xs
xsm
sm
md
lg

วิธีดูแลตัวเองเมื่อต้องเปียกฝน-ลุยน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

By Lady Manager

ช่วงเวลานี้บ้านเราฝนตกหนัก แถมน้ำท่วมกันในหลายพื้นที่ นอกจากจะขอแสดงความเสียใจ พร้อมฝากความห่วงใยไปยังผู้ประสบภัยแล้ว เราขอถือโอกาสนำความรู้ในเรื่องการดูแลตัวเองเมื่อต้องเปียกฝนลุยน้ำท่วมมาฝากกันค่ะ

เพราะการต้องเดินตากฝนลุยน้ำกันอยู่เป็นนิจ อาจนำมาซึ่งโรคภัยหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคทางผิวหนัง ต้องสัมผัสความเปียกชื้นอยู่ตลอด แพทย์หญิงพู่กลิ่น ตรีสุโกศล หัวหน้ากลุ่มงานผื่นแพ้สัมผัส และอาชีวเวชศาสตร์ สถาบันโรคผิวหนัง จึงนำเกร็ดความรู้ในเรื่องการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคผิวหนังมาฝาก ให้คุณๆ นำไว้ใช้เป็นแนวทางในการดูแลและป้องกันตัวเอง

“เมื่อกล่าวถึงโรคทางผิวหนังในหน้าฝน อันดับแรกคงจะต้องนึกถึงเรื่องของการลุยน้ำ ซึ่งการเดินลุยน้ำก็จะทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ บริเวณที่เราต้องเปียกน้ำบ่อยๆ อย่างเช่น ง่ามนิ้วเท้า ซึ่งสิ่งสกปรกอาจจะถูกเก็บกักอยู่ในรองเท้า สายรองเท้า ก็จะทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบในลักษณะของการระคายเคือง จากการที่ต้องเปียกน้ำบ่อยๆ หรือจากความสกปรกที่อยู่ในน้ำ

หรือการเกิดอุบัติเหตุอย่างเช่น ถ้าเราเดินลุยน้ำท่วม แล้วเรามองไม่เห็นพื้นถนน เราก็อาจจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บจากการเดินเหยียบของมีคม ซึ่งอาจจะมีผลตามมาในแง่ของการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacteria) หรือการติดเชื้อโรคอย่างอื่นได้

นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องนึกถึงคือ เรื่องของการติดเชื้อรา อาจจะเป็นผลตามมาจากการที่เราเปียกน้ำบ่อย หรือโดนฝนบ่อย เช่น ไม่มีร่ม แล้วตัวเราเปียก เสื้อผ้าเปียก แล้วเราไม่มีเสื้อผ้าแห้งเปลี่ยน ทำให้ต้องใส่เสื้อเปียกๆ เป็นเวลานาน ก็อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อราที่ผิวหนังได้ โดยเฉพาะโรคเกลื้อน ก็จะเป็นโรคหนึ่งที่เจอได้เช่นกัน” คุณหมอพู่กลิ่น ให้ข้อมูลถึงโรคยอดฮิตในหน้าฝน

ผื่นคันเรื้อรัง ต้องพบแพทย์

คุณหมออธิบายถึงเรื่องของผื่นคันว่า มีหลายประเภทด้วยกัน หากเป็นไม่กี่วันหายก็โล่งใจได้ ทว่าหากเป็นเรื้อรัง ทายาแก้คันก็ไม่หาย แนะนำให้มาพบแพทย์ดีกว่าค่ะ

“ถ้ามีผื่นขึ้น แล้วมีอาการคันหรือมีอาการเจ็บ อีกทั้งดูแล้วว่าผื่นลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ แนะนำว่าให้มาพบแพทย์จะดีกว่า เพราะว่าเราก็จะต้องมาแยกโรคด้วยว่า มันเป็นเรื่องของผื่นผิวหนังอักเสบจากการระคายเคืองจากที่เราลุยน้ำ หรือว่าเป็นเรื่องของการติดเชื้อรา หรือติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งการรักษาก็จะไปกันคนละฝั่ง

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่แน่ใจ เราไปซื้อยาทาแล้วไม่หาย เช่น บางท่านอาจจะบอกว่า มันไม่ได้เป็นมากมาย ลองซื้อยาทาดูก่อน อันนั้นก็สามารถทำได้ แต่หากทายาไปแล้ว 3-4 วัน ดูไม่ดีขึ้น ผื่นไม่ดีขึ้น แนะนำว่า มาให้คุณหมอดูดีกว่า

แต่หากผื่นไม่ได้รุนแรงมาก ผื่นนั้นก็อาจจะหายได้เอง ซึ่งอาจจะเป็นระยะเวลา 7-10 วัน หรือบางคนอาจจะ 2 สัปดาห์ แบบนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน แต่ในบางรายที่มีปัญหาโรคผิวหนังอยู่ก่อนแล้ว การระคายเคืองนี้ก็อาจจะทำให้โรคผิวหนังที่มีอยู่เดิมเป็นมากขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน หรือกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาของโรคภูมิแพ้ผิวหนัง เมื่อมาเป็นผื่นระคายเคืองอีก ก็อาจจะทำให้โรคผิวหนังที่มีอยู่นั้นเป็นมากขึ้นได้”
เลือก-ดูแลรองเท้าให้เหมาะ ลดความเสี่ยงโรคผิวหนัง

แพทย์หัวหน้ากลุ่มงานผื่นแพ้สัมผัส และอาชีวเวชศาสตร์ สถาบันโรคผิวหนัง อธิบายว่า “รองเท้า” ถือเป็นของใช้ใกล้ตัว ที่ต้องระวังให้มากในหน้าฝน เพราะหากดูแลไม่ดี เลือกไม่เหมาะ รองเท้าคู่โปรดก็อาจนำโรคภัยมาถึงคุณ

“ในช่วงหน้าฝน อยากจะแนะนำให้ใส่เป็นรองเท้าที่เปียกน้ำได้ ก็จะใส่สบาย คล่องตัว แต่บางท่านอาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องของรูปแบบดีไซน์ หรือความสุภาพในการทำงาน แต่ถ้าจะให้แนะนำก็คือ ควรใส่เป็นรองเท้าที่เปียกน้ำได้ เราก็จะสามารถทำความสะอาดได้ง่าย ผึ่งได้ง่าย แห้งได้ง่าย แต่ในขณะเดียวกัน อีกสิ่งที่อยากแนะนำก็คือ หากรองเท้าเปียกน้ำ ก็ควรจะต้องมีการเอารองเท้านั้นไปผึ่งแดด หรือไปตากแดดให้แห้ง แล้วก็ไม่ควรจะใส่ซ้ำกัน ต่อเนื่องกันติดๆ กัน

เช่นวันนี้เราลุยน้ำมาแล้ว รองเท้าเราเปียกแล้ว แต่ว่าพรุ่งนี้เรายังใส่คู่นี้อยู่ มันก็จะเหมือนเป็นการทำให้ เท้าเรามีความชื้นอยู่ตลอดเวลา จึงไม่แนะนำให้ทำเช่นนั้น แต่ควรจะต้องมีการนำรองเท้าไปผึ่งแดดให้แห้งเสียก่อน แล้วสลับเอาคู่อื่นมาใส่ก่อน หรือว่าในระหว่างวัน หากรองเท้าเปียก แล้วเราไม่สามารถที่จะทำให้แห้งได้ ณ เวลานั้น เราอาจจะต้องพยายามลด ความรุนแรงของความเปียกของรองเท้าลง อย่างเช่น เช็ดด้วยกระดาษทิชชู่”
ทาแป้งกันชื้น ทำได้ แต่ต้องพอเหมาะ

เช่นเดียวกับเรื่องใกล้ตัวอีกประการอย่าง การทาแป้งที่คุณหมอให้ระวัง เพราะหากทามากไป แทนที่จะได้สบายตัวคลายชื้น จะกลายเป็นเหม็นอับ ชื้นหนักกว่าเดิมก็เป็นได้

“การทาแป้งต้องระวัง เพราะหลายคนยังไม่เข้าใจเรื่องการทาแป้งที่เหมาะสม คือ หากเราทาแป้งบางๆ เบาๆ ให้รู้สึกว่าสบาย อันนี้จะไม่มีปัญหา แต่บางคนไม่ได้เป็นลักษณะของการทา บางคนใช้วิธีเหมือนโปะ ก็จะกลายเป็นข้อเสียได้ เนื่องจากแป้งเป็นผง พอเหงื่อออกแป้งก็จะดูดเอาเหงื่อ ดูดเอาความชื้นที่ออกมาจากผิวหนังไว้ จนกลายเป็นเหมือนว่า เราทำให้ร่างกายมีความชื้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แล้วมันก็อาจจะมีปัญหาตามมาทีหลังได้

เช่น พอร่างกายมีความชื้นอยู่ตลอดเวลา เพราะเรามีเหงื่อออกทั้งวัน ก็อาจจะทำให้มีการติดเชื้อราได้ เพราะเชื้อราชอบความชื้น ก็จะทำให้เกิดโรคผิวหนังตามมาได้ นอกจากนี้ยังจะมีเรื่องของกลิ่นตามมาด้วย เช่น หากทาแป้งที่เท้าเยอะๆ แล้วสวมรองเท้า ภายในรองเท้าเราก็จะมีความแฉะ ซึ่งความแฉะนั้นก็อาจจะไปพาเอาสารเคมี หรือสีที่อยู่ในรองเท้าออกมาปนเปกันไปหมด ก็จะทำให้มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ขึ้นได้”

ท้ายสุดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังฝากคำแนะนำการดูแลตัวเองเมื่อคุณๆ ต้องเปียกฝน หรือลุยน้ำท่วมมาด้วยว่า

“ในกรณีที่เท้าเราไปเดินลุยน้ำมา หรือเท้าเปียกมา ก็ควรจะล้างทำความสะอาด ถ้าเป็นไปได้ควรใช้สบู่ แต่ถ้าไม่มีจริงๆ น้ำเปล่าธรรมดาก็ยังช่วยได้ เพราะจะเป็นการช่วยล้างเอาสิ่งสกปรกออก หรือหากน้ำมีเชื้อโรคก็จะช่วยล้างออกไปได้ในระดับหนึ่ง แต่หากเราไม่สามารถล้างได้จริงๆ อย่างเช่นเราจะต้องไปธุระ แล้วเท้าเปียกตัวเปียก ก็ควรจะเป่าให้แห้ง เพราะการทำให้แห้ง จะช่วยลดการระคายเคือง ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดการอักเสบ หรือโอกาสเกิดผื่นผิวหนังน้อยลง” คุณหมอพู่กลิ่น ให้ความรู้ปิดท้าย

 


>>
อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ 
 http://www.celeb-online.net
กำลังโหลดความคิดเห็น