>>แม้วงการนิตยสารหัวนอกจะลุกเป็นไฟ ทั้งจากนิตยสารหัวนอกที่มีอยู่แล้วบนแผงหนังสือและที่กำลังจะเข้ามาอีกหลายฉบับ แต่สำหรับ “กุสุมา ไชยพร” ผู้ผ่านประสบการณ์การทำงานด้านนิตยสารหัวนอกมานาน ก็ไม่หวั่นเดินหน้าลุยนิตยสารหัวนอกสไตล์ฝรั่งเศส “ลอฟฟิเซียล” (L'Officiel) พร้อมเมินเสียงหยามหมิ่นที่ว่า “เธอฤทธิ์เยอะ”
เมื่อเอ่ยชื่อ “กุสุมา ไชยพร” ในวงการนิตยสารรู้จักเป็นอย่างดี เพราะเธอนั่งตำแหน่งบรรณาธิการความงาม ให้กับนิตยสารแอล ฉบับภาษาไทย มานานหลายปี ก่อนที่เธอจะออกมานั่งตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร นิตยสารมาดาม ฟิกาโร่ ฉบับภาษาไทย ด้วยเหตุผลบางประการที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ หลังจากนั้นเธอก็โดดมานั่งตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร นิตยสารที่ได้ขึ้นชื่อว่าทรงอิทธิพลต่อวงการแฟชั่นโลก นั่นคือ ฮาร์เปอร์ส บาซาร์ ฉบับภาษาไทย จนหลายคนและผู้บริหารของฮาร์เปอร์ส บาซาร์ บริษัทแม่ที่สหรัฐอเมริกาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเธอทำบาร์ซาร์ให้มีความเป็นบาซาร์มากที่สุดคนหนึ่งในบรรดานิตยสารฮาร์เปอร์ส บาซาร์ ประเทศต่างๆ ทั่วโลก
แต่แล้ววงการนิตยสารหัวนอกในประเทศไทยก็เกิดข่าวลือกันหนาหูว่า ไก่-กุสุมา ไชยพร ได้โบกมือลา ฮาร์เปอร์ส บาซาร์ ประเทศไทย แล้ว โดยหันมาหุ้นส่วนในการนำเข้านิตยสารหัวนอกเอง นั่นคือ นิตยสารลอฟฟิเซียล สัญชาติฝรั่งเศส ที่จัดจ้านและทรงอิทธิพลต่อวงการแฟชั่นโลกไม่ต่างจากนิตยสารโว้ก
อะไรที่ทำให้เธอต้องย้ายค่ายหลายต่อหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้เธอต้องลุกขึ้นนำเข้านิตยสารหัวนอกมาผลิตเอง! Celeb Online จะพาไปหาคำตอบกัน!?
คุณไก่เริ่มเล่าถึงจุดกำเนิดของนิตยสารลอฟฟิเซียล ให้ฟังว่าเธอรู้จักนิตยสารเล่มนี้มาเป็นเวลานานแล้ว ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส จะว่าไปแล้วนิตยสารเล่มนี้เกิดขึ้นมาพร้อมกับหนังสือโว้ก ในปี 1920 ลอฟฟิเซียลเป็นนิตยสารที่เกิดขึ้นมาด้วยเรื่องราวของความรัก เริ่มจากผู้ชายคนหนึ่งทำงานในสหพันธ์สิ่งทอของฝรั่งเศส เขาคิดอยากที่จะโปรโมตผ้าของฝรั่งเศส จึงออกนิตยสารเล่มนี้เพื่อช่วยอุตสาหกรรมผ้า โดยให้ภรรยาเป็นคนทำ จากนั้นเขาเสียชีวิตลง ภรรยาก็ยังคงทำต่อไป แต่เนื่องจากทั้งสองสามีภรรยาไม่มีลูก จึงได้ขายต่อให้หุ้นส่วน และหุ้นส่วนที่เหลือก็คือครอบครัวชาลู เขายังเป็นผู้ออกแบบฟอนต์หัวนิตยสาร ที่ถูกเปลี่ยนในปี 1947 และได้ส่งต่อให้ลูกสาว ซึ่งมาดามผู้เป็นเจ้าของในปัจจุบันเองก็คลุกคลีอยู่กับแวดวงนิตยสารมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ฉะนั้น ทุกอย่างจึงอยู่ในสายเลือดและสืบต่อกันมาแล้วกว่า 90 ปี
“พี่เคยร่วมงานกับนิตยสารหัวนอกหลายเล่ม ที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้สไตล์การทำงานของแต่ละวัฒนธรรม ถ้าถามโดยส่วนตัวแล้วเราชอบสไตล์ฝรั่งเศส คงเป็นเพราะเราเคยเรียนอยู่ที่นั่นและถูกใจในความงดงามของเขา แต่ต้องบอกก่อนว่าเราไม่เคยลืมบุญคุณใคร ที่ผ่านมานิตยสารทุกเล่มเป็นครู ที่ทำให้เราได้เรียนรู้เยอะมาก และในวันนี้เราก็มาเจอทางที่ตรงกับตัวเอง คือการนำนิตยสารลอฟฟิเซียล นิตยสารชั้นนำจากประเทศฝรั่งเศสมาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ผู้อ่านในเมืองไทย”
คำว่า “ลอฟฟิเซียล (L'Officiel)” ก็คือ Official นั่นเอง ที่ต้องการสื่อถึง de la Couture, de la Mode อันเป็นเรื่องของศิลปะและแฟชั่น โดยประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่ 28 ของโลกที่นำหนังสือหัวนี้มาทำ นอกจากนี้ ก็เตรียมเปิดตัวอีกที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
เบื้องหลังการสร้างลอฟฟิเซียล
อย่างที่ทราบกันว่าก่อนหน้านี้คุณกุสุมาเป็นบรรณาธิการให้กับนิตยสารหัวนอกฉบับหนึ่งมาเป็นเวลาเกือบ 6 ปี แต่ในวันหนึ่งที่เธอประกาศลาออกและทุกคนก็ไม่ได้ยินข่าวว่าเธอไปอยู่ที่ไหนหรือทำอะไร แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือนเธอก็กลับมาพร้อมกับนิตยสารหัวนอกหัวใหม่ในเมืองไทย ทุกอย่างอยู่เหนือความคาดหมายแม้กระทั่งตัวเธอเอง!
“เมื่อก่อนไม่มีแพลนอยู่ในใจ คนมาชวนเรา เขาจะไปลองติดต่อดู แล้วถ้าได้เราต้องมานะ! คุยกันนิดหน่อยแล้วเขาก็ไปเจรจามา เป็นช่วงเวลาที่เราต้องเลือกพอดี จึงเลือกความสบายใจ และความเป็นตัวของตัวเอง จึงมาทำลอฟฟิเซียล
การเซ็ตทีมงานก็ไม่นาน ทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยความรวดเร็ว ใช้เวลาเพียง 3 เดือนในการสร้างทุกอย่าง เราคิดมานานว่าไม่อยากเป็นลูกจ้างไปตลอด พี่อยากจะตัดสินใจได้ การตัดสินใจนี่สำคัญนะ ความเสี่ยงก็สำคัญ ถ้าถึงเวลาแต่เราไม่ตัดสินใจ แทนที่จะเร็วแต่กลับช้า....คนทำนิตยสารต้องมีปรารถนาอันแรงกล้า และต้องมีความรักในสิ่งที่คุณทำ ถ้าคุณคิดแต่จะทำเงินอย่างเดียว ไม่เกิดหรอก คุณต้องรักหนังสือ คุณต้องรักผู้อ่าน ไม่ใช่คุณจะยัดเยียดอะไรให้ผู้อ่านก็ได้
การทำงานที่นี่เราเต็มร้อย เราภูมิใจที่ทางเจ้าของนิตยสารให้ความไว้วางใจ เขาอยากให้เราสร้างแบรนด์กับเขา สนับสนุนเราทุกอย่าง อันนี้แหละทำให้เราดีใจ คนทำงานกับเรา เราก็คาดหวังในมาตรฐานว่า “DNA” ของนิตยสารยังต้องอยู่ ในขณะเดียวกันก็มีสิ่งที่เป็นซิกเนเจอร์ของเราอยู่ เป็นสองอย่างที่บาลานซ์กัน ...ตอนพี่ออกมาจากเล่มเก่า ก็มีข่าวลือเยอะแยะ แต่ก็เรื่องธรรมดา แต่คิดว่าถ้าเราไม่มุ่งมั่นก็ไม่เกิดหรอก”
ความลับของการทำนิตยสาร
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานในวงการนิตยสารหัวนอกนั้นหากจะให้คุณไก่-กุสุมา เขียนเป็นตำราคงหนากว่าเอนไซโคลพีเดียเป็นแน่! จนเธอรู้สึกเสียดายและถ้ามีโอกาสก็อยากจะเป็นผู้ถ่ายทอดสิ่งที่พบเจอมาในชีวิตให้กับคนรุ่นต่อไปได้เข้าใจ
“พี่ว่าการได้เรียนรู้ทุกอย่างของเรา เป็นความลับที่เราค้นพบนะ รู้สึกตัวเลยว่าสุดท้ายแล้วพี่ต้องไปสอนหนังสือ เพื่อถ่ายทอดสิ่งนี้ ตอนนี้พี่รู้ความลับของการทำหนังสือว่า ต้องทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จ! จริงๆ ก็ไม่ใช่ความลับหรอก เพียงแต่ภาพต้องดีที่สุด ไม่ใช่ช่างภาพชื่อดังแต่ต้องมีความสามารถ เราคัดช่างภาพที่มีสไตล์และมีความสามารถ ...เรื่องต้องดีที่สุด เราคัดคนเขียน... การวางภาพต้องดีที่สุด เรามีอาร์ตไดเรกเตอร์ที่ดีที่สุด ...ถ้าจะประสบความสำเร็จต้องมาใน 3 แนวทางนี้
แต่ปัจจุบันนี้มีอีกหนึ่งช่องทางที่เราต้องให้ความสำคัญนะ ก็คือ ช่องทางดิจิตอล สิ่งพิมพ์ยังเป็นสิ่งที่สวยอยู่ แต่ดิจิตอลสมัยนี้ทุกคนอยู่หน้าจอทั้งนั้น เนื้อหาก็ยังคงสำคัญอยู่ เรามีทีมดิจิตอลเอง พี่คิดว่าเราต้องก้าวไปข้างหน้าให้เท่าทันได้ ไม่ใช่ว่าเราพัฒนาไม่เป็น งานหนักเราไม่ว่าแต่เราอยากเรียนรู้ และตอนนี้ทีมงานพี่ก็เป็นทีมแรกๆ ที่จะเรียนรู้เรื่องดิจิตอล
ตัวพี่เองได้เปรียบเพราะทำมาหลายเล่ม ได้ครูมาหลายคน ครูในที่นี้หมายถึงเพื่อนร่วมงาน เราไม่เคยลืมบุญคุณครูเหล่านั้นเลย เป็นความรู้ที่เราหาที่ไหนไม่ได้ นอกจากนี้ คนที่เราเคยสัมภาษณ์ ไม่ว่าจะเป็นเบื้องหลังคนที่ทำแบรนด์ประสบความสำเร็จ คนที่เป็นดีไซเนอร์ เป็นคนที่ช่วยเปิดโลกทัศน์เราอย่างมาก การทำงานเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดของชีวิตเรา...
เราบอกเด็กทุกคนว่าเราเป็นนักข่าว เราต้องฟังทุกเรื่อง ฟังทุกคน ไม่อย่างนั้นเราไม่รู้หรอกว่าเกิดอะไรขึ้นคุณถึงต้องออกงาน คุณต้องนำเสนอนิตยสาร คุณต้องเป็นมิตร และสิ่งที่เรานำเสนอเราก็เสนออย่างเป็นกลาง มีทั้งเรื่องของศิลปะและวัฒนธรรมสอดแทรกอยู่ในเรื่องของแฟชั่น ทุกอย่างเป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ได้
เคยมีประโยคที่ โคโค่ ชาแนล พูด “เรื่องของแฟชั่น ไม่ใช่เรื่องของเสื้อผ้า แต่เป็นเรื่องของวิถีชีวิต” ทุกอย่างเป็นแฟชั่นหมด ความชอบของคน กระแสทุกอย่างในโลกมีอยู่ตลอด เรามีหน้าที่นำกระแสมาถ่ายทอด บางคนอาจมองว่าหนังสือแฟชั่นไร้สาระ แต่หนังสือแฟชั่นสมัยนี้เหนือกว่านั้น ถ้าคุณเป็นผู้หญิงที่อยากอ่านเรื่องไฟแนนซ์ ในนิตยสารเล่มนี้มีให้อ่าน อ่านจบแล้วหากต้องการการพักผ่อนในหนังสือก็จะมีเรื่องจรรโลงใจ ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นกับศิลปะ แฟชั่นกับสถาปัตยกรรม เรื่องราวทุกอย่างอยู่เหนือกฎเกณฑ์เดิมๆ แล้ว การอ่านหนังสือเหมือนเราได้ท่องไปทั่วโลก
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญของการทำหนังสือคือ “One time born” เลยนะ ต้องทำให้เกิดตั้งแต่ปีแรก ถ้าไม่เกิดแล้วปล่อยไปสัก 2-3 ปีจะกระชากขึ้นมาใหม่นั้นยาก จุดยืนเราต้องแข็งแรง”
วงการนิตยสารหัวนอก
สังเกตได้ว่าในระยะหลังมีนิตยสารหัวนอกที่เข้ามาในเมืองไทยหลายฉบับ มีทั้งที่เข้ามาแล้วก็หายไป เข้ามาและยังคงอยู่ และที่กำลังจะเข้ามาอีกหลายหัว แต่สำหรับผู้ที่คลุกคลีอยู่กับการทำงานนิตยสารหัวนอกมาหลายหัวกลับมองว่าเป็นการดีที่นิตยสารเล่มหนึ่งจะเข้ามาในเมืองไทย เพราะทำให้ทุกคนขยับตัวและปรับตัว ส่วนผู้ที่จะได้ประโยชน์ก็คือผู้อ่านนั่นเอง
“นิตยสารหัวนอกที่จะเข้ามาบ้านเรา ตลาดยังไม่เต็มหรอก ตราบใดที่แบรนด์ต่างๆ ยังเข้ามา ตอนนี้โลกเปิดกว้าง ยิ่งมากเท่าไหร่ยิ่งดี เหมือนเป็นการทำให้ทุกประเทศรู้เรื่องความพร้อมของเรา ไม่ใช่ว่าเราเห่อแบรนด์นอก เพราะเราสามารถสอดแทรกแบรนด์ไทยด้วย อย่างเล่มแรกเราเริ่มจากแฟชั่นจากโครงการแม่ฟ้าหลวง เพราะเราเห็นคุณค่าของคนที่ทำวัตถุดิบ ต้องขอบคุณแม่ฟ้าหลวงที่ช่วยให้ชาวบ้านมีงานทำ และทุกฉบับเรายังมีพื้นที่ให้กับผลงานของดีไซเนอร์ไทย ต้องผสมผสานกันไป แต่เรานำเสนอให้ดูสวยเหมือนลุคอินเตอร์ ฉะนั้น ทุกฝ่ายก็จะมีกำลังใจในการทำงาน
เสน่ห์ของลอฟฟิเซียล เป็นอารมณ์ของฝรั่งเศสล้วนๆ แล้วก็มีความเป็นผู้หญิงแฝงอยู่ อีกอย่างคือศิลปะ การจัดวางให้ดูสดใส สนุกเพราะคาแรกเตอร์ของผู้อ่านเล่มนี้คือ ผู้หญิงที่มั่นใจและรู้จักตัวเองว่าต้องการอะไร ผู้หญิงคนนี้หัวใจเด็ก แต่มีรสนิยม จริงๆ แล้วเรื่องของรสนิยมไม่เกี่ยวกับอายุ คุณอาจจะอายุ 18 แต่คุณรู้ว่าคุณต้องการอะไร แล้วมีกำลังซื้อ หรือถ้าไม่มีกำลังซื้อผู้หญิงคนหนึ่งก็มีสิทธิ์ฝันที่จะสนุก อ่านเพื่อดูเป็นแนวทางที่เหมาะกับตัวเอง อีกทั้งยังมีเรื่องบันเทิงอื่นๆ ด้วย และเราก็ยังรักษาเรื่องภาษาที่ใช้ที่ถูกต้อง ไพเราะ สวยงาม
ส่วนตัวคิดว่าลอฟฟิเซียลเหมาะกับคนไทยนะ เพราะคนไทยมีรสนิยม รู้เรื่องแฟชั่น ชอบของสวยๆ งามๆ เก๋ๆ เข้าใจว่าอะไรสวย อะไรดี”
ไก่-กุสุมา ฤทธิ์เยอะ!?
แม้จะอยู่ในวงการนิตยสารหัวนอกมาอย่างสง่าผ่าเผยตลอด 16 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่วายมีเสียงเมาท์ว่า “พี่ไก่เป็นเจ้าแม่ที่ฤทธิ์เยอะ” ยิ่งคราวนี้ออกมาทำลอฟฟิเซียลที่ตัวพี่ไก่เองมีส่วนในการบริหารงานด้วยแล้วยิ่งถูกมองว่า เธอคือเจ้าแม่วงการนิตยสารหัวนอกตัวจริง!!
“ที่จริงมีคนปรามาสเราว่าจะไปได้เหรอ เพราะตลาดนิตยสารในเมืองไทยก็เต็มอยู่แล้ว เราไม่เคยสนใจเลย ใครจะพูดอะไร บางครั้งกลับดีใจซะอีกที่ไม่ได้ยิน เราเองไม่ใช่พระอิฐพระปูนที่ใจแข็ง เราเป็นคนแข็งแรง บางครั้งได้ยินก็เสียใจนิดหน่อย แต่รู้แล้วก็ทำอะไรไม่ได้ อย่างนั้นก็แค่นี้พอ ชาติหน้าไม่ต้องพบกัน เราทำงานไม่คิดจะแข่งกับใคร เราแข่งกับตัวเอง บางคนเราก็เห็นเขาเป็นเพื่อนแต่เขายังพูดถึงเราไม่ค่อยดีเลย เลยคิดว่าคนที่จะดีกับคุณจริงๆ ก็คือครอบครัว อย่าไปหวังอะไรกับคนอื่น
เวลาเหนื่อยเวลาเสียใจพอเรากลับบ้านไปนอนพัก ตื่นขึ้นมาก็เป็นวันใหม่แล้ว อย่าไปเก็บไว้มาก คิดซะว่า “ถ้าคนเขาไม่วิจารณ์เรา ไม่พูดถึงเราแสดงว่าเขาไม่สนใจเรา แต่ถ้าเขาพูดถึงเราแสดงว่าเราสั่นสะเทือนเขาได้เหมือนกัน เป็นดัชนีชี้วัดว่าเรายังแรงอยู่ในตลาด”
การที่เราจะประสบความสำเร็จไม่ใช่ว่าเราจะต้องใช่ครับพี่ ดีครับนาย! เราต้องมีจุดยืนของตัวเอง การที่มีจุดยืนของตัวเองไม่ใช่การมีฤทธิ์เยอะ เราควรจะถกเถียงกันเพื่อความก้าวหน้า แต่คนไทยจะตีความว่า ถ้าเธอมาเถียงชั้น ชั้นจะเริ่มเกลียดเธอ อันนี้มันไม่ก้าวหน้าหรอก คนส่วนใหญ่ใจแคบ คู่แข่งเขามีไว้ให้ลอกความดี อะไรที่ดีก็ดูไว้เป็นแบบอย่าง อะไรที่ไม่ดีอย่าทำ แต่ที่ผ่านมาเรามักพบว่าทุกองค์กรมีปัญหาภายใน แต่พี่ว่าคู่แข่งอยู่ข้างนอกดีกว่านะ อย่าทะเลาะกันข้างในเลย แต่อย่างว่าเราควบคุมความคิดคนไม่ได้ คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ
ฤทธิ์เยอะก็เคยได้ยินมา แต่เราเป็นคนทำงานมาตรฐานสูง เวลาทำงานคือเราทำงานจริงๆ เราไม่ใช่คนใจร้าย แต่เราไม่ยอม หรือว่าเราดูดุเหรอ? (หัวเราะ) แต่พี่ว่าพี่เป็นคนใจกว้างนะ พี่รับฟังทุกคน ไม่เข้าใจว่าทำไมคนมองว่าเราฤทธิ์เยอะนะ อาจจะเป็นเพราะเวลาทำงาน “ไม่ก็คือไม่” แล้วเราก็มาตรฐานสูงซะด้วยคนเลยกลัว”
เมื่อมาถึงจุดนี้พี่ไก่ได้ทิ้งท้ายกับเราไว้ว่าการทำงานในวงการนิตยสาร แม้ใครจะมองว่าเธอฤทธิ์เยอะไม่กลัว เพราะเธอเองคือคนหนึ่งที่ทำงานหนักและเต็มที่กับงาน ฉะนั้น ไม่มีอะไรที่ต้องกลัว! :: Text by FLASH
>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net หรือ App Store ได้แล้วที่ celeb online ipad edition