แม้จะเป็นแท็บเล็ตรุ่นรองในตลาดของไมโครซอฟท์ หลังจากวางจำหน่าย Surface Pro 3 มาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่ไมโครซอฟท์ก็คาดว่ากับการมาของ Surface 3 ในตลาดประเทศไทยไม่น้อย ด้วยระดับราคาที่ต่ำลง ประกอบกับความต้องการของผู้ใช้วินโดวส์ในตลาดที่ต้องการความสะดวกในการพกพา
จุดเดนหลักที่ไมโครซอฟท์ นำมาเป็นจุดขายของ Surface 3 คือเรื่องของราคาจำหน่ายที่เริ่มต้น 17,400 บาท สำหรับรุ่น RAM 2 GB และพื้นที่เก็บข้อมูล 64 GB และ 21,400 บาท สำหรับรุ่น RAM 4 GB พื้นที่เก็บข้อมูล 128 GB ที่สำคัญคือระบบปฏิบัติการที่ใช้เป็นวินโดวส์ 8 ที่รองรับการอัปเกรดเป็นวินโดวส์ 10 ในอนาคต
การออกแบบและสเปก
ในแง่ของการออกแบบ โดยรวมแล้วจะไม่แตกต่างจาก Surface Pro 3 มากนัก เพียงแต่ตัวเครื่องบางลงมา โดยมีขนาดอยู่ที่ 267 x 187 x 8.7 มม. น้ำหนัก 622 กรัม ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถพกพาไปใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา
ด้านหน้า - พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นหน้าจอทัชสกรีนขนาด 10.8 นิ้ว ความละเอียด Full HD (1,920 x 1,080 พิกเซล) โดยมีกล้องหน้าความละเอียด 3.5 ล้านพิกเซล ไว้สำหรับใช้งานเป็นวิดีโอคอลล์ผ่านสไกป์ และแอปพลิเคชันอื่นๆ พร้อมกับปุ่มวินโดวส์ สำหรับเรียกหน้า Metro UI ขึ้นมาใช้งาน
ด้านหลัง - ตรงกลางจะมีโลโก้ของวินโดวส์แปะอยู่ ถัดขึ้นไปเป็นกล้องหลักความละเอียด 8 ล้านพิกเซล ส่วนล่างสามารถเปิดขึ้นมาเป็นขาตั้ง โดยภายในจะมีช่องใส่ไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มเติมได้สูงสุด 128 GB
การปรับระดับองศาของขาตั้งจะปรับได้ทั้งหมด 3 ระดับด้วยกัน ซึ่งไม่โครซอฟท์ระบุว่าเพียงพอต่อรูปแบบการใช้งานทั้งหมด ไม่เหมือนกับ Surface Pro 3 ที่ผู้ใช้สามารถค่อยๆเลื่อนปรับระดับได้ด้วยตนเอง
ด้านบน - จะมีปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง พร้อมปุ่มปรับระดับเสียง
ด้านล่าง - เป็นพอร์ตเชื่อมต่อกับคีย์บอร์ดแบบ Type Cover
ด้านซ้าย - จะถูกปล่อยว่างไว้ ด้านขวา - เป็นที่อยู่ชองพอร์ตต่างๆ อย่างพอร์ตยูเอสบี 3.0 มินิดิสเพลย์ พอร์ตไมโครยูเอสบีสำหรับเสียบสายชาร์จ และช่องเสียบหูฟัง
นอกเหนือจากนี้ก็จะมีอุปกรณ์เสริมอย่าง Type Cover ที่วางจำหน่ายแยกในราคา 4,490 บาท มีจุดเด่นที่คีย์บอร์ดมีไฟ LED ด้วย ตอนนี้จะมีให้เลือกด้วยกัน 3 สี คือ แดง น้ำเงินเข้ม และดำ แต่ในต่างประเทศจะมีสีเพิ่มมาอย่างสีส้ม สีม่วง และสีฟ้า
ส่วนปากกา สำหรับ Surface ก็มีวางจำหน่ายแยกเช่นเดียวกันในราคา 1,790 บาท มีความโดดเด่นอยู่ที่สามารถเรียกใช้งาน OneNote ได้จากการกดปุ่มที่ปลายปากกา ตัวปากการองรับการลงน้ำหนัก 250 ระดับ และมีปุ่มคลิกขวา และปุ่มลบ ให้ใช้งาน เชื่อมต่อกับเครื่องผ่านบลูทูธ ขนาดปากกาจะอยู่ที่ 135 x 9.5 มม.
สำหรับสเปกภายในของ Surface 3 จะมากับหน่วยประมวลผล Intel Atom x7-Z8700 ที่เป็นควอดคอร์ ความเร็ว 1.6 GHz แต่สามารถเร่งประสิทธิภาพได้ถึง 2.4 GHz โดยรุ่นที่นำมาทดสอบจะมาพร้อมกับ RAM 4 GB พื้นที่เก็บข้อมูล 128 GB
ด้านการเชื่อมต่อรองรับ WiFi มาตรฐาน 802.11 a/b/f/n/ac บลูทูธ 4.0 ระบบปฏิบัติการเป็นวินโดวศ์ 8.1 รองรับการอัปเกรดเป็นวินโดวส์ 10 ที่มาพร้อมสิทธิการใช้งาน Office 365 Personal 1 ปี และพื้นที่เก็บข้อมูลบน One Drive
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
อย่างที่บอกไปว่าจุดเด่นหลักที่สุดของ Surface 3 คือเป็นแท็บเล็ตวินโดวส์ 8.1 ที่รองรับการอัปเกรดเป็นวินโดวส์ 10 ในอนาคต ทำงานได้ไม่ต่างกับโน้ตบุ๊ก หรือคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป ทำให้เหมาะกับการใช้งานของผู้ที่ต้องทำงานร่วมกับผู้ที่ใช้วินโดวส์ในปัจจุบันมากกว่า
ดังนั้นฟังก์ชันหลักที่มีมาให้ก็คือฟีเจอร์ต่างๆที่มีในวินโดวส์ทั้งหมด ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการทำงาน การใช้งานด้านมัลติมีเดียความบันเทิง รวมไปถึงโปรแกรมเอกสารต่างๆ สามารถใช้งานบน Surface 3 ได้ทันที
แต่ถ้าจะให้เหมาะกับการใช้ทำงานมากยิ่งขึ้นก็อาจจะต้องมีการลงทุนเพิ่มอย่างเช่นการซื้อคีย์บอร์ดมาใช้ร่วมกับตัวเครื่อง ก็จะทำให้สามารถใช้งาน Surface 3 ได้ไม่ต่างจากโน้ตบุ๊กที่สามารถทัชสกรีนได้ นอกจากนี้ ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้การจด เขียน วาด บนหน้าจอแท็บเล็ต ก็ควรลงทุนเพิ่มในการซื้อปากกามาใช้งานควบคู่กันไป
โดยในแง่ของปากกาต้องยอมรับว่า ไมโครซอฟท์ ทำออกมาให้ใช้งานได้เป็นอย่างดี ทั้งในแง่ของการรับสัมผัส รวมไปถึงแอปพลิเคชันที่ติดตั้งมาให้ในเครื่อง แต่ถ้าเป็นผู้ใช้ที่จำเป็นต้องใช้งานขั้นสูงก็สามารถหาโปรแกรมเพิ่มเติมมาเพื่อใช้งานได้ทันที
จุดเด่นอีกอย่างหากใช้งานร่วมกับปากกาคือ สามารถกดปุ่มที่ท้ายปากกาเพื่อเรียกใช้งาน OneNote ได้ทันที ขณะที่บนปากกาจะมีปุ่มให้กด 2 ปุ่มไว้สำหรับลบ และไว้สำหรับเลือก เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งาน แน่นอนว่าผู้ใช้สามารถเข้าไปตั้งค่าการรับสัมผัสของปากกาเพิ่มเติมได้ด้วย
ในแง่ของวินโดวส์ 8.1 สิ่งที่มีเข้ามาให้ใช้งานนอกจากวินโดวส์สโตร์ที่มีการรวมแอปพลิเคชันที่ใช้งานได้หลากหลายแล้ว ก็จะมีเพิ่มอย่างพวก Xbox Music Store เข้ามาเพื่อให้เข้าถึงคอนเทนต์เพลงได้มากขึ้น ก่อนที่สโตร์เหล่านี้จะรวมกันกลายเป็นอันเดียวในวินโดวส์ 10
กรณีที่ไม่ได้ซื้อคีย์บอร์ดเพิ่ม ตัว Surface ก็จะมีคีย์บอร์ดเสมือนบนหน้าจอมาให้ใช้งานอยู่แล้ว เพียงแต่ในภาษาไทยอาจจะเป็นแค่คีย์บอร์ดแบบ 3 แถว ทำให้การใช้งานอาจจะไม่คุ้นชิน แต่ถ้าใช้ไปสักพักก็สามารถใช้งานได้ไม่ต่างกัน อย่างไรก็ดีในส่วนของภาษาอังกฤษก็ยังเป็นเลย์เอาท์แบบปกติ
แน่นอนว่าในการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ต ก็สามารถใช้งานได้ไม่ต่างจากบนพีซี ทั้งผ่าน IE หรือจะโหลดเว็บเบราว์เซอร์อื่นๆมาใช้งานอย่าง Chrome หรือ Firefox ก็ไม่มีปัญหา ที่สำคัญคือรองรับการใช้งานหน้าเว็บในทุกรูปแบบตามสไตล์ของวินโดวส์
ทั้งนี้เมื่อทำการทดสอบด้วยโปรแกรมทดสอบ PCmark8 Home Conventional ได้ 1,419 คะแนน Creative Conventional ได้ 1,241 คะแนน Work Conventional 1,576 คะแนน
ส่วน 3Dmark Fire Strike 292 คะแนน Sky Driver 1,182 คะแนน Cloud Gate 2,257 คะแนน Ice Storm 23,010 คะแนน
สุดท้ายคือทดสอบกับ GeekBench Browser ได้คะแนน Single Core 969 คะแนน และ Multi Core 3,198 คะแนน
จุดขาย
- แท็บเล็ตที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ รองรับการทำงานครบทุกรูปแบบ
- ตัวเครื่องมีขนาดบาง สามารถพกพาไปใช้งานได้ทุกที่
- เมื่อเชื่อมต่อกับฐานคีย์บอร์ด และปากกา ก็จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน
- มีพอร์ตยูเอสบีให้ใช้งานได้ทันที
ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่
- ราคาเครื่องเมื่อรวมกับคีย์บอร์ดและปากกาค่อนข้างสูง (27,680 บาท)
- ข้อจำกัดของหน่วยประมวลผล Atom ที่ไม่ได้แรงมากนัก แต่ถือว่าเพียงพอเมื่อใช้งานทั่วไป
- ตั้งใช้งานบนตักได้ลำบาก
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป
โดยรวมแล้วต้องยอมรับว่า Surface สามารถทำงานได้ไม่แตกต่างจากโน้ตบุ๊กเครื่องหนึ่งเลย เพราะด้วยประสิทธิภาพของตัวเครื่อง แม้ว่าจะไม่ได้ใช้ซีพียูรุ่นประสิทธิภาพสูงของอินเทลอย่าง Core I แต่การที่หันมาใช้ Atom รุ่นใหม่นี้ ก็ให้การประมวลผลที่ถือว่ายอมรับได้เมื่อเทียบกับราคาเครื่อง ที่สำคัญคือระยะเวลาการใช้งานบนแบตเตอรีที่ยาวนานขึ้น ให้สามารถพกพาออกไปใช้งานข้างนอกได้ตลอดวันแบบสบายๆ
อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ได้มองที่ราคาเริ่มต้นของ Surface ที่ 17,400 บาท (RAM 2 GB / SSD 64 GB) แต่เลือกไปมองรุ่นที่ราคาสูงขึ้นมาอย่าง 21,400 บาท (RAM 4 GB / SSD 128 GB) เมื่อรวมกับราคาค่าคีย์บอร์ด 4,490 บาท และปากกา 1,790 บาท กลายเป็น 27,680 บาท ก็กลายเป็นราคาที่ถือว่าสูงเกินไป สักหน่อย ถ้าไมโครซอฟท์ทำราคารวมอุปกรณ์เสริมได้อยู่สักไม่เกิน 25,000 บาท จะถือเป็นตัวเลขที่สวยงาม
สิ่งหนึ่งที่ต้องพูดถึงคือในแง่ของการใช้งานในชีวิตประจำวันของ Surface 3 กรณีที่เชื่อมต่อกับคีย์บออร์ด แล้วจุดอ่อนหลักเลยคือการวางใช้งานบนตัก เหมือนโน้ตบุ๊กทั่วๆไป เพราะ Surface 3 ต้องใช้พื้นที่ในการกางขาตั้งออกมา ทำให้เวลาใช้งานนอกพื้นที่จะไม่สะดวกเท่าที่ควร แต่ถ้าเลือกใช้งานเป็นแท็บเล็ตเครื่องหนึ่งแทน ก็ถือว่าทดแทนกันได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้งานมากกว่า
Company Related Links :
Microsoft
CyberBiz Social