xs
xsm
sm
md
lg

Review : Spriiing Smile ยิ้มรับแอนดรอยด์สายพันธุ์ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




เริ่มต้นปี 2554 กับแบรนด์น้องใหม่ในตลาดอย่าง สปริง (Spriiing) ที่กำลังจะเข้ามาโลดโผนในตลาดสมาร์ทโฟน จากความภูมิใจบนแพลตฟอร์มคอมมูนิตี ที่พัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทย ที่จะเชื่อมโยงผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั้งหลายเข้าหากัน

จุดมุ่งหมายของ สปริง ที่เผยกับทีมงานไซเบอร์บิซ คือไม่ได้ต้องการจำหน่ายโทรศัพท์มือถือราคาถูก เพียงแต่ต้องการให้ผู้บริโภคทุกระดับ สามารถเข้าถึงการใช้งานแพลตฟอร์มของสปริงได้ จึงทำให้ต้องวางสินค้าจากกลยุทธ์ราคา ที่มาสะเทือนตลาดแอนดรอยด์จากราคาจำหน่ายเกือบๆ 6,000 บาท

กลับมาถึง Spriiing Smile ที่เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรก ภายใต้แบรนด์สปริง มีต้นกำเนิดมาจากโรงงานของหัวเว่ย จากประเทศจีน ซึ่งตัวเครื่องได้รับการออกแบบในสวีเดน อยู่ภายใต้ซีรีส์ "ideos" ของหัวเว่ยที่วางจำหน่ายในต่างประเทศ

Feature On Spriiing Smile



อย่างที่บอกไปว่า สปริง ต้องการสร้างคอมมูนิตี ให้กับผู้ใช้งาน ฟีเจอร์หลักจึงตกไปอยู่ที่แอปพลิเคชันสปริง ไล่ตั้งแต่ Spriiing Center ที่ไว้เป็นหน้าจอหลักสำหรับเชื่อมโยงผู้ใช้เข้ากับระบบ ที่เชื่อมโยงไปยังแอปฯแชต หน้าเว็บไซต์ที่น่าสนใจ และอีก 2 ช่อง ที่ยังว่างไว้เพื่อการพัฒนาในอนาคต

ส่วนบนของแอปฯ เป็นพื้นที่โฆษณา ที่คาดว่าจะไว้ทำตลาดแพลตฟอร์มในอนาคต ส่วนล่างเป็นพื้นที่แนะนำแอปฯ บนแอนดรอยด์ มาเก็ต ที่น่าสนใจ ซึ่งส่วนนี้ก็สามารถกลายเป็นพื้นที่แนะนำแอปฯที่ผลิตโดยคนไทยในอนาคตได้เช่นกัน



เมื่อเข้าสู่ Spriiing Chat ซึ่งถือเป็น คอมมูนิตี ฮับ ที่สปริงกำลังพัฒนาขึ้นมา เพื่อให้สามารถใช้งานด้านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ไม่ว่าจะเป็น Feed ที่แสดงการอัปเดตสถานะ คอมเมนต์ กดถูกใจ-ไม่ชอบ ซึ่งสปริงให้ข้อมูลว่ากำลังพัฒนาให้เชื่อมต่อไปยังเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ต่อไป

ขณะที่โปรแกรมแชต พัฒนาขึ้นมาภายใต้รูปแบบเดียวกับแบล็กเบอร์รี แมสเซนเจอร์ ทำให้รูปแบบการทำงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Pin (รหัสระบุตัวตนของผู้ใช้ ในที่นี้จะคำนวนขึ้นมาจากหมายเลขโทรศัพท์) ผู้ใช้สามารถเข้าไปตั้งชื่อ เปลี่ยนรูปภาพ ใส่สถานะ ได้ทุกอย่าง ในการเพิ่มผู้ติดต่อ ก็สามารถนำหมายเลข Pin ใส่ สแกนบาร์ดโค้ด

รูปแบบการทำงานของ สปริง แชต จะใช้การส่งข้อมูลจากตัวเครื่อง ผ่านเน็ตเวิร์กไปยังโอเปอเรเตอร์ เพื่อส่งเข้าไปยังเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งอยู่ในประเทศ ก่อนส่งกลับไปยังโอเปอเรเตอร์ปลายทาง และส่งต่อกลับมายังโทรศัพท์มือถือ ซึ่งขณะส่ง จะมีสัญลักษณ์บอกตลอดเวลาว่าอยู่ในขั้นตอนใด ผู้ส่ง ส่งข้อความถึงแล้ว ผู้รับเปิดอ่านหรือยังเป็นต้น

นอกจากนี้ยังสามารถใช้ความสามารถอื่นๆ ที่นอกจากการพูดคุยผ่านตัวอักษร ไม่ว่าจะเป็น รูปภาพ ข้อความเสียง ไฟล์วิดีโอ ข้อความสัญลักษณ์ อีโมติคอนที่สามารถแสดงผลแบบเต็มหน้าจอ เป็นการนำจุดเด่นของบริการแชตต่างๆ มารวมกัน

ความสามารถอย่าง Group ที่สามารถแอดเพื่อนเข้ากลุ่มได้มากกว่า 200 คนถูกยกมาเคลมว่าเป็นจุดเด่นที่ทำให้สปริงแอปฯ เหนือกว่าแบล็กเบอร์รีที่สามารถแอดเพื่อนเข้ากลุ่มได้ 30 คนเท่านั้น ขณะเดียวกันยังมีบริการ Rooms หรือห้องพูดคุย ที่นำหลักการของโปรแกรมสนทนาสมัยก่อน มาเป็นแบบอย่าง ให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปหาเพื่อนใหม่ๆ ที่กำลังใช้งานอยู่ในระบบได้ง่ายขึ้น

แน่นอนว่าเมื่อมีความสามารถในการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ก ก็จำเป็นต้องมี Notification เพื่อใช้ในการแจ้งเตือนข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแอดเข้ามาของเพื่อน แจ้งเตือนให้อัปเดตแอปฯ การเปลี่ยนสถานะของเพื่อนเป็นต้น



ขณะเดียวกันยังมีบริการที่ออกมาฆ่าบริการรับส่งข้อมูลข่าวอย่าง Info Feed ที่ตัวสปริงตั้งให้สามารถดึงข้อมูลจากทวิตเตอร์มาแสดงผล ซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าไปเลือกข้อมูลที่จะรับได้เอง ตามประเภทความสนใจ ซึ่งถ้าหาตามหมวดไม่เจอ ก็สามารถใช้เครื่องมือค้นหาจากเซิร์ฟเวอร์ของทางสปริงได้



นอกจากนี้ยังมีบริการ Promotion ที่คิดค้นขึ้นมารองรับการทำตลาดของสปริงแพลตฟอร์ม ต่อห้างร้านในอนาคต ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง จากการนำ Location-Base-Service มาใช้งาน เช่น ผู้ใช้อยู่ในสถานที่ใกล้เคียงร้านมีโปรโมชันให้ หรือในห้างสรรพสินค้าใกล้บ้านมีโปรโมชันใดน่าสนใจ แน่นอนว่าผู้รับสามารถเลือกรับข้อมูลต่างๆด้วยตนเองได้เช่นเดิม

สิ่งต่างๆเหล่านี้ คือ รูปแบบของสปริงแอปฯ ที่พยายามนำเสนอการใช้งานที่ครอบคลุม ผู้ใช้สามารถเข้ามาใช้งานได้ทุกอย่างในคอมมูนิตี โดยไม่จำเป็นต้องออกไปข้างนอกแอปฯ ซึ่งทางสปริงกำลังอยู่ในช่วงติดต่อกับโอเปอเรเตอร์ในการทำแพกเกจการใช้งานเฉพาะแอปฯสปริง เพื่อช่วยให้ไม่จำเป็นต้องเสียค่ารายเดือนในการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบไม่จำเป็น

ที่นี้มาดูที่ฟีเจอร์ของตัวเครื่องกันบ้าง ตัว Smile มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เวอร์ชัน 2.1-update1 ซึ่งใช้รูปแบบการแสดงผลในแนวนอน ตามหน้าจอของตัวเครื่อง ทำให้รูปแบบการใช้งานสามารถใช้ได้ทั้งการสัมผัส และใช้แทร็กบอลในการควบคุม




หน้าอินเตอร์เฟสหลักที่ให้มาเป็นแบบ 7 หน้าต่าง ผู้ใช้สามารถเลือกวิดเจ็ตที่สนใจขึ้นมาวางไว้บนหน้าจอได้ตามเดิม ส่วนที่บังคับห้ามเปลี่ยนคือมุมขวาของหน้าจอที่ประกอบไปด้วย ไอคอน สำหรับเข้าสปริงแอปฯ เมนู และ รายชื่อผู้ติดต่อ



โหมดใช้งานโทรศัพท์ จะใช้แป้นคีย์บอร์ดในการกดหมายเลข ไม่สามารถใช้ร่วมกับหน้าจอทัชสกรีนได้ ทั้งนี้ ยังมาพร้อมกับระบบเดาหมายเลขจากเบอร์โทรศัพท์ที่กดอยู่เช่นเดิม ซึ่งในส่วนของโหมดโทรศัพท์ ยังประกอบไปด้วยประวัติการโทร รายชื่อผู้ติดต่อ รายชื่อโปรด และกลุ่ม ให้ได้ใช้กัน หน้าจอระหว่างโทร. แสดงผลเพียงรูป รายชื่อ เบอร์โทรศัพท์ ใช้ปุ่มซอฟต์คีย์ในการวางสาย ถ้าจะเข้าสู่การพักสาย รวมสาย เพิ่มสาย เปิดลำโพง บลูทูธ ให้กดจากปุ่มเมนูเอา



หน้าตาเมนูอยู่ในรูปแบบที่คุ้นเคยของแฟนแอนดรอยด์ มีแอปฯติดตั้งมาให้เบื้องต้นได้แก่ นาฬิกา เบราว์เซอร์ เครื่องคิดเลข ปฏิทิน ประวัติการโทร. กล้อง รายชื่อผู้ติดต่อ โทรศัพท์ ตัวอ่านไฟล์เอกสาร จัดการอีเมล เฟซบุ๊ก ตัวจัดการไฟล์ วิทยุ แกลลอรี จีเมล ละติจูด แมปส์ มาเก็ต ข้อความ เครื่องเล่นเพลง เนวิเกเตอร์ เพลส (ใช้คู่กับกูเกิลแมปส์) ตัวจดไฟล์เอกสาร ซิงค์ข้อมูล ตั้งค่า อัดเสียง ทวิตดรอยด์ ตัวกระจายไวเลส และยูทูป



แอปที่น่าสนใจสำหรับ Smile ที่ใส่มาให้คงหนีไม่พ้น Wireless Tether เนื่องจากตัวเครื่องรองรับการใช้งาน 3G บนคลื่นความถี่ 900/2100 MHz ด้วย ทำให้สามารถนำซิมการ์ดที่ให้บริการ 3G ของ TOT ในปัจจุบันมาใส่เพื่อใช้กระจายสัญญาณผ่าน ไวเลสให้อุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นๆสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้



ขณะที่วิทยุเอง ก็สามารถนำมาใช้งานแบบทศนิยม 2 จุดได้ ทำให้สามารถรองรับการใช้วิทยุชุมชนในบ้านเราได้เป็นอย่างดี สามารถจัดการช่องได้ตามต้องการ ตั้งช่วงคลื่นความถี่ เลือกเฉพาะช่องที่ฟังบ่อยๆได้ แต่ทั้งนี้ยังต้องใช้หูฟังในการรับสัญญาณอยู่เช่นเดิม



ส่วนของโปรแกรมกล้องนั้น เรียกได้ว่าใส่มาแก้ขัดไป เพราะความละเอียด 3 ล้านพิกเซลที่ให้มา ไม่มีออโต้โฟกัสมาด้วย ทำให้รูปที่ได้ค่อนข้างธรรมดา หน้าจอการใช้งานมีปุ่มสลับโหมดถ่ายภาพนิ่ง วิดีโออยู่ทางขวา มีปุ่มชัตเตอร์อยู่ด้านล่าง ส่วนการตั้งค่าจะซ่อนอยู่มุมซ้าย

การปรับตั้งค่ามีตั้งแต่เปิด-ปิดแฟลช ปรับไวท์บาลานซ์ ใส่เอฟเฟกต์ (Mono, Sepia, Negative และ Aqua) เปิดใช้งานบันทึกพิกัด ปรับขนาดภาพสูงสุดที่ 2048 x 1536 พิกเซล คุณภาพของภาพ และ เปิด-ปิด เสียงชัตเตอร์



หน้าตาเว็บเบราว์เซอร์ ที่ให้มาสามารถแสดงผลได้เพียงในแนวนอนเท่านั้น การใช้งานยังให้ความลื่นไหลสมราคาแอนดรอยด์ แม้ว่าจะมีอาการหน่วงบ้าง ตามสเปกของเครื่อง ซึ่งน่าเสียดายที่ยังไม่รองรับการใช้งาน Adobe Flash เช่นเดียวกับ LG Optimus One จากความต้องการของฮาร์ดแวร์ไม่เพียงพอ



อีกจุดที่ทีมงานสปริง พัฒนาขึ้นมาคือ โปรแกรม ไว้ใช้เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ เพื่อจัดการข้อมูลภายในเครื่องอย่างข้อความสั้น รายชื่อผู้ติดต่อ ช่วยให้สามารถจัดการได้บนคอมพิวเตอร์ทันที จากโปรแกรม PC Suite For Android Hanset



ในขณะเดียวกัน ถ้าต้องการใช้ Spriiing Smile มาใช้เป็นตัวเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้กับโน้ตบุ๊กผ่านสายยูเอสบี ก็สามารถเรียกใช้โปรแกรม Dialup For Android Hanset ที่มีแถมมาให้ลงอยู่ในเครื่อง เพื่อใช้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ไม่ต่างกับแอร์การ์ดที่วางขายตามท้องตลาดเลยทีเดียว

สำหรับสเปกของ Spriiing Smile หรือ ที่รู้จักในต่างประเทศว่าเป็น Huawei U8300 นั้น มีสเปกภายในที่ใช้หน่วยประมวลผล Qualcomm MSM 7225 528MHz ทำงานบนระบบปฏิบัติการ แอนดรอยด์ 2.1 ROM ขนาด 512 MB RAM ขนาด 256 MB รองรับไมโครเอสดีการ์ดสูงสุด 16GB มาพร้อมกับ GPS และเข็มทิศดิจิตอล

Design of Spriiing Smile



จากดีไซน์ที่ค่อนข้างโดดเด่นของ Spriiing Smile ทำให้เชื่อว่า มีกลุ่มผู้บริโภคส่วนหนึ่งตัดสินใจเลือกซื้อตั้งแต่เห็นตัวสินค้า ซึ่งในจุดนี้ต้องขอบคุณดีไซเนอร์จาก สวีเดน ที่ทำให้ Spriiing Smile มีความโดดเด่นในเรื่องของดีไซน์ ที่ถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แม้ว่าจะมีส่วนคล้ายกับแบรนด์อื่นในตลาดบ้าง

ตัวเครื่องที่จำหน่ายในเบื้องต้นจะมี 2 สี คือ ดำ และ ขาว ขนาดของตัวเครื่องอยู่ที่ 96.4 x 62.2 x 12 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 110 กรัม วัสดุที่ใช้จะเป็นพลาสติกคุณภาพสูง ให้การสัมผัสที่ค่อนข้างแน่นหนา โดยในกล่องจะมีสติกเกอร์กันรอย เคสพร้อมสายคล้องคอ และแบตฯสำรองมาให้ด้วย

ด้านหน้า - หน้าจอเครื่องเป็นแบบ Resistive ขนาด 2.6 นิ้ว ความละเอียด 320 x 240 พิกเซล ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของรุ่นนี้ไปทันที เนื้องจากจอดังกล่าวไม่รองรับการสัมผัสแบบมัลติทัช บนหน้าจอเป็นลำโพงสนทนา ที่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับแสงอยู่ข้างๆ



ถัดลงมาในส่วนล่างประกอบไปด้วย ปุ่มรับสาย เมนู แทร็กบอล ย้อนกลับ และวางสาย ซึ่งปุ่มบริเวณนี้จะมีแสงไฟจากใต้คีย์บอร์ดลอดออกมา แต่ในส่วนของปุ่มตัวอักษรจะไม่มีแสงส่องออกมาทำให้เป็นข้อจำกัดในการใช้งานในที่มืดไปทันที



การเรียงตัวอักษรของแป้นคีย์บอร์ด ถือว่าทำออกมาได้ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ ผู้ใช้ท่านใดที่คุ้นเคยกับการใช้งานแบล็กเบอร์รีคงปรับตัวใช้ได้ไม่ยาก นอกจากนี้ยังมีการนำปุ่มลัดสำหรับเข้าสปริงแอปฯมาไว้ด้านล่าง รวมกับปุ่มเปิดไฟฉาย ค้นหา และปิดเสียงเครื่องด้วย



ด้านหลัง - มีโลโก้ "Spriiing" โดดเด่นอยู่กลางเครื่อง เยื้องไปทางซ้ายบนเป็นที่อยู่ของกล้องความละเอียด 3 ล้านพิกเซล พร้อมไฟแฟลช ส่วนมุมล่าง มีลำโพง และตัวอักษรระบุว่าเป็นซีรีส์ "Ideos" ที่ดีไซน์ตัวเครื่องจากสวีเดน



ฝาหลังเปิดได้ด้วยการงัดจากด้านบน จะพบกับช่องใส่ซิมการ์ดอยู่ใต้กล้อง และช่องใส่ไมโครเอสดีอยู่ส่วนล่าง ซึ่งเป็นข้อดีที่ทั้ง 2 ส่วนไม่อยู่ใต้แบตฯ สามารถถอด-ใส่ได้โดยไม่จำเป็นต้องปิดเครื่อง แบตเตอรีที่ให้มาเป็น Li-ion ความจุ 930 mAh มีระบุรหัส imei เครื่อง และฐานการผลิตอยู่ใต้แบตฯ




ด้านซ้าย - มีเพียงปุ่มปรับระดับเสียง ด้านขวา - มีพอร์ตไมโครยูเอสบีสำหรับเสียบสายชาร์จและเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์




ด้านบน - เป็นปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง ด้านล่าง - มีช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. และไมโครโฟนสนทนา

บทสรุป

ถึงแม้ สปริง จะให้ข้อมูลว่าไม่เน้นขายเครื่อง "สปริง" น้องใหม่ เน้นแพลตฟอร์มไม่เน้นขายเครื่อง แต่จากราคาที่เปิดตัวมาในช่วง 6 พันบาท และมีราคาโปรโมชันเหลือเพียง 5,990 บาท คงทำให้ใครหลายๆคนที่สนใจแอนดรอยด์ ตัดสินใจเลือกได้ไม่ยาก

แต่อย่างที่ทราบว่า Smile คือเป็นเครื่องต้นแบบที่ออกมาวางจำหน่ายเพื่อนโปรโมตการใช้งานสปริงแพลตฟอร์ม สเปกของเครื่องจึงไม่สูงมาก เพียงแค่ตอบสนองการใช้งานทั่วๆ ไป ใครที่คาดหวังว่าจะได้ความลื่นไหลเหมือนกับเครื่องราคาสูงคงทำใจได้ค่อนข้างยาก แต่ถ้ามองกลับกันว่าสามารถเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนได้ในราคาเกือบ 6 พันบาท กลับถือเป็นจุดเด่นในการเลือกซื้อเลยทีเดียว

เนื่องจาก Smile มาพร้อมกับการใช้งานบริการกูเกิลที่ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น อีเมล แมปส์ ยูทูป โดยเฉพาะมาเก็ต ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปดาวน์โหลดแอปฯเพิ่มเติมมาใช้ได้ จึงกลายเป็นจุดเด่นที่คู่แข่งอื่นๆในตลาดยังไม่สามารถทำได้ เพราะปัจจุบัน ราคาเครื่องที่ต่ำกว่านี้ส่วนใหญ่จะไม่มาพร้อมกับ บริการจากกูเกิล

จุดเด่นของการใช้งานสมาร์ทโฟนอย่างซิงค์อีเมล จัดการตารางนัดหมาย ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ Smile สามารถทำได้ ผ่านการเชื่อมต่อทั้ง EDGE ในปัจจุบัน และยังรองรับการใช้งาน 3G บนคลื่นความถี่ 900 / 2100 MHz รวมกับไวไฟ บลูทูธ จีพีเอส เรียกได้ว่าใส่ความเป็นสมาร์ทโฟนมาให้ครบครัน

แต่ระยะเวลาการใช้งานก็ถือเป็นข้อจำกัดของสมาร์ทโฟนเช่นเดิม เพราะแบตเตอรีที่ให้มาความจุ 980 mAh นั้น สามารถใช้งานทั่วๆ ไปได้วันต่อวัน แต่ถ้ามีการใช้งานหนักๆ ก็อยู่ไม่ถึงวันแน่นอน ซึ่งต้องขอชมทางสปริงที่แก้ปัญหานี้ด้วยการแถมแบตฯก้อนที่ 2 เข้าไปในแพกเกจที่จำหน่ายด้วย ส่วนเสียงสนทนายังทำได้ตามมาตรฐาน

หลังจากนี้คงต้องรอดูกันว่าทางสปริง จะสามารถนำแอปฯเข้าไปไว้ในแอนดรอยด์มาเก็ต รวมถึงแบล็กเบอร์รีแอปเวิลด์ และแอปเปิล แอปสโตร์ได้เมื่อใด และจะมีการโปรโมทให้คนไทยหันมาใช้งานร่วมกันอย่างแพร่หลายได้หรือไม่

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย : ตัว i 3 ตัว ย่อมาจาก Innovation, Intuitiveness และ Imagination

ขอชม
- ดีไซน์เล็ก น่ารัก เหมาะกับการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ก
- ราคาจับต้องได้
- การพัฒนาสปริงแอปฯ ที่มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

ขอติ
- คีย์บอร์ดไม่มีไฟ และมีขนาดเล็ก ทำให้ใช้ในที่มืดยาก
- หน้าจอเป็นแบบ Resistive ซึ่งล่าสมัยไปแล้ว
- แทร็กบอลน่าจะเปลี่ยนเป็นออปติคัลแทร็กแพดแทน ป้องกันฝุ่นเข้าในอนาคต

Company Related Links :
Spriiing






กำลังโหลดความคิดเห็น