ด้วยการทำราคา และความสามารถของ Amazfit ที่ดึงดูดทำให้กลายเป็นว่า สมาร์ทวอทช์ จากแบรนด์นี้สามารถเข้ามาตอบโจทย์การใช้งานของกลุ่มผู้ใช้งานระดับเริ่มต้นได้อย่างน่าสนใจ
โดยเฉพาะในกลุ่ม Amazfit GTR 3 และ GTS 3 ที่เข้ามาเสริมไลน์สมาร์ทวอทช์ในระดับราคาประมาณ 5,000 บาท พร้อมชูฟีเจอร์เด็ดอย่างการใช้งานต่อเนื่องได้กว่า 3 สัปดาห์ รวมถึงความสามารถในการตรวจจับข้อมูลสุขภาพที่ไม่เป็นรองแบรนด์ใดในตลาด
Amazfit GTR3 มากับหน้าจอขนาด 1.39 นิ้ว แบบ AMOLED ให้การแสดงผลที่ชัดเจน รองรับการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ค่าออกซิเจนในเลือด ความเครียด การนอนหลับ การออกกำลังต่างๆ อย่างครบถ้วน
ข้อดี
สมาร์ทวอทช์ความสามารถครบ
ใช้งานได้ต่อเนื่องสูงสุด 21 วัน
ราคาเข้าถึงได้ (5,490 บาท)
ข้อสังเกต
ไม่ได้ใช้ระบบปฏิบัติการหลักในท้องตลาด
สายนาฬิกายังไม่หลากหลาย
มีผู้ใช้บางรายเจอปัญหาความไม่เสถียรบ้าง
จอสวย เปลี่ยนหน้าปัดได้
การออกแบบของ Amazfit GTR 3 ยังมาในลักษณะของนาฬิกาแบบคลาสสิกที่เป็นหน้าปัดทรงกลม มีเม็ดมะยม และปุ่มเพิ่มเข้ามาช่วยในการควบคุมเพิ่มเติมจากหน้าจอแบบสัมผัสด้วย
ตัวเรือนจะมีขนาดอยู่ที่ 45.8 x 45.8 x 10.8 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 32 กรัม มีให้เลือกทั้งหมด 2 สีคือ Thunder Black และสีนี้คือ Moonlight Grey โดยวัสดุตัวเรือนทำมาจากอะลูมิเนียม สามารถกันน้ำได้ลึก 5 ATM
หน้าจอที่ให้มาเป็นแบบสัมผัส เคลือบสารต้านรอยนิ้วมือ (Anti-Fingerprint coating) ขนาด 1.39 นิ้ว โดยเป็นจอแบบ AMOLED ความละเอียด 454 x 454 พิกเซล ความละเอียดเม็ดสีที่ 326 ppi
ภายในให้แบตเตอรี่ขนาด 450 mAh สามารถชาร์จได้ด้วยที่ชาร์จแม่เหล็กที่ให้มาในกล่อง โดยใช้ระยะเวลาชาร์จประมาณ 2 ชั่วโมง ส่วนสายนาฬิกาที่ให้มาจะเป็นสายยางซิลิโคนทั่วไป
ในการใช้งานผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน ZeppApp ก่อนเข้าไปเลือกปรับแต่งค่าต่างๆ โดยส่วนที่น่าสนใจก็คือหน้าปัดนาฬิกาที่ผู้ใช้สามารถเลือกปรับแต่งให้เข้ากับการแต่งกายในแต่ละวันได้ และมีหน้าปัดให้เลือกดาวน์โหลดเพิ่มเติมได้ด้วย
ฟีเจอร์สุขภาพครบ
จุดเด่นหลักของ Amazfit GTR 3 คือการเป็นนาฬิกาสมาร์ทวอทช์ที่สามารถใช้งานด้านสุขภาพได้ครบถ้วน จากเทคโนโลยีในการวัดสุขภาพแบบ 4-1 BioTracker 3.0 ที่สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ค่าออกซิเจนในเลือด ความเครียด และการหายใจได้ในครั้งเดียว
โดยการนำ BioTracker 3.0 มาใช้จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถกดวัดข้อมูลพร้อมแตะนาฬิกาค้างไว้ประมาณ 45 วินาที ก็จะได้ค่าสุขภาพมาจัดเก็บไว้บนสมาร์ทโฟนทันที แตกต่างจากรุ่นอื่นๆ ในท้องตลาดที่ต้องคอยเลือกว่าจะวัดอะไร
นอกจากนี้ ในขณะที่สวมใส่ Amazfit GTR 3 ยังคอยตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจ และค่าออกซิเจนในเลือดแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะมีการแจ้งเตือนเมื่อค่าผิดปกติอย่างออกซิเจนต่ำเกินไป หรืออัตราการเต้นของหัวใจสูงเกินไปด้วย
พร้อมกันนี้ เพื่อให้เข้าใจค่าสุขภาพของร่างกายมากขึ้น Amazfit GTR 3 ได้นำข้อมูลต่างๆ มาคำนวณเป็น PAI Score โดยรวบรวมทั้งข้อมูลกิจกรรมการออกกำลังกายตามไลฟ์สไตล์ต่างๆ มาช่วยคำนวณ ซึ่งถ้ามีค่า PAI สูงเกิน 100 จะช่วยลดความเสี่ยงของความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคเบาหวานได้
อีกฟีเจอร์ที่น่าสนใจคือ การวัดการนอนหลับ และงีบ โดยตัวเครื่องสามารถบันทึกการนอนได้ทั้งนอนหลับเบา หลับลึก และหลับในระดับ REM จนถึงการงีบหลับตอนกลางวัน ซึ่งจะคอยติดตามการนอน และคุณภาพการหายใจไปพร้อมกัน
ในส่วนของแบตเตอรี่ Amazfit GTR 3 ถือว่าทำได้น่าสนใจ เพราะถ้าใส่ใช้งานทั่วไป เป็นสมาร์ทวอทช์ที่ใช้แจ้งเตือนข้อมูลต่างๆ จะใช้งานได้ยาวๆ 21 วัน และถ้าใช้แบบประหยัดพลังงานจะอยู่ได้ราว 35 วัน
ในกรณีที่ใช้งานหนักๆ อย่างการบันทึกการออกกำลังกาย จะใช้งานได้ต่อเนื่องราว 10 วัน แต่ถ้ามีการใช้นำทาง หรือบันทึกการออกกำลังกายที่ใช้พิกัด GPS ด้วยจะใช้งานได้ต่อเนื่อง 35 ชั่วโมง
สรุป
ด้วยราคาเปิดตัวของ Amazfit GTR 3 ที่ 5,490 บาท การได้นาฬิกาอัจฉริยะที่สามารถวัดได้ทั้งก้าวเดิน การนอน ออกกำลังกาย อัตราการเต้นของหัวใจ ค่าออกซิเจนในเลือด ความเครียดต่างๆ ถือว่าค่อนข้างคุ้มค่า
ไม่นับรวมกับความสามารถของการเป็นสมาร์ทวอทช์ที่ใช้งานร่วมได้ทั้ง iOS และ Android ใครที่กำลังมองหาสมาร์ทวอทช์รุ่นเริ่มต้นมาใช้งาน Amazfit GTR 3 น่าจะตอบโจทย์
แต่แน่นอนว่าด้วยระดับราคานี้อาจจะต้องแลกกับความเสถียรที่จะไม่ลื่นไหล ต่อเนื่องเท่ากับสมาร์ทวอทช์ที่ใช้ WearOS หรือ watchOS ที่เข้ากับมือถือได้ลงตัวกว่า ซึ่งแน่นอนว่าจะมีระดับราคาที่สูงขึ้นด้วย