ไฮไลท์ที่น่าสนใจในงานแอปเปิลนอกจากการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ Apple Watch แล้ว MacBook ใหม่ก็เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญที่ทำให้เราได้มองเห็นก้าวต่อไปในวงการโน้ตบุ๊กของแอปเปิลกับการปรับเปลี่ยน 4 เรื่องหลักที่เป็นหัวใจสำคัญของตลาด MacBook
1.มีความเป็น Mobile Device สูงขึ้น
การออกแบบ MacBook แอปเปิลเน้นในเรื่องการปรับลดขนาด Logic Board ประกอบกับการเลือกใช้ซีพียู Intel Core M ใหม่บนสถาปัตยกรรมรุ่นที่ 5 และเทคโนโลยีการผลิตแบบ 14 นาโนเมตรที่บริโภคพลังงานต่ำเพียง 5 วัตต์ อีกทั้งตัวซีพียูใหม่ยังมีความหนาเพียง 1.05 มิลลิเมตร กว้างสุดเพียง 3 เซนติเมตร ทำให้แอปเปิลสามารถลดขนาดบอร์ดส่วนกลางลงได้มากกว่าเดิมและเพิ่มพื้นที่บรรจุแบตเตอรีได้มากขึ้นพร้อมออกแบบจัดวางแบตเตอรีใหม่แบบวางซ้อนทับกลมกลืนไปกับดีไซน์ที่บางเบา เป็นผลให้แบตเตอรีภายใน MacBook ใหม่จะมีความจุมากกว่าเดิม 35% สามารถใช้งานท่องเว็บไซต์ได้นานสูงสุด 9 ชั่วโมง ส่วนการรับชมภาพยนตร์ผ่าน iTunes จะใช้งานได้นานสุด 10 ชั่วโมง และการใช้งานทั่วไปสามารถทำได้ตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องพกพาอะแดปเตอร์ชาร์จไฟติดตัวตลอดเวลาเหมือนสมัยก่อน
นอกจากนั้นเพื่อตอบรับความเป็นโน้ตบุ๊กเน้พกพามากขึ้น แอปเปิลได้ลดขนาดและน้ำหนักของ MacBook ให้เหลือความหนาเพียง 1.31 เซนติเมตร ส่วนน้ำหนักปรับเหลือ 920 กรัมและอะแดปเตอร์ชาร์จไฟถูกปรับให้รองรับมาตรฐาน USB-C แบบ 29 วัตต์พร้อมขนาดที่ลดลงประมาณอะแดปเตอร์ชาร์จไฟของไอแพดรุ่นหน้าจอใหญ่เท่านั้น
2.เน้นการเชื่อมต่อแบบไร้สาย USB-C ทำหน้าที่หลักคือชาร์จไฟ
เป็นการปรับเปลี่ยนแบบกล้าบ้าบิ่นมากของแอปเปิล ในขณะที่โลกยังใช้อุปกรณ์พกพาผ่านพอร์ต USB กันอยู่ แต่แอปเปิลมองว่าโลกยุคใหม่จะเน้นระบบไร้สายและข้อมูลของผู้ใช้ส่วนใหญ่จะอยู่ถูกเก็บบนคลาวด์สตอเรจมากกว่า แอปเปิลจึงเลือกตัดพอร์ตเชื่อมต่อแบบเก่าออกหมดเหลือเพียง USB-C รุ่นใหม่ที่เด่นเรื่องสามารถเสียบสายสลับด้านได้เหมือน Lightning Port มาให้เพียงพอร์ตเดียว มิหนำซ้ำอุปกรณ์ที่แอปเปิลเลือกแถมมาให้กับ MacBook ใหม่นี้ตอนเลือกซื้อยังมีแค่ “อะแดปเตอร์และสายชาร์จไฟบ้านแบบ USB-C ไร้สายอะแดปเตอร์ USB, HDMI”
คำถามจึงเกิดขึ้นว่า “แล้วอย่างนี้ MacBook ใหม่จะรองรับ USB และพอร์ตเชื่อมต่อแบบเก่าหรือไม่”
คำตอบที่ทีมงานได้มีโอกาสไปค้นหามาก็คือ “ยังรองรับ USB 3.1/3.0/2/1 รวมถึง HDMI และ Thunderbolt เหมือนเดิม” แต่ต้องใช้ผ่านอะแดปเตอร์ที่แอปเปิลขายแยกต่างหาก
3.คีย์บอร์ด-หน้าจอ ไฮโซขึ้น
เริ่มตั้งแต่คีย์บอร์ดที่ใช้โครงสร้างกลไกลภายใต้ปุ่มกดแบบปีกผีเสื้อ เพื่อลดอาการปุ่มกดโยกเยกไปมาเหมือน MacBook รุ่นก่อน ทำให้ปุ่มกดใหม่นี้ทำงานได้แม่นยำขึ้น ปุ่มมีขนาดใหญ่กว่าเดิมพร้อมความบางและมองเป็นส่วนหนึ่งของ MacBook มากขึ้น
ส่วนจอภาพแอปเปิลเลือกใช้ Retina Display รองรับความละเอียด 2,304x1,440 พิกเซลบนอัตราส่วนหน้าจอ 16:10 อีกทั้งแอปเปิลยังได้ปรับเปลี่ยนพิกเซลหน้าจอใหม่ให้รับแสงจาก LED Backlight ได้ดีมากขึ้นเพื่อความสว่างของหน้าจอและบริโภคพลังงานน้อยลง
4.Force Touch ทัชแพดรับรู้แรงกด
แอปเปิลเองมีชื่อเสียงที่ดีกับทัชแพดแบบ Multitouch ที่ออกแบบคล้ายไม้กระดาน Diving Board มานาน เพราะความแม่นยำและลื่นไหลของเซนเซอร์ภายในที่ทำงานได้ยอดเยี่ยม แต่บนเสียงชื่นชมก็มีหลายคนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องการคลิกบริเวณส่วนบนของทัชแพดมักทำได้ยากเนื่องจากเป็นส่วนของแกนหลัก
แอปเปิลจึงคิดค้น Force Touch ด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในใหม่หมด ตั้งแต่การเพิ่ม Taptic Engine และเซนเซอร์รับรู้แรงกดลงไปทั่วแผ่นทัชแพด ทำให้ทัชแพดใหม่สามารถกดได้ทั่วทั้งแผ่น อีกทั้งยังสามารถกดสั่งงานด้วยการใช้แรงกดที่ต่างกันได้
ยกตัวอย่างเช่น กดหนึ่งครั้งอาจหมายถึงเลือกข้อความและถ้ากดเต็มแรงอีกหนึ่งครั้งระบบจะเข้าใจว่าให้เปิดโน้ตข้อความแบบสั้นขึ้นมา นอกจากนั้นจากตัวอย่างที่แอปเปิลโชว์ในงานเปิดตัว Force Touch ยังสามารถใช้นิ้วขีดเขียนลายเซ็นแทนการใช้ปากกาดิจิตอลได้
ด้วยการมาของ Force Touch การคลิกขวารูปแบบเดิมอาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้
ทั้งหมดคือการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญของกลุ่มผลิตภัณฑ์ MacBook กับหมวดหมู่ที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อลดช่องว่างระหว่าง Mobile Device (Smartphone/Tablet) และโน้ตบุ๊กให้ไร้รอยต่อตามความตั้งใจเดิมของแอปเปิลในยุคทิม คุก ซึ่งแอปเปิลตั้งใจเปลี่ยนประสบการณ์การใช้งานโน้ตบุ๊กแบบเดิมให้เข้ากับการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคสมาร์ทดีไวซ์แบบพกพาทุกที่ทุกเวลา