xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเวที “หัตถศิลป์บัวหลวง ครั้งที่ 1” ต่อลมหายใจให้ “งานสลักดุนภาชนะโลหะ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การแสดงชุด ไพรทมิฬ จาก เดอะไทยโพรดักชั่น เชียงราย ที่สวมใส่งานสลักดุนภาชนะโลหะแนวสร้างสรรค์ ฝีมือ อัฐพล คำวงษ์
ART EYE VIEW ---“เราฉุกคิดว่า ในการทำงานศิลปะต้องมีคนอยู่เบื้องหลัง คอยทนุบำรุงแสงเพลิงทางปัญญาของงานศิลปะเหล่านี้เอาไว้”

ณ ห้องโกมุท ชั้น 29 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถ.สีลม ศิลปินแห่งชาติ ถวัลย์ ดัชนี กล่าวขึ้นในงานแถลงข่าวการประกวด “หัตถศิลป์บัวหลวง” ในฐานะผู้จุดประกายให้ มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ จัดการประกวดขึ้นเป็นครั้งแรก หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยร่วมเป็นกรรมการตัดสินรางวัล “จิตรกรรมบัวหลวง" มานานกว่า 30 ปี

ขณะที่ลูกชาย ดอยธิเบศร์ ดัชนี นำการแสดงชุด ไพรทมิฬ จากคณะนักแสดงจาก เดอะไทยโพรดักชั่น เชียงราย ที่สวมใส่เครื่องประดับ ซึ่งเป็นงานสลักดุนภาชนะโลหะแนวสร้างสรรค์ ฝีมือช่างศิลป์ อัฐพล คำวงษ์ มาสร้างสีสันให้กับงานแถลงข่าว ที่มีบรรดาผู้ถูกวางตัวให้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดท่านอื่นๆมาร่วมงานด้วย อาทิ ทองร่วง เอมโอษฐ์,นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน,นคร พงษ์น้อย,วิถี พานิชพันธุ์,เผ่าทอง ทองเจือ


รวมถึง Mr.Rolf Von Bueren แห่ง Lotus Arts de Vive ที่นอกจากจะสวมเข็มขัดที่สร้างสรรค์ขึ้นเองมาร่วมงาน ยังให้หยิบยืม งานสลักดุนภาชนะโลหะแนวสร้างสรรค์ มาอวดตาผู้มาร่วมงาน พร้อม งานสลักดุนภาชนะโลหะแนวประเพณี ซึ่งเป็นสมบัติของ ธนาคารกรุงเทพ และ งานสลักดุนภาชนะโลหะแนวสร้างสรรค์ ผลงานของช่างศิลป์ อัฐพล คำวงษ์


 
เผ่าทอง ทองเจือ,คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช และถวัลย์ ดัชนี ร่วมแถลงข่าว
>>ต่อลมหายใจ "งานสลักดุนภาชนะโลหะ"

งานช่าง หรือ งานหัตถศิลป์ ถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่แสดงเอกลักษณ์ทางศิลปะและวัฒนธรรมของชาติได้อย่างชัดเจน ควรค่าแก่การเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปได้ชื่นชมและภูมิใจ

การที่ครั้งนี้ มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ ได้ริเริ่มให้มีการจัดประกวด “หัตถศิลป์บัวหลวง” ก็เพื่อสนับสนุนให้
ช่างศิลป์ไทยประเภทต่างๆ ได้แสดงฝีมือสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบของงานหัตถศิลป์อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเปิดเวทีให้แสดงผลงาน อันจะก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนางานฝีมือออกมาอย่างสม่ำเสมอ ก่อนที่จะสูญหายไปด้วยการแทนที่ของงานพาณิชย์ศิลป์

คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช กรรมการมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า

“ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราจัดกิจกรรมประกวด หัตถศิลป์บัวหลวงขึ้นมา เราคิดอยู่ตลอดเวลาว่าทำอย่างไรที่จะช่วยอนุรักษ์ศิลปะของไทย ดิฉันคิดว่าศิลปะอยู่ในจิตวิญญาณของคนไทยเราทุกคน ถ้าเราเปรียบเทียบกับคนทั่วโลก ดิฉันคิดว่า เราเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชาชนที่มีฝีมือมากๆเลย ซึ่งทำอย่างไรเราจะช่วยอนุรักษ์สิ่งนี้เอาไว้

เราหวังว่าการประกวดนี้จะทำให้ฝีมือช่างของเราได้แพร่หลายไปทั่วประเทศ อยากให้ประชาชนคนไทยทุกคนสนใจที่จะมาอนุรักษ์และช่วยเหลือสังคม เพื่อที่จะได้ช่วยกันสร้างอาชีพใหม่ๆให้กับประชาชนทั่วไปของเรา

และกรรมการตัดสินการประกวดครั้งนี้ ล้วนแต่มีความรู้ความสามารถในด้านนี้ทั้งหมด เราก็หวังว่า ท่านจะไปช่วยส่งเสริมให้ช่างที่รู้จักอยู่แล้วเข้ามาร่วมประกวดกับเรา”

โดยการประกวด “หัตถศิลป์บัวหลวง ครั้งที่ 1 ” มูลนิธิฯ ได้เลือกงานช่างประเภท งานสลักดุนภาชนะโลหะ เช่น ขัน โตก เตียบ ตะลุ่ม พาน คนโท กล่อง ฯลฯ มาเป็นหัวข้อในการประกวด และแบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท ได้แก่
 

งานสลักดุนภาชนะโลหะแนวประเพณี ซึ่งมีกระบวนการสร้างสรรค์ แนวความคิด และลวดลาย ที่ดำรงค์เอกลักษณ์แบบไทยประเพณี และ งานสลักดุนภาชนะโลหะแนวสร้างสรรค์ ซึ่งมีกระบวนการสร้างสรรค์ แนวความคิด เทคนิค ลวดลาย เรื่องราว และเนื้อหาสาระที่มีการแสดงออกถึงความเป็นไทยได้อย่างอิสรเสรี ก่อนที่จะเปลี่ยนไปประกวดงานหัตถศิลป์ประเภทอื่นๆ ในการประกวดหัตถศิลป์บัวหลวง ครั้งต่อๆ ไป

“เราต้องการให้งานสลักดุนอยู่ในประเทศไทยเรา ให้คนไทยเห็นความสำคัญ ให้ช่างของเรามีโอกาสในการคิดสร้างสรรค์ผลงาน

แม้ว่าในส่วนที่สร้างโดยยึดตามแบบโบราณหรือแนวประเพณี ก็เป็นสิ่งที่เราควรอนุรักษ์เอาไว้ หรือจะเป็นงานแนวสร้างสรรค์ แบบสมัยใหม่ ที่เราสามารถนำไปใช้สอยได้ ล้วนแต่เป็นการส่งเสริมให้เยาวชนหรือประชาชนทั่วไปที่อยากจะสะสมงานพวกนี้เอาไว้

งานในแนวโบราณ ถ้าทำออกมาสวยงามจริงๆ เราก็ต้องเอาไปเก็บตู้เซฟ หรืออะไร แต่ถ้าเป็นงานแนวสมัยใหม่เราก็สามารถเอาไปใช้ได้ อย่างเข็มขัดที่คุณ Rolf สวมมาในวันนี้

เพราะฉะนั้นเราอยากจะส่งเสริมให้ประชาชนหันมาสนใจทางด้านนี้ เพื่อที่จะให้ช่างของเรามีโอกาสคิดสร้างสรรค์ผลงานไปเรื่อยๆ เราคิดว่าถ้ามีการเผยแพร่ออกไป และคนเห็นความสวยงามแล้ว ชาวต่างชาติเค้าก็จะหันมาสนใจงานของเราด้วย”
เผ่าทอง ทองเจือ บอกเล่าเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ งานสลักดุนภาชนะโลหะ
>>ประวัติศาสตร์ฉบับย่อ งานสลักดุนภาชนะโลหะในเมืองไทย
 โดย อ.เผ่าทอง ทองเจือ
 

ด้าน อ.แพน - เผ่าทอง ทองเจือ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการประกวด ในฐานะที่เป็นผู้รอบรู้หลายด้าน ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ งานสลักดุนภาชนะโลหะในเมืองไทย เพื่อให้เราทราบถึงที่มาและเห็นถึงความสำคัญของงานหัตถศิลป์ประเภทนี้

“มันเป็นจารีตสำหรับประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดเลย ในเรื่องของงานสลักดุน เราผ่านยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์มา เมื่อสัก 8,000 ปีเนี่ย หลังจากนั้นเราก็จะเริ่มมีงานสลักดุนเกิดขึ้น เราพบงานสลักดุนทั้งในวัฒนธรรมมอญที่ทราวดี ทั้งในพม่า และประเทศในเอเชียอื่นๆ เราพบกับการสลักดุนในวัฒนธรรมเขมร ซึ่งทั้งสองวัฒนธรรมทั้งมอญกับเขมรให้อิทธิพลกับการสลักดุนในประเทศของเรามาก รวมไปถึงทั้งอินเดียแล้วก็จีนด้วย
 

ในสมัยโบราณชิ้นงานสลักดุน ที่เราพบส่วนใหญ่แล้วจะเป็นชิ้นงานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นทองสลักดุนเป็นพระพุทธรูป หรือแผ่นทองสลักดุนเป็นรูปเทพเจ้าของฮินดู เราพบงานสลักดุนทั้งในศาสนาพุทธและฮินดู

งานสลักดุนค่อยๆพัฒนามาจนถึงในสมัยสุโขทัย เราเริ่มพบวัตถุเครื่องใช้เป็นของมีค่าต่างๆในวัฒนธรรมของสุโขทัยของเราเป็นจำนวนมาก ของกัมพูชาจะพบงานสลักดุนในข้าวของถวายองค์เทพเจ้า พระอิศวรก็ดี พระนารายก็ดี พระพรหมก็ดี ซึ่งเป็นประติมากรรมหิน

ในพิธีกรรมของเค้าเวลาจะมีการถวายสักการะเต็มรูปแบบเนี่ย ก็จะทำเครื่องสลักดุนด้วยทองคำ โลหะที่ถูกยอมรับว่ามีค่าที่สุด ไม่ว่าจะเป็นมงกุฎ ตุ้มหู กำไลต้นแขน กำไลข้อมือ หรือแหวนทั้งหลายเนี่ย รวมไปถึงเข็มขัดต่างๆ ในประติมากรรมเขมรเป็นต้นแบบซึ่งทำให้เราได้เห็นว่ามีการใช้ทองคำสลักดุน ประดับเป็นเครื่องประดับจริงๆถวายองค์เทวรูป นุ่งผ้าให้ และยกผ้าไหมจริงๆถวายให้กับองค์เทวรูป เหมือนกับว่าเป็นมนุษย์จริงๆ

เพราะฉะนั้นงานสลักดุนจะอยู่ในวิถีชีวิตของเราทั้งในลักษณะของเป็นเทพและเป็นลักษณะของเครื่องใช้พระมหากษัตริย์ เพราะถือว่าทรงเป็นสมมุติเทพเหมือนกัน

ต่อมาเครื่องสลักดุนทองหรือเงินต่างๆ ได้พัฒนามากระทั่งอยู่ในวิถีชีวิตของเสนาบดี ข้าราชการ และสามัญชน ในสมัยอยุธยาก็ดี รัตนโกสินทร์ก็ดีเนี่ย เราพบลักษณะของการสลักดุนโลหะมีค่าต่างๆเนี่ยเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างพระปรางค์วัดราชบูรณะที่พระนครศรีอยุธยา เป็นกรุที่แสดงให้เห็นถึงฝีมือของการสลักดุนอย่างเต็มรูปแบบ

เรื่อยมาจนสมัยรัตนโกสินทร์ ชิ้นงานที่สำคัญที่สุดก็น่าจะเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นพระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขันธ์ไชยศรี พระแส้จามรี ฉลองพระบาทเชิงงอน ไม้เท้า หรือทานพระกร วัตถุทั้ง 5 สิ่งนี้ถือเป็นตัวแทนของงานสลักดุนในยุครัตนโกสินทร์ที่สมบูรณ์ที่สุด
  

จากงานสลักดุนสมัยรัชกาลที่ 1 2 3 พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 งานสลักดุนของเราจะเริ่มตกต่ำลง หลังจากเราเปิดประเทศไปคบหาตะวันตก ชิ้นงานต่างๆที่เป็นงานจากต่างประเทศ เป็นตะวันตกพัฒนาเข้ามาเยอะ ประกอบกับเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึง สงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจของโลกจะตกต่ำลงมาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นองค์อุปถัมภ์ในเรื่องของการทำงานสลักดุนก็เริ่มเปลี่ยนมือไป
 

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สถาบันพระมหากษัตริย์ลดบทบาทในการเป็นองค์อุปถัมภ์ในด้านศิลปะทุกแขนง ทำให้งานสลักดุนและงานศิลปะแขนงต่างๆลดน้อยถอยลงไปเป็นจำนวนมาก

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ธนาคารกรุงเทพ เริ่มมาทำงานประกวดศิลปะต่างๆ ถือเป็นการฟื้นฟูศิลปกรรมครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศเกือบจะทุกแขนงแม้จะยังไม่ครบในขณะนั้น

ในเชิงการวิเคราะห์ของเราก็จะมองว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะว่าธนาคารเข้ามาทำบทบาทหน้าที่ในส่วนที่ขาดหายไปในด้านศิลปวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นต้องถือว่าธนาคารกรุงเทพเป็นองค์กรแรกที่ทำในเรื่องนี้ ในเรื่องของการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ในปัจจุบันก็จะมีหน่วยงานต่างๆของราชการก็ดี ของเอกชนก็ดี พยายามที่จะเข้ามาช่วยฟื้นฟูในเรื่องนี้

แต่งานสลักดุนมันต้องใช้โลหะวัตถุที่ต้องมีราคามาก เพราะฉะนั้นคนที่จะอุปถัมภ์ มีกำลังทรัพย์ที่จะจัดจ้างหรือจัดซื้อก็ลดน้อยลง โอกาสครั้งนี้ก็เป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะฟื้นฝีมือขึ้นมา

ในการประกวดครั้งนี้เราจะมี 2 รูปแบบคือแบบประเพณีนิยม ซึ่งประโยชน์ใช้สอยจะน้อยลง เพราะเกี่ยวข้องกับราชสำนัก พิธีกรรมต่างๆ ซึ่งคนทั่วไปก็ไม่สามารถเป็นผู้บริโภคชิ้นงานเหล่านี้ได้

แต่งานสลักดุนอีกประเภทที่เราจัดประกวดด้วยในครั้งนี้ คืองานที่ออกแบบให้ร่วมสมัย คนทั่วไปสามารถบริโภคได้ และสามารถนำไปเป็นประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นในการประกวดครั้งนี้เรามี 2 รูปแบบ ช่างศิลป์ หรือศิลปินที่สันทัดด้านไหน ก็สามารถส่งชิ้นงานเข้าประกวดได้ และการประกวดครั้งนี้เรามีเวลาให้ศิลปินมีเวลาร่วมปีสำหรับการสร้างชิ้นงาน”
ผลงานของ อัฐพล คำวงษ์
>>หลักเกณฑ์การส่งผลงานเข้าประกวด หัตถศิลป์บัวงหลวง ครั้งที่ 1

ผลงานสลักดุนภาชนะโลหะทั้ง 2 ประเภทที่ส่งเข้าประกวด ต้องเป็นงานขึ้นรูปสลักดุน ที่มีขนาดผลงานสูงไม่น้อยกว่า 30 ซม. และกว้างไม่เกิน 150 ซม. ทำจากโลหะต่างๆ เช่น ทองคำ เงิน ทองแดง หรือโลหะอื่นๆ โดยชิ้นงานสามารถใช้วัสดุอื่นเป็นส่วนประกอบได้ไม่เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ ของชิ้นงาน ติดตั้งอุปกรณ์เรียบร้อย พร้อมที่จะนำไปจัดแสดงนิทรรศการได้

ช่างศิลป์เดี่ยว หรือ กลุ่ม มีสิทธิ์ส่งผลงานเข้าประกวดได้ไม่เกิน 3 ชิ้น และเป็นผลงานที่ไม่เคยส่งเข้าประกวดเวทีอื่นมาก่อน

ผลงานของผู้ชนะเลิศทั้ง 2 ประเภท จะได้รับรางวัลเป็นเงิน 200,000 บาท,รองชนะเลิศ อันดับหนึ่ง 150,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับสอง 100,000 บาท

ผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวด สามารถส่งผลงานได้ระหว่างวันที่ 15 - 18 สิงหาคม พ.ศ.2556 เวลา 10.00 - 15.30 น. ณ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ชั้น 29 ถ.สีลม กรุงเทพฯ โทร.0-2230-2560,0-2230-2567 โดยสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.bangkokbank.com

จากนั้นพิธีมอบรางวัลและจัดแสดงผลงานสู่สาธารณชน จะมีขึ้นประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2556 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถ.ราชดำเนิน

Text by ฮักก้า Photo by ธัชกร กิจไชยภณ
คณะนักแสดงจากลำปาง ที่สวมใส่งานสลักดุนภาชนะโลหะแนวประเพณี ผลงานของ วิถี พานิชพันธุ์
Mr.Rolf Von Bueren แห่ง  Lotus  Arts  de  Vive หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน มาร่วมงานพร้อมโชว์เข็มขัดที่สร้างสรรค์ขึ้นเอง
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com, และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail
กำลังโหลดความคิดเห็น