xs
xsm
sm
md
lg

Review : MacBook Air M3 ปรับข้างใน แต่ยังคุ้มในระยะยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การอัปเกรด MacBook Air รุ่นใหม่ของปี 2024 ถือว่าเป็นเรื่องไม่ผิดคาด เมื่อแอปเปิล (Apple) เลือกที่จะปรับเปลี่ยนหลักๆ เฉพาะตัวชิปมาใช้ Apple Silicon M3 ที่ก่อนหน้านี้นำมาใช้งานร่วมกับ MacBook Pro และ iMac มาก่อนแล้ว ส่วนดีไซน์ที่เหลือยังคงเดิม

MacBook Air M3 ยังคงโดดเด่นในแง่ของการออกแบบมาให้เหมาะกับการพกพาใช้งานในรุ่น 13 นิ้ว และรองรับผู้ที่ต้องการหน้าจอใหญ่เวลาทำงานในรุ่น 15 นิ้ว ที่แม้ว่าตัวเครื่องจะน้ำหนักแตกต่างกัน แต่ดีไซน์ และความบางเครื่องทำออกมาได้น่าสนใจ ในราคาเริ่มต้นที่เข้าถึงได้มากขึ้นอยู่ที่ 39,900 บาท


ข้อดี
ชิป M3 แรง ประหยัดพลังงาน รองรับการใช้งานได้หลากหลาย
GPU และ NPU ประสิทธิภาพสูงขึ้น รันเกมได้ถึงระดับ AAA
แบตเตอรี่ใช้งานได้ต่อเนื่องกว่า 18 ชั่วโมง


ข้อสังเกต
RAM ที่ให้มาเริ่มต้น 8 GB อาจไม่เพียงพอสำหรับการใช้งาน
พอร์ตเชื่อมต่อหลักยังคงเป็น Thunderbolt 3/USB 4-2 พอร์ตเช่นเดิม
รองรับการเชื่อมต่อจอนอก 2 จอ แต่ต้องปิดหน้าจอหลัก ทำให้เวลาใช้งานต้องต่อเมาส์ และคีย์บอร์ดแยก


ใครที่เหมาะเปลี่ยนมาใช้ MacBook Air M3


เมื่อมีการออก MacBook Air รุ่นใหม่ ซึ่งนับเป็นแล็ปท็อปซีรีส์ที่ขายดีที่สุดของ Apple ทำให้เกิดคำถามสำคัญตามมาว่าเครื่องรุ่นนี้เหมาะกับใคร และใครที่ควรเปลี่ยนมาใช้ เพราะจะได้สัมผัสถึงพลัง และประสิทธิภาพที่ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากความโดดเด่นของ Apple M3

แน่นอนว่ากลุ่มผู้ใช้งานหลักที่แอปเปิลคาดหวังคือผู้ใช้ที่ MacBook รุ่นที่ยังใช้งานชิป Intel อยู่เดิม รวมถึงผู้ใช้งานโน้ตบุ๊กในฝั่งของ Windows ที่ต้องการอุปกรณ์มาช่วยในการทำงาน ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ในระยะยาว เพราะที่ผ่านมาเครื่อง Mac ได้พิสูจน์ถึงความทนทานที่ใช้งานได้ต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6 ปี และที่สำคัญคือ ยังมีการอัปเกรดระบบปฏิบัติการให้ใช้งานได้ต่อเนื่อง

กลับกันถ้าเป็นผู้ที่ใช้งาน MacBook Air M1 หรือรุ่นที่ใหม่กว่า อาจจะยังไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักของการอัปเดตเป็น MacBook Air M3 ที่แม้ว่าในภาพรวมจะได้ดีไซน์เครื่องที่ใหม่กว่า และประสิทธิภาพที่ดีขึ้น แต่กลายเป็นว่าด้วยการใช้งานทั่วๆ ไป M1 ที่มีอยู่ก็ยังตอบโจทย์การใช้งานได้อยู่

นอกเหนือจากว่าเริ่มรู้สึกว่าใช้งานแล้วช้า ประมวลผลไม่ทันใจ การขยับมา M3 พร้อมอัด RAM หรือจะขยับข้ามไป MacBook Pro ที่มากับ M3 Pro หรือ M3 Max เพื่อรับกับรูปแบบงานที่ต้องประมวลผลมากขึ้น อย่างการตัดต่อวิดีโอ หรือเขียนโค้ดที่ใช้การประมวลผลหนัก การขยับรุ่นขึ้นไปจะเหมาะสมกว่า


โดยกลุ่มผู้ใช้งานหลักๆ ที่เหมาะกับ MacBook Air ยังคงเป็นกลุ่มของนักศึกษา พนักงานที่เน้นทำงานเอกสาร ใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ รวมถึงการใช้งานด้านความบันเทิงอย่างดูหนัง ฟังเพลง หรือเรียกว่าใช้งานทั่วๆ ไปเป็นหลัก ที่จะเหมาะกับการใช้งานในรุ่นเริ่มต้นอย่าง 39,900 บาท


อย่างไรก็ตาม ด้วยประสิทธิภาพของ M3 ทำให้สามารถใช้งานในเรื่องของ Productivity เพิ่มเติมอย่างการปรับแต่งรูปภาพ การตัดต่อวิดีโอ หรือคลิปวิดีโอสั้นได้ถึงความละเอียด 4K แต่จะใช้ระยะเวลาในการเรนเดอร์พอสมควร ซึ่งถ้ามีการใช้งานที่หนักขึ้น ตัวเลือกในการเพิ่ม RAM ขึ้นมาเป็น 16 GB จะตอบโจทย์การใช้งานในระยะยาวที่ดีขึ้น

ทำไมต้องอัป RAM เป็น 16 GB


ที่ผ่านมา แม้ว่า macOS จะมีการบริหารจัดการ RAM ให้สามารถใช้งานเครื่องได้ลื่นไหล แม้จะให้มาเริ่มต้นที่ 8 GB แต่เมื่อใช้งานจริง โดยเฉพาะการใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ที่เปิดหลายๆ แท็บพร้อมกัน ตัวเครื่องจะเริ่มเกิดอาการอย่าง RAM ไม่พอ ทำให้ต้องไปดึงพื้นที่บางส่วนของสตอเรจมาช่วย และกลายเป็นว่าการใช้งานจะไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร


ดังนั้น ถ้ารู้ว่าการใช้งาน MacBook Air ไม่ได้จบแค่งานเอกสาร หรือใช้เพื่อความบันเทิงทั่วไป การยอมเพิ่มเงินอีก 7,000 บาท แลกกับการอัปเกรด RAM เพิ่มมาเป็น 16 GB แทน จะช่วยให้การใช้งานลื่นไหล และตอบสนองการทำงานแบบมัลติทาสได้ดียิ่งขึ้นด้วย โดยเฉพาะการสลับโปรแกรมใช้งานไปมา


ทีนี้ เมื่อย้อนกลับไปดูไลน์อัปของ MacBook Air ในปัจจุบัน จะเห็นว่า Apple ยังเลือกเก็บ MacBook Air 13” M2 ไว้เป็นตัวเริ่มต้น ในราคาที่ปรับลดลงมาเริ่มต้นที่ 34,900 บาท ซึ่งทำให้กลายเป็นว่า ถ้าเลือก M2 และเพิ่ม RAM เข้าไปเป็น 41,900 บาท ถือว่าเป็นตัวเริ่มต้นที่น่าสนใจในการใช้งานระยะยาว เพราะถ้าเลือกใช้ MacBook Air 13” M3 ที่ใส่ RAM เพิ่มมาเป็น 16 GB จะทำให้ราคาเริ่มต้นกระโดดไปอยู่ที่ 46,900 บาท

ส่วนต่าง 5,000 บาท แลกกับประสิทธิภาพซีพียูที่แรงขึ้น 15% จีพียูที่แรงขึ้น 35% และ Neural Engine แรงขึ้น 40% ซึ่งถ้างบประมาณไม่ใช่ปัญหา การเลือก M3 ไปเลยก็ทำได้ แต่ถ้าต้องการประหยัดงบประมาณบางส่วน Air M2 ก็ยังเป็นรุ่นที่ดี และตอบโจทย์การใช้งานอยู่ หรือถ้ายังสามารถหาซื้อ MacBook Air M1 จากตัวแทนจำหน่ายในราคารวมส่วนลดประมาณ 25,000 บาท ก็นับว่าเป็นรุ่นที่คุ้มค่า


ภาพรวม MacBook Air M3


ย้อนกลับมาดูในแง่ของการใช้งานโดยรวมของ MacBook Air M3 กันบ้าง ปัจจุบัน MacBook Air M3 ทำตลาดให้เลือกด้วยกัน 2 ขนาดหน้าจอคือ 13.6 นิ้ว บาง 1.13 ซม. น้ำหนัก 1.24 กิโลกรัม และ 15.3 นิ้ว บาง 1.15 ซม. น้ำหนัก 1.51 กิโลกรัม ซึ่งให้มาเป็นหน้าจอ Liquid Retina ซึ่งเป็นจอ LED ยังรองรับการแสดงผลที่ 60 Hz ความละเอียด 2.5-2.8K ให้ความสว่างสูงสุด 500 nits


โดยมีกล้อง FaceTime HD ความละเอียด 1080p ติดมาให้ใช้งาน พร้อมกับรอยบากที่ขอบจอเช่นเดิม ซึ่งยังไม่มีการนำเซ็นเซอร์สแกนใบหน้ามาใส่ ในพื้นที่รอยบากข้างๆ มีเพียงเซ็นเซอร์วัดแสง เพื่อปรับความสว่างหน้าจอ และปรับสีในโหมด TrueTone อัตโนมัติเท่านั้น


ในส่วนของคีย์บอร์ดจะเป็นขนาดมาตรฐาน โดยมีแถบปุ่มลัดด้านบนที่ช่วยให้ใช้งานสะดวกเช่นเดิม ทั้งการปรับความสว่างหน้าจอ เรียกดูหน้าต่างที่เปิดใช้งาน ปุ่มเรียกใช้งาน Spotlight เพื่อค้นหาโปรแกรม หรือไฟล์ต่างๆ ปุ่มไมค์ ปุ่มเปิดโหมดห้ามรบกวน เครื่องควบคุมการเล่น และควบคุมเสียงให้ครบ รวมถึง Touch ID และแทร็กแพดขนาดใหญ่ให้ใช้งาน


ขณะที่พอร์ตเชื่อมต่อที่ให้มามีการเพิ่มพอร์ตชาร์จ MacSafe มาตั้งแต่รุ่น M2 เช่นเดียวกับพอร์ต Thunderbolt 3 / USB 4 ให้ใช้งาน 2 พอร์ต ทางฝั่งซ้าย และช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. ทางฝั่งขวาเท่านั้น ซึ่งกลายเป็นว่าปริมาณพอร์ตที่ให้มายังจำกัด ต้องเชื่อมต่อกับอะแดปเตอร์เพื่อใช้งานเพิ่มเติมอยู่ดี


การเชื่อมต่อไร้สายมากับ WiFi 6E และบลูทูธ 5.3 ซึ่งสามารถเชื่อมต่อใช้งานกับทั้ง Magic Keyboard Magic Mouse หรือแม้แต่จอยเกมได้เป็นอย่างดี ทำให้รองรับการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะทำงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเล่นเกมด้วย


เนื่องจากในะระยะหลัง Apple เริ่มเข้าไปทำงานร่วมกับนักพัฒนา และค่ายเกมมากขึ้น ในการพอร์ตเกมคุณภาพสูงระดับ AAA มาให้ใช้งานบนเครื่อง Mac ที่ใช้ชิป Apple Silicon ซึ่งกลายเป็นว่าคุณภาพของชิปตั้งแต่ M1 จนถึงปัจจุบันสามารถรองรับการเล่นเกมได้อย่างดีเยี่ยม ลื่นไหล และกลายเป็นตอบโจทย์ในแง่ของความบันเทิงเพิ่มเติมให้แก่ผู้ใช้งาน


ชิป M3 หลากหลายรุ่น

ปีนี้พื้นที่เก็บข้อมูลรุ่นเริ่มต้น 256 GB ได้ความเร็วในการอ่านเขียนเต็มประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของชิป M3 ที่ให้ใช้งานบน MacBook Air ปัจจุบัน จะมีให้เลือกทั้งหมด 2 รุ่นย่อยคือ CPU 8 Core GPU 8 Core ในรุ่นเริ่มต้น และ CPU 8 Core GPU 10 Core ที่เลือกอัปเกรดเพิ่มได้ในราคา 3,500 บาท ขณะที่ RAM สามารถใส่ได้สูงสุดที่ 24 GB และ Storage มีให้เลือกตั้งแต่ 256 GB 512 GB 1 TB และ 2 TB


ทั้งนี้ จุดเด่นสำคัญของ M3 ยังคงอยู่ที่หน่วยประมวลผล Neural Engine ที่ในรอบนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 16 Core ช่วยเร่งประสิทธิภาพของทั้ง CPU และ GPU ให้เร็วขึ้น และยังทำงานร่วมกับโปรแกรมที่รองรับ โดยเฉพาะในการใช้งาน Generative AI ที่ประมวลผลในตัวเครื่อง

จนทำให้ MacBook Air กลายเป็นคอนซูเมอร์แล็ปท็อปที่รองรับการใช้งาน AI มาตั้งแต่ M1 ออกทำตลาดแล้ว ในขณะที่เครื่องฝั่ง Windows เพิ่งเริ่มนำคำว่า AI PC มาใช้งานกับเครื่องที่ใช้ชิป Intel Ultra ที่จะทยอยวางตลาดในปีนี้ ซึ่งทำให้ Apple กลายเป็นผู้นำในตลาด AI บนคอมพิวเตอร์มาก่อนใคร


แบตเตอรี่ใช้ยาว 18 ชั่วโมง


อีกส่วนที่ MacBook Air M3 โดดเด่นคงหนีไม่พ้นในเรื่องของแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนานตลอดวัน โดยทั้งรุ่น 13” และ 15” สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องสูงสุดที่ 18 ชั่วโมง เมื่อใช้เล่นวิดีโอต่อเนื่อง และใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ได้ 15 ชั่วโมง เท่ากับบน M3 แต่ได้ประสิทธิภาพในการประมวลผลที่แรงขึ้น


โดยในรุ่น 13 นิ้ว จะให้แบตเตอรี่ขนาด 52.6 Wh มาพร้อมกับอะแดปเตอร์ 30W USB-C to MagSafe ในขณะที่รุ่น 15 นิ้ว จะมากับแบตเตอรี่ 66.5 Wh โดยในรุ่นนี้จะได้อะแดปเตอร์ 35W ที่เป็นแบบ Dual USB-C พร้อมสาย MagSafe ทำให้นอกจากชาร์จแมคบุ๊กแล้ว ยังสามารถใช้เสียบชาร์จ iPhone หรือ iPad ได้ด้วย และจะมีตัวเลือก Adapter 70W มาให้ใช้งานด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถชาร์จเร็ว 50% ได้ภายใน 30 นาที


กำลังโหลดความคิดเห็น