กลายเป็นเทรนด์ที่เห็นจนคุ้นชินตาไปแล้ว สำหรับการผลิตสมาร์ทโฟนหน้าจอใหญ่ มีปากกาแถมมาให้ ที่เรียกว่า Phabet ซึ่งในเวลานี้ ตลาดดังกล่าวได้กลายเป็นตลาดใหม่ที่ขุมทรัพย์ให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนมากหน้าหลายตาดาหน้าเข้ามาขุดทองอย่างคับคั่ง ซึ่งล่าสุดแอลจี ก็มีสินค้าที่เป็นสมาร์ทโฟน Phabet เช่นกัน กับรุ่นนี้ LG Optimus Vu
การออกแบบและสเปกเครื่อง
สำหรับการดีไซน์ของ Optimus Vu นั้น จะว่าไปแล้ว เป็นการผสมผสานกันระหว่างสมาร์ทโฟนแอลจี ในตระกูล L-Series กับตระกูล Prada โดยรูปร่างที่เป็นเหลี่ยมๆ นั้นหยิบยืมมาจาก L-Series ส่วนที่เป็น Prada จะอยู่ในส่วนของด้านหลังตัวเครื่องที่มีลักษณะเป็นหนัง
นอกจากนี้ LG Optimus Vu จะมาพร้อมกับอุปกรณ์เสริมการใช้งานด้วย ซึ่งนั่นก็คือ cover กับสไตลัส โดยในส่วนของ cover นั้นมีไว้เพื่อป้องกันตัวเครื่องเป็นรอย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ทำให้ตัวเครื่องดูมีคุณค่าขึ้น ดูหรูหรา ตามสไตล์ Prada ส่วนสไตลัสเป็นที่น่าเสียดายว่า มันไม่ได้ถูกออกแบบให้สามารถเก็บสไตลัสไว้ในตัวเครื่องได้ ทำให้โอกาสที่สไตลัสจะสูญหายนั้น มีความเป็นไปได้สูง
โดยรอบตัวเครื่องของ LG Optimus Vu จะมีดังนี้
ด้านหน้า - มาพร้อมจอ 5 นิ้ว ด้านบนสุดเป็นโลโก้ LG ด้านข้างมีกล้องหน้า ถัดลงมาด้านล่างจะเป็นปุ่มสัมผัสแบบ Capacitive ไล่เรียงมา จะเป็นปุ่ม Back, Home, Recent และ Menu
ด้านซ้าย - เป็นช่องใส่ซิม ซึ่งรองรับเฉพาะไมโครซิมเท่านั้น
ด้านขวา - เป็นปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง
ด้านล่าง - ช่องไมโครโฟน
ด้านบน - จะเต็มไปด้วยปุ่มเรียงกันเป็นตับ ตั้งแต่ หูฟังขนาดมาตรฐาน ปุ่มเข้าเมนูลัด QuickNote พอร์ทไมโครยูเอสบี ที่ซ่อนอยู่ โดยผู้ใช้จะต้องสไลด์เลื่อนออกมา และปุ่มสุดท้ายเป็นเปิด/ปิดเครื่อง
ด้านหลัง - มีลำโพงพร้อมโลโก้แอลจี และมุมซ้ายบนจะเป็นกล้อง 8 ล้านพิกเซล และแฟลช
สำหรับสเปกเครื่อง Optimus Vu นั้น จะเป็นรุ่นเวอร์ชันอัปเกรดให้มีสเปกที่แรงขึ้น ประกอบไปด้วยชิปประมวลผล Tegra 3 ควอดคอร์ 1.5GHz (Cortex A-9) ขนาดหน้าจอ 5 นิ้ว เป็นจอแบบ IPS ความละเอียดอยู่ที่ 768x1024 พิกเซล เรโชหน้าจอเป็นแบบ 4:3 หน่วยความจำเครื่อง 32GB หน่วยความจำสำรอง 1GB กล้องหน้า 1.3 ล้านพิกเซล ส่วนกล้องหลังจัดมาให้ที่ 8 ล้านพิกเซล แบตเตอรี 2080 mAh และรันด้วยระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์ 4.0.4
ฟีเจอร์เด่นประจำเครื่อง
ก่อนที่พูดถึงฟีเจอร์เครื่อง ประการแรก Optimus Vu จะเป็นสมาร์ทโฟนที่สามารถปรับเปลี่ยนธีมได้ โดยมีธีมมาตรฐานให้เลือกเปลี่ยน 4 แบบ นั่นคือ Optimus, Biz, Cozywall และ Marshmallow
NoteBook - น่าจะเรียกว่าเป็นจุดเด่นของ Optimus Vu เลยก็ว่าได้ เนื่องจากว่าแอปฯ NoteBook จะมาพร้อมกับความสามารถในการจดบันทึก สามารถบันทึกทุกอย่างได้ ทั้งการเขียนบนหน้าจอผ่านสไตลัส หรือนิ้ว หรือจะใช้เป็นการพิมพ์ข้อความก็ได้ ทั้งนี้ในส่วนของพื้นที่หน้ากระดาษ หรือ work space นั้น ผู้ใช้งานสามารถที่จะอิมพอร์ทไฟล์รูปภาพแนบบนกระดาษได้ พร้อมกับการแชร์เข้าสู่โลกออนไลน์
QuickNote - ส่วนนี้เข้าใจว่า เป็นเมนูลัดที่ให้ผู้ใช้สามารถจดโน้ตได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่มีข้อจำกัดว่า ขณะนั้นผู้ใช้งานกำลังใช้งานแอปฯใดอยู่ ไม่ว่าคุณกำลังติดสาย ดูคลิปบน YouTube คุณก็สามารถเขียนโน้ตได้เลย
Toggle - เป็นฟังก์ชันที่จะเพิ่มความสะดวกสบายในการเปิด/ปิด เครือข่ายไร้สาย ตั้งแต่ Mobile Data, Wi-Fi, NFC, GPS และอื่นๆ อีกมากมาย โดยที่ผู้ใช้สามารถปรับแต่งได้ว่า บริการส่วนใดที่ผู้ใช้จะใช้งานบ่อยๆ แต่ถ้าบริการใดไม่ใคร่ที่จะใช้งานก็สามารถปิดออกจาก Toggle ได้เลย
App Drawer - ด้านบนจะมี 3 แท็บหลักๆ ก็คือส่วนที่เป็นหน้ารวมแอปพลิเคชันทั้งหมด แท็บดาวน์โหลดเพื่อเป็นการบอกว่า แอปพลิเคชันใดที่ถูกโหลดมาบ้าง และที่เป็นวิดเจ็ท ส่วนที่เป็นรูปฟันเฟืองนั้นเป็นช่องทางในการ uninstall apps
NFC - เป็นปกติของแอนดรอยด์เวอร์ชัน 4.xx ขึ้นไป ที่จะมาพร้อมกับชิป NFC ฝังติดอยู่กับตัวเครื่อง ซึ่งใน Optimus Vu ก็มีเช่นกัน เพียงแต่ว่าของแอลจีจะมีลูกเล่นเพิ่มขึ้นมาอีกนิดหน่อย ตรงที่เมื่อซื้อ Optimus Vu ภายในกล่องจะมีสติ๊กเกอร์ NFC อยู่ ซึ่งสติ๊กเกอร์ตัวนี้ จะมี 3 ชิ้น แบ่งเป็น Office, Sleep และ Car โดยสติ๊กเกอร์แต่ละอันจะมีความสามารถแตกต่างกันไป เช่นถ้าเป็น Office คุณก็จะสามารถตั้งโหมดเสียงตัวเครื่องให้อยู่ในสถานะ Silent Mode หรือเชื่อมต่อ Wi-Fi โดยอัตโนมัติ โหมด Sleep ก็จะตั้งให้สถานะเสียงของคุณอยู่ในโหมด Silent รวมไปถึงจะสั่งให้เล่นเพลงก่อนนอนก็ได้ ส่วน Car ก็จะมาพร้อมกับความสามารถในการเป็น Navigator ค้นหาสถานที่ต่างๆ และสั่งให้เล่นเพลงไประหว่างขับรถ โดยทั้งหมดนี้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งได้ตามความเหมาะสม
โทรศัพท์ - ปุ่มสัมผัสตัวเลขค่อนข้างใหญ่มาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี หน้าจอส่วนที่เป็น Call Log ดูสะอาดตา แต่ในแง่การใช้งานการ ‘โทรออก’ จริงๆ นั้น ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากว่าตัวเครื่องนั้นมีขนาด 5 นิ้ว ที่ตัวเครื่องบานออกด้านข้าง ทำให้การใช้งานด้านการโทรนั้น จะต้องมีการเกร็งที่ข้อมือ ซึ่งมันจะผิดธรรมชาติมากกว่าสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นในท้องตลาด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้บลูทูธ หรือสมอลทอล์คแทน
Video Wiz - เป็นแอปพลิเคชันที่น่าสนใจ อีกตัวหนึ่งเลยทีเดียว สำหรับ Video Wiz ที่มีคุณสมบัติในการสร้างวิดีโออย่างง่ายดาย เพียงแค่อิมพอร์ทภาพหรือวิดีโอจากในแกลเลอรีมา พร้อมทั้งยังใส่เสียงประกอบ แล้วก็เลือก Scene เพียงเท่านี้ก็จะได้วิดีโอที่ใช้เวลาในการทำเพียงแค่ไม่กี่นาทีออกมาแล้ว ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับผู้ใช้ที่ต้องการสร้างวิดีโอ แต่ไม่อยากมีอุปกรณ์เยอะแยะ ยุ่งยาก
กล้อง - เป็นข้อดีของหน้าจอที่มีเรโช 4:3 ทำให้เมื่อผู้ใช้เปิดโหมดกล้องมาใช้งานแล้ว จะไม่มีส่วนที่เป็นขอบสีดำหลุดออกมา ส่วนโหมดภาพอื่นๆ ก็จะมาพร้อมกับ HDR, Panorama และ Continuous Shot
นอกจากนี้แล้วผู้ใช้ยังสามารถที่จะสั่งให้กล้องลั่นชัตเตอร์ได้ด้วย การใช้คำสั่งว่า Cheese เพื่อถ่ายรูปได้อีกด้วย
Gestures - ใน Optimus Vu จะมีฟังก์ชัน Gestures เช่นกัน โดยการใช้งานจะเป็นในแง่ของ การหยุดการทำงานมากกว่า เช่น การปิดเสียงเรียกเข้า ปิดสัญญาณการเตือน หรือหยุดวิดีโอ ซึ่งวิธีการก็เพียงแค่พลิกมือถือคว่ำลงเพียงเท่านั้น
นอกจากนี้แล้ว Optimus Vu หากพูดถึงการใช้งานในเชิงไลฟ์สไตล์แล้ว ก็ตอบโจทย์การใช้งานได้ดีในระดับหนึ่งเลยทีเดียว ด้วยความที่เป็นสมาร์ทโฟนหน้าจอใหญ่เหมือนสมุดโน้ต สามารถจดโน้ตคร่าวๆ ได้ หรือจะประยุกต์ใช้สำหรับการอ่านหนังสือก็ยังทำได้ ด้วยหน้าจอที่ใหญ่ และยังเป็นความละเอียดแบบ IPS ทำให้อรรถรสในการอ่านหนังสือดีกว่าสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นพอสมควร
ส่วนด้านการฟังเพลงนั้น แม้ว่าจะมาพร้อมระบบเสียงแบบ Dolby แต่ไม่มีฟังก์ชันในแง่การปรับ Equaliser ตามรูปแบบการฟังของผู้ใช้ ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่น่าเสียดายมาก
สำหรับผลทดสอบด้วยแอปพลิเคชัน Benchmark ผลปรากฎว่า ถ้าทดสอบด้วย Quadrant Benchmark ได้ไป 4847 ทดสอบด้วย neocore ได้คะแนนกราฟิก 66.7fps ต่อมาทดสอบด้วย AnTuTu ได้คะแนน 11773 ทดสอบด้วย Vellomo ซึ่งส่วนนี้จะมีการทดสอบ HTML5 และ METAL ได้ไป 1091 และ 432 ตามลำดับ และการทดสอบสุดท้าย NenaMark 1 และ NenaMark 2 ได้ผลทดสอบ 53.6 และ 60.9
จุดขาย
- มีซองหนังที่เป็นเหมือน Cover ห่อหุ้มส่วนของหน้าจอ และด้านหลัง ซึ่งวัสดุทำได้ดี และมีคุณภาพคุ้มค่ากับราคามาก
- หน้าจอคมชัด
- มีแอปพลิเคชันสำหรับตัดต่อวิดีโอที่ทำได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็ว
- สเปกเครื่องแรง รองรับแอปพลิเคชันโหดๆ ได้สบาย ส่วนราคาย่อมเยาว์
ข้อสังเกต
- ไม่มีช่องสำหรับเก็บสไตลัส ทำให้โอกาสที่สไตลัสจะสูญหายมีสูง(มาก)
- ตัวเครื่องบานออกด้านข้าง ทำให้การใช้งานในแง่ของการโทรศัพท์ทำได้ยาก และต้องเกร็งข้อมือในขณะที่กำลังโทรศัพท์
- ฟีเจอร์สำหรับการใช้งาน notebook จดบันทึก ไม่มีลูกเล่นที่โดดเด่นและน่าสนใจพอ
- สไตลัสจะค่อนข้างหยุ่นๆ ทำให้การควบคุมลายเส้นทำได้ยาก
- แบตเตอรีไม่อึดเท่าที่ควร ยกตัวอย่างผู้เขียนใช้งาน Optimus Vu สำหรับอ่านหนังสือ เล่นโซเชียล และเกมบ้าง แบตเตอรีลดค่อนข้างเยอะ ทั้งที่ปรับค่าต่างๆ ให้อยู่ระดับปานกลางแล้ว
ฟันธง ความคุ้มค่าและเม็ดเงินที่เสียไป
ก่อนอื่นคงต้องบอกว่า แอลจี เป็นค่ายผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่ค่อนข้างอัดสเปกให้แก่ผู้ใช้งานอย่างเต็มอิ่มมาแต่ไหนแต่ไร เพียงแต่ว่า ยุคของสมาร์ทโฟน (และแท็บเล็ต) ในยามนี้นั้น การที่จะแข่งในแง่ของสเปกอย่างเดียวมัน ‘ขายไม่ได้’ อีกต่อไปแล้ว สิ่งสำคัญในเวลานี้ คือ ฟีเจอร์ ซึ่งว่ากันตามตรงเลย แนวทางในการผลิตสมาร์ทโฟนของแอลจี กำลังมาถูกทาง และมีแนวโน้มน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่ว่าหากพูดในแง่ของฟีเจอร์ Optimus Vu กลับยังทำได้ไม่ดีพอ ฟีเจอร์ในการสนับสนุน QuickNote และ Notebook ไม่มีอะไรที่เด่นชัด แถมท้ายด้วยตัวเครื่องไม่มีช่องสำหรับเก็บสไตลัส ทำให้การใช้งาน Optimus Vu กับสไตลัส แทบเป็นไปได้ยาก ทำให้จุดเด่นของการเป็นสมาร์ทโฟนที่ใช้สไตลัสได้ ไม่สามารถทำได้เมื่อถึงเวลาใช้งานจริง
อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ใช้กำลังมองหาสมาร์ทโฟนสเปกแรง พร้อมรองรับทุกแอปพลิเคชัน การเลือก Optimus Vu นั้น ถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอีกตัวเลือกหนึ่ง อีกทั้ง Optimus Vu ยังเป็นสมาร์ทโฟนที่มีราคาประหยัดที่สุด ถ้าเทียบกับสมาร์ทโฟนไฮเอนด์รุ่นอื่นๆ ในท้องตลาด
Company Related Link :
LG
CyberBiz Social