xs
xsm
sm
md
lg

อย่ามองศิลปินอาเซียนว่าขี้ๆ "เริงศักดิ์ บุณยวาณิชย์กุล" ศิลปินไทยในแดนลอดช่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ART EYE VIEW---อีกไม่นานบรรดา 10 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ไทย, สิงคโปร์, อินโดนีเชีย,มาเลเซีย,ฟิลิปปินส์ ,บรูไน,เวียดนาม, ลาว, พม่า, และ กัมพูชา จะหลอมรวมเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี พ.ศ.2558

มองหาศิลปินไทยที่ไปใช้ชีวิตและทำงานศิลปะอยู่ในประเทศ ซึ่งเป็นสมาชิกของประชาคมนี้ และประสบความสำเร็จในการเป็นศิลปินบนแผ่นดินอื่น เรานึกถึง เบี้ยว - เริงศักดิ์ บุณยวาณิชย์กุล ศิลปินชาว จ.สิงห์บุรี ศิษย์เก่าช่างศิลป์ และเพื่อนร่วมรุ่น คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร ของ ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี,จิตสิงห์ สมบุญ ฯลฯ

เขาผู้พับเก็บรางวัลทางด้านศิลปะอย่าง เหรียญทอง จิตรกรรมบัวหลวง ตลอดจนประสบการณ์เขียนภาพจิตรกรรมไทยในอุโบสถวัดพุทธประทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ไว้เบื้องหลัง ทั้งที่มีมันสามารถการันตีฝีมือและส่งเสริมให้เขาเติบโตได้ในบรรยากาศของบ้านเกิด

เพื่อไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ที่เมืองลอดช่อง หลังจากไปตกหลุมรักนักศึกษาศิลปะ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University)เมื่อครั้งถูกรับเลือกให้ไปเข้าค่ายศิลปะเยาวชนอาเซียนที่ประเทศสิงคโปร์

>>>ลูกเขยศิลปินใหญ่ในสิงคโปร์

ในช่วงเริ่มต้น ชีวิตศิลปินไทยในสิงคโปร์ ของเริงศักดิ์ ดำรงอยู่ได้ด้วยการทำงานศิลปะทุกอย่างเพื่อที่จะมีรายได้ โดยเฉพาะการเขียนภาพม้าขาย

จนเมื่อคิดส่งผลงานเข้าประกวดในเวทีประกวดศิลปะระดับเอเชียที่ประเทศญี่ปุ่น และได้รับรางวัลกลับมา จึงเริ่มมีนักธุรกิจสิงคโปร์และอินโดนีเชีย (LOH TOCK KONG และ ISKANDAR)ก้าวเข้ามาสนับสนุนให้ทำงาน จึงทำให้ผลงานศิลปะของเขาเดินทางไปอยู่ทั่วโลก เนื่องจากถูกนักธุรกิจเหล่านั้นใช้เป็นของที่ระลึกมอบให้แก่กันในยามเจรจาธุรกิจ ขณะที่แวดวงศิลปะเองก็เริ่มหันมาจับตามองผลงานของเขามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งภาพเขียนม้าที่เขาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนตัวเอง ตลอดภาพนางรำ นางละคร ของอินโดนีเชีย และไทย


20 กว่าปีผ่านไป เวลานี้ เริงศักดิ์สามารถใช้ชีวิตได้อย่างที่ศิลปินหลายคนปรารถนา นั่นคือ เลือกที่จะทำงานหรือใช้ชีวิตเดินทางไปไหนมาไหนก็ได้ตามใจอยาก

แต่กว่าที่ชีวิตศิลปินของเขาจะเดินทางมาถึงวันนี้ได้ วันที่ ผลงานของเขาถูกซื้อไปติดบนผนังของบ้านเศรษฐีและอยู่ในมือของนักสะสมศิลปะหลายราย ทั้งในไทย และต่างประเทศ ได้แก่ ศุภโชค อังคสุวรรณศิริ,บุญชัย เบญจรงคกุล,กมลา สุโกศล ฯลฯ อีกทั้งถูกนำขึ้นประมูลใน งานประมูลศิลปะครั้งสำคัญ

มันไม่ใช่เพราะว่าเขาได้รับการสนับจากหน่วยงานทางด้านศิลปะหรือรัฐบาลของประเทศที่เขาไปลงหลักสร้างครอบครัวที่นั่น

แต่เป็นเพราะบรรยากาศภายในครอบครัวที่ส่งเสริมให้ทำงานศิลปะได้ เนื่องจากเขามีพ่อตา(CHOO KENG KWANG)เป็นศิลปินใหญ่และมีภรรยา(CHOO AI LOON ; ANGELINE)เป็นคนทำงานศิลปะเช่นกัน

“ มันจึงไม่มีแรงกดดันเรื่อง ต้องออกไปหาเงินสิ ทำให้เราได้อยู่กับการคิดเพื่อทำงานศิลปะตลอดเวลา เพราะว่าสภาพแวดล้อมมันให้”


>>> หน้าตาของประเทศ ต้องมาก่อน

ในฐานะที่ถูกแวดวงศิลปะในสิงคโปร์ยกให้เป็น ศิลปินสิงคโปร์คนหนึ่งเช่นกัน และบ่อยครั้งที่ถูกเสนอชื่อให้ได้รับรางวัล Merlion Awards สาขาศิลปะ ซึ่งเทียบเท่า ศิลปินแห่งชาติ ของบ้านเรา แต่มักถูกเขี่ยออกในรอบสุดท้าย ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นคนไทย

เริงศักดิ์ แสดงทัศนะว่า การส่งเสริมและดูแลศิลปินในบ้านของตัวเอง สิงคโปร์ยังไม่ก้าวหน้าไปไหน ขณะที่รัฐบาลกล้าทุ่มเงินหลายสิบล้าน ซื้องานศิลปะศิลปินชื่อดังจากต่างประเทศมาประดับประดาบ้านเมือง


“ดีในเรื่องการทำเพื่อหน้าตาของประเทศ แต่การสนับสนุนดูแลศิลปินยังไม่ดี ศิลปินสิงคโปร์ก็มีบ่นให้ฟังเหมือนกันว่าทำรัฐบาลไม่สนับสนุน อาจจะสนับสนุน แต่มันสนับสนุนเป็นหย่อมๆ

ขณะที่การออกาไนซ์เก่งมาก ไม่งั้นมันจะเอาซิตี้ฮอลล์ มาทำได้เหรอ สิงคโปร์กำลังมี เนชั่นแนล มิวเซียม ใหญ่โตยังกะของฝรั่ง เพราะเอาซิตี้ฮอลล์เดิมมาทำมิวเซียม เหมือนพวกเนชั่นแนลมิวเซียมที่ลอนดอนเลย ใกล้จะเสร็จแล้ว

คนสิงคโปร์รวมหัวกันพัฒนาประเทศ เพราะว่าเมื่อก่อนเค้าไม่มีอะไร เมื่อ 20 ปีก่อน ผมไปสิงคโปร์ นั่งฟัง ลีกวนยู พูดปาฐกถาออกทีวี ความรู้สึกที่ฟังในตอนนั้น รู้สึกว่าไอ้นักการเมืองมันก็ชั่วกันทุกประเทศแหล่ะวะ เราคิดอย่างนั้น

เค้าพูดว่า เราต้องพัฒนาประเทศให้ไปไกลกว่าประเทศทั้งหมด 20 ปี wii be hub of asia ฟังไปก็ด่าไป ...ไอ้ขี้โม้ แต่มาถึงตอนนี้ต้องยอมแล้ว เพราะมันทำจริงๆ “
อพาร์ทเม้นท์ที่สิงคโปร์
ชิ้้นนี้ ยังเขียนไม่เสร็จ รอเวลาไปติดผนังบ้าน คุณป้อม เจ้าของ บริษัท บีทาเก้น
>>> ศิลปินไทย ไม่มีโอกาสที่จะมีศักดิ์ศรี

แต่การเป็นศิลปินไทยในสิงคโปร์ก็เป็นเรื่องดีตรงที่ทำให้เขาไม่ถูกควบคุม โดยนักสะสมศิลปะชาวไทย ที่ข้อมูลของราคางานศิลปะมักจะรับรู้ถึงกันหมด

“ ที่เมืองไทยเวลาจะขายรูป นักสะสมเห็นหน้ารู้จักกันหมดเลย จะรู้ข่าวตลอด ว่าคนนี้ขายภาพนี้ให้คนนี้เท่าไหร่ แล้วจะไม่ซื้องานเราในราคาที่แพงขึ้น ยกเว้นบางคนที่ไม่เกี่ยงเรื่องเงิน

ผมว่าศิลปินไทยลำบาก จะถูกนักสะสมควบคุมไปในตัว เพราะว่าเขาต้องการซื้อถูก แต่เป็นผมไม่ใช่แล้ว เพราะเรามีตลาดข้างนอก ไม่สนยังไง ผมก็ต้องทำงานของผม

เพราะงานของผมมีคนต้องการทั้งตลาดประมูล ตลาดออเดอร์ และงานที่เป็นการจัดการ สิงหาคมปีหน้า ผมก็วางแผนไว้แล้วว่า จะแสดงงานที่ MOCA สิงคโปร์ คนจัดการ (ALI KUSNO)เขาให้เขียนงาน 5 เมตร 5 ชิ้น และมีการทำประวัติอ้างอิงถึงงานเก่าๆที่เคยทำมา

ผมได้เปรียบแม้กระทั่งคนสิงคโปร์ แล้วผมก็ได้เปรียบคนไทย ศิลปินไทย ไม่มีโอกาสที่จะมีศักดิ์ศรี เพราะทุกคนต้องทำงานให้ได้เงิน ถ้าคนรวยอีกเรื่องนึง แต่ไอ้ศิลปินที่รวยมันก็ทำงานห่าอะไรไม่รู้ แต่ไอ้ที่ทำงานดีๆมันจน แล้วศักดิ์ศรีก็จะหมดไป เพราะไม่มีเงิน แล้วยังมาเจอนักสะสมศิลปะที่มีทั้งที่ดีๆ เลวระดับกลาง เลวระดับเลวมาก หรือแม้แต่หักกันแบบดิบๆก็มี ผมเจอมาหมด”
พ่อตา
ภรรยา กับผลงานของเธอ
>>>อย่ามองศิลปินอาเซียนว่าขี้ๆ

การ ที่ 10 ประเทศในอาเซียน จะหลอมรวมเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในอีกไม่ช้า ในทัศนะของเริงศักดิ์ อาจมีผลดีในแง่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน เพื่อทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน

“การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โอเคมันอาจจะมีการออกาไนซ์ มีการแลกเปลี่ยน หรืออะไรก็แล้วแต่ หรืออาจจะการร่วมมือกันมาทำเวิร์คชอป ส่งผลดีในแง่ที่ทำให้ทุกคนได้เปิดหูเปิดตาไปดูกัน

เคยสังเกตไหมว่า คนไทยจะไม่มองศิลปะในอาเซียน จะมองไป อเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ โอเค เราไปมองเขาได้ แต่หันมามองประเทศอาเซียนบ้าง อย่าไปมองอินโดฯ ว่าเป็นประเทศหมู่เกาะป่าเถื่อนนะ หรืออย่าไปมองประเทศอื่นๆในอาเซียนว่าเป็นขี้ๆ

เพราะความจริงเขามีดีกว่าเราเยอะ เมื่อก่อนผมก็ศิลปากรนิยม ชาตินิยม ตอนไปอยู่สิงคโปร์ใหม่ ๆมึงคิดว่าเมืองไทยดี พอดูเข้าไปลึกๆ ไม่ใช่นี่หว่า อย่างไปอินโดฯ ตั้งคำถามว่าทำไม มันเขียนรูปแบบนั้น อ๋อ ..ก็ชีวิตมันเป็นแบบนั้นนี่หว่า ศิลปะของเขา มันเริ่มมาก่อนเรานะ

ของเรายังเพิ่งมาเริ่มในยุคอาจารย์ศิลป์(พีระศรี) แต่ของเขาเริ่มมา 200 ปี แล้ว ตั้งแต่ยุคที่ รัสเซียนเข้ามา ต่อด้วย ศิลปินฝรั่งชื่อดังอีกหลายคน เขาก้าวหน้ากว่าเราเยอะ ไม่ใช่เรื่องธรรมดา และคนอินโดฯ เขาศรัทธาศิลปิน ถ้าบอกว่าเราเป็นศิลปิน โอ้โห ไม่เหมือนในเมืองไทย ศิลปินทำอะไรแดก ขายงานได้เปล่า ”



>>>เคล็ดลับสู่การเป็นศิลปินดัง

อย่างไรก็ตาม การจะเป็นประชาคมอาเซียนหรือไม่เป็น ไม่มีผลกับคนทำงานศิลปะเช่นเขา มากมายเท่าใดนัก

“เพราะการทำงานศิลปะ หัวใจจริงๆก็คือคนทำงาน อย่างที่มีรุ่นน้องมาถามผม ว่า พี่..การที่จะเป็นศิลปินดังต้องทำยังไง ใบ้แดกสิ เพราะผมเหมือนขี้ลอยน้ำ ชีวิตผมไม่เคยจัดการห่าอะไรเลย ซื้อพระก็โดนโกง คนมาพูดดีๆหน่อยก็เจอคนโกหกแล้ว มีการจัดการชีวิตที่เส็งเคร็งมาก

รุ่นน้องถามต่อว่า เวลาผมแสดงงานผมต้องส่งสูจิบัตร ไปที่มิวเซียมทั่วโลกไหม ผมตอบว่า ถ้างานคุณเป็นขยะ ส่งไปเขาก็ทิ้งขยะ จริงไหม ต้องมาดูที่ตัวเองว่า เราเข้าใจศิลปะ แล้วทำมัน และถ่ายทอดมันได้ดีขนาดไหน ทำตัวเราให้ดีก่อน

เพราะก่อนหน้านี้ ผมนั่งเขียนภาพขาย เขียนงานติดโรงแรม ไม่ได้หวังอะไรมาก จนเกิดความรู้สึกว่า กูไม่มีศักดิ์ศรีเลย ต้องมานั่งเขียนรูปใบละ 500 เหรียญ โอเค 4-5 รูป หนึ่งวันได้เงิน 3,000 - 4,000 เหรียญ ก็จริง แต่ความรู้สึกว่ากูไม่มีศักดิ์ศรีเลย มันทำให้เราสร้างโอกาสให้ตัวเอง ส่งงานเข้าประกวด พอได้รางวัลมา มีคนมาเห็นศักยภาพของเราปุ๊บ เราก็บอกตัวเองว่า กูเอาจริงนะ กูไม่ใช่หมาจนตรอกแล้ว”

ภาพโดย : สันติ เต๊ะเปีย
>>หนึ่งเสียงของคุณมีความหมาย ใครคือศิลปินไทย ที่คุณชื่นชอบ ใน “ชีวิต” และ “ผลงาน”<<

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com,เซคชั่น LIVE ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการวัน และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น