xs
xsm
sm
md
lg

Review : Apple MacBook Air ชิป M2 ดีไซน์ใหม่บางลง แรงขึ้น แพงขึ้น!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับว่ายุคสมัยของแล็ปท็อป Apple ราคาเริ่มต้น 3 หมื่นกว่าบาทกำลังสิ้นสุดไปแล้ว จากการเปิดตัว MacBook Air ดีไซน์ใหม่ที่มากับชิป Apple Silicon M2 ที่ให้ประสิทธิภาพสูงขึ้นจากรุ่นก่อนหน้า แต่ก็มีราคาเริ่มต้นที่สูงขึ้นกว่าเดิมถึง 11,000 บาท

จนกลายเป็นว่าปัจจุบันแอปเปิลวางจำหน่ายทั้ง MacBook Air M1 ที่เป็นรุ่นเริ่มต้น และ MacBook Air M2 รุ่นใหม่ไปพร้อมๆ กัน ย่อมทำให้หลายคนเกิดคำถามตามมาว่าถ้าสนใจใช้งานจะเลือกรุ่นไหนดี และการอัปเกรดของ Apple M2 ดีขึ้นแค่ไหน รีวิวนี้ได้คำตอบกันแน่นอน

สำหรับจุดเด่นของ MacBook Air M2 ที่นับเป็นจุดขายหลักคือเรื่องของดีไซน์ตัวเครื่องที่เล็ก และบางลง ได้หน้าจอแสดงผลที่ใหญ่ขึ้นเป็น 13.6 นิ้ว มีกล้อง FaceTime HD 1080p มาให้ใช้งาน พร้อมระบบชาร์จ MagSafe และแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ต่อเนื่อง 18 ชั่วโมง

ข้อดี
ดีไซน์ใหม่ เบาขึ้น บางลง จอใหญ่ขึ้น
ชิป Apple M2 ยังมากับประสิทธิภาพที่ไว้ใจได้
มี Media Engine รองรับการถอดรหัส ProRes สำหรับงานวิดีโอระดับมืออาชีพ
แบตเตอรี่ใช้งานได้ต่อเนื่อง 18 ชั่วโมง


ข้อสังเกต
ราคาเริ่มต้นค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า
ชิป M2 ไม่ได้เหนือกว่า M1 แบบก้าวกระโดดเหมือนตอนเปลี่ยนจาก Intel
พอร์ต USB 4 Type-C / Thunderbolt 3 ยังจำกัดที่ 2 ช่องเหมือนเดิม ต่อจอนอกได้ 1 จอ



ดีไซน์ใหม่ สีใหม่ มาพร้อม MagSafe


เริ่มกันที่จุดขายหลักของ MacBook Air ชิป M2 เลยคือเรื่องของการปรับดีไซน์ใหม่ ทำให้ได้หน้าจอแสดงผลที่ใหญ่ขึ้น พร้อมยังคงจุดเด่นของการที่ไม่มีพัดลมระบายความร้อนทำให้ตัวเครื่องบางลงด้วย นอกจากนี้ ยังมากับสีใหม่ 2 สีคือ ดำ Midnight และสีทอง Starlight เครื่องนี้

สำหรับขนาดของตัวเครื่องจะอยู่ที่ 304.1 x 215 x 11.3 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1.24 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนซึ่งมีจุดที่หนาสุดอยู่ที่ 16.1 มิลลิเมตร และน้ำหนัก 1.29 กิโลกรัม ทำให้เห็นได้ว่า MacBook Air M2 รุ่นนี้ทั้งบางลง และเบาลงอย่างชัดเจน


ถัดมาคือเรื่องของหน้าจอที่ปรับมาใช้เป็น Liquid Retina ขนาด 13.6 นิ้ว ความละเอียด 2560 x 1664 พิกเซล ให้ความสว่างหน้าจอสูงสุดที่ 500 nits รองรับการแสดงผลสี 1 พันล้านสี ที่ระดับ P3 และยังมาพร้อมกับ True Tone ที่ช่วยปรับสีหน้าจอตามสภาพแวดล้อมด้วย


ตัวกล้อง FaceTime HD จะอยู่ที่บริเวณขอบบนหน้าจอในลักษณะเดียวกับ MacBook Pro 14” และ 16” ที่มีติ่งอยู่ตรงกึ่งกลางจอ ซึ่งในอนาคตถ้าแอปเปิลเปิดให้อัปเดต macOS Ventura ที่เปิดให้ใช้กล้องจาก iPhone เป็นเว็บแคมได้ การใช้งาน FaceTime HD ที่ให้มาคงน้อยลงด้วยเช่นกัน


ถัดลงมาในส่วนของตัวคีย์บอร์ดในรุ่นนี้จะเป็น Magic Keyboard เช่นเดิม ให้ความรู้สึกในการพิมพ์ได้อย่างลื่นนิ้ว พร้อมกับปุ่มลัด และ Fn ขนาดใหญ่ที่แถวบน ซึ่งมีเพิ่มปุ่มปิดไมค์ และเปิดโหมดห้ามรบกวนเพิ่มมาด้วย


Touch ID หรือเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือยังถูกใส่มาให้ใช้งานกันที่ปุ่มเปิดเครื่องมุมขวาบนเช่นเดิม รวมถึง Force Touch Trackpad ที่ใช้ไฟฟ้าสถิตให้ความรู้สึกเหมือนกดปุ่มแทน และยังคงความลื่นไหลของการใช้งานแบบมัลติทัชเช่นเดิม


อีกจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงคือพอร์ตเชื่อมต่อทางฝั่งซ้ายเครื่อง โดยมีการเพิ่มที่ชาร์จแบบ MagSafe เข้ามาทำให้เวลาเสียบชาร์จเครื่องไม่ต้องกังวลเวลามีคนเดินมาสะดุดสาย และยังช่วยให้มีพอร์ต USB-C ไว้ใช้งานเพิ่มขึ้นด้วย


โดย MacBook Air M2 จะมีอะแดปเตอร์ที่แถมมาให้เลือก 2 แบบด้วยกันคือ 30W USB-C อะแดปเตอร์สำหรับรุ่นเริ่มต้น 8 Core GPU และ 35W Dual USB-C อะแดปเตอร์สำหรับรุ่นที่ใช้ 10 Core GPU SSD 512 GB พร้อมสาย USB-C to MagSafe สีเดียวกับตัวเครื่องแล้ว

ข้อดีของอะแดปเตอร์แบบ 2 USB-C คือเราสามารถใช้ในการชาร์จ MacBook Air 1 ช่อง และอีกช่องสามารถต่อกับสาย USB-C to Lightning เพื่อชาร์จ iPhone ไปได้พร้อมกันได้ หรือถ้าอยากให้ชาร์จได้เร็วขึ้นก็สามารถนำไปใช้กับอะแดปเตอร์ 96W ได้เช่นเดียวกัน

ส่วนพอร์ต Thunderbolt 3 / USB 4 Type-C ที่ให้มา 2 พอร์ตนั้น รองรับการเชื่อมต่อจอนอกความละเอียด 6K ได้ 1 จอ ส่วนอีกพอร์ตเอาไว้เชื่อมต่ออุปกรณ์เสริมอื่นๆ แทน ไม่สามารถเชื่อมต่อพร้อมกัน 2 จอ ได้ซึ่งนับเป็นข้อจำกัดของรุ่นนี้อยู่เช่นเดิม

แรงขึ้น เน้นถอดรหัสวิดีโอ ProRes แต่ยังไม่เท่า MacBook Pro


มาถึงในเรื่องประสิทธิภาพของ Apple M2 ที่พัฒนาบนสถาปัตยกรรม 5 นาโนเมตรรุ่นที่ 2 ทำให้ตัวชิป M2 มีจำนวนทรานซิสเตอร์มากกว่า 2 หมื่นล้านตัว พร้อมกับเพิ่มความสามารถของการส่งข้อมูลระหว่างหน่วยความจำเพิ่มเป็น 100 GB/s รองรับ Unified Memory สูงสุดที่ 24 GB

อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังของจำนวนทรานซิสเตอร์ที่เพิ่มขึ้น คือการที่ชิป M2 มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย และเมื่อมองย้อนกลับไปตอนที่ Apple ออกชิป M1 Pro M1 Max จนถึง M1 Ultra ความแรงที่เพิ่มขึ้นก็มาจากการที่นำชิปมาทำงานร่วมกัน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น


ความพิเศษอีกอย่างที่เพิ่มขึ้นมาใน M2 คือการที่แอปเปิลใส่ Media Engine หรือฮาร์ดแวร์ถอดรหัสไฟล์วิดีโอระดับ 8K H.264 HEVE และ ProRes เข้ามาด้วย ทำให้ตัวเครื่องสามารถเข้ารหัส และถอดรหัสได้เร็วขึ้นกว่า M1 รุ่นปกติที่ไม่มีตรงนี้มาช่วย

ในภาพรวมของการทำงาน CPU 8 คอร์ใน M2 จะแรงขึ้นกว่า M1 ประมาณ 18% และในส่วนของ GPU เนื่องจากมีทั้งรุ่น 8 คอร์ และ 10 คอร์ ซึ่งสามารถประมวลผลภาพได้เร็วขึ้น 35%

เพียงแต่จุดเด่นหลักจริงๆ ของ M2 จะอยู่ที่เรื่องประสิทธิภาพต่อพลังงานที่ใช้มากกว่า ซึ่งทางแอปเปิลได้ลองเทียบกับพีซีที่ใช้ CPU 10 คอร์รุ่นล่าสุดในท้องตลาดพบว่า M2 แรงกว่าถึง 1.9 เท่า แต่ใช้พลังงานร้อยกว่าถึง 75% ส่วน GPU นั้นแรงกว่าถึง 2.3 เท่า และใช้พลังงานน้อยกว่า 80%

นั่นแปลได้ว่าถ้าเทียบถึงประสิทธิภาพต่อพลังงานที่ใช้แล้ว Apple M2 จะใช้พลังงานน้อยกว่า แต่ให้ประสิทธิภาพสูงกว่าเมื่อเทียบกับซีพียูของค่ายอื่น จึงทำให้ MacBook Air M2 สามารถใช้งานแบตเตอรี่ได้ต่อเนื่องถึง 18 ชั่วโมงในแง่ของการใช้งานทั่วไป แต่ถ้ามีการเปิดเล่น YouTube ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตต่อเนื่องทีมงานทดสอบได้อยู่เกือบๆ 12 ชั่วโมง

ทดสอบประสิทธิภาพ


ทีนี้เมื่อลองทดสอบประสิทธิภาพจากโปรแกรม Benchmark จะพบว่าตัวเครื่อง MacBook Air M2 นั้นแรงขึ้นจาก MacBook Pro M1 โดยเฉพาะในส่วนของ SIngle Core แต่ถ้าข้ามไปทดสอบกับ MacBook Pro M1 Pro จะประมวลผลแบบ Multi-Core ได้น้อยกว่า

ผลทดสอบนี้สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของชิป M2 ว่าถ้ามองเป็นรุ่นเริ่มต้นถือว่าแรงขึ้น แต่ถ้าเทียบกับ M1 Pro หรือ M1 Max นั้นยังตามอยู่ แต่ในอนาคตเมื่อ M2 Pro และ M2 Max ตามออกมาก็จะแรงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

ผลทดสอบการเขียน-อ่านข้อมูลบน SSD รุ่น 512 GB ไม่พบความผิดปกติเหมือนรุ่น 256 GB ที่ช้าลง
รุ่น และราคาจำหน่าย


MacBook Air M2 จริงๆ นั้นวางจำหน่ายด้วยกัน 2 รุ่นย่อยคือ รุ่นที่ใช้ CPU 8 Core GPU 8 Core และรุ่นที่ใช้ CPU 8 Core GPU 10 Core RAM เริ่มต้นที่ 8 GB และ SSD มีให้เลือก 256 GB และ 512 GB ในราคาเริ่มต้น 43,900 บาท และ 54,900 บาท

โดยในรุ่นเริ่มต้นที่ใช้ SSD 256 GB นั้นจะให้ความเร็วที่ช้ากว่ารุ่น 512 GB แต่ยังนับว่าเร็วอยู่เมื่อเทียบกับรุ่นใกล้เคียงกันในท้องตลาด แต่ถ้าให้แนะนำในการเลือกซื้อเพื่อใช้งานระยะยาวให้อัปเกรดขึ้นไปเป็น SSD 512 GB ขึ้นไปจะดีกว่า ในส่วนของ GPU 8 Core และ 10 Core ว่ารุ่นไหนดี อาจจะต้องมองที่รูปแบบการใช้งานเป็นหลัก ถ้าต้องการประมวลผลกราฟิกร่วมด้วย มีการนำไปใช้ตัดต่อวิดีโอบางส่วนขยับขึ้นไปเป็น 10 Core จะตอบโจทย์การใช้งานมากกว่า

ส่วนถ้าซื้อมาใช้งานทั่วไป ไม่ได้เน้นเรื่องการประมวลผล ทำรูป ตัดต่อวิดีโอ ทางเลือกอย่าง MacBook Air M1 ที่ปรับราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 32,900 บาท น่าจะคุ้มค่าเงินมากที่สุด แต่ถ้าต้องการนำไปใช้งานกับรูปไฟล์ RAM ตัดต่อวิดีโอความละเอียดสูง 4K 8K หรือใช้ในการเขียนโปรแกรมที่ต้องประมวลผลหนักๆ ทางเลือกอย่าง MacBook Pro 14” หรือ MacBook Pro 16” ยังตอบโจทย์มากที่สุดอยู่


สรุป


ตัวเลือก MacBook Air M2 ที่มากับดีไซน์ใหม่ จอสวยขึ้น แรงขึ้นจากรุ่นเดิมเล็กน้อย ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในกลุ่มโน้ตบุ๊กระดับแมสของแอปเปิล ถ้าใครมีงบถึงแนะนำให้เลือกตัวนี้ แล้วใช้งานยาวๆ ได้เลย แต่ถ้ามีงบประมาณจำกัด ตัวเลือกอย่าง Air M1 ก็เพียงพอกับการใช้งานทั่วไปอยู่แล้ว

ใครที่กำลังใช้งาน MacBook Air หรือ Pro รุ่นเก่าที่ใช้ชิปเซ็ต Intel แล้วมีแผนจะเปลี่ยนรุ่นใหม่ใช้งานอยู่แล้ว MacBook Air M2 น่าจะเป็นคำตอบได้ไม่ยาก แต่ถ้าใครใช้ M1 อยู่แล้วก็แทบไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนนอกจากอารมณ์อยากได้ของใหม่ล้วนๆ

ประเด็นหนึ่งที่ต้องนึกถึงคือถ้าเลือก Air M2 รุ่นเริ่มต้นที่เป็น SSD 256 GB ความเร็วในการอ่านเขียนข้อมูลจะช้าเหมือนกับใน MacBook Pro M2 256 GB ตามประเด็นที่ออกมาก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงควรเลือกปรับแต่งเป็น SSD 512 GB ขึ้นไปให้ได้ความเร็วในการใช้งานที่ลื่นไหลที่สุด แต่ราคาก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 50,900 บาทแทน


กำลังโหลดความคิดเห็น