xs
xsm
sm
md
lg

คิดบวก VS อุทกภัย ตอน ห่วงสมบัติ-บ้าน-รถ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

By Lady Manager

ป็นที่ทราบกันดี ว่าสถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ในช่วงนี้ค่อนข้างหนักหน่วง บั่นทอนจิตใจ สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้คนได้ไม่น้อย ทั้งห่วงสมบัติ, ห่วงบ้าน , ห่วงรถ พาลให้เกิดความเครียดสะสม เลยเถิดถึงขั้นทะเลาะกับสามี หรือคนใกล้ตัว ก็มีให้เห็นบ่อยไป

เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังใจ ร่วมฝ่าฝันวิกฤติมวลน้ำทะลักครั้งนี้ เราเลยจัดเต็มมาให้ กับข้อคิดและกำลังใจดีๆ ที่ส่งผ่านมาจากจิตแพทย์สาว หมอแอร์-พ.ต.ต.หญิง อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล ประจำโรงพยาบาลตำรวจ โอกาสนี้ นอกจากคุณหมอคนสวยจะมาให้กำลังใจสู้ภัยน้ำท่วมแล้ว เธอยังใจดี มาช่วยตอบพร้อมให้แนวทางแก้สารพันปัญหาความเครียด ที่คุณสาวๆ มักพบเจอในสภาวะน้ำท่วมแบบนี้ด้วยค่ะ

“ในสภาวะน้ำท่วมแบบนี้ หมอว่าทั้งผู้หญิงผู้ชาย ต่างก็เครียดเหมือนกันหมด ทั้งเครียดเรื่องห่วงสมบัติ กลัวจะสูญเสียข้าวของเครื่องใช้ โดยเฉพาะคุณผู้หญิงเขาก็จะมีของเยอะ เสื้อผ้าเยอะ, รองเท้าเยอะ, เครื่องประดับก็เยอะ ถ้าหากเจอน้ำท่วม บางครั้งของที่เสียไปมันก็จะเยอะกว่าคุณผู้ชาย ตรงนี้ก็เลยทำให้เกิดความเครียดและกังวล ส่วนหนึ่งหมอว่า ตรงนี้ที่เครียดกันก็เพราะเราคาดเดาไม่ได้ ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า น้ำจะท่วมมากท่วมน้อยขนาดไหน

ซึ่งระดับความเครียดนี้ ก็แล้วแต่ความเข้มแข็งทางจิตใจของแต่ละคน บางคนมีบุคลิกที่ช่างกังวล ปกติก็เป็นคนที่ชอบกังวลมากอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอเรื่องนี้ ก็จะยิ่งกระตุ้นความเครียดได้ดี แต่บางคนในเวลาปกติก็ไม่ค่อยเครียด ไม่กังวลมาก มีอะไรก็ลุย เขาก็อาจจะรู้สึกว่ามีความกังวลเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยเท่านั้น”

คุณหมอแอร์ เกริ่นนำ ถึงปัญหาความวิตกกังวลใจที่มากับภาวะน้ำท่วม ก่อนจะเริ่มลงลึกถึงประเด็นคำถาม เรื่องความเครียด ที่สาวเราพบเจอได้บ่อยในยามเกิดอุทกภัยแบบนี้


Question: ห่วงสมบัติ กลัวทรัพย์สินเสียหาย จนเครียดถึงขั้นนอนไม่หลับ ?

Answer: “เครียดจากการห่วงสมบัติ, ห่วงรถ, ห่วงบ้าน, ห่วงเฟอร์นิเจอร์(furniture) สำหรับผู้หญิงอยากจะแนะนำว่าให้ตั้งหลักตั้งสติดีๆ และให้ลองมองภาพเหตุการณ์โดยรวม เหมือนออกมาจากเหตุการณ์นั้น แล้วย้อนกลับไปมองดู เพราะบางทีถ้าเรามัวแต่จมอยู่กับปัญหา จมอยู่กับเหตุการณ์ มันจะทำให้ตันไปหมด นึกอะไรไม่ออก ลองถอยกลับ แล้วลองย้อนมองกลับไปมองสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้น

อันดับแรกที่ทำให้คนกังวลคือ พฤติกรรมคิดไปก่อนล่วงหน้า กังวลไปก่อนล่วงหน้า กังวลไปเยอะ ซึ่งอันนี้ทำให้เราความเครียดได้ โดยเฉพาะเวลาแบบนี้ บางทีเราก็มีญาติพี่น้อง มีเพื่อนๆ ที่เป็นห่วงเรา คนที่ไม่ได้อยู่พื้นที่น้ำท่วมเขาก็จะเป็นห่วงเรา อาจจะโทรมาถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง น้ำถึงไหนแล้ว ซึ่งตรงนี้บางทีมันเป็นการกระตุ้นเร้าให้เกิดความกังวลได้ บางทีเจ้าตัวอาจจะไม่ได้กังวลอะไร แต่พอมีเพื่อนมีญาติมาถามเยอะๆ ก็อาจจะเกิดความกังวลได้ หมอแนะนำว่า ถ้าเกิดเพื่อน หรือญาติโทรมา ก็ให้รับแค่ความปรารถนาดีของเขา ไม่ต้องเอาความห่วงใยเขามากระตุ้นตัวเองให้เกิดความกังวล

ต้องตั้งหลักดีๆ ค่ะ มองดูแล้วคิดเสียว่า มันเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติ ทั่วโลกก็เกิดกันทั้งนั้น ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ก็คือ ประเทศไทยเป็นประเทศที่เกิดภัยธรรมชาติค่อนข้างน้อย ถ้าเทียบกับญี่ปุ่น เจอสึนามิ เขาเสียหายมากกว่าเรา ฟิลิปปินส์ เจอภูเขาไฟระเบิดเสียหาย บาดเจ็บล้มตายมากกว่าเราด้วยซ้ำ อันนี้คนไทยก็ยังนับว่าโชคดี คือภูมิประเทศเราก็ยังมีข้อดีมากกว่าหลายๆ ประเทศ อย่างน้ำท่วม นานทีถึงจะเกิด และเราก็ ไม่ได้เจอหนักๆ มาเป็นสิบปีแล้ว

ส่วนเรื่องการห่วงสมบัติ เกรงว่าทรัพย์สินจะเสียหายนั้น หมอว่าถ้าเราตั้งหลักดีๆ การป้องกันความสูญเสียเอาไว้ก่อน มันก็ช่วยบรรเทาความกังวลได้ คือตอนนี้ไม่มีใครคาดเดาอะไรได้ ไม่รู้ว่ามันจะเกิดมากหรือน้อยแค่ไหน เราก็ป้องกันเท่าที่เรากันได้ เช่น ถ้ารู้ว่าน้ำจะมาแน่ๆ อาจจะขนสมบัติข้าวของไว้ชั้นบน หรือสมบัติชิ้นไหนรักมากๆ ห่วงมากๆ ก็หาที่เก็บดีๆ

แต่ผู้หญิงส่วนมาก มักจะมีอารมณ์ของชิ้นนั้นก็รักมาก ของชิ้นนี้ก็หวงมาก ซึ่งตรงนี้หมอว่าคงต้องถึงเวลาแล้วล่ะ อาจจะต้องตัดใจ และดูว่าอะไรมันคือสิ่งที่สำคัญที่สุด หมอว่ามันต้องตัดใจบ้างค่ะ อะไรเก็บได้ก็เก็บ อะไรเก็บไม่ได้ก็ต้องปล่อยๆ มันบ้าง ความเครียดมันก็จะได้น้อยลง และบางที เราอาจจะต้องมาดูคุณค่าในชีวิต ต้องมาดูว่า ชีวิตเราอะไรมีค่ามากที่สุด เวลานี้หมอว่าชีวิตสำคัญที่สุดค่ะ สำคัญมากกว่าทรัพย์สิน แม้ทรัพย์สินจะสูญหาย แต่ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจอยู่”
Question: รู้สึกเครียดและโดดเดี่ยว เพราะต้องอยู่คนเดียว เก็บข้าวของ หนีน้ำคนเดียว ?

Answer: “หมอว่า อย่าไปคิดอย่างนั้น ตอนนี้ขอให้เราร้องขอ ขอแค่เราขอความช่วยเหลือ ทุกคนพร้อมจะช่วยเราเสมอ หมอว่าบางทีเหตุการณ์ครั้งนี้ ถ้าเรามองอีกมุมหนึ่ง เราได้รับอะไรหลายๆ อย่างเพิ่มขึ้นมาด้วยนะ เช่นเพื่อนบ้านอาจไม่เคยมองหน้า ไม่เคยคุยกันเลย พอเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้น ปรากฎว่าก็มาช่วยเหลือกัน ทั้งๆ ที่อยู่มาเป็นสิบปีไม่เคยคุยกัน ได้มาคุยกันปรึกษากัน ก็ตอนน้ำจะท่วมนี่แหละ

หมอว่า อย่าไปคิดว่าเราเดียวดายเลย ถ้าเราเหงา เรารู้สึกว่าเราไม่มีเพื่อน รู้สึกไม่มีใครช่วยเหลือ ก็ลองขอความช่วยเหลือดู จากเพื่อน, จากเพื่อนบ้าน, จากญาติ, หรือแม้จากเพื่อนร่วมงานก็ได้ หมอว่า ถ้าเพียงแค่คุณส่งเสียงมา รับรองว่ามีคนเข้ามาช่วยแน่ๆ”

หลายครอบครัวแทนที่จะปรองดองกลับแตกแยก ความคิดเห็นไม่ตรงกัน สามีบอกไม่ต้องกั้นกระสอบทรายหรอก ภรรยาไม่ยอม อย่างน้อยเป็นคันกั้นน้ำชั้นในก็ยังดี ฯลฯ พบกับวิธีคิดบวกเพื่อการตั้งสติหาทางออกกับสารพันความขัดแย้งในครอบครัวยามเผชิญภัยพิบัติ..พรุ่งนี้ค่ะ

ลิกอ่าน คิดบวก VS อุทกภัย ตอน ตั้งสติยิ้มสู้ เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส
กำลังโหลดความคิดเห็น