ภายในต้นปีหน้า ผู้ที่ชื่นชอบศิลปะภาพเขียนพู่กันจีน จะมีโอกาสได้ชื่นชมผลงานของปรมาจารย์ สี ปิน (Hsu Bin) จากสำนักศิลปะ แห่งมณฑลเจียงซู สาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านนิทรรศการ “สุนทรียะแห่งธรรมชาติ: The Poetry of the Nature” ซึ่งโต้โผในการจัดงานนี้ก็คือ แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ ประธานบริหาร บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด และ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสร้างเสริมไทย
ปรมาจารย์ สีปิน เป็นผู้หนึ่งที่เชื่อว่า กระบวนการสร้างงานศิลปะทำไห้เกิดความสุข ที่ผ่านมาจึงได้ทุ่มเทเวลาวันละ 10-18 ชั่วโมงเพื่อความสุขนี้ ภาพเขียนพู่กันจีนของเขาใช้เทคนิคการเขียนภาพแบบจีนดั้งเดิม ซึ่งจะแตกต่างจากศิลปินทั่วไปโดยเป็นการใช้สีจากพืช และหินแร่ธรรมชาติ จึงทำให้ภาพแลดูสะอาด บริสุทธิ์ เสมือนจริง และมีอายุในการเก็บเป็นเวลานาน
การจัดงานแสดงภาพเขียนในเมืองไทยของปรมาจารย์สี ปิน จะเน้นไปที่การแสดงภาพเขียน “เสือ” ที่มีให้ชมไม่น้อยกว่า ร้อยแปดท่วงท่า และผู้ชมจะได้ทึ่งกับความเหมือนจริงของขนเสือในภาพเขียน อันมีเอกลักษณ์เฉพาะ ตัวที่กว่าจะเขียนขนเสือแต่ละเส้นได้จะต้องเขียนต้องวาดอย่างน้อย 6 ถึง 7 รอบ และบางครั้งอาจถึง 9 ถึง 10 รอบ จึงจะสามารถแสดงออกซึ่งเอกลักษณ์และวิญญาณของเสือที่ศิลปินต้องการถ่ายทอด
ปรมาจารย์สีปินกล่าวบอกความในใจก่อนที่นิทรรศการของเขาจะเปิดแสดงว่า
“ เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสมาสัมผัสวัฒนธรรมไทยที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีของคนไทย จึงเป็นที่มาของความคิดที่จะเปิดงานแสดงศิลปะ เผยแพร่ผลงาน เพื่อให้คนไทยได้สัมผัสศิลปะจีน โดยวิธีวาดภาพแบบจีนโบราณและวิธีวาดภาพแบบลงรายละเอียด โดยที่ปีหน้าก็จะเข้าสู่ปีเสือ จึงได้เลือกเป็นหัวข้อในการวาดภาพและจัดการแสดงภาพเสือที่แสดงถึงพลังอำนาจ พร้อมๆ กับภาพนกและดอกไม้
รวมถึงจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดกับศิลปินในประเทศไทย ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทุกภาพที่วาด เสมือนการเอาชนะตัวเอง ไม่เพียงแต่รูปที่วาดผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่ผมคิดว่าจะชนะในรูปต่อๆ ไปอย่างไร ซึ่งนั่นคือบุคลิกภาพของผม ที่มีความจริงจังกับผลงานภาพวาดทุกชิ้น”
นิทรรศการงานศิลปะภาพเขียนพู่กันจีน “สุนทรียะแห่งธรรมชาติ: The Poetry of the Nature” โดยปรมาจารย์ “สีปิน” จะเปิดให้ชมระหว่างวันที่ 3 - 7 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 10.00 น. – 22.00 น. ณ Fashion Hall ชั้น 1 ดิ เอ็มโพเรียม (สุขุมวิท)
ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การสาธิตการเขียนภาพพู่กันจีน,เทคนิคการเขียนภาพแบบจีนดั้งเดิม และรายได้ส่วนหนึ่งจากการสั่งจองภาพเขียนและภาพพิมพ์ที่ระลึก จะนำไปสมทบทุนมูลนิธิสร้างเสริมไทย เพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านการส่งเสริม และพัฒนาเด็กด้อยโอกาสของสังคมไทย