ภาพตัวตลก ความน่าสมเพศ หรือการรอคอยความหวัง อาจจะเป็นภาพจำสำหรับคนพิการที่ปรากฏผ่านสื่อกระแสหลักทั่วไป ไม่ว่าจะในซิทคอม ละคร หรือภาพยนตร์
และเป็นที่มาให้เกิด โครงการประกวดหนังสั้นเพื่อคนพิการ (E-san creative short film ครั้งที่ 6 ) ภายใต้คอนเซ็ปต์ “มองมุมใหม่ เติมให้ส่วนที่ขาด” ทั้งในระดับมัธยมศึกษา อุดมศึกษา และประชาชนทั่วไป เพื่อหวังจะปรับเปลี่ยนมุมมองของคนทั่วไปให้มองคนพิการในฐานะเดียวกับคนอื่น ซึ่งจัดโดย สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) และ สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.)
หนึ่งในผลงานที่ได้น่าสนใจ มีผลงานเรื่อง “ภาพที่ฟ้าประทาน” ของนางสาวชญานุช วีรสาร อาจารย์สาขาสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการสารสนเทศ มมส.รวมอยู่ด้วย โดยได้นำชีวิตของ ตี๋ -ชิงชัย อุดมเจริญกิจ ศิลปินนักวาดภาพผู้สูญเสียมือขวาจากเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551
งานของ อ.ชญานุช นำเสนอออกมาในแนวสัจจนิยม หรือ realism ที่เปิดเผยให้เห็นแก่นความคิดของตี๋ ที่ชีวิตผกผันจากการเข้าร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ 7 ตุลา 51 แล้วสูญเสียมือขวา ซึ่งใช้ทำมาหากินในการวาดภาพหาเลี้ยงครอบครัวมานาน และต้องกลายเป็นผู้พิการ มิหนำซ้ำถูกใส่ร้ายว่ากำระเบิด ทั้งๆ ที่มือนั้นกำพระไว้
ความโดดเด่นของหนังสั้นเรื่องอยู่ที่การย้ำให้เห็นถึง ความไม่ยอมแพ้ในชะตาชีวิต และการได้รับกำลังใจอันดีจากคนรอบข้างให้ดำเนินชีวิตต่อไป ทั้งหมดนำสะท้อนภาพแบบสารคดีที่ปล่อยให้ตัวละครเล่าเรื่องไปตามพล๊อตที่วางไว้อย่างเรียบง่าย แต่ลุ่มลึก สามารถสะท้อนแนวคิดที่แหลมคม โดยไม่ต้องปรุงแต่งภาพให้หวือหวา หรือใช้สัญลักษณ์มากมายนัก
อ.ชญานุช เล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำหนังสั้นเรื่องภาพที่ฟ้าประทานว่าเกิดมาจากคอนเซ็ปต์ที่ว่า ‘มองมุมใหม่ เติมให้ส่วนที่ขาด’
“ในความคิดของดิฉันคือ คำว่า “มองมุมใหม่” นั้น นอกจากจะหมายถึงคนภายนอกมองคนพิการแล้ว คนพิการเองก็ต้องมองมุมใหม่ของตัวเองด้วย ส่วนคำว่า “เติมให้ส่วนที่ขาด” ซึ่งไม่ใช่เพียงมีอวัยวะเทียมมาแทนส่วนที่บกพร่องหรือขาดหายไปเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกที่มาทดแทนกันมากกว่า”
เมื่อตีโจทย์ได้แล้ว อ.ชญานุชบอกเล่าว่า สิ่งที่คิดได้ตอนนั้นคือ นักแสดงควรจะเป็นคนพิการจริงๆ เพราะจะได้อารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงด้วย คนที่เธอนึกถึงคนแรกคือ ตี๋ -ชิงชัย อุดมเจริญกิจ ผู้พิการที่ไม่ได้พิการมาตั้งแต่กำเนิด และไม่ได้พิการจากอุบัติเหตุหรือความประมาท แต่พิการจากอุดมการณ์ทางการเมือง
อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ อ.ชญานุช ตัดสินใจเลือกตี๋เป็นนักแสดงนำในเรื่องก็เพราะเขาเป็นศิลปินอิสระที่วาดภาพหาเลี้ยงครอบครัว และมือขวาที่ขาดหายไปคือมือที่ใช้สร้างงานศิลปะด้วย นี่คือข้อมูลที่เธอได้รับจากการค้นคว้าและติดตามข่าวสารในเบื้องต้น
เมื่อถามถึงการรวบรวมข้อมูล ว่ายากง่ายอย่างไร อ.ชญานุช บอกเล่าว่า ในส่วนของข้อมูล จากเว็บไซต์ที่พูดถึงอาการและความเป็นไปในชีวิตของตี๋หลังจากถูกระเบิดแก๊สน้ำตาจนสูญเสียมือขวาทำให้ทราบว่าตี๋ได้เริ่มใช้มือซ้ายซึ่งไม่คิดว่าจะทำอะไรได้วาดภาพแทน และภาพที่วาดออกมาไม่ได้มีความแตกต่างไปจากมือขวาที่ขาดไปเลย โดยเฉพาะพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินี บอกได้คำเดียวว่า “น่าทึ่ง” และ “น่าศรัทธา” เป็นอย่างมาก
“ดิฉันเดินทางเข้ากรุงเทพฯ นัดกับคุณตี๋และภรรยาของคุณตี๋ผู้ที่ยืนเคียงข้างตลอดมา ในงานแสดงภาพเขียนที่เอ็มโพเรียมเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คุณตี๋ไม่สามารถเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้อย่างสะดวก เนื่องจากมีปัญหาบาดแผลที่กล่องเสียงจากเหตุการณ์เดียวกัน จึงให้ภรรยาหรือคุณแหม่มเล่าแทน นับว่าโชคดีมากที่ได้ไปงานในวันนั้นเพราะนอกจากจะได้พูดคุยกับคนทั้งสองแล้ว ยังได้เก็บภาพผลงาน บรรยากาศ และการทำงานบางส่วน รวมทั้งคำให้สัมภาษณ์จากศิลปินที่มาร่วมแสดงงานในครั้งนี้ด้วย ซึ่งภาพเหล่านั้นเองช่วยจุดประกายความคิดให้เกิดการโครงเรื่องของหนังขึ้น”
เมื่อถามถึงข้อคิดที่คิดว่าจะได้จากหนังสั้นเรื่องนี้ อ.ชญานุชกล่าวว่า จากการที่ได้สัมผัสพูดคุยกับตี๋สิ่งที่ได้กลับมาคือ มองโลกในด้านบวกมากขึ้น ตลอดจนเรื่องของความขยันที่มีค่ามากกว่าพรสวรรค์ เรื่องของการให้อภัย และที่สำคัญคือ เรื่องของกำลังใจ ที่เชื่อว่าสำหรับคนที่กำลังท้อแท้ดูแล้วน่าจะอยากลุกขึ้นสู้อีกสักครั้ง
“เมื่อก่อนคิดว่าคนพิการเป็นคนน่าสงสาร น่าเห็นใจ ต้องช่วยเหลือ ต้องพึ่งพาสังคม แต่เมื่อได้รู้จักและได้เข้าถึงความรู้สึกของคนพิการจริงๆ แล้ว เขาไม่ได้มองตัวเองเป็นคนพิการที่จะต้องมีคนช่วยเหลือตลอดเวลา เขาไม่ได้เห็นว่าสิ่งที่สูญเสียไปจะทำลายชีวิต อนาคตหรือความสำเร็จของเขา หลายคนเห็นคุณค่าในตัวเองเพราะมองเห็นศักยภาพที่เขามีอยู่แทนที่จะเอาความพิการมาตอกย้ำให้เกิดเป็นปมด้อยมากยิ่งขึ้น” อ.ชญานุชให้มุมมอง
ในอนาคต อ.ชญานุช มีโครงการอยากผลิตหนังสั้นที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกของคน โดยขอเรียนรู้และหาประสบการณ์ในการผลิตไปอีกระยะหนึ่ง และที่สำคัญเราอาจจะได้เห็นผลงานที่สะท้อนความเป็นคนอีสานจากผู้หญิงเก่งคนนี้ในอีกไม่นานนัก