ไม่ว่าจะเติบโตมากับยุคสมัยไหน เชื่อได้อย่างหนึ่งว่า “โดราเอมอน” ผลงานเขียนของ “ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ” เป็นตัวการ์ตูนหนึ่งในดวงใจของเด็กๆ จำนวนมาก และคงมีหลายคนฝันว่า อยากจะมีเจ้าหุ่นยนต์โดราเอมอนมาอยู่ด้วยเหมือนกับโนบิตะ เพราะของวิเศษจากกระเป๋าหน้าท้องของโดราเอมอน คือความมหัศจรรย์ที่สามารถนำมาต่อยอดจินตนาการในวัยเด็กให้กว้างไกล เกินกว่าที่จะทำใด้ในชีวิตจริง
ถ้าเปรียบโดราเอมอนเป็น “ขนม” แล้ว คงเป็นขนมหวานที่เด็กทั้งหลายอยากลิ้มลองมากที่สุด
ในประเทศญี่ปุ่นบ้านเกิดของโดราเอมอนเองได้ประกาศให้โดราเอมอนเป็นวรรณกรรมเอกประจำชาติเรื่องหนึ่งแห่งศตวรรษที่ 20 และผู้อ่านโดราเอมอนก็พัฒนาระดับการอ่านจากเพื่อความบันเทิงหรือเพื่อจรรโลงใจ เป็นอ่านในเชิงวิเคราะห์เจาะลึกประเด็นต่างๆ เกิดเป็นศาสตร์ที่เรียกว่า “โดราเอมอนศึกษา” ขึ้นมา โดย โยโกยาม่า ยาสุยุกิ ก็ได้เป็นอาจารย์สอนวิชานี้อยู่ด้วย ที่มหาวิทยาลัยฟุคุยะมา และเป็นผู้ก่อตั้ง “ห้องสมุดโดราเอมอน” และผู้สร้างโฮมเพจหลักสูตรโดราเอมอนศึกษา
ก่อนหน้าหนังสือ “วิถีแห่งโดราเอมอน ฝึกสอนคนขี้แพ้ให้เป็นผู้ชนะ” จากค่าย สนพ.สยามอินเตอร์บุ๊คส์ ก็มีหนังสือชื่อ วิถีแห่งโนบิตะ ชัยชนะของคนไม่เอาถ่าน ออกมาก่อนแล้ว โดยผู้เขียนคนเดียวกัน จากหนังสือการ์ตูนบันเทิงใจเด็กๆ กลายเป็นหนังสือ how toที่สามารถแนะนำคนขี้แพ้ คนไม่เอาถ่าน ลุกขึ้นมาทำหลายๆ เรื่อง ที่นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตได้
พอมาถึงเล่มนี้ โชว์เดียร์ ผู้แปล จะถูกมองในอีกมุมหนึ่ง นั่นคือวิถีแห่งโดราเอมอน ทำอย่างไรถึงสามารถทำให้ “โนบิตะ” คนขี้เกียจ ชอบนอนกลางวัน ไม่ชอบทำอะไรใหม่ๆ ที่คิดว่ายาก ตัวเองทำไม่ได้หรอก ไม่ชอบทำอะไรที่ต้องออกแรง ใช้กำลัง และอีกมากมายก่ายกอง ที่เสมือนเป็นหลุมดำในจิตใจของโนบิตะ และหากสิ่งเหล่านี้ยังสั่งสมต่อไปเรื่อยๆ อนาคตของโนบิตะคงหนีไม่พ้นคำว่า “ล้มเหลวในชีวิต”
แม้ว่าในทุกๆ เหตุการณ์ ทุกๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับโนบิตะ จะมีโดราเอมอนคอยเป็นผู้ช่วย แต่ถ้าสังเกตดีๆ โดราเอมอนไม่เคยทุ่มลงไปทั้งตัว เพียงแต่คอยชี้แนะ โดยวิธีที่ใช้คือ “การดุด่า” จนทำให้รู้สึกว่า โดราเอมอนขี้บ่นเหมือนคนแก่จริงๆ แต่ในความจู้จี้ขี้บ่นของโดราเอมอนนั้น แฝงไปด้วยความรัก ความห่วงใย ความเมตตา
ส่วนคำดุด่านั้น ก็ไม่ใช่การดุด่าที่บั่นทอนกำลังใจ ในความ “โหด” มีความ “รัก” บางครั้งการด่าว่าของโดราเอมอนเสมือนการเบรก เพื่อให้ชะลอในการคิดหรือการทำอะไรให้ตรึกตรองถี่ถ้วนเสียก่อน ไม่ใช่การเบรกกระชากให้หัวคว่ำเสียหลัก และบางครั้งการด่าของโดราเอมอนก็เป็นแรง “ฉุด” ให้โนบิตะเกิดความฮึกเหิม ฮึด ให้มีพลังที่จะกระทำในเรื่องนั้นๆ
นอกจากด่าแล้ว “ลูกยอ” ของโดราเอมอนก็มี ถ้าจำกันได้คงคุ้นๆ ประโยคนี้ในหลายๆ ตอน “เห็นไหมโนบิตะก็ทำได้” หรือ “แหม ความคิดนายนี่เข้าท่าไม่สมกับเป็นนายเลยแฮะ” นี่แหละคำชมจากโดราเอมอนสู่โนบิตะ ส่วนในหนังสือเล่มนี้ก็มีกฎของการชมว่า “จะใช้คำพูดและการกระทำแบบไหนดีที่จะเพิ่มศักยภาพของคนได้” เพราะการชมไปเรื่อย ชมทุกเรื่อง ก็ส่งผลด้านลบเหมือนกัน ทั้งทำให้คนถูกชมหลงระเริง หรือทำให้ไม่เห็นค่าในคำชม
โนบิตะเองก็ประสบความสำเร็จ กับการทำให้อนาคตของตัวเองเป็นจริงได้ด้วยเครื่องมือวิเศษต่างๆ ของโดราเอมอน อย่างเช่น ทีวีกาลเวลา หรือ ไทม์แมชชีน พวกเขาสร้างอนาคตที่ควรจะเดินไปตามทางของพวกเขาให้เป็นจริงได้ ผ่านการใช้ชีวิตของโดราเอมอน ซึ่งอาจจะดูว่ามันเชื่องช้าเป็นเต่าก็ตาม แต่ก็เป็นการก้าวที่ทำให้สิ่งต่างๆ เป็นจริงได้
เมื่อคุณอ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว ลองพินิจพิเคราะห์ดูสิว่า คนรอบข้างตัวคุณแบกความฝันหรือความหวังอะไรอยู่ ใช้ชีวิตในแต่ละวันให้ผ่านไปอย่างไร สร้างกำลังใจให้กับตัวเองในห้วงเวลาไหน หรือพยายามสุดชีวิตด้วยพลังที่เต็มเปี่ยมกับเรื่องอะไร
ถ้าคุณรู้สึกว่าไม่มีอะไรสนุกสนานกว่าได้รู้เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ของคนที่อยู่ใกล้ตัวคุณแล้ว นั่นก็แสดงให้เห็นว่า คุณก็สามารถเป็นโดราเอมอนของเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ของคุณได้เช่นกัน
โดราเอมอนอย่างคุณจะต้องทำหน้าที่ในการนำเสนอไอเดียว่า จะต้องเรียนรู้อะไร จะต้องปฏิบัติอย่างไร เพื่อที่จะทำให้เป้าหมายความฝันของเพื่อนๆ นั้นชัดเจนขึ้น ถ้าทำอย่างนั้นได้จริง คำว่าพี่เลี้ยงหรือโค้ช “แบบโดราเอมอน” ก็ไม่ไกลเกินความสามารถ