xs
xsm
sm
md
lg

“เซเลบคนดัง” ผู้มีอิทธิพลในศึกชิงทำเนียบขาว 2012

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คลินท์ อีสต์วูด, ทอม แฮงก์, เจ ซี, นิกกี้ มินาจ และ โอปราห์ วินฟรีย์ บรรดาชื่อเหล่านี้คือคนดังแห่งอเมริกา ที่ไม่ได้มีพลังเพียงแค่ในวงการบันเทิงเท่านั้น แต่ชื่อของพวกเขาเหล่านี้รวมไปถึงเซเลบคนดังอีกหลายคน กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทรงอิทธิพลต่อการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาสามครั้งหลังสุดมาอย่างต่อเนื่อง
หากมองกันแบบผิวเผินเราอาจจะตั้งสมมุติฐานกันไว้ว่า “เซเลบริตี” กับ “การเมือง” ไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกันเลยสักนิด เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็อยู่คนละวงการ โดยต่างฝ่ายต่างก็ไม่เข้าใจโลกของอีกฝ่ายเลยแม้แต่นิดเดียว

แต่เชื่อหรือไม่ว่า การออกมาประกาศตัวของเหล่าเซเลบดาราว่า ให้การสนับสนุนใครในการเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้น จะสามารถกำหนดทิศทางชี้ผลชัยชนะการเลือกตั้ง ว่าใครจะได้ครองเก้าอี้ในทำเนียบขาวเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ คนต่อไป
บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา ได้วิเคราะห์ไว้ว่า การใช้เซเลบริตีในการรณรงค์หาเสียงนั้น จะช่วยสร้างความได้เปรียบผ่าน 3 เหตุผลหลักด้วยกัน อย่างแรกนั่นก็คือ เซเลบเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลชี้นำสังคมอย่างชัดเจน เหตุผลที่สองคือ เซเลบสามารถระดมเงินทุนได้ง่ายและรวดเร็วกว่าการระดมทุนโดยพรคการเมืองเอง และสามคือปฏิเสธไม่ได้ว่า เซเลบสร้างให้เกิดการบอกต่อและพูดถึงไปในวงกว้าง

และตั้งแต่มีการใช้เซเลบริตีมาช่วยรณรงค์หาเสียงนั้น สถิติของผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งก็เพิ่มสูงขึ้นจาก 50% เป็น 60% ในขณะที่ ผู้ใช้สิทธิ์ที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ช่วงอายุระหว่าง 18-24 ปี ก็เพิ่มสูงขึ้นถึง 8% นับตั้งแต่ปี 2004 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี 2012 นี้ สื่อประเภทโซเชียลมีเดีย มีอิทธิพลอย่างมาก เพราะสังคมออนไลน์ ไม่เพียงแต่ทำให้นัการเมือง เซเลบ ดารา หรือสื่อมวลชน ได้สร้างฐานแฟนคลับของตัวเองได้ง่ายขึ้น แต่ยังสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินคะแนนเสียง ที่จะได้จากฐานผู้ติดตามของเซเลบ ผู้ที่ประกาศตัวสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอีกด้วย ซึ่งหากนำเฉพาะผู้ติดตาม ทวิตเตอร์ของเซเลบชื่อดังเพียงแค่ เจสสิก้า อัลบา, บียอนเซ่, ทอม แฮงก์ และ นิกกี้ มินาจ มารวมกัน ก็มีจำนวนมากกว่า 13 ล้านคนเข้าไปแล้ว

อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการต่อสู้เพื่อแย่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี นั่นก็คือเรื่องของการระดมเงินทุนเข้าสู่พรรคการเมือง เพื่อมาใช้เป็นงบประมาณในการหาเสียง เพราะยิ่งเซเลบผู้สนับสนุนดังมากเท่าไหร่ เม็ดเงินสนับสนุนที่จะตามมา ก็มากขึ้นตามไปด้วยเป็นเงาตามตัว ยกตัวอย่างกรณีที่ จอร์จ คลูนีย์ จัดงานเลี้ยงอาหารเพื่อระดมทุนให้กับ บารัก โอบามา ใช้หาเสียง สามารถทำยอดเงินบริจาคได้สูงถึง 15 ล้านดอลลาร์ หรือ 450 ล้านบาท

จากเดิมที่เคยเห็นเซเลบริตีออกมาสนับสนุนฝั่งประธานาธิบดีโอบามาเป็นปกติ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ฟากของ มิตต์ รอมนีย์เอง ก็ไม่ได้น้อยหน้าเลยแม้แต่น้อย เพราะเขาเองก็มีลิสต์ของเซเลบผู้สนับสนุนยาวเป็นหางว่าวเช่นกัน อาทิ จอห์ ริช นักร้องคันทรีชื่อดัง เจอรี่ บรัคไฮเมอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์แถวหน้าของวงการ วินซ์ และ ลินดา แมคแมน เจ้าของรายการมวยปล้ำ WWE ที่โด่งดังระดับโลก ซึ่งทำให้ตัวเลขเงินสนับสนุนของรอมนีย์ ผ่านการระดมทุนของเซเลบชื่อดังนั้น สูงถึง 101 ล้านดอลลาร์ หรือกว่าสามพันล้านบาท
ขณะที่ ฝั่งของโอบามานั้น มีตัวเลขอยู่ที่ 75 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ สองพันล้านบาท ด้วยเหตุนี้เซเลบริตีจึงกลายมาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทรงอิทธิพลหนึ่ง สำหรับศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น