มีชาวกัมพูชามากกว่า 53,000 คนที่ทำงานในไทย ได้เดินทางกลับมาตุภูมิ นับตั้งแต่มีคำร้องขอจากรัฐบาล สืบเนื่องจากความตึงเครียดเกี่ยวกับประเด็นชายแดน โดยเจ้าหน้าที่เน้นย้ำว่ามีอยู่ 13,500 คน ที่ได้รับการจ้างงายภายในประเทศแล้ว อย่างไรก็ตามบางส่วนเลือกที่จะยังอยู่ในไทย และสถานการณ์ยังคงเป็นปกติในกรุงเทพฯ ความตึงเครียดเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ชายแดนเท่านั้น ตามรายงานของคิริโพสต์ สื่อกัมพูชาภาคภาษาอังกฤษในวันอังคาร(22ก.ค.)
ซุน เมซา โฆษกกระทรวงแรงงานและฝึกอาชีพแห่งกัมพูชา ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าวคิริโพสต์ ระบุว่านับตั้งแต่ข้อจำกัดด้านชายแดนมีผลบังคับใช้ มีชาวกัมพูชามากกว่า 53,000 คนที่เดินทางกลับบ้าน พร้อมยืนยันว่าในนั้นมี 13,500 คน ได้งานทำแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพนมเปญ, กำปงสปือ และสวายเรียง ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการจ้างงานมากที่สุด
"เราเรียกร้องให้ชาวกัมพูชา ผู้ที่เดินทางกลับมาแล้วหรือกำลังจะเดินทางกลับ ให้ติดต่อกับหน่วยงานของเรา สำนักงานการจ้างงานแห่งชาติ เพื่อเข้ารับข้อมูลตำแหน่งงานว่างและเข้ารับการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย" เขากล่าว
ในวิดีโอสัมภาษณ์พลเมืองที่เดินทางกลับจากไทย ที่เผยแพร่โดยกระทรวงแรงงานและฝึกอาชีพแห่งกัมพูชา แรงงาน 3 คน ประกอบด้วย Rin Sokheng, San Chandy และ Heng Soneam ที่เพิ่งเดินทางกลับจากไทยเมื่อเร็วๆนี้ และกำลังทำงานให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เผยว่าพวกเขาได้รับการคุ้มครองขั้นพื้นฐานทางสังคมและได้รับข้อเสนอรายได้ที่เพิ่มขึ้น
ส่วน Chea Sopheak วัย 28 ปี ที่เดินทางกลับบ้านในวันที่ 15 กรกฏาคม บอกกับคิริโพสต์ ว่าหลังจากทำงานในไทยเป็นเวลา 9 ปี เขาตัดสินใจกลับบ้าน สืบเนื่องจากความยากลำบากต่างๆนานาที่ต้องเผชิญ ในนั้นรวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้นและเงินเก็บน้อยลง"
"ผมรู้สึกกลัวเล็กน้อย สถานการณ์ความตึงเครียดชายแดนยังคงเกิดขึ้น ดังนั้นผมจึงตัดสินใจเดินทางกลับ ตอนนี้ผมยังไม่มีงานทำ แต่ผมได้รับการติดต่อจากกระทรวงแรงงานและฝึกอาชีพ ให้หาประกาศจ้างงาน ผมกำลังรอพี่เขย เขาชวนให้ผมไปทำงานกับเขาในจังหวัดสวายเรียง" Chea Sopheak ระบุ
เวลานี้ Sopheak กำลังรอพี่ชายจากพนมเปญเดินทางมาสมทบ ก่อนมุ่งหน้าสู่สวายเรียงเพื่อหางานทำ เขาไม่รู้ว่าจะได้งานแบบไหน แต่ในไทย เขาทำงานก่อสร้าง และคาดมหายว่างานต่อไปในกัมพูชาอาจเป็นการทำงานในโรงงาน
Leung Sophon เจ้าหน้าที่จากศูนย์สมาพันธ์แรงงานและสิทธิมนุษยชนกัมพูชาในไทย อ้างว่าแรงงานต่างด้าวกัมพูชาในไทย และพวกที่กำลังหางานในไทย กำลังเผชิญกับปัญหาต่างๆนานา เขาบอกว่านอกเหนือจากความตึงเครียดและข้อจำกัดด้านชายแดนแล้ว ปัจจุบันยังเป็นฤดูฝน แรงงานบางส่วนไม่ได้รับค่าจ้างและคนอื่นๆถูกปลดออกจากงาน นอกจากนี้แล้วมันยังเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับแรงงานที่ต้องการต่อใบอนุญาตทำงาน นั่นหมายความว่าจำนวนมากถูกบีบให้ต้องกลับกัมพูชา
"กระบวนการขอวีซ่าอีกรอบใช้เวลานานเสมอ นับตั้งแต่การอนุญาตทำงานหมดอายุลงในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2025 มีแรงงาน 500,000 คน ที่ยื่นขอต่อใบอนุญาต แต่ตอนนี้พวกเขายังไม่ได้รับมัน พวกเขาทำงานอย่างผิดกฎหมาย" Sophon พร้อมระบุว่าระหว่างการเข้าตรวจสอบของตำรวจ แรงงานผิดกฎหมายบางส่วนได้รับการปกป้องจากนายจ้าง แต่ขณะเดียวกันพวกนายจ้างก็ไม่ถูกลงโทษใดๆ
แม้มีคำกล่าวอ้างดังกล่าว แต่ Kol Thann คนงานก่อสร้างที่ปัจจุบันทำงานในไทย ให้ข้อมูลกับคิริโพสต์ต่างออกไป บอกว่า เขายังคงสามารถทำงานในกรุงเทพฯได้ตามปกติ แม้มีความตึงเครียดระหว่างกัมพูชากับไทย "มีคนเขมรมากมายทำงานกับผม" เขากล่าว "เราทำงานและได้รับเงินตามปกติ และไม่รู้ว่ามีความกังวลใดๆ เพื่อนร่วมงานคนไทยของผมบางส่วน สนับสนุนให้ผมอยู่ต่อ และทำงานหาเงินต่อไป ความตึงเครียดเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ชายแดนเท่านั้น"
Khun Tharo ผู้จัดการฝ่ายโครงการของศูนย์สมาพันธ์แรงงานและสิทธิมนุษยชนกัมพูชาในไทย เคยให้สัมภาษณ์กับคิริโพสต์ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน เน้นย้ำว่าค่าเฉลี่ยค่าแรงข้นต่ำในไทย แตกต่างกันเป็นรายภูมิภาคและจังหวัด อยู่ที่ราวๆ 337 บาท ถึง 400 บาท(ประมาณ 10.22 ดอลลาร์ ถึง 12.13 ดอลลาร์) เพราะฉะนั้นแรงงานจะมีรายได้ต่อเดือนราวๆ 307 ดอลลาร์ ถึง 364 ดอลลาร์(9,900 บาท ถึง 11,800 บาท) เมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน ในขณะที่เมื่อเร็วๆนี้ไทยเพิ่งปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท
ขณะเดียวกันในกัมพูชา ค่าแรงขั้นต่ำถูกปรับเพิ่มเป็น 208 ดอลลาร์ต่อเดือน(ราว 6,700 บาท) ในภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ส่วนภาคอื่นๆไม่ได้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำอย่างเจาะจง
(ที่มา:คิริโพสต์)