"ซัมซุง แคนดี้" ทัชโฟนสีสันลูกกวาดสดใสราคาประหยัดไม่ถึง 6 พันบาท ซึ่งซัมซุงออกมาเจาะกลุ่มวัยรุ่นในระดับพรีเมียมแมส ที่ชื่นชอบความสวยงามของแฟชัน และสีสันที่สดใส ด้วยดีไซน์สีโดยเฉพาะ เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดทัชโฟนสำหรับทุกไลฟ์สไตล์ให้ได้ทั้งหมด จุดเด่นของรุ่นนี้อยู่ที่การดีไซน์ให้ดูเล็กกะทัดรัด, ตอบสนองด้วยนิ้วมือผ่านหน้าจอ 'Capacitive', ย่อ-ขยายภาพเพียงนิ้วเดียว (One Finger Zoom) และสามารถเชื่อมต่อสังคมออนไลน์ได้ง่ายทุกที่ทุกเวลา
Feature on Samsung Candy S3650
"ซัมซุงแคนดี้"ใช้ยูสเซอร์อินเตอร์เฟสแบบ 'Touch Wiz' เวอร์ชันเดียวกับ "ซัมซุง สตาร์" ที่มาพร้อมกับฟังก์ชันโมบายล์ วิตเจ็ตอยู่ในแถบ 'Side bar'ทางด้านข้าง ซึ่งสามารถลากไอคอนต่างๆออกมาวางไว้ทางหน้าจอหลักได้อย่างอิสระ มีหน้าจอหลักมาให้ใช้งานอยู่ทั้งหมด 3 หน้าด้วยกัน จึงทำให้มีพื้นที่วางไอคอนเพิ่มมากขึ้นถึง 3 เท่า ส่วนที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด คือ หน้าจอที่มีขนาดเล็กกว่ารุ่นสตาร์ แต่มีขนาดเทียบเท่ากับรุ่น F480 รวมถึงหน้าจอที่เป็นแบบ "Capacitive" เช่นเดียวกับ F480 สามารถตอบสนองนิ้วมือได้เป็นอย่างดี แต่ไม่ตอบสนองปากกาสไตลัส หรือปลายเล็บในการจิ้มกดได้
"เมนู" กดเข้าใช้งานผ่านหน้าจอทัชสกรีน ซึ่งมีมาให้ใช้ถึง 26 เมนู โดยแบ่งออกเป็น 3 หน้าด้วยกัน ประกอบไปด้วย หน้าแรก ได้แก่บันทึกข้อมูลการใช้งาน(Call Log), รายชื่อรูปถ่าย(Photo Contacts), เครื่องเล่นเพลง(Music Player), อินเทอร์เน็ต(Internet), ข้อความ(Messages), ไฟล์ส่วนตัว(My Files), ปฏิทิน(Calendar), กล้องถ่ายรูป(Camera), คอมมิวนิตี้(Communities), บลูทูธ(Bluetooth), การเตือน(Alarms), การตั้งค่า(Setting)
หน้าที่ 2 ได้แก่ ค้าหาเพลง(Find Music), Google, วิทยุ(FM Radio), เกมส์และอื่นๆ(Games and More), เครื่องบันทึกเสียง(Voice Recorder), พจนานุกรม(Dictionary), เวลาโลก(World Clock), สมุดบันทึก(Memo), สิ่งที่ต้องทำ(Task), ดาวน์โหลด(Downloads), เครื่องคิดเลข(Calculator), การเปลี่ยนหน่วย(Converter)
และหน้าที่ 3 ได้แก่ การตั้งเวลา(Timer) กับการจับเวลา(Stopwatch) ซึ่งจะเห็นได้ว่ารุ่นนี้ได้กระจายเมนูที่เคยอยู่ในหมวดปีกย่อยต่างๆ ออกมาไว้ด้านนอก เพื่อให้สามารถเลือกใช้งานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้ใส่ฟังก์ชัน "รายชื่อรูปถ่าย"(Photo Contacts) เหมือนกับในรุ่นสตาร์ติดมาให้ใช้งานกันด้วย ซึ่งสามารถค้นหาหมายเลขที่อยู่ในเครื่อง พร้อมกับโชว์ภาพถ่าย โดยข้อมูลรายละเอียดการใช้งานมีบอกไว้ทางหน้าจอว่า รายชื่อที่ใช้บ่อยจะถูกลงทะเบียนโดยอัตโนมัติ สามารถใช้งานง่ายๆด้วยการใช้นิ้วรูดสไลด์ขึ้น-ลง รายชื่อจะหมุนเวียนลักษณะเป็นวงล้อแบบสามมิติ
Smart Unlock
ฟังก์ชัน "Smart Unlock" ยังถูกนำมาติดไว้ให้ใช้งานในรุ่นนี้กันด้วย ซึ่งฟังก์ชันนี้ทางทีมงานเคยรีวิววิธีการใช้งานแบบละเอียดไปแล้วใน"Samsung Star" จึงไม่ขออธิบายซ้ำอีก แต่ขอสรุปใจความสำคัญอีกครั้งว่า เป็นฟังก์ชันทางลัดที่ช่วยอำนวยความสะดวกพาเข้าฟังก์ชันต่างๆ ตามที่ได้กำหนดไว้ได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็ว เพียงแค่ใช้ปลายนิ้วเขียนตัวอักษรบนหน้าจอตามที่กำหนดไว้ เครื่องก็จะทำตามคำสั่งทันที แต่จะใช้งานได้ก็ต่อเมื่อหน้าจอล็อกอยู่เท่านั้น และเลือกใช้งานได้เพียงฟังก์ชันเดียว
ในส่วนของการตั้งค่านั้นยังคงเหมือนเดิม กล่าวคือ ผู้ใช้ต้องเข้าไปเซ็ตค่าเพื่อทำการตกลงกับฟังก์ชันก่อนว่า จะใช้ตัวอักษรใดเป็นรหัสในการสื่อสารระหว่างกัน โดยการเข้า เมนู > การตั้งค่า > สมาร์ทอันล็อก เมื่อเข้ามาในฟังก์ชันให้กดคำสั่ง "เปิด" เพื่อเปิดใช้งานการปลดล็อกก่อน จากนั้นจะมีฟังก์ชันให้เลือกปรับค่าอยู่ด้วยกัน 3 หมวดหลัก ได้แก่ 1. ปลดล็อกโทรศัพท์ เป็นการปลดล็อกโทรศัพท์เท่านั้น 2. โทรด่วน เป็นการกำหนดรายชื่อบุคคลที่ต้องติดต่อบ่อยๆ 3. แอปพลิเคชัน เป็นการกำหนดการเข้าแอปพลิเคชัน ซึ่งมีให้เลือกอยู่ด้วยกัน 5 หมวดย่อย ได้แก่ โทร, เครื่องเล่นเพลง, ข้อความ, เบราว์เซอร์ และจาวา
Note
มาดูกันที่ระบบป้อนข้อความกันบ้าง ซึ่งรุ่นนี้ไม่มีปากกาสไตลัสใส่มาให้ใช้งาน ทำให้ต้องใช้นิ้วมือลุยเดี่ยวตลอดการป้อนตัวอักษรทุกฟังก์ชันที่มีคำสั่งพิมพ์เกี่ยวข้อง โดยระบบป้อนคำสั่งบังคับให้ใช้อยู่รูปแบบเดียว ผ่านปุ่มกดจำลองรูปแบบมาตรฐานโทรศัพท์มือถือทั่วไปบนหน้าจอทัชสกรีน ไม่มีปุ่มกดแบบคีย์บอร์ด QWERTY มาให้ใช้งานแม้แต่เงา แต่การใช้งานก็ไม่ได้ยุ่งยากมากนัก ตอบสนองได้ค่อนข้างไวทันใจเสียด้วยซ้ำ รองรับการใช้งาน 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ, อินโดนีเซีย, เวียตนาม และภาษาไทย
Music
เริ่มต้นด้านความบันเทิงที่"เครื่องเล่นเพลง" ซึ่งเมื่อกดเข้าใช้งานจะพบกับฟังก์ชันให้เลือกใช้งานวางเรียงรายอยู่ ได้แก่ แทร็กทั้งหมด, รายการเพลง, ที่เล่นไม่นานมานี้, ที่เล่นบ่อยๆ, นักร้อง, อัลบั้ม, ประเภท และพอดแคสต์ โดยสามารถเลือกเพิ่มเติม หรือปิดการใช้งานบางฟังก์ชันได้ดังนี้ เลือกการตั้งค่า(ที่อยู่ทางด้านล่างสุด) > กดแถบเมนูเพลง จากนั้นจะปรากฏรายการต่างๆออกมาให้เลือก (ถ้าติ๊กเครื่องหมายถูก แสดงว่าต้องการเลือกให้ฟังก์ชันนั้นแสดงผล) และในส่วนของการคั้งค่านี้เองยังสามารถตั้งได้ว่า จะให้มีเปิดการเล่นบนพื้นหลังหรือไม่
เมื่อเลือกรูปแบบการใช้งานได้แล้วให้กดเลือกเพลงที่ต้องการเล่น เครื่องจะเข้าสู่เครื่องเล่นเพลงและเล่นเพลงโดยอัตโนมัติ รูปร่างอินเตอร์เฟสยังคงเหมือนกับรุ่นอื่นในบรรดาทัชโฟนของซัมซุง กล่าวคือ ด้านบนฝั่งซ้ายแสดงปกอัลบั้ม(ถ้ามี), ด้านข้างปกจะแสดงรายชื่อเพลง อับบั้ม และชื่อศิลปิน ถัดลงมาเป็นการปรับค่าต่างๆสามารถปรับผ่านหน้าจอได้เลย ประกอบไปด้วย อีควอไลเซอร์ที่มีให้ปรับกว่า 9 รูปแบบ ได้แก่ ปกติ, ร็อก, ป๊อป, แด๊นซ์, คลาสิก, แจ๊ส, ไวด์, ไดนามิก และเซอราวด์, การทำงานแบบเล่นวนซ้ำ(เล่นวน 1 รอบ เล่นแบบวนซ้ำไปเรื่อยๆ และเล่นวนซ้ำเฉพาะเพลงที่เลือก) สุดท้ายปรับการสลับเล่นเพลงแบบสุ่ม ด้านล่างเป็นแถบเวลาเล่นเพลง และปุ่มควบคุมเพลง(ตามลำดับ)
FM Radio
"วิทยุ FM" สามารถใช้งานได้เมื่อต่อเข้ากับหูฟังสมอล์ทอล์กเท่านั้น โดยเมื่อกดเข้าสู่เมนูนี้จะพบกับฟังก์ชันการใช้งานต่างๆอยู่บนพื้นที่เดียวกัน ประกอบไปด้วย ส่วนบนมีให้เลือกใช้งานฟังก์ชัน "AF" กับช่องทางการรับฟังเสียง ว่าจะฟังผ่านลำโพง หรือหูฟัง ถัดลงมาใต้ล่างตำแหน่งเดียวกันเป็นตัวเลขบอกคลื่นความถี่ทศนิยม 1 ตำแหน่ง ถัดลงมาเป็นหน้าปัดวิทยุ สามารถใช้นิ้วเลื่อนหาคลื่นได้โดยตรง ด้านล่างสุดเป็นปุ่มควบคุม กดให้ทำงานด้วยการกดปุ่มเล่น(กลาง) ส่วนการเปลี่ยนคลื่นให้กดปุ่มลูกศรที่อยู่ขนาบด้านซ้าย และขวา
นอกจากจะค้นหาโดยตัวผู้ใช้เลือกเองแล้ว ฟังก์ชันในตัวเครื่องยังมีให้กดค้นหาคลื่นความถี่แบบอัตโนมัติ ด้วยการเลือกที่เพิ่มเติม > เลือกค้นหา เมื่อเครื่องค้นหาคลื่นเสร็จเรียบร้อยให้กด 'เปิดทุกสถานี' เพื่อเลือกคลื่นตามที่ตัวเองต้องการฟัง หากต้องการเก็บสถานีไว้ฟังต่อในวันข้างหน้า ให้เลือก 'เพิ่มไปยังรายการที่ชอบ' ส่วน"การตั้งค่า" ของวิทยุสามารถปรับค่าได้ดังนี้ การเล่นแบ็กกราวด์ เป็นการเซ็ตค่าให้วิทยุทำงานอยู่แม้จะกลับออกไปยังหน้าหลัก, แสดงชื่อสถานี ว่าจะให้แสดงชื่อหรือไม่ และเปลี่ยนความถี่ใหม่อัตโนมัติ ทุกรายการให้เลือกทำโดยการเปิด-ปิด
Camera
พักความบันเทิงด้านเสียงไว้เท่านี้ ไปดูเรื่องการถ่ายภาพที่เมนูกล้อง (Camera)กันบ้าง ซึ่งกล้องรุ่นนี้มาพร้อมกับความละเอียด 2 ล้านพิกเซล แต่ไม่มีแฟลชมาให้ใช้งาน รวมถึงไม่มีออโต้โฟกัสขณะจับภาพติดมาให้ใช้ด้วย โดยฟังก์ชันภายในมีให้เลือกใช้งาน 2 โหมดด้วยกัน ได้แก่ โหมดถ่ายภาพนิ่ง กับโหมดวิดีโอ ถึงแม้ว่าจะเป็นทัชโฟนรุ่นประหยัด แต่ทางซัมซุงก็ยังใส่ฟังก์ชันที่จำเป็นมาให้เล่นกันสนุกเหมือนเดิม
เริ่มจากโหมดการถ่ายภาพนิ่ง ซึ่งรุ่นนี้ใส่มาให้เลือกค่าการใช้งาน 4 แบบด้วยกัน ได้แก่ ถ่ายแบบช็อตเดียว, ถ่ายแบบตรวจจับรอยยิ้ม หรือสไมล์ช็อต สามารถจับความเคลื่อนไหวบนใบหน้าได้ที่มีรอยยิ้มอัตโนมัติ, ถ่ายต่อเนื่องแบบกดชัตเตอร์ค้างไว้ (สูงสุด 9 ภาพ), และพาโนรามาแบบ 6 ช็อต โดยหลังจากกดถ่ายภาพเริ่มต้นกล้องจะถ่ายให้อัตโนมัติ เพียงแค่เลื่อนตัวกล้องไปด้านข้างตามลูกศรที่ปรากฏบนจอภาพ เพื่อถ่ายภาพต่อเนื่องไปเรื่อยๆจนครบตามช็อตที่ได้กำหนด จากนั้นเครื่องจะประมวลผลเชื่อมต่อภาพให้เอง
"การตั้งค่า" สามารถปรับค่าได้ดังนี้ เริ่มจากความละเอียดมีให้เลือกปรับ 4 แบบ ได้แก่ 2 ล้านพิกเซล(1600x1200), 1.3 ล้านพิกเซล(1280x960), 0.3 ล้านพิกเซล(640x480) และ 320x240 พิกเซล, ปรับค่าสมดุลสีขาว ซึ่งมีให้เลือกปรับ 5 แบบ ได้แก่ อัตโนมัติ, แสงจ้า, แคนเดสเซนต์, ฟลูออเรสเซนต์ และสว่างน้อย, เอฟเฟกต์มีให้เลือกปรับ 5 แบบ ได้แก่ ไม่มี, ภาพขาวดำ, สีน้ำตาลแดง(ซีเปีย), เนกาทีฟ และโทนสีน้ำ การวัดแสงมีให้เลือกใช้ 3 แบบ ได้แก่ เมทริกซ์, เน้นตรงกลาง และตำแหน่ง คุณภาพของรูปภาพมีให้เลือกใช้งาน 3 แบบ ได้แก่ ดีที่สุด, ดี และปกติ, กลางคืน มีให้เลือกเปิด-ปิด
ส่วนการปรับค่าการใช้งานทั่วไปนั้นมีให้เลือกปรับค่า ได้แก่ เปิด-ปิดการใช้งานไกด์ไลน์, กำหนดการแสดงผล มีให้เลือกใช้งานดังนี้ เปิด, ปิด และ 2 วินาที, เสียงชัตเตอร์มีให้เลือกใช้งานดังนี้ เสียง 1, 2, 3 และปิดเสียง และส่วนสุดท้ายเป็นการระบุแหล่งที่เก็บภาพ ว่าจะให้เก็บลงเครื่อง หรือเก็บลงบนการ์ดความจำ นอกจากนี้ บนหน้าจอถ่ายภาพยังมีให้เลือกปรับตั้งเวลา ได้แก่ 2, 5 และ10 วินาที สุดท้ายเป็นการปรับปริมาณการรับแสง ว่าจะให้กล้องรับแสงมากหรือน้อย
"โหมดกล้องวิดีโอ" มีให้เลือกบันทึกทั้งหมด 2 แบบ ได้แก่ ปกติ กับMMS (เป็นการจำกัดสำหรับ MMS โดยเฉพาะ) สามารถซูมภาพขณะบันทึกในโหมดนี้ได้ ไฟล์ที่บันทึกได้ออกมาในรูปแบบ MP4 บนหน้าจอถ่ายภาพมีให้เลือกปรับตั้งเวลา ได้แก่ 2, 5 และ10 วินาที สุดท้ายเป็นการปรับปริมาณการรับแสง ว่าจะให้กล้องรับแสงมากหรือน้อยเหมือนกับโหมดถ่ายภาพนิ่ง
"การตั้งค่า" ในโหมดวิดีโอสามารถตั้งค่าได้ดังนี้ ปรับค่าความละเอียด มีให้เลือกปรับได้ 2 ค่า คือ 320x240 พิกเซล กับ 176x144 พิกเซล, ปรับค่าสมดุลสีขาว ซึ่งมีให้เลือกปรับ 5 แบบ ได้แก่ อัตโนมัติ, แสงจ้า, แคนเดสเซนต์, ฟลูออเรสเซนต์ และสว่างน้อย, เอฟเฟกต์มีให้เลือกปรับ 5 แบบ ได้แก่ ไม่มี, ภาพขาวดำ, สีน้ำตาลแดง(ซีเปีย), เนกาทีฟ และภาพสีน้ำ คุณภาพของรูปภาพมีให้เลือกใช้งาน 3 แบบ ได้แก่ ดี, ปกติ และพื้นฐาน ส่วนการปรับค่าการใช้งานทั่วไปมีให้เลือกปรับค่า ได้แก่ เปิด-ปิดการใช้งานไกด์ไลน์, เปิด-ปิดการบันทึกเสียง และการระบุแหล่งที่เก็บภาพ ว่าจะให้เก็บลงเครื่อง หรือเก็บลงบนการ์ดความจำ
Photo Browser
หลังจากถ่ายภาพเสร็จ สามารถกดเข้าแหล่งรวมภาพเช็กผลงานได้ทันที เลื่อนดูภาพง่ายๆโดยใช้นิ้วปัดไปมาซ้าย-ขวา ซูมย่อ-ขยายภาพได้ง่ายๆ ซึ่งรุ่นนี้มีฟังก์ชันช่วยให้การซูมภาพเพียงนิ้วเดียว (One Finger Zoom) โดยการกดค้างๆที่รูปภาพจากนั้นเลื่อนขึ้นด้านบนเพื่อขยายภาพ และเลื่อนลงด้านล่างเพื่อย่อภาพลง หรือจะไปเลือกใช้งานตรงแถบเครื่องมือก็ได้ ซึ่งแถบเครื่องมือทางด้านล่างไล่ซ้ายไปขวา ประกอบด้วย ขยายภาพแนวนอนเต้มหน้าจอ, ย่อ-ขยายภาพ, แก้ไขภาพ และข้อมูลรูปภาพ สามารถเลือกตั้งค่าเป็นฉากพื้นหลัง หรือรูปภาพในรายชื่อผู้ใช้ได้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถส่งต่อในรูปแบบ ข้อความ, อีเมล, บลูทูธ หรือจะอัปโหลดไปยังเครือข่ายสังคมออนไลน์ยอดฮิตก็สามารถทำได้ทันทีเช่นเดียวกัน
Internet Communities & Games
การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของซัมซุงแคนดี้ เชื่อมต่อผ่านได้เฉพาะ GPRS/EDGE Class 10 เท่านั้น ไม่รองรับการเชื่อมต่อแบบ 3G เบราว์เซอร์ที่ให้มาใช้งานบรรจุเฉพาะฟังก์ชันพื้นฐานการใช้งานมาให้เท่านั้น แต่ยังคงการใช้งานที่ง่ายไว้เหมือนเดิม เปิดอ่านเว็บเพจที่แสดงผลเป็นภาษาไทยได้บางเว็บไซต์เท่านั้น ยังพบอาการหน่วงให้เห็นบางช่วงขณะทำการเลื่อนในหน้าเว็บเพจ ด้านคอมมิวนิตี้ (Communities) เป็นศูนย์รวมแอปฯเครือข่ายสังคมออนไลน์ยอดฮิตต่างๆ ได้แก่ Facebook, Picasa, Flickr, Photobucket, Friendster และ Myspace ซึ่งฟังก์ชันอินเตอร์เฟสทำออกมาได้น่าใช้งาน และช่วยให้สะดวกต่อการเรียกใช้ด้วย ส่วนเกมส์ของเครื่องรุ่นนี้มีให้เลือกเล่นหลากหลายชนิด มีทั้งทดลองใช้ และให้มาเล่นกันฟรี และสามารถโหลดมาเล่นเพิ่มเติมได้ การตอบสนองจอทัชสกรีนทำได้ดี กราฟิกสวยตามความละเอียดของจอ
***หมายเหตุ ทุกเมนูที่กล่าวมาสามารถเรียกใช้งานได้ง่ายๆ ผ่านแถบวิตเจ็ตทางด้านหน้าจอหลักได้เลย โดยไม่ต้องกดเข้าผ่านทางหน้าเมนูให้เสียเวลา
Design of Samsung Candy S3650
มาดูที่ดีไซน์กันบ้าง ถึงแม้ว่าจะเป็นทัชโฟนรุ่นราคาประหยัด แต่การออกแบบทำออกมาได้เกินราคาค่าตัว ตัวเครื่องใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบทั้งหมด พร้อมอาบความมันวาวตลอดตัวเครื่องทั้งด้านหน้า และด้านหลัง ขนาดเครื่องกำลังพอเหมาะมือ กะทัดรัดรัดแบบกะปุ๊กลุ๊ก ด้วยรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูงไม่มากตัดขอบโค้งมน งานประกอบเครื่องถือว่าทำได้แน่นหนาดี ไม่มีร่องเผยออ้าออกให้เห็นแต่อย่างใด ตัวเครื่องมีขนาด 103 x 56.5 x 12 ม.ม. น้ำหนัก 92 กรัม มีให้เลือก 4 สี ได้แก่ สีเหลือง, ส้ม, ชมพู และขาว ถ้ายังจำรูปทรงลักษณะนี้กันได้รุ่นนี้มีขนาดเดียวกับรุ่น F480 ต่างกันที่วัสดุประกอบเท่านั้น
ด้านหน้า : พื้นผิวทางส่วนนี้มีลักษณะเป็นมันวาว ชโลมไปด้วยสีดำทั้งหมด ไล่จากบนสุดจะพบกับช่องลำโพงสนทนาทำจากโครเมี่ยมสีเงิน ถัดมาทางด้านล่างเป็นจอแสดงผลแบบทัชสกรีนแบบ TFT-LCD 262,144 สี ขนาด 2.8 นิ้ว (240 x 400 พิกเซล) ซึ่งเป็นหน้าจอที่รองรับการสั่งงาน-ตอบสนองผ่านนิ้วมือโดยเฉพาะ(Capacitive) และหน้าจอมีขนาดเท่ากับรุ่น F480 ก่อนหน้านี้พอดิบพอดี
ใต้จอแสดงผล จะพบยี่ห้อ "SAMSUNG" สีเงินวางพาดอยู่ตรงกึ่งกลาง ถัดลงเป็นปุ่มกดซึ่งทำจากพลาสติกแบบเดียวกับพื้นผิวตัวเครื่อง ไล่จากซ้ายไปขวา ประกอบไปด้วย ปุ่มรับสาย-โทรออก, ปุ่มย้อนกลับ และปุ่มวางสาย (กดค้างเปิด-ปิดเครื่อง) วางเรียงตามลำดับ ใต้ปุ่มกดด้านล่างสุดของเครื่องมีช่องไมโครโฟนวางอยู่ตรงกึ่งกลาง
ด้านหลัง : พลิกมาดูด้านหลังของเครื่อง ไล่จากด้านบนสุด จะพบกับเลนส์ถ่ายภาพวางอยู่ตรงกึ่งกลาง ถูกออกแบบให้อยู่บนเบ้านูนไร้ฝาครอบ ถัดลงมาเป็นยี่ห้อ "SAMSUNG" แกะสลักวางพาดอยู่ตรงกึ่งกลางเช่นเดียวกัน ด้านล่างสุดเป็นช่องระบายเสียงจากลำโพงสเตริโอภายใน และมีสัญลักษณ์บอกให้งัดฝาหลังออกทางด้านล่างสุด โดยพื้นผิวบริเวณนี้ถูกสลักด้วยลวดลายเส้นโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม ซึ่งช่วยลดการลื่นไหลหลุดออกจากมือได้นิดนึง สามารถถอดฝาหลังเพื่อเปลี่ยนสีได้ (ภายในกล่องจะมีมาให้เปลี่ยนใช้อีก 2 แบบ คือ ฝาสีเดียวกับที่ซื้อแต่มีลายแฟชัน กับฝาหลังสีดำ)
เมื่อเปิดฝาหลังออก ไล่จากส่วนบนจะพบกับเลนส์กล้อง ถัดลงมาเป็นช่องวางแบตเตอรี่ชนิด Li-Ion 960 mAh ส่วนด้านล่างเป็นลำโพงเสียง หากถอดแบตฯออกจะพบกับช่องใส่ซิมการ์ดอยู่ทางด้านบนฝั่งขวา ส่วนช่องใส่การ์ดหน่วยความจำถูกซ่อนอยู่ด้านล่างฝั่งซ้ายข้างตัวเครื่อง รองรับหน่วยความจำแบบ microSD Card สูงสุด 8 GB (แถมมาให้ในกล่อง GB) ฝาหลังทำจากพลาสติกอาจจะดูเปราะบาง แต่มีความเหนียวไม่หักได้ง่ายๆ
***หมายเหตุ การเปิดฝาหลังทำได้ไม่ยากเพียงงัดทางด้านล่างขึ้นมา มีข้อแม้คือต้องประคองให้ดีไม่เช่นนั้นจะปลิวหลุดออกจากมือได้ง่ายๆ
ด้านขวา : ถูกออกแบบให้มีปุ่ม 2 ปุ่มวางเบียดชิดติดกันอยู่ตรงกึ่งกลางเครื่อง ตือ ด้านบนเป็นปุ่มล็อกหน้าจอ(กด 1 ครั้งล็อกเครื่อง และกดค้างเพื่อปลดล็อกเครื่อง) ด้านล่างเป็นปุ่มกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ-วิดีโอ (กดค้างเข้าฟังก์ชันถ่ายภาพ)
ด้านซ้าย : ไล่จากด้านบนเป็นช่องสำหรับร้อยสายคล้องมือ-คอ ถัดลงมาตรงกลางเครื่องเป็นปุ่มปรับระดับเพิ่ม-ลดเสียงในเมนูเพลง และขยายภาพเข้า-ออกในเมนูกล้อง ซึ่งปุ่มถูกออกแบบให้เสมอกับพื้นผิวของเครื่องพอดี ถัดลงมาใกล้กันเป็นช่องเชื่อมต่อทั้งโอนถ่ายข้อมูล ชารจ์แบตฯ และต่อกับชุดหูฟัง โดยมีฝาพลาสติกหุ้มปิดมิดชิดพร้อมสัญลักษณ์บอกอยู่บนฝา
ด้านบน และด้านล่าง : ด้านบนถูกปล่อยโล่งไว้ไม่มีปุ่มใดๆบริเวณนี้ ส่วนทางด้านล่างเช่นเดียวกัน ที่เห็นอยู่ในภาพเป็นช่องสำหรับงัดเปิดฝาหลังออกเท่านั้น
บทสรุป
"Samsung Candy" จะว่าไปแล้วมันก็ไม่ต่างจากรุ่นพี่อย่างซัมซุง F480 เท่าใดนัก เว้นแต่วัสดุที่นำมาประกอบในรุ่นนี้จะเสียเปรียบในเรื่องความแข็งแกร่งเท่านั้น ส่วนอินเตอร์เฟส และฟังก์ชันต่างๆภายในดูเหมือนแคนดี้จะมีภาษีเหนือกว่าเสียด้วยซ้ำ ด้วยหน้าจอที่มีความสดใสคมชัดมากขึ้น รูปแบบบางอย่างๆที่ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าทัชโฟนของซัมซุงในช่วงยุคแรกๆ และยิ่งถ้าเห็นราคาที่เคาะมาต่ำกว่า 6 พันบาทแล้วด้วย ยิ่งน่าคบหาเป็นเจ้าของอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่กำลังมองหาจอทัชสกรีนราคาถูกๆมาใช้งานในห้วงเวลานี้
มาไล่ดูทีละส่วนหลังการทดลองใช้กันเลยดีกว่า เริ่มจากการตอบสนองหน้าจอผ่านนิ้วมือ ซึ่งหน้าจอ Capacitive ของซัมซุงไม่ทำให้ผิดหวัง ตอบสนองได้กำลังพอเหมาะ แต่ไม่ถึงกับไวอะไรมากมายนัก ยังมีอาการหน่วงให้เห็นบ้างบางช่วงขณะ ฟังก์ชันสมาร์ท อันล็อก ตอบสนองการเขียนตัวอักษรด้วยนิ้วผ่านหน้าจอได้ไม่ติดขัด ถือว่าสอบผ่านแบบสบายๆในส่วนนี้ การเชื่อมต่อรุ่นนี้มีบลูทูธ 2.1 (รองรับ A2DP) ช่องต่อยูเอสบี 2.0 มาให้ใช้งานเหมือนกับโทรศัพท์มือถือทั่วๆไป ไม่มีอะไรเสริมเข้ามาให้ดูหวือหวา
ด้านความบันเทิง เริ่มที่ด้านเสียง พบว่าฟังก์ชันของเครื่องเล่นเพลง และวิทยุต่างๆที่ใส่มาให้ใช้กับเครื่องรุ่นนี้สามารถตอบสนองได้ครบ ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน เสียงที่ขับออกมาทางลำโพงด้านหลังเสียงดังชัดและใสพอสมควร แต่ไม่ถึงกับดีมากเนื่องจากมิติของเสียงออกไปทางแบนมากกว่า โทนเสียงที่ขับผ่านทางลำโพงออกแหลมสูง เมื่อลองเร่งจนสุดไม่พบเสียงแตกพร่า
ส่วนการใช้งานกล้องถ่ายภาพนั้น พบว่าฟังก์ชันการใช้งานที่ใส่เข้ามาสามารถเข้าใจได้ง่ายไม่ซับซ้อน และการขาดออโต้โฟกัสทำให้ภาพเบลอง่ายขึ้นกว่าเดิม ด้านคุณภาพที่ได้จากการถ่ายภาพนิ่งจัดอยู่ในระดับปานกลาง สีสันที่ได้ไม่ค่อนตรงกับธรรมชาติเท่าไรนัก มีแอบเพี้ยนให้เห็นบางช่วงแสง ไม่พบอาการค้าง หรือแฮงก์ให้เห็น มีแต่ความร้อนของตัวเครื่องที่ยังคงสูงเหมือนกันเกือบทุกรุ่นของซัมซุง ส่วนภาพที่ได้จากการบันทึกในโหมดวิดีโอคุณภาพอยู่ในระดับกลางๆ ทั้งภาพและเสียง
ความอึดของแบตฯทำออกมาได้อยู่รอดปลอดภัยเกิน 1 วัน หลังจากทดลองใช้งานแบบหนักๆ โดยการพูดคุยต่อเนื่องรวม 30 นาที ฟังเพลง 2 ชั่วโมง ฟังวิทยุ 2 ชั่วโมง ถ่ายภาพทดสอบ 15 นาที สามารถอยู่ได้ 1 วันครึ่งพอดิบพอดี เสียงสนทนาดังชัดเจนดี
ขอชม
- รูปทรงเล็กกะทัดรัด ทรงแปลกตารวมถึงสีสันสดชวนเตะตาผู้พบเห็น
- จอ Capacitive ตอบสนองนิ้วได้ค่อนข้างดี ถึงแม้ว่าจะมีหน่วงบ้างบางช่วงขณะก็ตาม
- ฟังก์ชันภายในใส่มาให้ใช้แบบไม่แทงกั๊กพอเหมาะพอดีกับราคาที่ตั้งไว้
ขอติ
- ตัวเครื่องมีความมันวาวเป็นรอยคราบนิ้วมือได้ง่าย รวมถึงลื่นหลุดมือได้ง่ายเช่นกัน
- ช่องต่อหูฟังน่าจะทำเป็นช่องต่อมาตรฐานแบบ 3.5 มม. และควรจะอยู่ทางด้านบนไม่ก็ด้านล่างมากกว่าด้านข้าง
- ถ้ากล้องที่ให้มาใส่ระบบออโตโฟกัสมาให้ใช้กันด้วยนี่จะแจ่มมาก
Company Related Links :
Samsung