xs
xsm
sm
md
lg

หลากมุมมอง หลายความชื่นชอบ พ็อกเกตบุก & E-Book

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัจจุบันกระแสของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Book กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นทั่วโลก ซึ่งเว็บไซต์ Amazon.com ผู้ให้บริการด้านการขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต หรือ E-Commerce เผยว่า หลังจากที่จำหน่าย E-Book มาเป็นเวลา 4 ปี ขณะนี้ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์สามารถทำยอดขายแซงหน้าหนังสือที่ตีพิมพ์ด้วยกระดาษแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ปีที่ผ่านมา
สำหรับในเมืองไทย อาจจะยังเป็นช่วงเริ่มต้นสำหรับ E-Book ซึ่งถือว่าตลาดยังเล็กและจำกัดวงอยู่เฉพาะกลุ่ม แต่ก็นับเป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง ทว่าความเข้มแข็งของตลาดสื่อสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะ สำนักพิมพ์ชั้นนำต่างก็มีจุดยืนเป็นของตัวเอง โดยบางสำนักพิมพ์ก็เริ่มปรับตัวเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย บางสำนักพิมพ์ก็ยังคงความคลาสิกแบบดั้งเดิม ดังนั้นวันนี้เราจึงขออัปเดตความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละสาขาว่าแต่ละท่านมีความเห็นกันอย่างไรบ้าง


เริ่มที่ ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สนพ.ดีเอ็มจี บอกว่า ทางสำนักพิมพ์สนใจเรื่องE-Book และเริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกที่เปิดมิติใหม่ให้กับวงการหนัง โดยครั้งแรกได้บรรจุหนังสือธรรมะ ลงไปใน E-Book และให้ดาวน์โหลดฟรีจนได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ต่อมาจึงเป็นหนังสือพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมไปถึงหนังสือหมวดบริหารและพัฒนาตนเอง จนถึงขณะนี้ หนังสือหมวดธรรมะและจิตวิทยาของสำนักพิมพ์ สามารถทะยานติดอันดับขายดีแล้วหลายเล่ม ผนวกกับเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างมาก จน สนพ.ดีเอ็มจี ต้องพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อรองรับการเติบโตของ E-Book
โดยที่ผ่านมา สนพ.ได้เปิดให้บริการดาวน์โหลดหนังสือฟรีทางเว็บไซต์ www.dmgbooks.com ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี อาทิ หนังสือกลยุทธ์น่านน้ำสีขาว (White Ocean Society) ที่มีการดาวน์โหลดสูงถึง 1.4 แสนครั้ง ขณะที่ยอดขายหนังสืออยู่ที่ 50,000 เล่มเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดนี้มีความต้องการและพร้อมสำหรับเทคโนโลยีใหม่ของโลกแห่งการอ่านแล้ว
ดังนั้นดนัยจึงตัดสินใจนำพาสนพ.ก้าวไปพร้อมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยด้วยการลงทุนพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อตอบสนองกลุ่มผู้อ่าน

ขณะที่หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตโปรแกรมสร้างหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Book ภายใต้ชื่อโปรแกรม I Love Library ของ นิทัศน์ มณีศิลาสันต์ กก.ผจก. บริษัท โอเพ่นเซิร์ฟ จำกัด บอกว่าตลาด E-Book ในต่างประเทศค่อนข้างโตมานานแล้ว โดยในเอเชียประเทศที่บูมที่สุดคงหนีไม่พ้นญี่ปุ่น ขณะที่ประเทศไทยนั้น คาดว่าตลาด E-Book ในปี 2555 นี้จะโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากรัฐบาลเริ่มแจกแท็ปเลทให้เด็กได้ใช้กันแล้ว จะส่งผลให้ตลาด E-Book ในบ้านเรามีการเติบโตมากขึ้นอย่างแน่นอน ประกอบกับเทคโนโลยีของไอแพดทั้ง apple และ Samsung ช่วยให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น จนกลายเป็นว่า E-Book เป็นตัวผลักดันที่ทำให้สำนักพิมพ์แต่ละแห่งต้องก้าวกระโดดเข้ามาในตลาดของนี้กันมากขึ้น เพราะพฤติกรรมของผู้ซื้อเริ่มเปลี่ยนไป ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ารูปแบบตลาดของการขายหนังสือหรือสื่อสิ่งพิมพ์บ้านเราภายใน 2 ปีข้างหน้านี้ มีสิทธิ์พลิกโฉมอย่างแน่นอน
“คงเพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่อยู่กับเทคโนโลยีแทบตลอดเวลา ทำให้ลูกค้าคิดว่าการอ่านหนังสือบน E-Book เป็นสิ่งที่ง่ายและสะดวกกว่าที่จะต้องพกพาหนังสือเป็นเล่ม บางเล่มมีขนาดหนา และใหญ่เกินความจำเป็น เมื่อเทียบกับ E-Book ทั้งลูกเล่นรวมถึงรูปแบบที่แปลกใหม่ สวยงามกว่าหนังสือที่ต้องพกติดตัวไปไหนต่อไหน แถมราคาค่อนข้างแพงด้วย ที่สำคัญ E-Book ยังทำให้ผู้ที่อยู่ต่างแดนได้โหลดอ่าหนังสือที่ตนเองชื่นชอบมาอ่านได้เลย โดยที่ไม่ต้องสั่งซื้อ แล้วต้องรอกว่าจะได้อ่านแต่ละเล่ม” นิทัศน์ กล่าวเสริม

แต่ที่น่าแปลกใจคือสำนักพิมพ์แจ่มใสซึ่งกลับคิดต่างในเรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่กลุ่มคนอ่านส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่รับรู้เรื่องเทคโนโลยีได้ง่ายและเร็วกว่า โดย ศศกร วัฒนาสุทธิวงศ์ ตัวแทนสำนักพิมพ์ฮอตฮิตขวัญใจวัยรุ่น ยอมรับว่าสนพ.แจ่มใสก็สนใจเรื่องE-Book เช่นกันแต่กลับมองว่ายังเป็นกระแสที่ไม่แรงมาก
“สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ถือว่ายังไม่ใช่พฤติกรรมที่แท้จริงของคนไทย สนพ.แจ่มใส จึงคิดว่า ยังไม่อยากกระโดดลงไปกระตุ้นตลาดตรงนั้น แต่ในอนาคตข้างหน้าหากต้านกระแส E-Book ไม่ได้ก็ต้องทำตามความพึงพอใจของผู้อ่าน ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่เร็วๆ นี้อย่างแน่นอน อย่างน้อยก็น่าจะ 4-5 ปีข้างหน้า และทาง สนพ. แจ่มใส จะพยายามคงความเป็นรูปเล่มของหนังสือให้ถึงที่สุด “
ซึ่งสนพ.แจ่มใสเชื่อมั่นว่าเมื่อกระแส E-Bookที่แท้จริงเกิดขึ้นในเมืองไทยเมื่อใด ทางสนพ.พร้อมที่จะกระโดดลงไปเล่นด้วย ด้วยศักยภาพและฐานผู้อ่านของแจ่มใส เขาเชื่อว่าคงจะทำให้ตลาด E-Book เติบโตได้อีกมาก
แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญคือ ทางสนพ.แจ่มใสยังต้องการเก็บเสน่ห์ของ “หนังสือเล่ม” เอาไว้ตราบนานเท่านาน โดยเฉพาะหนังสือประเภท “นิยาย” หรือ “วรรณกรรม” สิ่งเหล่านี้เข้ากับการอ่านที่เป็นกระดาษมากกว่าที่จะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ และหากให้มองจริงๆ ตลาดของ E-Book จะเด่นในด้านของหนังสือประเภท How to ขณะที่ “นิยาย” หรือ “วรรณกรรม” นั้นมีเสน่ห์ในความเป็นรูปเล่ม จับต้องได้ และนักอ่านส่วนใหญ่ของแจ่มใสเองก็มักจะชอบเก็บนิยายที่เป็น “บ็อกเซ็ท” มีแพคเก็จสวยงาม เมื่อไปอยู่ในชั้นหนังสือจะโดดเด่นให้ความรู้สึกในแบบที่อิเล็กทรอนิกส์ไม่สามารถทำได้ สิ่งนี้จึงเป็นเสน่ห์ที่ E-Book แทนที่ พ็อกเกตบุก ไม่ได้เลย

เฉกเช่นเดียวกันกับสุดยอดนักอ่านของเมืองไทย อย่างอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน ผู้ซึ่งชื่นชอบอ่านหนังสือมากชนิดที่ว่าว่างเมื่อไหร่เป็นต้องหยิบจับหนังสือเล่มโปรดมาอ่านทุกที โดยเฉพาะหนังสือประเภทนวนิยาย, บทความ, หนังสือประวัติศาสตร์ รวมถึงชีวประวัติคนดัง มองว่า ส่วนตัวแล้วไม่ชอบ การอ่านหนังสือผ่าน E-Book ด้วยเหตุผลว่าไม่ได้อารมณ์ หากจะทำให้เวลาที่อ่านหนังสือแล้วได้อารมณ์ ต้องจับหนังสือควบคู่ไปด้วย ซึ่งจุดนี้ถือเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งที่ดึงดูดให้ผู้อ่านมีสมาธิในการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น และอีกอย่างหนังสือสมัยนี้ถูกออกแบบมาอย่างดีคู่ควรแก่การเก็บสะสม
นี่เป็นเพียงเสียงเล็กๆ ที่มีมุมมองความคิดเห็นที่แตกต่าง ทั้งชื่นชอบ และไม่ชื่นชอบ กับวิวัฒนาการทางโลกเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง ในฐานะนักอ่านผู้เสพโลกาภิวัฒน์ที่ล้ำสมัย อยู่ที่ว่าเราจะ “หยุดนิ่ง” หรือ “เดินตาม” กับโลกที่หมุนไปตลอดเวลาจนตามแทบจะไม่ทันในเวลานี้

Text by : ASTV ผู้จัดการรายวัน: สังคม-สตรี

 
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
กำลังโหลดความคิดเห็น