xs
xsm
sm
md
lg

Review : ASUS RT-AC66U เราท์เตอร์ 5G WiFi เร็ว แรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




ใครว่าเราท์เตอร์ Dual Band 2.4/5GHz เร็วแล้ว วันนี้ทีมงานไซเบอร์บิซมีเราท์เตอร์ใหม่ล่าสุดจากเอซุสในรุ่น RT-AC66U ที่เร็วยิ่งกว่ามาตรฐานเก่าถึง 3 เท่ามานำเสนอต้อนรับปีใหม่กัน

เพราะ ASUS RT-AC66U เป็นไวเลสเราท์เตอร์มาตรฐานใหม่ 802.11ac เจนเนอเรชันที่ 5 ที่มาพร้อมความเร็วในกาารรับส่งข้อมูลสูงถึง 1.75Gbps พร้อมความสามารถในการเชื่อมต่อคลาวด์ส่วนตัวได้ด้วย

การออกแบบและสเปก



สำหรับการออกแบบของ ASUS RT-AC66U วัสดุที่ใช้ผลิตหลักๆ ก็คือพลาสติกที่มีการออกแบบให้ดูดุดัน มาพร้อมเสารับ-ส่งสัญญาณ 3 เสาบนเทคโนโลยี ASUS AiRadar ที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพสัญญาณให้ดีและแรงขึ้น

โดยขนาดของ ASUS RT-AC66U จะอยู่ที่ 207x148.8x35.5 มิลลิเมตร และน้ำหนักอยู่ที่ 450 กรัม



มาที่พอร์ตเชื่อมต่อด้านหลังจากซ้ายจะประกอบด้วย ช่องเชื่อมต่อไฟ DC-In, ปุ่มปิด-เปิดเรท์เตอร์, พอร์ต USB 2 พอร์ต, ปุ่มรีเซ็ทระบบ, พอร์ตเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตจากโมเด็มภายนอก (WAN Port), พอร์ตแลน (Gigabit 10/100/1,000Mbps) 4 พอร์ต และสุดท้ายปุ่ม WPS



ในส่วนของสเปก ASUS RT-AC66U จุดเด่นคือรองรับมาตรฐานใหม่ 802.11ac เจนเนอเรชันที่ 5 ความเร็วสูงสุด 1.75Gbps - 450+1300Mbps (ตัวส่งจากคอมพิวเตอร์ต้องรองรับมาตรฐาน 802.11ac ด้วยถึงจะสามารภใช้งานบนความเร็วสูงสุด) มีแรมในตัว 256MB



และยังรองรับมาตรฐานเก่าและปัจจุบัน 802.11a/b/g/n ที่ความเร็วสูงสุด 450Mbps แบบ Dual Band ทั้ง 2.4GHz และ 5-5.8GHz พร้อมรองรับการเชือมต่อ Guest Network และสามารถทำ Media Server จาก External HDD ผ่าน USB ได้ รวมถึงมาพร้อม Download Master สำหรับควบคุมการดาวน์โหลดไฟล์ Torrent ต่างๆ และรองรัล IPv6 ด้วย

ฟีเจอร์เด่น



ถ้าผู้อ่านที่เห็นฟีเจอร์ที่มากมายของ ASUS RT-AC66U อาจทำให้หลายคนสับสนในเรื่องการใช้งาน แต่ความจริงแล้วสำหรับมือใหม่ ทางเอซุสได้ให้แผ่นซีดีติดตั้งแบบง่าย (Quick Setup) มาด้วย ซึ่งการทำงานก็เพียงแค่ใส่แผ่นซีดีเข้าไปและทำตามขั้นตอนไม่กี่ขั้น เราท์เตอร์ก็จะพร้อมใช้งานทันที



แต่สำหรับผู้ใช้ที่ต้องการเข้าใช้งานฟีเจอร์หรือปรับแต่งเราท์เตอร์เพิ่มเติม (Advanced Mode) ก็สามารถเข้าใช้งานได้เช่นกันผ่านเลข IP จากเว็บบราวเซอร์ เช่น จากตัวอย่างทีมงานเข้าผ่าน 192.168.2.1 จะปรากฏหน้าตา Control Panel ของ ASUS RT-AC66U ขึ้นมา อีกทั้งยังสามารถเข้าปรับแต่งจากดีไวซ์อื่นๆ เช่น สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้ด้วย




สำหรับฟีเจอร์เด่น ส่วนแรกคือการปรับแต่งตั้ง SSID คลื่น 2.4GHz และ 5GHz ที่ปรับแยกอิสระได้ทั้งหมดรวมถึง Password และเครือข่าย Guest Network ก็สามารถตั้งจำกัดการเข้าถึงส่วนต่างๆ ได้อย่างอิสระทั้ง 2 คลื่นความถี่ และใช้งาน SSID พร้อมๆ กันได้



ในส่วน Parental Control ผู้ใช้สามารถตั้งการกรองเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม รวมถึงกำหนดเวลาในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตสำหรับคอมพิวเตอร์ของลูกคุณได้





มาที่ USB Application ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้เราท์เตอร์ RT-AC66U สามารถใช้ USB 2 พอร์ตด้านหลังในการควบคุมฮาร์ดดิสก์สำหรับทำ Media Server หรือควบคุมพริ้นเตอร์, Dongle 3G ได้โดยผ่านแอปพลิเคชันเหล่านี้



สุดท้ายอีกหนึ่งฟีเจอร์เด็ดสุดที่ทำให้ RT-AC66U โดดเด่นจากแบรนด์อื่นก็คือ ASUS AiCloud ที่มาพร้อม Cloud Disk, Smart Access และ Smart Sync ได้




โดยในส่วนของ Cloud Disk จะให้ผู้ใช้ที่นำฮาร์ดดิสก์ที่เชื่อมต่อกับเราท์เตอร์สามารถเข้าถึงไฟล์ต่างๆ จากเครือข่ายเดียวกันได้ผ่านทาง URL : http://www.asusnetwork.net:8082 หรือผ่านแอปฯ AiCloud ที่มีให้ดาวน์โหลดได้ฟรีผ่านทาง Google Play และ AppStore

ส่วนที่สอง Smart Access จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงไฟล์ที่แชร์จากคอมพิวเตอร์สู่คอมพิวเตอร์ผ่านเครือข่ายในวงแลนเดียวกันได้ง่ายขึ้น โดยตัวเราท์เตอร์จะเป็นศูนย์กลางในการจัดการให้อย่างอัตโนมัติ

สุดท้าย Smart Sync จะเป็นการเชื่อระหว่างคลาวด์ส่วนตัว ASUS webstorage (https://www.asuswebstorage.com) กับระบบของ AiCloud ให้สามารถใช้งานร่วมกันได้เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้คลาวด์เก็บข้อมูลระหว่างดีไวซ์

ทดสอบประสิทธิภาพ



ก่อนทดสอบประสิทธิภาพขอทำความเข้าใจกันเล็กน้อย เนื่องจากทางทีมงานไม่มีตัวรับ-ส่งจากคอมพิวเตอร์ที่เป็นมาตรฐาน 802.11ac ทีมงานจึงของทดสอบที่มาตรฐาน 802.11n Dual Band 5GHz ความเร็ว 450Mbps

โดยการทดสอบจะเป็นการโอนไฟล์ระหว่างฮาร์ดดิสก์ที่เสียบพ่วงกับเราท์เตอร์กับ Macbook Pro 13" Late 2012



ผลที่ได้ในส่วนของการรับข้อมูลเข้าสู่ Macbook Pro จะมีความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 7.06MB/s



ส่วนการส่งข้อมูลจาก Macbook Pro ไปยังฮาร์ดดิสก์ที่เชื่อมต่อกับเราท์เตอร์จะมีความเร็ว 3.12MB/s



สุดท้ายทดสอบสตรีมมิ่งไฟล์วิดีโอความละเอียดสูง 720p กับไอโฟน 5 และอ่านค่าจากมอนิเตอร์ในซอฟต์แวร์ของเราท์เตอร์พบว่าความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 2.7 MB/s โดยการแสดงผลลื่นไหลไม่มีกระตุกแต่อย่างใด

ตอบจุดขายหรือไม่/ข้อสังเกต

จุดขายของ ASUS RT-AC66U หลักๆ คงอยู่ที่การรองรับมาตรฐานใหม่ 802.11ac เจนเนอเรชันที่ 5 ความเร็วสูงสุด 1.75Gbps ที่ในปัจจุบันยังหาตัวรับ-ส่งสำหรับใช้ร่วมกับพีซีได้ยากและมีราคาแพงอยู่

แต่สำหรับผู้ใช้ที่ชอบทำ Media Server หรือชอบสตรีมมิ่งไฟล์ไร้สายและพอมีงบเล่นมาตรฐานใหม่ๆ เหล่านี้ได้ ASUS RT-AC66U เป็นตัวเลือกที่ดีมากหนึ่งตัวเลือก เพราะนอกจากความสามารถในเรื่องประสิทธิภาพที่สูงแล้ว เราท์เตอร์ยังมาพร้อมฟีเจอร์ AiCloud ที่น่าสนใจมากมาย แต่การใช้งานในส่วนของ AiCloud อาจต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการเชื่อมต่อเล็กน้อย เพราะถึงแม้ทางเอซุสจะบอกว่า AiCloud ถูกออกแบบมาให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายก็ตาม แต่พอใช้งานจริงแล้ว การเชื่อมต่อกลับทำได้ค่อนข้างยากและสับสนพอสมควร

ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?



ในส่วนราคาขาย ASUS RT-AC66U อยู่ที่ประมาณ 7,000 บาท ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่สูงมาก แต่เมื่อเทียบกับฟีเจอร์และประสิทธิภาพที่ได้ในราคา 7 พันกว่าบาททีมงานต้องยอมรับว่า ASUS RT-AC66U เป็นพรีเมี่ยมไวเลสเราท์เตอร์ที่คนมีงบ ชอบเล่นสตรีมมิ่งไฟล์ แชร์ไฟล์ผ่านระบบไร้สายไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง

Company Related Link :
ASUS





กำลังโหลดความคิดเห็น