xs
xsm
sm
md
lg

Review - Nokia X3-02 / C3-01 Touch And Type กดๆจิ้มๆรับประสบการณ์ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




Touch And Type ซีรีส์ ของโนเกียที่วางจำหน่ายอยู่ในขณะนี้ ถือว่าเป็นการเดินเกมรุกในตลาดหลังของโนเกียอย่างเต็มตัว จากการผสานจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ในเรื่องของโทรศัพท์ทรงแท่งพร้อมปุ่มตัวเลข เข้ากับหน้าจอแบบทัชสกรีนในการควบคุม



โดยในขณะนี้ซีรีส์ดังกล่าวมีวางขายด้วยกัน 2 รุ่นคือ X3-02 และ C3-01 ที่กำลังจะพูดถึงรายละเอียดต่อไป ซึ่งความสามารถส่วนใหญ่ของทั้ง 2 รุ่นนี้ค่อนข้างเหมือนกัน ต่างกันเพียงขนาดและวัสดุของตัวเครื่อง แฟลชกล้อง เลย์เอาท์ปุ่มตัวเลข



Feature On Nokia X3-02 / C3-01 



การปรับให้ระบบปฏิบัติการแบบ S40 มารองรับการใช้งานทัชสกรีน ช่วยให้สามารถใช้งานได้สะดวกขึ้น จากเดิมที่ต้องมากดปุ่มเนวิเกเตอร์เลื่อนไป-มา ซึ่งในจุดนี้ผู้ที่เคยใช้โนเกียมาก่อนคงไม่มีปัญหาในการใช้งาน เพราะรูปแบบของอินเตอร์เฟสยังคงเดิมทั้งหมด



ส่วนของหน้าจอหลัก ผู้ใช้สามารถเลือกที่จะเปิดให้เป็นหน้าจอโล่งๆ แสดงผลเพียงเครือข่าย วัน เวลาที่ใช้งาน หรือจะเลือกเปิดใช้งานโหมดหน้าจอหลักที่ผู้ใช้สามารถเข้าไปปรับตั้งค่าการแสดงผลหน้าจอหลักได้เอง

ซึ่งในการตั้งค่าหน้าจอหลักจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลักๆ โดยเลือกจากหัวข้อต่างๆไม่ว่าจะเป็น การแจ้งเตือน ค้นหาทางเว็บ ชุมชน แชต ปุ่มลัด นับเวลาถอยหลัง นาฬิกา บันทึก ปฏิทิน รายชื่อโปรด วิทยุและเพลง สัญลักษณ์ทั่วไป อีเมล และไวเลส

ขณะเดียวกันบนหน้าจอยังมี 3 ปุ่มหลัก ให้ผู้ใช้งานเลือกกดใช้กัน โดยปุ่มซ้าย-ขวา ผู้ใช้สามารถเข้าไปเปลี่ยนได้เอง แต่ปุ่มตรงกลางจะยึดการเข้าเมนูหลักค้างไว้ ส่วนค่าที่ตั้งมากับเครื่องทางซ้ายคือ ไปที่ (Go to) ส่วนทางขวาเป็นรายชื่อผู้ติดต่อ

เมื่อกดเข้าไปที่ (Go to) จะมีหน้าต่างโผล่ลงมาจากด้านบน แสดงผลไอคอนลัด 9 ช่องให้กดเข้าไปใช้กัน ซึ่งในจุดนี้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งไอคอนลัดได้เองเช่นเดียวกันทางมุมซ้ายบน ส่วนมุมขวาบนใช้สำหรับตั้งค่าหน้าจอหลักที่กล่าวถึงในข้างต้น



เข้ามาที่เมนู ก็จะพบกับความคุ้นเคยกันดีของผู้ใช้โนเกีย S40 เพราะเมนูหลักยังคงประกอบไปด้วยปฏิทิน รายชื่อ เพลง เน็ต ข้อความ ภาพถ่าย การตั้งค่า ร้านค้า และแอปพลิเคชัน เข้ามาภายในแอปฯ ก็จะพบกับพวกนาฬิกา เครื่องคิดเลข แกลลอรีภาพ ส่วนเสริมอื่นๆ รายการที่ต้องทำ สมุดจดโน้ต ตั้งเวลาถอยหลัง จับเวลาเป็นต้น

ขณะที่ใน คอลเลคชัน จะเป็นแอปฯเสริมที่เพิ่มขึ้นมาอย่าง คอมมูนิตี แปลงค่าต่างๆ วิดีโอแนะนำโทรศัพท์ เข้าโอวีแอปสโตร์ ในส่วนของเกมก็มีมาให้ส่วนหนึ่ง ถ้าต้องการโหลดเพิ่มก็สามารถเข้าไปโหลดจากโอวีสโตร์ได้เช่นกัน

อีกหนึ่งการพัฒนาของ S40 คือการนำแอปฯสำหรับใช้งานอินเทอร์เน็ตใส่เข้ามาในเครื่องมากขึ้น ไล่ตั้งแต่เว็บเบราว์เซอร์อย่าง โอเปร่า ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถท่องเน็ตได้ ในแนวใช้งานขำๆแก้ขัด การแสดงผลเว็บทำได้ทั่วไป แม้ว่าจะเทียบกับสมาร์ทโฟนไม่ได้ก็ตาม



ถัดมาคือ Community ที่โนเกีย รวมการแสดงผลของ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์เข้ามาให้กลายเป็นแอปฯใช้ภายใน S40 ซึ่งโดยหลักการแล้ว การแสดงผลจะเน้นที่สเตตัสล่าสุด สามารถเข้าไปดูข้อความ ปฏิทิน รายชื่อเพื่อน อัปโหลดรูปภาพขึ้นได้ตามมาตรฐานแอปฯทางเครือข่ายสังคมทั่วๆไปนั่นเอง



แน่นอนว่าการติดต่อสื่อสารผ่านทางอีเมลก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ จากเดิมที่โนเกีย พยายามดันให้ผู้ใช้สมัครใช้งานโอวี แต่ท้ายที่สุดก็สามารถให้ผู้ที่ใช้บัญชีรายชื่อื่นๆ สามารถใช้งานได้ไม่ว่าจะเป็น Gmail Hotmail Yahoo รูปแบบการแสดงผลใช้งานง่าย มีหัวข้อให้คลิกเข้าไปอ่านเนื้อหาข้างใน สามารถ ตอบกลับ ส่งต่อได้ปกติ

ส่วนของโอวี แอปสโตร์เอง ก็มีแอปพลิเคชันจำนวนหนึ่งให้ดาวน์โหลดมาส่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะทำงานบนจาวา ประกอบกับตัวเครื่องไม่สามารถใช้งานมัลติเทสก์ได้ เรียกได้ว่าเป็นแอปสโตร์ไว้คลายเหงาสำหรับคนที่ต้องการใช้งานมากกว่าโทรศัพท์บน S40 ในการดาวน์โหลดก็เพียงสมัครสมาชิกโอวี ซึ่งมีให้เลือกทั้งแอปฯฟรีและเสียเงิน



กล้องที่ให้มา แม้ว่าจะแสดงผลในแนวตั้งเป็นหลัก หน้าจอการถ่ายภาพไล่จากส่วนบนประกอบไปด้วย รูปแบบการบันทึก ขนาดภาพ จำนวนรูป-นาที ถัดลงมาตรงกลางฝั่งซ้ายเป็นการเปลี่ยนสลับโหมดถ่ายภาพนิ่ง-วิดีโอ ฝั่งขวาเป็นการซูม ส่วนแถวล่างซ้ายใช้เข้าตัวเลือกอื่นๆ ตรงกลางเป็นชัตเตอร์ และขวาสุดเป็นย้อนกลับ

เอฟเฟกต์การถ่ายภาพยังคงประกอบไปด้วย ภาพปกติ โทนสีเทา ซีเปีย และเนกาทีฟ ตามแบบฉบับทั่วไป ขณะที่ไวท์บาลานซ์ ประกอบไปด้วย อัตโนมัติ แสงพระอาทิตย์ หลอดไฟ และฟลูออเรสเซนต์ ตั้งเวลาถ่ายภาพได้แบบ 3 5 และ 10 วินาที หน้าจอแสดงผลมีให้เลือกลบรูป ส่งรูป และกลับไปดูรูปทั้งหมด



ในส่วนของการตั้งค่ายังคงประกอบไปด้วยตั้งค่าโปรไฟล์ เลือกธีม แต่งเสียงเรียกเข้าต่างๆ ปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติ ตั้งค่าหน้าจอหลัก ซึ่งในส่วนนี้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งหน้าจอ เลือกจัดการเลย์เอาท์ต่างๆได้ด้วยตนเองด้วย ถัดมาเป็นตั้งวันและเวลา ปุ่มลัด การซิงค์ข้อมูลและสำรองข้อมูล ตั้งค่าการเชื่อมต่อ ตั้งค่าโทรศัพท์ คัวเครื่อง อุปกรณ์เชื่อมต่อ รายละเอียดการเชื่อมต่อเครือข่าย ตั้งค่าความปลอดภัย ตั้งบัญชีของโนเกีย และล้างเครื่อง

Design of Nokia X3-02 / C3-01 Touch And Type



เริ่มกันที่โนเกีย X3-02 จากสีสันที่สดใสของตัวเครื่อง ทำให้เรียกว่าออกมาเจาะกลุ่มวัยรุ่นที่ชื่นชอบสีสันของตัวเครื่องเป็นสำคัญ จาก 5 สี คือ ดำ ขาว ชมพู น้ำเงิน และม่วง โดยมีขนาดของตัวเครื่องอยู่ที่ 106.2 x 48.4 x 9.6 มิลลิเมตร น้ำหนัก 77.4 กรัม วัสดุที่ใช้จะเป็นพลาสติกคุณภาพสูงทำให้ตัวเครื่องมีน้ำหนักเบา



ขณะที่ C3-01 จะขยับระดับขึ้นมาอีกนิด จากทรงแท่งเช่นเดียวกัน แต่เปลี่ยนมาใช้วัสดุเป็นอะลูมิเนียมผสมกับพลาสติกคุณภาพสูง ทำให้ตัวเครื่องดูมีน้ำหนักและการประกอบที่แน่นหนาขึ้น มีให้เลือก 3 สี คือเทา เงิน และทอง ตามดีไซน์ที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้นด้วย จากขนาดตัวเครื่อง 111 x 47.5 x 11 มิลลิเมตร น้ำหนัก 100 กรัม

ถัดลงมาที่หน้าจอของทั้ง 2 เครื่อง ที่เหมือนกันคือขนาด 2.4 นิ้ว ที่เป็นจอทัชสกรีนแบบ TFT resistive 256K สี ความละเอียด 240 x 320 พิกเซล ที่มาพร้อมกับเซ็นเซอร์ตรวจวัดแสง และตัดแสงขณะสนทนา

ส่วนรูปแบบของปุ่มกดนั้น X3-02 จะมีปุ่มลัดในการเรียกใช้งาน ข้อความและมัลติมีเดีย เพิ่มขึ้นมา ส่งผลให้กลายเป็นปุ่มแบบ 4 แถว 4 ปุ่ม เครื่องหมาย * # และเลข 0 จึงย้ายมาอยู่ด้านขวาแทน ขณะที่ C3-01 ยังใช้เลย์เอาท์ปุ่มกดแบบมาตรฐานของโทรศัพท์ทรงแท่ง




ด้านหลังของทั้ง X3-02 และ C3-01 จะประกอบไปด้วยกล้อง 5 ล้านพิกเซล ซึ่งใน C3-01 จะมีแฟลชใส่มาให้ด้วย ขณะที่ส่วนอื่นๆจะปล่อยโล่งทั้งหมด การถอดฝาหลังของ X3-02 ต้องกดปุ่มที่ด้านข้างตัวเครื่องทั้ง 2 ฝั่ง ส่วน C3-01 จะใช้การเลื่อนขึ้นเพื่อเปิดฝาหลังแทน




เมื่อเปิดฝาหลังออกมาจะพบกับ แบตเตอรี Li-ion ขนาด 860 mAh ใน X3-02 ส่วนใน C3-01 จะเป็นขนาด 1050 mAh ช่องใส่ซิมการ์ดจะอยู่ล่างเครื่องทั้ง 2 รุ่น ทำให้จำเป็นต้องถอดแบตเตอรีก่อนเปลี่ยนซิม แต่ไมโครเอสดีจะสามารถเปลี่ยนได้เลย






X3-02 ด้านซ้าย - จะถูกปล่อยโล่งไว้ ด้านขวา - ช่องร้อยสายคล้องโทรศัพท์ ปุ่มปรับเสียง และปุ่มล็อกหน้าจอ ด้านบน - เป็นลำโพง ด้านล่าง - มีช่องเสียบายชาร์จ พอร์ตไมโครยูเอสบีไว้เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ และช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม.






C3-01 ด้านซ้าย - ถูกปล่อยโล่งไว้เช่นเดียวกัน ด้านขวา - มีปุ่มปรับระดับเสียง ล็อกหน้าจอ และปุ่มชัตเตอร์กล้อง (ใช้เรียกโหมดกล้องได้) ด้านบน - มีพอร์ตไมโครยูเอสบี ช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. และช่องเสียบสายชาร์จ ด้านล่าง - ถูกปล่อยโล่งไว้

บทสรุป

การพัฒนาของโนเกีย ที่หันมาสร้างสรรค์นวัตกรรมทัชกรีน ที่มาใช้งานร่วมกับปุ่มกดตัวเลขน่าจะมีมานานแล้ว เนื่องจากกระแสการใช้งานของทัชสกรีนได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รูปแบบการใช้งานของผู้บริโภคก็เปลี่ยนมานิยมทัชสกรีนมากขึ้น แต่เชื่อว่ายังมีส่วนหนึ่งที่นิยมดีไซน์ที่คลาสสิคของโนเกียอยู่ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ด้วยการที่โนเกียใส่ฟีเจอร์มาให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการเชื่อมต่อ ทั้ง 3G บนคลื่นความถี่ 850/900/1900/2100 MHz อัตราการดาวน์โหลดสูงสุด 10.2 Mbps อัปโหลดสูงสุด 2 Mbps รองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi 802.11 b/g/n บลูทูธ 2.1

ขณะที่การพัฒนา S40 ให้รองรับการใช้งานแบบสัมผัสกลายเป็นเรื่องรองลงมาจากรูปแบบการเชื่อมต่อที่หลากหลาย เพราะการใช้งานเครือข่ายสังคม อีเมล และแอปสโตร์ต่างๆ จะไม่มีทางเกิดขึ้นถ้าตัวเครื่องไม่รองรับรูปแบบการเชื่อมต่อ ที่ให้ผู้ใช้สามารถเลือกได้ตามใจ

จากราคาเปิดตัวของ X3-02 ที่ 5,850 บาท และ C3-01 ที่ 6,290 บาท ถือว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงพอสมควร เพื่อเทียบกับฟีเจอร์โฟนรุ่นอื่นๆในตลาด อาจเป็นเพราะมาพร้อมกับทั้ง 3G และ Wi-Fi ด้วย ถ้าใครที่ชื่นชอบในสไตล์คลาสสิกของโนเกีย คงไม่พลาดกับเครื่องที่ครบครัน แต่กลับกันตัวเลือกอื่นๆในราคาระดับนี้ก็มีอีกเป็นจำนวนมาก

ขอชม
- ฟีเจอร์โฟน รองรับ 3G / Wi-Fi
- กล้องความละเอียด 5 ล้านพิกเซล / C3-01 มีแฟลชด้วย
- วัสดุและการประกอบตัวเครื่องของ C3-01 เหมาะสมกับราคา

ขอติ
- S40 ยังขาดความสามารถในการใช้งานมัลติเทสกิง / วิดีโอคอลล์
- X3-02 วัสดุเครื่องที่ใช้ดูเปราะบางมากขึ้น

Company Related Links :
Nokia














ภาพจากกล้อง X3-02
ภาพจากกล้อง C3-01
กำลังโหลดความคิดเห็น