จัดเป็นประจำทุกปี สำหรับรางวัล “ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” รางวัลเพื่อเชิดชูบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นแบบอย่างของการทำงานสร้างสรรค์และอุทิศตนเพื่อสังคม อันก่อให้เกิดการพัฒนาชีวิตของคนในสังคมต่อไป
สำหรับบุคคลที่ได้รับ รางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ครั้งที่ 9 ปีพุทธศักราช 2555 นี้ ได้แก่ เดชา ศิริภัทร นักคิดนักพัฒนา ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ในฐานะผู้ขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ผู้ประกาศว่า “จะอุทิศตนเองและการทำงานขององค์กรเพื่อทำงานใช้หนี้บุญคุณของชาวนาตราบจนบั้นปลายของชีวิต” ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่น พัฒนาพันธุกรรมข้าวและพืชพื้นบ้าน วิจัยและพัฒนาผลกระทบของสารเคมีทางการเกษตร ตลอดจนค้นหาทางเลือกร่วมกับเกษตรกรในการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี
ชีวิตและงานของเดชา หรือที่บุคคลธรรมดาทั่วไปเรียกกันว่า “อาจารย์เดชา” หรือ “ลุงเด” ของนักเรียนแห่งโรงเรียนชาวนา ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ผู้หันเหชีวิตจากลูกหลานเศรษฐีใหญ่ชาวสุพรรณบุรีสู่ชีวิตนักพัฒนาอิสระ กว่า ๒๐ ปีที่คุณเดชาสละความร่ำรวยและความสุขสบายส่วนตัว เพื่อดำเนินชีวิตตามปณิธานในการทำสิ่งที่ตนเองเชื่อว่าดีทั้งต่อตนเองและสังคมส่วนใหญ่ นั่นคือการทำเกษตรอินทรีย์และใช้วิถีชีวิตพอเพียง ด้วยหลักการสอนที่เรียกว่า “ทำเพื่อสอน” คือลงมือทำให้ดู อยู่ให้เห็น เพื่อพิสูจน์ให้เกษตรกรคนอื่นเห็นว่า การใช้ชีวิตพอเพียงและการทำเกษตรแบบปลอดสารเคมีนั้นเป็นวิถีชีวิตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
เขาเริ่มทำงานในโครงการเพาะพันธุ์ปลาระดับหมู่บ้านกับสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม (ATA) เมื่อปี พ.ศ.2527จนต่อมาได้แยกตัวออกมาตั้งองค์กรพัฒนาเอกชนชื่อ “ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม” เมื่อปี 2532 และภายหลังจากที่ทำนาแบบปลอดสารเคมีและพัฒนาพันธุ์ข้าวมานาน ในปี พ.ศ. 2541 เดชาจึงได้จดทะเบียนมูลนิธิข้าวขวัญ ดำเนินงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่น พัฒนาพันธุกรรมข้าว และวิจัยผลกระทบของสารเคมีทางการเกษตร โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรและชุมชนมีการเรียนรู้จากความรู้ภายนอก และฟื้นฟูความรู้ดั้งเดิมมาจัดการอย่างบูรณาการเพื่อให้เกิดระบบการเกษตรที่อนุรักษ์ ฟื้นฟูธรรมชาติ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
แม้สิบปีแรกของการทำงาน เดชาต้องพบเจอกับอุปสรรค โดนกระแสต่อต้านจากชาวนาที่ขาดความรู้ความเข้าใจเพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ในจังหวัดสุพรรณบุรีทำนาแบบใช้สารเคมีและมีระบบรับจ้างทำนา ทั้งเลือกรับข้อมูลด้านเดียวจากบริษัทขายปุ๋ย และเชื่ออย่างฝังใจว่าเกษตรอินทรีย์สู้การใช้สารเคมีไม่ได้ ทั้งปัญหาจากภาครัฐที่มองข้ามความสำคัญและยังเข้าไม่ถึงวิถีชีวิตของชาวนาอย่างแม้จริง แต่ด้วยความมุ่งมั่นในการรณรงค์ค้นคว้าเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรยั่งยืนมาอย่างยาวนาน วันนี้งานที่เดชาก่อร่างไว้จึงส่งผล จุดประกายให้ชาวนาได้หันกลับมามองวิถีการทำนาของตนเองว่าเดินมาถูกทางหรือไม่ เขาเข้าคลุกคลีทำงานกับเกษตรกร และค่อยๆเปลี่ยนกระบวนทัศน์จนชาวนาเลิกใช้ปุ๋ยและสารเคมี หันเข้าหาเกษตรกรรมธรรมชาติ ซึ่งเป็นวิถีที่เรียบง่ายและยั่งยืนกว่า ที่สำคัญกว่านั้นคือ เขายังสร้างความมั่นใจให้ชาวนาหันมาตระหนักในคุณค่าของตนเอง ในเกียรติภูมิของวิถีชีวิตเกษตรกรที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ
ทุกวันนี้หากมีคนถามเดชาในวัย 60 กว่าปีว่า เหนื่อยไหมกับการทำงานที่ต้องสู้กับหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายนายทุนและทางราชการ เดชาจะตอบเสมอว่า
“ไม่เหนื่อยหรอก เราต้องรู้เป้าหมายชีวิตของเรา ถ้าแค่ทำเพื่อตัวเองก็ไม่ยากเท่าไหร่ เมื่อเรารู้เท่าทันก็อาจปลีกวิเวกไปหาความสุขเฉพาะตนได้ แต่เรายังทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะยังมีอุเบกขาไม่พอ คือเห็นแล้วยังทนไม่ได้ เมื่อเห็นปัญหาที่รู้ว่าเราพอจะช่วยได้ การช่วยคนอื่นไม่ใช่ว่าเราจะทุกข์ แต่ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ทำให้ได้ประโยชน์ตน-ประโยชน์ท่าน เป็นการปฏิบัติธรรมขั้นสูง”
สิ่งที่เดชาทำไม่เพียงเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน เกษตรกร และชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม หากแต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในการดำเนินชีวิต และเป็นการส่งต่อภูมิปัญญาอันเป็นรากฐานที่ยั่งยืนของสังคมอีกด้วย
Text by : ASTV ผู้จัดการรายวัน: สังคม-สตรี
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net