>>ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าวันหนึ่งสิ่งที่เราทำอาจไม่ประสบความสำเร็จ แต่สำหรับผู้ที่ยังมีความรักในสิ่งที่ทำนั้น เมื่อล้มได้ก็ลุกได้ ดังเช่นดีไซเนอร์ผู้มีพรสวรรค์เจ้าของแบรนด์ Vickteerut (วิกธีร์รัฐ) แบรนด์เสื้อผ้าผู้หญิงดีไซน์ฝีมือดีไซเนอร์ไทย ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยหยุดความฝันของตัวเองเพราะความล้มเหลวจากการบริหาร แต่วันนี้เขากลับมาอีกครั้ง อย่างเข้าใจโลกมากขึ้น จนตอนนี้เสื้อผ้าที่เขาออกแบบเป็นที่ยอมรับจากเซเลบริตี้ในเมืองไทยหลายๆ คน ที่เลือกหยิบชุดของ “วิก-ธีร์รัฐ” มาเป็นชุดเก่งในการใส่ออกงาน และพากันพูดถึงเขา....
“วิก-ธีร์รัฐ ว่องวัฒนะสิน” เขาถูกขนานนามให้เป็นดีไซเนอร์ผู้มีพรสวรรค์ เพราะหากมองเผินๆ แล้วเสื้อผ้าของเขาที่ออกจะดูเรียบๆ นั้น แต่เมื่ออยู่บนไม้แขวนเสื้อที่เป็นตัวมนุษย์แล้วกลับดูดีมีสง่าราศีจับกันทุกคนที่สวมใส่!! เขาเป็นอีกหนึ่งผลผลิตจาก “เซ็นทรัล เซนต์ มาร์ตินส์ คอลเลจ ออฟ อาร์ต แอนด์ ดีไซน์” ประเทศอังกฤษ สาขาเสื้อผ้าสุภาพสตรี (Women Wear) แต่ก่อนหน้านั้นเขายังเคยเรียนพื้นฐานการออกแบบที่ “อเคเดเมีย อิตาเลียนา” (Acedemia Italiana) ประเทศอิตาลีอีกด้วย แต่หลังจากที่เรียนอยู่ที่อิตาลีไม่นานด้วยความที่เป็นคนที่รักความแปลกใหม่ ชอบใช้ชีวิตอย่างมีสีสันเขาก็เลือกที่จะย้ายไปเรียนด้านการออกแบบโดยตรงที่เซนต์มาร์ตินซึ่งถูกกับจริตของดีไซเนอร์ผู้รักความทันสมัยมากกว่า
“ไปเรียนที่อิตาลีโดยที่พูดภาษาอิตาเลียนไม่ได้ คิดแค่เพียงว่าเราอยากเรียนออกแบบ รู้สึกว่าอิตาลีเป็นเมืองที่สวย มีเสื้อผ้าเยอะ มีแหล่งชอปปิ้ง! แต่พอไปถึงแล้วลำบากมากเพราะคนในพื้นที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ไปอยู่ได้ 3 วันโทรศัพท์บอกแม่ว่าจะกลับ...แต่แม่บอกให้ทนไปก่อน เราก็ทนไป จนสักพักก็เริ่มอยู่ได้
เราไปอยู่ฟลอเรนส์ซึ่งเป็นเมืองที่สวยมาก แต่ก็เงียบสงบมากด้วย ขัดแย้งกับตัวเองที่เป็นคนชอบแสงสีบ้างๆ เพราะเราเคยอยู่ซิดนี่ย์ที่คึกคัก ทันสมัย ต้องค่อยๆ ปรับตัวช่วงเดือนสองเดือนแรกก็สนุก เพราะเที่ยวไปเรื่อยๆ วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็ไปเที่ยวโรม มิลาน เวนิส พอสัก 6 เดือนเที่ยวหมดแล้ว จากนั้นก็เริ่มบินไปเที่ยวประเทศใกล้ๆ บินไปหาเพื่อนที่เรียนอยู่อังกฤษบ้าง ซึ่งพอไปอังกฤษแล้วสนุกจึงลองหาที่เรียนที่อังกฤษและสมัครเรียนที่เซนต์มาร์ติน”
:: ความประหลาดของเซนต์มาร์ติน
เป็นที่เลื่องลืออยู่แล้วเรื่องของผู้ที่จบมาจากเซนต์มาร์ติน สุดยอดของโรงเรียนออกแบบระดับโลก เพราะแค่กว่าจะสอบคัดเลือกเข้าไปเรียนได้ก็ยากพอตัวอยู่ ดังนั้น จึงทำให้ที่นี่เป็นแหล่งรวมผู้ที่มีฝีมือและผู้ที่มีสไตล์ความเป็นตัวของตัวเองในระดับสูงปรี๊ด!!!
“สังคมในเซนต์มาร์ตินเป็นโรงเรียนที่มีแต่คนประหลาดๆ มารวมกัน (หัวเราะ) คนที่เรียนจะไม่ค่อยปกติสักเท่าไหร่ มีความเป็นศิลปินกันมาก แต่งตัวประหลาด มีอารมณ์ประหลาดๆ มีความคิดความอ่านไม่เหมือนคนอื่น แต่ละคนจะมีแนวทางของตัวเอง แต่รวมๆ แล้วเป็นโรงเรียนที่สนุกมาก ไปเรียนแล้วเหมือนไม่ได้ไปเรียนเลยหล่ะ เขาใช้ระบบ Self Study แต่ก็จะมีอะไรให้ทำทุกวัน ต้องทำโปรเจคเยอะมากให้ทำผลงานส่งทุกสองอาทิตย์ ไม่เข้าเรียนไม่ว่า แต่ถ้าไม่ส่งงานก็ตก
ช่วงเรียนปี 1 เราก็ลัลลา ไปเที่ยว ชอปปิ้ง ไปปาร์ตี้ บางทีตอนเช้าตื่นไม่ไหวก็ไม่ไปเรียน แต่หลังๆ เริ่มรู้สึกว่าเราทำงานส่งไม่ทัน คะแนนเกือบตก จึงเรียนรู้ว่าเราต้องผลักดันตัวเองให้ทำงานมากขึ้นได้แล้ว พอปี 2 คะแนนก็ดีขึ้น พอปี 3 เราก็จบออกมาด้วยคะแนนเกียรตินิยม
ตอนแรกก็ไม่เข้าใจระบบการสอนของเขาจนใกล้จบนั่นแหละ เพราะชีวิตจริงการทำงานเราไม่สามารถมานั่งถามอาจารย์ได้ทุกจุด ต้องแก้ปัญหาเองก่อน ถ้าไม่ไหวก็ไปปรึกษาอาจารย์ และที่เซนต์มาร์ติน เขาพยายามฝึกให้เราใช้มือวาด ไม่ให้ใช้คอมพิวเตอร์ แม้แต่กล้องถ่ายรูปยังไม่อยากให้ใช้เลย ซึ่งก็เป็นผลดีเพราะทุกวันนี้ผมก็นั่งสเก็ตแบบเสื้อผ้าทุกแบบด้วยตัวเอง”
:: ล้มครั้งแรก!
ทันทีที่เรียนจบกลับมา ด้วยคอนเนกชั่นที่มีมาตั้งแต่สมัยกลับมาฝึกงานสไตลิสต์ตามนิตยสารต่างๆ ทำให้เขามีโอกาสก้าวเข้ามาสู่เวทียังก์ดีไซเนอร์ในช่วงสัปดาห์ “แอล แฟชั่น วีก” เมื่อปี 2005 และกลายเป็นยังก์ดีไซเนอร์ที่ถูกจับตามมอง
“ตอนแรกคิดว่าจะพักผ่อนไปเที่ยวก่อนที่จะทำงานเพราะเหนื่อยจากช่วงที่ทำคอลเลกชั่นก่อนจบ แต่พอกลับมาทางนิตยสารแอลกำลังหายังก์ดีไซน์เนอร์ทำโชว์ของปีนั้น เขาติดต่อเรามา เราก็ตอบตกลงทันทีเพราะเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดี
หลังจากโชว์เสร็จผลตอบรับดีมาก มีบายเยอร์ติดต่อหลายที่ เลยคิดว่างั้นทำแบรนด์เลยแล้วกัน ก็ทำแบรนด์ตั้งแต่ตอนนั้นเลย!!....ในเวลาประมาณ 2-3 ปี ทำออกมาได้ 3 คอลเลกชั่น รู้สึกว่ายอดขายไม่ได้ ลูกค้าชอบเสื้อผ้าเรานะ แต่ระบบการบริหารของเราเละเทะไปหมด มีปัญหาตั้งแต่กระบวนการผลิต การการจัดการคนก็ไม่ดี เพราะเราไม่มีความรู้ด้านนั้นเลย เลยขอหยุดก่อนดีกว่า ครอบครัวก็ไม่ว่าอะไรนะ เขาให้เราเรียนรู้เอง”
:: ลุกขึ้นอีกครั้ง
ในระหว่างที่เบรกความฝันในการทำแบรนด์ของตัวเองนั้นในใจของธีร์รัฐก็ยังคงเก็บสะสมแรงบันดาลใจ และไอเดียอยู่เสมอ จนกระทั่งวันหนึ่งพี่ชายของเขา “คุณวิน-วีรกฤติ ว่องวัฒนะสิน” ก็เป็นคนหยิบแบรนด์ Vickteerut ของน้องชายมาปัดฝุ่นให้เขาได้ทำในสิ่งที่รักอีกครั้ง
“ช่วง 1 ปีที่หยุดไปก็ไม่ได้ทำอะไร แต่ระหว่างนั้นก็คิดทำคอลเลกชั่นใหม่ แต่ไม่ทำจริงสักที จนพี่ชายบอกว่ากลับมาทำใหม่ดีกว่า เดี๋ยวเขาเป็นคนบริหารให้เอง โดยเขาจะดูแลระบบบริหารการจัดการให้ บอกให้เราทำออกแบบอย่างเดียวเลย ซึ่งตรงกับสิ่งที่เราถนัดและรักอยู่แล้ว จึงกลับมาเปิดคอลเลกชั่น ทำประชาสัมพันธ์ให้สื่อเห็น ซึ่งผลตอบรับก็ดีขึ้น”ซึ่งก็ต้องขอบคุณประสบการณ์ในการล้มวันนั้นที่ทำให้วันนี้ “วิก-ธีรรัฐ” มีความเข้าใจถึงการทำแบรนด์และการออกแบบมากขึ้น ที่สำคัญคือการเรียนรู้ที่จะอยู่ในโลกแห่งความจริง
“ประสบการณ์ค่อยๆ สอนให้เรารู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ต้องแก้อย่างไร คราวนี้เราก็รู้ว่าสิ่งที่ทำผิดตอนนั้นหรือทำไปแล้วไม่เวิร์กก็ไม่ต้องทำ หาทางออกที่บาลานซ์ให้ได้ แม้ว่าจะยังไม่ค่อยเข้าใจหลักบริหารเท่าไหร่นัก แต่หลักการออกแบบให้ขายได้เรารู้มากขึ้น การออกแบบไม่ใช่แค่ออกแบบแต่ต้องคิดถึงกระบวนการตัดเย็บด้วย แต่ละชุดกระบวนการคิดเยอะมาก เราต้องคิดว่าการตัดเย็บ การทำแพตเทิร์น ต้องทำยังไงการผลิตออกมาใช้เวลาน้อยที่สุดและทุกอย่างต้องรันไปตามกระบวนการได้
อีกสิ่งหนึ่งที่เรียนรู้คือ เสื้อผ้าบางตัวออกแบบได้ แต่เอาออกมาขายไม่ได้ ก่อนหน้านี้ทำเสื้อผ้าชนิดที่ว่าตามใจตัวเอง ชั้นชอบชั้นก็ทำ ใครจะใส่ก็ใส่ แต่เดี๋ยวนี้เราต้องคิดว่าแบบนี้คนจะใส่หรือไม่ ใครเป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา ต้องค่อยๆ ปรับแต่ก็ไม่เสียความเป็นตัวของตัวเองไป ในคอลเลกชั่นหนึ่งยังมีเสื้อผ้าแบบแฟชั่นจัดๆ แบบที่เราอยากทำเป็นส่วนหนึ่งอยู่ด้วย แต่แบบที่เหลือต้องเป็นแบบที่ใส่ได้จริง”
:: Vickteerut
ในที่สุดในระยะเวลา 1 ปีที่เขากลับมา Vickteerut ได้กลายเป็นแบรนด์ที่เซเลบริตี้ในสังคมไทยหลายๆ คนกล่าวถึง รวมทั้งแฟชั่นนิสต้าทั่วไปก็ให้ความสนใจกับเสื้อผ้าของวิกธีร์รัฐด้วยเช่นกัน จนวันนี้เขามีร้าน Vickteerut แล้ว ถึง 4 สาขา และเตรียมจะเปิดสาขาที่ 5 อีกเร็วๆ นี้
“ตอนที่กลับมาทำคอลเลกชั่นใหม่ ไม่ได้มีเงินทำมาร์เกตติ้งเยอะ แต่ผมโชคดีที่มีเพื่อนๆ และคนรู้จักที่เขาชอบสไตล์ของเราเป็นลูกค้า คราวนี้ก็เป็นเรื่องของปากต่อปาก อีกอย่างอาจเป็นเพราะเสื้อผ้าที่เราออกแบบเป็นแนวที่คนชอบ และเป็นแนวที่ใหม่ยังไม่มีด้วย คนก็เลยให้ผลตอบรับดี
ตอนนี้ Vickteerut มีชอปที่ทองหล่อซอย 4 , ศูนย์การค้าสยามพารากอน, ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลชิดลม และกำลังจะเปิดที่ศูนย์การค้าดิ เอ็มโพเรียม เร็วๆ นี้”
คำจำกัดความของ “Vickteerut “ ที่เราเห็นดีไซน์ของของเขาจะมีลวดลายกราฟิกลายเส้นคมจัด และมีความเป็นผู้หญิงที่เรียบโก้อยู่ในตัว โดยภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่ถูกสื่อผ่าน Vickteerut คือผู้หญิงที่ทันสมัย กระฉับกระเฉงและทะมัดทแมง สนนราคาของผู้หญิงในแบบ Vickteerut นั้นเสื้อแขนกุดอยู่ที่ราวๆ 2,000-3,000 บาท เสื้อ 4,000-5,000 บาท เดรส 5,000-7,000 บาท และเดรสยาวอยู่ที่ตัวละ 8,000-10,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่จับต้องได้สำหรับผลงานของยังก์ดีไซเนอร์ผู้ขายคุณภาพและความเนี้ยบ
“Vickteerut ที่ผมออกแบบผมเน้นแนวกราฟฟิก เพราะชอบอะไรที่เป็นกราฟฟิคจัดๆ เส้นคมๆ จะมีความทันสมัยของลายเส้นเข้ามาเสริม เป็นโมเดิร์นชิค สามารถใส่ได้ในชีวิตประจำวันและดูดีทันสมัย
แรงบันดาลใจทุกครั้งที่ทำงานมักจะมาเอง เวลาเห็นอะไรที่น่าสนใจก็จะคิดว่าถ้าลองเอามาทำก็น่าจะสวยนะ พอเริ่มจากคิดตรงจุดนั้นแล้วก็เอามาพัฒนาต่อไป แค่การที่เราออกไปข้างนอกทุกครั้งเป็นการเพิ่มไอเดียให้ตัวเองอยู่เสมอ ยิ่งการที่เราเป็นคนช่างสังเกตุยิ่งทำให้ได้ไอเดียมากขึ้น บางทีเราเห็นอะไรไปเรื่อยๆ เราอาจไม่รู้ตัวว่าเรากำลังจดจำสิ่งนั้นอยู่ แต่พอคิดออกมาและลงมือวาดบนกระดาษทุกอย่างที่เราเคยประทับใจจะออกมาโดยอัตโนมัติ
อีกอย่างคือผมเป็นคนชอบของวินเทจ เพราะเวลาที่มองของวินเทจเราจะได้รายละเอียดที่น่าสนใจ เพราะจริงๆ แล้วแฟชั่นคือสิ่งที่มีคนเคยทำมาทุกอย่างแล้ว ไม่มีอะไรใหม่หรอก เพียงแต่ว่าเราจะมองยังไงให้ออกมาเป็นมุมมองที่แตกต่าง และนำเสนอออกมา”
ขอแค่ยังมีความรักในสิ่งที่ตัวเองทำ และมีความเป็นตัวของตัวเองเท่านั้น เราก็ยังสามารถมีความสุขกับชีวิตการทำงานของเราได้ ฉะนั้น ต่อให้ล้มสักกี่ครั้งเราก็ยังสามารถลุกขึ้นยืนได้เสมอ :: Text by FLASH mag.
>> “Break me into Pieces”
Autumn Winter 2011 From Vickteerut
คอลเลกชั่นใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากของเล่นในวัยเด็กอย่าง Tangram ที่เป็นเกมตัวต่อจากจีนโบราณที่ใช้ปฏิภาณไหวพริบในหารจัดรูปทรงเลขาคณิตทั้ง 7 ให้เข้ากันอย่างลงตัว โดยครั้งนี้ “วิก-ธีร์รัฐ ว่องวัฒนสิน” ได้ดึงเอาความท้าทายของ Tangram มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบคอลเลกชั่น แต่ยังคงไว้ซึ่งสัญลักษณ์เฉพาะตัวในเรื่องความเรียบง่าย...
แน่นอนว่ารูปทรงเลขาคณิตอันเป็นหัวใจของ Tangram ยังคงสอดคล้องกับแนวที่วิคถนัดคือด้านกราฟิก เสื้อผ้าส่วนใหญ่ในคอลเลกชั่นนี้จึงใช้รูปทรงเลขาคณิตเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น ปกเสื้อทรงสามเหลี่ยม รูปทรงกระโปรงที่ทับซ้อนกันเป็นทรงโค้งมน หรือการตัดต่อผ้าพิมพ์ลายสี่เหลี่ยมลงบนเดรสสั้น ความพิเศษยังไม่หมดอยู่เพียงเท่านั้น แต่เสื้อผ้าแต่ละชิ้นสามารถนำมาแมทช์คู่กันได้อย่างลงตัว แต่แตกต่างสไตล์ที่ไม่เหมือนใครในแต่ละคน
Fact File.
นายแบบ :: ธีร์รัฐ ว่องวัฒนะสิน
แต่งหน้า :: จีรวัฒน์ วรรธนะวิริยะกุล จากเครื่องสำอางลังโคม โทรศัพท์ 0-2684 -3000
สถานที่ :: Vickteerut Main Showroom ทองหล่อ ซอย 4 โทรศัพท์ 0-2392-1578
ช่างภาพ :: กมลภัทร พงศ์สุวรรณ
>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net