xs
xsm
sm
md
lg

Review : Lenovo Yoga Slim 7i (14IMH9) เครื่องเบาพกง่าย แรงคุ้มราคา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



Lenovo Yoga Slim 7i นับเป็นหนึ่งในกลุ่มโน้ตบุ๊ก AI PC ที่มีระดับราคาน่าสนใจในช่วง 30,000-40,000 บาท ขึ้นอยู่กับสเปกที่เลือกใช้งาน แลกกับประสิทธิภาพที่ได้กลับมาจากชิป Intel® Core Ultra 7 คู่กับจอแสดงผล OLED สีสันสดใส ตอบโจทย์การใช้งาน

จุดเด่นหลักของ Lenovo Yoga Slim 7i คือตัวเครื่องบางเบา พกพาง่าย มีพอร์ตเชื่อมต่อให้ใช้งานครบครัน และที่สำคัญคือชิป Intel® Core Ultra 7 ที่มาช่วยให้รองรับการใช้งานที่หลากหลายตั้งแต่กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงวัยทำงาน รองรับทั้งงานเอกสาร ใช้งานทั่วไป จนถึงการเล่นเกม และตัดต่อคลิปวิดีโอสั้น

ข้อดี
โน้ตบุ๊กหน้าจอ OLED 14” (มีตัวเลือกทั้งสัมผัส และไม่สัมผัส)
พอร์ตเชื่อมต่อครบทั้ง HDMI/Thunderbolt 4/USB-A และ 3.5 มม.
ชิป Intel® Core™ Ultra ที่มากับ NPU ช่วยเร่งความเร็วประมวลผล AI

ข้อสังเกต
ความละเอียดหน้าจออยู่ที่ FHD+ 60 Hz
ทัชแพดยังตอบสนองการใช้งานไม่ได้ดีที่สุด
พอร์ต USB-C อยู่เฉพาะฝั่งซ้ายเท่านั้น

ดีไซน์บางเบา พกพาสะดวก


Lenovo Yoga Slim 7i มาพร้อมกับดีไซน์ที่บาง 14.9 มม. และน้ำหนัก 1.39 กิโลกรัม แม้ว่าตัวเลขอาจจะดูไม่บางมาก แต่ด้วยดีไซน์ที่ออกแบบให้เป็นทรงลิ่ม ทำให้เวลาจับถือจะรู้สึกว่าตัวเครื่องบาง ส่วนน้ำหนักที่ให้มาเมื่อเทียบกับขนาดหน้าจอถือว่าพกพาติดตัวไปใช้งานได้ทุกที่


ขณะเดียวกัน จากการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของ Yoga ทำให้รุ่น Slim 7i มีความพรีเมียมจากวัสดุที่ใช้เป็นอะลูมีเนียม ให้ผิวสัมผัสที่หรูหรา กับตัวเครื่องสี Lunar Grey เทาคลาสสิก พร้อมสัญลักษณ์ของ Lenovo/Yoga ที่บริเวณฝาเครื่อง


เมื่อเปิดหน้าจอขึ้นมาใช้งานจะพบกับจอ OLED ขนาด 14” ความละเอียด 1920 x 1200 พิกเซล ให้ความสว่างหน้าจอที่ 400 nits มาตรฐานสี 100% DCI-P3 True Black 500 เพียงแต่อัตราการแสดงผล (Refresh Rate) อยู่ที่ 60 Hz เท่านั้น ภาพที่ได้คมชัด สีสันสดใสสมจริง เหมาะสำหรับการทำงานที่ต้องการความแม่นยำของสี หรือแม้แต่การรับชมความบันเทิง


อย่างไรก็ตาม ในรุ่นที่มากับชิป Intel® Core Ultra 7 จะไม่สามารถปรับเลือกสเปกหน้าจอได้ แต่ถ้าเลือกคอนฟิกเป็น Intel® Core™ Ultra 5 ในราคาเริ่มต้นราว 30,000 บาท จะสามารถเลือกหน้าจอเป็นแบบทัชสกรีนเพิ่มเติมได้ ช่วยให้การใช้งาน Windows 11 ทำได้สะดวกขึ้น


ถัดลงมาในส่วนของคีย์บอร์ด Lenovo Yoga Slim 7i ถือว่าให้คงมาตรฐาน และคุณภาพของซีรีส์ Yoga ที่ออกแบบทุกส่วนมาใส่ใจผู้ใช้งาน กับคีย์บอร์ดแบบ 6 แถว มีปุ่มลัดให้เรียกใช้งานได้ครบถ้วนทั้งการปรับเสียง ความสว่างหน้าจอ ไปจนถึงปุ่มลัดที่จะเรียกใช้งานโปรแกรมต่างๆ ในเครื่อง


ระยะปุ่มกดของคีย์บอร์ดถือว่าออกแบบมาให้พิมพ์ได้สนุก แต่จะติดอยู่ตรงที่การรับสัมผัสของบริเวณทัชแพด อาจจะมีอาการหน่วงๆ ไม่ตามนิ้วสัมผัสอยู่บ้าง ซึ่งถ้าในการใช้งานส่วนใหญ่คู่กับเมาส์ไร้สายอยู่แล้ว จุดนี้น่าจะไม่เป็นปัญหา


สำหรับพอร์ตเชื่อมต่อที่ให้มา Lenovo Yoga Slim 7i ให้มาค่อนข้างครบทั้ง HDMI ที่รองรับการเชื่อมต่อจอมอนิเตอร์ 4K/60 Hz และ USB-C ที่เป็น Thunderbolt 4 ให้ความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลที่ 40 Gbps และยังเชื่อมต่อจอภาพนอกได้ด้วย


ขณะที่ USB-A ที่ให้มาเป็น USB 3.2 Gen 1 โอนถ่ายข้อมูลที่ 5 Gbps ซึ่งรองรับการเสียบชาร์จอุปกรณ์อื่นๆ แม้ปิดหน้าจออยู่ด้วย และยังมีช่องเสียบหูฟัง-ไมโครโฟนแบบ 3.5 มม. มาให้ใช้งานด้วย ส่วนการเชื่อมต่อให้มากับ Wi-Fi มาตรฐาน 802.11ax หรือ WiFi 6E บลูทูธ 5.3


บริเวณข้างเครื่องยังเป็นที่อยู่ของปุ่มเปิดเครื่อง และปุ่มล็อกการทำงานของกล้อง เข้ามาทำงานเป็นเหมือนม่านชัตเตอร์ (E Shutter) ที่จะปิดการทำงานของกล้องเว็บแคมในการที่ต้องการรักษาความเป็นส่วนตัว แต่ก็จะแลกมากับการที่ตัวกล้องไม่สามารถตรวจจับใบหน้า และปลดล็อกด้วย Windows Hello ได้


ย้อนกลับมาที่กล้องเว็บแคม ที่มีความสำคัญมากขึ้นในยุคที่การประชุมออนไลน์กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการสนทนาแล้ว ความละเอียดกล้องเว็บแคมที่ให้มา FHD 1080p ถือว่าเพียงพอ และเมื่อทำงานร่วมกับการประมวลผล AI ที่มาช่วยทั้งเรื่องการปรับแสง ลดนอยซ์ในภาพทำให้คุณภาพที่ได้ออกมาน่าพอใจ

ปล่อยพลัง AI ด้วย Intel® Core Ultra 7


หัวใจสำคัญของ Lenovo Yoga Slim 7i คือชิปประมวลผล Intel® Core Ultra 7 ที่มาพร้อมสถาปัตยกรรม Meteor Lake ช่วยให้การทำงานรวดเร็ว และลื่นไหลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานทั่วไปอย่างการท่องเว็บ ทำงานเอกสาร หรือการใช้งานที่ต้องใช้ทรัพยากรเครื่องสูงอย่างการตัดต่อวิดีโอ เล่นเกม หรือการทำงานด้านกราฟิก Yoga Slim 7i ก็สามารถตอบสนองได้อย่างยอดเยี่ยม


ส่วนหนึ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพของ Intel® Core Ultra เพียงพอกับทุกการใช้งาน มาจากการที่ Intel® มีการเปลี่ยนแปลงการออกแบบชิปใหม่ ที่ผสมผสานการทำงานของทั้ง CPU GPU และ NPU เข้ามาอยู่ในชิปเดียวกัน ช่วยให้ตัวเครื่องสามารถเลือกใช้หน่วยประมวลผลที่เหมาะสม เพื่อรีดประสิทธิภาพในการทำงานออกมาสูงที่สุด

ขณะเดียวกัน ยังมาช่วยในเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากร ช่วยยืดระยะเวลาในการใช้งานให้ยาวนานขึ้น จากทั้ง P-Core และ E-Core ที่มีหน้าที่ในการประมวลผลที่แตกต่างกัน ทำให้เมื่อเป็นการใช้งานทั่วไป หน่วยประมวลผลจะเรียกใช้งานที่คอร์ประหยัดพลังงานเป็นหลัก แต่เมื่อไหร่ที่มีการใช้งานกราฟิก ตัดต่อวิดีโอ หรืองานที่ใช้ประสิทธิภาพสูงขึ้นก็จะเรียกพลังของ P-Core มาช่วย

ด้วยเหตุนี้ เมื่อทั้ง P-Core และ E-Core ทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ ผสมผสานกับกราฟิก Intel® Arc และ NPU ที่แยกออกมา ทำให้ Lenovo Yoga Slim 7i สามารถตอบโจทย์การใช้งานในภาพรวมได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในยุคที่เริ่มมีการนำ AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน


จากการทดสอบใช้งานจริง ผมพบว่า Intel® Core Ultra 7 155H พร้อม RAM 32 GB นั้นมีประสิทธิภาพเหนือกว่าชิปประมวลผลรุ่นก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด การเปิดโปรแกรมต่างๆ ทำได้รวดเร็วทันใจ การทำงานหลายอย่างพร้อมกัน (Multitasking) ก็ทำได้อย่างราบรื่นไม่มีสะดุด นอกจากนี้ การเล่นเกมที่ต้องการกราฟิกสูงก็ทำได้อย่างลื่นไหล ไม่มีอาการกระตุกให้เห็น


ส่วนเรื่องของการประหยัดพลังงานจาก E-Core ที่ให้มา ทำให้ Lenovo Yoga Slim 7i สามารถใช้งานอย่างดูวิดีโอได้เกือบ 12 ชั่วโมง ถ้าเป็นการใช้งานเอกสารทั่วไปมีโอกาสใช้ได้ต่อเนื่องสบายๆ แบบไม่ต้องพกที่ชาร์จออกจากบ้าน หรือถ้าต้องการชาร์จเร็วอะแดปเตอร์ 65W ที่ให้มาสามารถชาร์จ 15 นาที ใช้ได้ต่อเนื่อง 2 ชั่วโมง

สรุป

Lenovo Yoga Slim 7i ที่มากับ Intel® Core Ultra 7 155H นับเป็นแล็ปท็อปที่เหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน ทั้งสำหรับนักเรียน นักศึกษาที่ต้องการโน้ตบุ๊กสำหรับใช้ระหว่างเรียน ไปจนถึงกลุ่มวัยทำงานระดับเริ่มต้นที่ต้องการเครื่องไปใช้ในงานเอกสารต่างๆ หรือแม้แต่กลุ่มครีเอเตอร์ที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่วงการใช้ตัดต่อคลิปสั้น หรือทำรูปต่างๆ ได้สบาย ในราคาเริ่มต้นราว 30,000 บาท

#IntelCoreUltra
#IntelEvo
@Intel


กำลังโหลดความคิดเห็น