อีกทั้งยังมีโอกาสได้รับใช้เหนือหัวของปวงชนชาวไทย
ปัจจุบันด้วยปัญหาเรื่องสุขภาพ ทำให้ต้องวางแปรงพู่กันและหันมาใช้ชีวิตเงียบๆ ที่บ้านพักย่านบางกอกใหญ่ แต่เรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ช่วยให้อาจารย์ได้นั่งรำลึก และบอกเล่าให้ลูกหลานฟังอย่างภาคภูมิใจ