xs
xsm
sm
md
lg

Review : Apple MacBook Pro M1 Pro - M1 Max เน้นแรง พร้อมพกพา จบในเครื่องเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ด้วยราคาเริ่มต้นของ MacBook Pro 14 นิ้ว ที่ 73,900 บาท แสดงให้เห็นชัดเจนว่าในไลน์อัปสินค้า MaoBook Pro 14 นิ้ว และ 16 นิ้ว ที่แอปเปิล (Apple) เปิดตัวมานี้ ไม่ใช่สำหรับการใช้งานสำหรับผู้บริโภคทั่วไปอยู่แล้ว

แต่จะเน้นในกลุ่มผู้ใช้งานในระดับโปรซูเมอร์ และมืออาชีพเป็นหลัก เพราะจะกลายเป็นอุปกรณ์ที่สามารถตอบโจทย์การทำงานให้ได้รวดเร็วขึ้น หรือสามารถพกพาไปใช้งานได้ทุกที่ โดยเฉพาะจากจุดเด่นเรื่องแบตเตอรีที่ใช้งานการประมวลผลได้เต็มประสิทธิภาพ ของชิปเซ็ตใหม่ทั้ง M1 Pro และ M1 Max

ตัวเครื่อง MacBook Pro 14 นิ้ว และ 16 นิ้ว ยังมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นในหลายส่วนทั้งจอแสดงผล และพอร์ตเชื่อมต่อที่รองรับการทำงานมากขึ้น เมื่อรวมกับกล้อง FaceTime ที่ปรับความละเอียดขึ้นมาเป็น FullHD และลำโพง 6 ตำแหน่ง ทำให้เครื่องนี้ครบเครื่อง และตอบโจทย์การใช้งานได้ดี


ข้อดี
จอแสดงผล Liquid Retina XDR รองรับ ProMotion 120Hz
ชิปเซ็ต Apple M1 Pro - M1 Max ประสิทธิภาพสูง ประหยัดพลังงาน
พอร์ตเชื่อมต่อเพียงพอกับการใช้งาน


ข้อสังเกต
กลับไปใช้ดีไซน์ของ MacBook Unibody เดิม
ราคาค่อนข้างสูง
รุ่น 16 นิ้ว หนา และหนักทำให้พกพาใช้งานค่อนข้างยาก

ดีไซน์ย้อนยุค แต่ตอบโจทย์ผู้ใช้


สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในกลุ่มผู้ใช้งาน MacBook Pro หลังปรับดีไซน์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือมีข้อจำกัดของพอร์ตเชื่อมต่อ ที่ลดเหลือแค่ USB-C หรือ Thunderbolt ให้ใช้งานเท่านั้น เวลาใช้งานจึงจำเป็นต้องพกพาอะเดปเตอร์ เพื่อเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมอื่นๆ

ทำให้จากข้อเรียกร้องของผู้ใช้งานที่ต้องการพอร์ตเชื่อมต่อที่ครบมากขึ้น ทำให้ใน MacBook Pro รุ่นปี 2021 นี้ แอปเปิล ได้ตัดสินใจปรับดีไซน์ใหม่ เพื่อให้รับการลักษณะของการใช้งานมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มมืออาชีพ


เริ่มจากการนำช่องอ่านเอสดีการ์ด SDXC บนมาตรฐาน SD 4.0 กลับมาให้ใช้งาน ตามด้วยพอร์ต HDMI เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับจอแสดงผลได้ทันที เมื่อรวมกับพอร์ต Thunderbolt 4 / USB 4 อีก 3 พอร์ต ทำให้ตัวเครื่องรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้ครบมากขึ้น


ขณะเดียวกัน จากการที่ตัวเครื่องมาจับกลุ่มผู้ใช้งานมืออาชีพ ในส่วนของช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. ก็มีการปรับปรุงให้รองรับการหูฟังที่ใช้กำลังขับสูง (High-Impedance) ทำให้รองรับกับการใช้งานหูฟังได้ครอบคลุมมากขึ้น


สุดท้ายคือการเลือกนำพอร์ตชาร์จไฟ MagSafe กลับมาใช้งานในเวอร์ชัน MagSafe 3 ที่มีจุดเด่นในแง่ของการที่ออกแบบมาให้เชื่อมต่อด้วยแม่เหล็ก เวลามีใครเดินสะดุดสายจะไม่ลากตัวเครื่องโน้ตบุ๊กตกลงไปด้วย แต่เหตุผลจริงๆ แล้วคือเรื่องของกำลังไฟ เพราะข้อจำกัดข้อ USB-C ที่ส่งกำลังไฟได้ไม่เกิน 100W ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับรุ่น 16 นิ้ว ที่ให้อะเดปเตอร์ 144W มาชาร์จไฟ

รวมๆ แล้วจากพอร์ตที่ให้มา ตัวเครื่อง MacBook Pro รุ่นปี 2021 นี้ ในรุ่น M1 Pro จึงสามารถเชื่อมต่อหน้าจอความละเอียดสูงระดับ 6K หรือ Pro Display XDR ได้พร้อมกัน 2 หน้าจอ และรุ่น M1 Max จะสามารถเชื่อมต่อจอ 6K ได้ 3 หน้าจอ และ 4K TV อีก 1 เครื่อง

เทียบขนาด MacBook Pro 13 / 14 / 16
ในขณะที่ขนาดของตัวเครื่อง MacBook Pro 14 นิ้ว จะอยู่ที่ 312.6 x 221.2 x 15.5 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1.6 กิโลกรัม ในขณะที่รุ่น 16 นิ้ว จะอยู่ที่ 248.1 x 355.7 x 16.8 มิลลิเมตร นำ้หนัก 2.2 กิโลกรัม

หน้าจอคมชัดระดับพันล้านสี


อีกจุดที่ MacBook Pro รุ่น 14 นิ้ว และ 16 นิ้ว มีการปรับปรุงขึ้น คือเรื่องของจอแสดงผล ที่หันมาใช้หน้าจอ Liquid Retina XDR โดยในรุ่น 16 นิ้ว จะมากับจอแสดงผลขนาด 16.2 นิ้ว ความละเอียด 3456 x 2234 พิกเซล ในขณะที่รุ่น 14 นิ้ว มากับจอแสดงผล 14.2 นิ้ว ความละเอียด 3024 x 1964 พิกเซล

เทียบขนาดหน้าจอ 16 / 14 / 13
สำหรับเทคโนโลยี Liquid Ratina XDR ที่นำมาใช้จะใช้แหล่งกำเนิดแสงจาก mini-LEDs ทำให้สามารถแสดงผลสีดำที่ดำสนิท และให้สีสันที่สดใส ผ่านรับรองมาตรฐาน P3 wide Colour gamut และรองรับการแสดงผลที่ 1 พันล้านสีด้วย

อีกจุดเด่นที่น่าสนใจคือระดับความสว่างสูงสุดที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 1600 nits ทำให้สามารถใช้งานในพื้นที่แสงจ้าได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกลัวสีเพี้ยน หรือหน้าจอไม่สู้แสง ช่วยให้สามารถนำไปใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา


สุดท้ายก็คือรองรับการแสดงผลแบบ ProMotion ที่สามารถปรับอัตราการแสดงผล (Refresh Rate) ได้สูงสุดที่ 120 Hz ที่แม้ว่าในช่วงแรกจะยังไม่มีแอปพลิเคชัน หรือโปรแกรมรองรับ แต่ในแง่ของการแสดงผลการเคลื่อนไหวของหน้าจอต่างๆ บน macOS Monterey ก็เห็นถึงความลื่นไหลที่แตกต่างจากเดิมแล้ว

อย่างไรก็ตาม จากที่ผ่านมาหน้าจอแสดงผลของ MacBook Pro ถือว่าทำมาได้ดีโดยตลอดอยู่แล้ว ทำให้เวลาวางใช้งานในสภาพแสงทั่วไป แทบจะไม่แตกต่างกัน แต่ถ้าอยู่ในสภาพแสงที่มีแดดจ้า หรือแสดงผลพื้นที่สีดำตัดกับสีสันบางส่วน ถึงจะเห็นความแตกต่าง


กับอีกส่วนที่เพิ่มเข้ามาก็คือรายบากบริเวณกล้อง FaceTime ที่เพิ่มเข้ามา ที่แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว พื้นที่ส่วนขอบจอด้านบนจะเป็นส่วนที่ Apple เพิ่มเข้ามา เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนและไม่กระทบกับพื้นที่ในการแสดงผล

ในการใช้งานจริง เมื่อเปิดโปรแกรมที่มีเมนูเยอะๆ การแสดงผลเมนู และแถบแสดงสถานะจะถูกบีบให้ข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งแทน ซึ่งในจุดนี้อาจจะทำความเคยชินสักพักในการใช้งาน แต่ก็มั่นใจได้ว่ารอยบากนี้ จะไม่ส่งผลกระทบเวลารับชมคอนเทนต์ หรือทำงานแน่ๆ

คีย์บอร์ดที่ตัด Touch Bar ทิ้งไป


ถัดมาในส่วนของคีย์บอร์ดเป็นอีกจุดที่ปรับให้เมหาะกับการใช้งานของมืออาชีพมากขึ้น เพราะหลายๆ ครั้ง Touch Bar เดิมจะไม่ค่อยตอบโจทย์การใช้งานอย่างเช่นนักพัฒนาที่ต้องการใช้ปุ่ม ESC หรือการควบคุมความสว่างหน้าจอ ปรับเสียง ระหว่างการตัดวิดีโอ


มาในคราวนี้แอปเปิล จึงปรับกลับมาใช้งานเป็นปุ่มกดเช่นเดิม และเปลี่ยนแผงคีย์บอร์ดกลายเป็นสีดำ ให้ความรู้สึกโปรมากขึ้น โดยการสัมผัสปุ่มยังทำได้ดีตามสไตล์อยู่แล้ว ส่วนของปุ่มเปิดเครื่องก็มีการฝัง TouchID ไว้ให้ปลดล็อกตัวเครื่องด้วยลายนิ้วมือด้วย


อย่างไรก็ตาม ในมุมของผู้ใช้งานทั่วไป อาจจะเห็นประโยชน์ในการใช้งานทัชบาร์มากกว่า โดยเฉพาะเมื่อใช้งานร่วมกับโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่รองรับ อย่างการเลื่อนดูรูป ดูวิดีโอแบบทั้งไทม์ไลน์ ที่พอปรับมาใช้เป็นแบบปุ่มความสามารถดังกล่าวก็จะหายไป

แบตเตอรี และการชาร์จเร็ว


สำหรับแบตเตอรี ถือเป็นอีกเรื่องที่แอปเปิล มั่นใจว่า MacBook Pro ที่ใช้งานชิปเซ็ต M1 Pro และ M1 Max จะตอบโจทย์การใช้งานนอกสถานที่ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในรุ่น 16 นิ้ว ที่ให้แบตเตอรีขนาดใหญ่ถึง 100 Whr ในขณะที่รุ่น 14 นิ้วมากับแบตเตอรี 70 Whr

โดยจากข้อมูลเบื้องต้นของแอปเปิล ระบุว่า แบตเตอรีของ MacBook Pro 14” สามารถใช้งานต่อเนื่องได้ราว 17 ชั่วโมง ในขณะที่ MacBook Pro 16” ใช้งานได้ต่อเนื่อง 21 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับ MacBook Pro 13” ที่ใช้ชิปเซ็ต M1 จะอยู่ที่ราว 20 ชั่วโมง


จุดที่น่าสนใจคือในการใช้งานจริงระยะเวลาใช้งานบนแบตเตอรีจะขึ้นอยู่กับลักษณะการทำงาน และชิปเซ็ตที่เลือกใช้ ทำให้ในรุ่น 14 นิ้ว เมื่อเลือกใช้งานรุ่นเริ่มต้นที่เป็น M1 Pro จะสามารถใช้งานได้นานกว่า M1 Max ที่ใช้พลังงานมากกว่า แลกกับประสิทธิภาพที่สูงขึ้น

ในขณะที่รุ่น 16” ที่มีแบตเตอรีขนาดใหญ่ เมื่อทำงานบน M1 Pro จะได้ระยะเวลาใช้งานที่นานที่สุด ตามด้วย M1 Max ที่ใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือในรุ่น 16 นิ้ว ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะใช้โหมดประสิทธิภาพสูง (High Performance) ตลอดเวลาได้ด้วย จึงทำให้ประสิทธิภาพในการประมวลผลโดยรวมแล้วรุ่น 16 นิ้ว จะทำได้ดีกว่ารุ่น 14 นิ้ว แม้จะเลือกปรับสเปกเท่ากันก็ตาม


อีกความสามารถที่เพิ่มขึ้นมาคือ MacBook Pro ทั้ง 14 นิ้ว และ 16 นิ้ว รองรับการชาร์จเร็วที่ 50% ภายใน 30 นาที โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือในรุ่น 14 นิ้ว จะทำงานร่วมกับอะเดปเตอร์ขนาด 96W ซึ่งสามารถชาร์จได้ทั้งผ่าน USB-C หรือ MagSafe ก็ได้

ส่วนในรุ่น 16 นิ้ว ถ้าจะชาร์จเร็วนั้น ต้องใช้งานร่วมกับอะเดปเตอร์ 140W ผ่านสาย MagSafe เท่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดในแง่ของการปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านพอร์ต USB-C ที่ไม่เกิน 100W ทำให้เป็นอีกเหตุผลที่แอปเปิลเลือกนำ MagSafe กลับมาใช้

ทีเด็ดอยู่ที่ M1 Pro และ M1 Max


ในตอนที่แอปเปิล เปิดตัว Apple Silicon ด้วยการพัฒนาชิปเซ็ตประมวลผลรูปแบบใหม่ออกสู่ตลาดในลักษณะของ SoC (System on Chip) หนึ่งในจุดเด่นที่เกิดขึ้นคือการผสมผสานการทำงานของหน่วยความจำในลักษณะของ Unified Memory ที่เปิดให้ซีพียู และจีพียู สามารถเข้าถึงหน่วยความจำกลางเพื่อใช้งานได้ทันที

พอมาเป็นใน M1 Pro และ M1 Max แอปเปิลได้เพิ่มขีดจำกัดในการปรับแต่งหน่วยความจำนี้ขึ้นไปเป็น 32 GB และ 64 GB ตามลำดับ เปิดโอกาสให้ทั้งซีพียู และจีพียู ที่ใส่มาในชิปเข้าถึงหน่วยความจำได้เพิ่มขึ้น และช่วยส่งผลต่อการประมวลผลที่รวดเร็วขึ้น

ขณะเดียวกัน ด้วยการปรับจำนวนแกนประมวลผลจากเดิมที่เป็น 8 คอร์ในรุ่น M1 ซึ่งจะเป็นแกนประสิทธิภาพสูง 4 คอร์ และแกนประหยัดพลังงาน 4 คอร์ มาเป็น 10 คอร์ ใน M1 Pro และ M1 Max ที่ให้แกนประสิทธิภาพสูง 8 คอร์ และแกนประหยัดพลังงาน 2 คอร์ ทำให้ความเร็วในการประมวลผลเพิ่มขึ้น

อีกจุดที่ปรับแต่งเพิ่มเติมคือจำนวนคอร์ของ GPU ที่เพิ่มจาก 8 คอร์ มาเป็น 16 คอร์ และ 32 คอร์ พร้อมกับเพิ่มช่องทางพิเศษในการส่งข้อมูลภายในชิปเพิ่มเป็น 200 Gb/s และ 400 GB/s จึงทำให้ในภาพรวมประสิทธิภาพการประมวลผลของทั้ง 2 รุ่นจึงโดดเด่นขึ้นกว่าเดิม

ในขณะที่พื้นฐานของสถาปัตยกรรม M1 Pro และ M1 Max นั้นยังคงใช้แบบ 5 นาโนเมตรเช่นเดิม แต่มีการเพิ่มจำนวนทรานซิสเตอร์ขึ้นมาเป็น 3.38 หมื่นล้านชิ้น ใน M1 Pro และ 5.7 หมื่นล้านชิ้นใน M1 Max

ผลทดสอบ GeekBench M1 ทั้ง 3 รุ่น
สรุปรวมก็คือใน M1 Pro และ M1 Max ถ้ามองในแง่ของการประมวลผลตัวเครื่องจะเร็วขึ้นกว่า 1.7 เท่า เมื่อเทียบกับ M1 รุ่นก่อนหน้า และจะมีความแตกต่างเพิ่มเติมในกรณีที่นำไปประมวลผลภาพ หรือวิดีโอ ที่ใน M1 Pro จะแรงกว่าเดิม 2 เท่า และใน M1 Max จะแรงกว่าเดิมถึง 4 เท่า

ประกอบกับในแง่ของการใช้พลังงานที่ชิป M1 มีความโดดเด่นมากอยู่แล้ว พอมาเป็นใน M1 Pro และ M1 Max ที่แม้ว่าจะใช้พลังงานในการประมวลผลมากขึ้น แต่สิ่งที่ได้กลับมาก็คือประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และยังถือว่าประหยัดพลังงานเมื่อเทียบกับชิปเซ็ตอย่าง Intel หรือ AMD ที่มีอยู่ในโน้ตบุ๊กทั่วไปในเวลานี้


จุดที่โดดเด่นอีกอย่างของทั้ง M1 Pro และ M1 Max และเหมาะกับสายอาชีพทางด้านครีเอเตอร์ หรือมืออาชีพที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการตัดต่อวิดีโอความละเอียดสูงระดับ ProRes คือภายในชิปทั้ง 2 รุ่น ได้มีการใส่ตัวถอดรหัส (Media Engine) มาช่วยประมวลผลวิดีโอเพิ่มเติม ทำให้ช่วยเพิ่มความเร็วในการถอดรหัสไฟล์วิดีโอความละเอียดสูงในระดับ 8K ได้สบายๆ

เลือกใช้รุ่นไหนดี


สุดท้ายเชื่อว่าคำถามที่เกิดขึ้นคือในกลุ่ม MacBook ถ้าต้องการเลือกนำมาใช้งานควรเลือกรุ่นไหนดี ซึ่งต้องเริ่มกันจากรูปแบบของการใช้งานก่อน ถ้าเป็นการนำมาใช้งานทั่วไป ในกลุ่มคอนซูเมอร์ นักศึกษา หรือการทำงานเอกสาร ทำพรีเซ็นต์ เชื่อว่าปัจจุบัน MacBook Air M1 และ MacBook Pro M1 ตอบโจทย์การใช้งานอยู่แล้ว

จะมีเพิ่มเติมมาเล็กน้อยตรงที่ถ้าต้องการพอร์ตเชื่อมต่อที่ครบถ้วนมากขึ้น และยอมรับกับดีไซน์ตัวเครื่องที่หนา และหนักขึ้น ตัวเลือกเริ่มต้นของ MacBook Pro 14 นิ้ว น่าจะเหมาะที่สุดกับการใช้งานทั่วไป ที่ครอบคลุมการใช้งานมากขึ้น


ถัดมาในกลุ่มของโปรซูเมอร์ นักพัฒนา หรือมืออาชีพที่ทำงานเกี่ยวกับภาพนิ่งเป็นหลัก เชื่อว่าการเลือก MacBook Pro ที่มากับ M1 Pro นั้นเพียงพอกับการใช้งานแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าอยากได้หน้าจอที่ขนาดเท่าไหร่ และระยะเวลาในการใช้งานบนแบตเตอรีมากแค่ไหน

ส่วนถ้าเป็นระดับมืออาชีพที่ทำงานเกี่ยวกับการตัดต่อวิดีโอ ต้องมีการปรับแต่งสีบนวิดีโอความละเอียดสูงระดับ 4K หรือ 8K การเลือกตัวเลือกอย่าง MacBook Pro 16 M1 Max น่าจะเหมาะสมที่สุด เพราะได้แบตเตอรีที่ใช้งานได้อย่างมั่นใจ และช่วยให้สามารถเรนเดอร์งานได้เร็วขึ้น

จะเห็นได้ว่า MacBook Pro 14 นิ้ว และ 16 นิ้ว ในรอบนี้ของแอปเปิล ได้กลับมาตอบโจทย์ของผู้ที่ใช้งานระดับมืออาชีพ ด้วยการเป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ด้วยการลดระยะเวลาในการประมวลผลต่างๆ ให้เร็วขึ้น ในรูปแบบที่ยังสามารถพกพาไปใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา


กำลังโหลดความคิดเห็น