xs
xsm
sm
md
lg

เทียบ 2 ผู้ช่วยส่วนตัว Google Assistant - Siri เมื่อพร้อมสั่งงานเป็นภาษาไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ในต่างประเทศการใช้งานผู้ช่วยส่วนตัวผ่านการสั่งงานด้วยเสียง (Voice Assistant) กลายเป็นหนึ่งในจุดเด่นที่ระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟนทั้ง iOS ที่มี Siri และ Android ที่มี Google Assistant รวมถึง Amazon Alexa ต่างแข่งขันกัน เพื่อที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเช็กข้อมูล หรือสั่งการทำงานพื้นฐานของมือถือได้ง่ายขึ้น

โดยที่ผ่านมา Siri เริ่มรองรับการสั่งงานด้วยเสียงภาษาไทยตั้งแต่ iOS 8.3 หรือเมื่อราว 3 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่ล่าสุดทาง Google Assistant จะประกาศรองรับการสั่งงานด้วยเสียงภาษาไทยในวันนี้ (16 พฤษภาคม) และเริ่มทยอยอัปเดตให้ผู้ใช้แอนดรอยด์ในประเทศไทยสามารถใช้งานได้ภายในสัปดาห์หน้า

แน่นอนว่า ถ้ามองในแง่ของการใช้งานทั้ง 2 ค่ายต่างมีฐานข้อมูลเสียงภาษาไทย ที่ถือว่าแม่นยำในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ทำให้สามารถพูดสื่อสารภาษาไทย (ภาคกลาง) ได้อย่างแม่นยำ โดยเท่าที่ทดลองใช้งานมาแทบจะไม่มีคำผิดในบทสนทนาทั่วๆไป แต่อาจจะมีการผิดพลาดบ้างเมื่อเป็นคำเฉพาะ

ทีนี้ มาดูความสามารถในการสั่งงานภาษาไทยกันก่อน โดยเริ่มจาก Siri ที่เมื่อถามเข้าไปง่ายๆเลยว่า ทำอะไรได้บ้าง Siri จะขึ้นลิสต์คำสั่งภาษาไทยมาให้ลองสั่งงาน ไม่ว่าจะเป็นสั่งให้โทรศัพท์ Facetime เปิดใช้งานแอป ส่งข้อความ สร้างปฏิทินนัดหมาย แสดงผลรูปแบบ สั่งกล้องให้สแกน QRCode

เปิดแผนที่หาเส้นทางไปสถานที่ต่างๆ เล่นเพลงจากใน iTunes สั่งให้เตือนความจำ ส่งอีเมล ตรวจสอบสภาพอากาศ ค้นหาราคาหุ้น ตั้งนาฬิกาปลุก ค้นหาที่อยู่จากรายชื่อผู้ติดต่อ ค้นหาเพื่อน สร้างโน้ต ตั้งค่าตัวเครื่อง ค้นหาข้อมูลในเว็บไซต์ ค้นหาเพลง เล่นพ็อตคาสท์

รวมถึงสั่งให้แอป 3rd Party อย่าง Facebook ค้นหาข้อมูล รูปถ่าย สถานที่ต่างๆ สั่งให้ WhatsApp อ่านข้อความ หรือส่งข้อความหาเพื่อน หรือเมื่อสมัยที่ Uber ยังให้บริการในไทยก็สามารถสั่งให้ Siri เรียกรถ Uber ได้ด้วย

ต่อมาเมื่อดูถึงความสามารถของ Google Assistant ก็จะมีความคล้ายคลึงกันในแง่ของการสั่งงานพื้นฐานอย่างการตั้งนาฬิกาปลุก โทรศัพท์ เปิดเพลง ส่งข้อความ ตรวจสอบพยากรณ์อากาศ ตั้งจับเวลา ช่วยเตือนความจำ นำทาง สั่งควบคุมอุปกรณ์ สั่งให้เปิดใช้งานแอปพลิเคชัน

แต่สิ่งที่ Google Assistant มีเพิ่มเข้ามาและใน Siri ไม่มีคือการผสานบริการอื่นๆของกูเกิลเข้าไป อย่างเช่นการนำ Google Search มาใช้ในการค้นหาข้อมูลแบบเฉพาะเจาะจงได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคำถามทั่วไป ผลกีฬา เกี่ยวกับโภชนาการ การตรวจสอบเที่ยวบิน สถานที่ใกล้เคียง

รวมถึงการนำ Google Translate มาช่วยในการแปลภาษา หรือใช้เป็นพจนานุกรม การนำ Google Maps มาช่วยในการนำทาง ซึ่งสามารถสั่งงานแบบเฉพาะเจาะจงได้มากขึ้น อย่างใน Siri สามารถสั่งให้ Maps นำทางได้ด้วยรถส่วนตัวเท่านั้น แต่ใน Google Maps สามารถหาเส้นทางด้วยรถสาธรณะต่างๆได้

นอกจากนี้ ด้วยการที่ Google Assistant รองรับการทำงานกับแอป 3rd Party ได้คล่องตัวกว่าระบบของ Siri ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถสั่งให้ Google Assistant เล่นเพลงจาก Spotify ที่เป็นแอปเล่นเพลงได้ทันที หรือจะสั่งให้เปิด Youtube เล่นเพลง หรือรายการที่ต้องการก็สั่งได้เช่นกัน ในขณะที่ Siri จะสั่งได้แค่ให้เปิดแอปเท่านั้น

แน่นอนว่า เมื่อมีการแข่งขันเกิดขึ้น การพัฒนาภาษาไทยของทั้ง iOS และ Google Assistant ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต่างทำให้เหล่านักพัฒนาเห็นความหวังมากยิ่งขึ้น และเชื่อว่าด้วยพฤติกรรมของคนไทยที่รับเทคโนโลยีได้รวดเร็ว เมื่อสามารถสั่งงานด้วยภาษาไทยได้ การสั่งงานด้วยเสียงจะได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้น

ยังไม่นับรวมในแง่ของการขยายไปใช้ในการควบคุมอุปกรณ์ IoT ต่างๆ ที่ปัจจุบัน Apple มีแค่ Homepod ออกมาให้ใช้งานเป็นลำโพง เพื่อสื่อสารกับอุปกรณ์อื่นๆในระบบนิเวศน์ของ Apple ในขณะที่ Google Assistant นอกจากมี Google Home / Home Mini แล้วการที่เป็นระบบเปิด ช่วยให้ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และผู้ผลิตสินค้าไอทีต่างๆ เริ่มนำไปใช้งาน

อย่างในสมาร์ททีวี หรือตู้เย็นอัจฉริยะ ที่เริ่มมีการนำ Google Assistant เข้าไปใช้งานแล้ว ก็จะทำให้ผู้ใช้สามารถสั่งงานด้วยเสียงภาษาไทย เพื่อควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆภายในบ้านที่อยู่ในระบบ IoT ได้ทันที


กำลังโหลดความคิดเห็น